xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำสัมภาษณ์ “ปรีดี” ในวัย 79 ยอมรับความผิดพลาดใหญ่หลวงในอดีต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” เผยบทสัมภาษณ์ “ปรีดี พนมยงค์” เมื่อปี 2522 ยอมรับความผิดพลาด เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขาดประสบการณ์ แค่ประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ไม่เอาความจริงของประเทศมาคำนึงด้วย และได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง

จากกรณีที่ภาพยนต์แอนิเมชั่นเรื่อง “๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ” หรือ 2475 Dawn of Revolution ซึ่งมีการเผยแพร่ผ่านทางยูทูป ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งได้ระบุถึงนายปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม แกนนำคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้ยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ผ่านการให้สัมภาษณ์แก่นายแอนโทนี พอล ในปี 2522 นั้น

ล่าสุดวันนี้(15 มี.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความในเพซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ เปิดคำสัมภาษณ์ปรีดี พนมยงค์ ในวัย 79 ปี ตอบเรื่องความผิดพลาดอันใหญ่หลวงในอดีต ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ดังกล่าว ดังนี้

นิตยสาร เอเชียวีคฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 1979 (พ.ศ. 2522) - 4 มกราคม 1980(พ.ศ. 2523) ภายใต้หัวเรื่องว่า "PRIDI THROUGH A LOOKING GLASS“ ซึ่งนายแอนโทนี พอล ได้สัมภาษณ์อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขณะสัมภาษณ์นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ซึ่งอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มีอายุได้ 79 ปี

แอนโทนี พอล : “ท่านคิดว่าอะไรที่น่าจะเป็นความผิดอันใหญ่หลวงของท่าน? ถ้าท่านมีอำนาจกลับไปและแก้ไขเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตของท่าน การตกลงใจหรือการกระทำอันไหน ที่ท่านอยากเปลี่ยนมากที่สุด?”

ปรีดี พนมยงค์ : “ถ้าท่านถามถึงว่าอะไรที่ข้าพเจ้าจะทำ ถ้าข้าพเจ้ากลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี…เอาละ ข้าพเจ้าขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สนใจที่จะกลับสู่การเมืองอีกหรอก เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าแก่มากแล้ว แต่ข้าพเจ้าตอบท่านได้ถึงความผิดในอดีตของข้าพเจ้า

ในปี ค.ศ.1925 (พ.ศ. 2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนกลางของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปี เท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน(ประสบการณ์) แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้วและได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี (ของกฎหมายเปรียบเทียบ) ข้าพเจ้าไม่มีความเจนจัด(ประสบการณ์)

และโดยปราศจากความเจนจัด (ประสบการณ์) บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำเอาความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะมี

ในปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน(ประสบการณ์) และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจน(ประสบการณ์)มากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ“

แอนโทนี พอล : ความผิดพลาดอย่างอื่นมีอีกบ้างไหม?

ปรีดี พนมยงค์ : ”มี, คือวิธีการเสนอแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้าอย่างไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าเสนอแผนเศรษฐกิจ แต่ข้าพเจ้าควรใช้เวลาให้มากกว่านั้นอธิบายแก่ประชาชน เวลานั้นมีบุคคลไม่กี่คน ที่จะเข้าใจแผนเศรษฐกิจของข้าพเจ้า แม้ในระหว่างรุ่นก่อน คือสมาชิกในคณะรัฐบาลก่อนซึ่งเราเชิญมามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ พวกเขาตีความแตกต่างกันไป พวกเขาไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าควรพยายามให้หนักขึ้น ที่จะอธิบายกับพวกเขาว่าทั้งหมดมันหมายถึงอะไร

แต่ทว่ามันก็เป็นแผนเศรษฐกิจที่ไม่เหมาะสมด้วยเหมือนกัน ข้าพเจ้าเสนอไม่ใช่ว่าเป็นแผนเศรษฐกิจขั้นสุดท้าย มันค่อนข้างจะเป็นโครงการขั้นเตรียมการมากกว่า หลายคนเหมาเอาว่าเป็นแผนเลยทีเดียว ไม่ใช่เป็นแนวทางหรือข้อเสนอพอเป็นพื้นฐานสำหรับการวางแผนต่อไป

ในสังคมนั้นย่อมมีการขัดแย้งกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณต้องเข้าใจ และพวกคนรุ่นเก่ามีความกลัวมากทีเดียว ในบางอย่างที่เป็นสังคมนิยม พวกเขาไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นสังคมนิยม อะไรเป็นคอมมิวนิสต์ พวกเขาเอาทุกอย่างที่ตรงข้ามกับวิสาหกิจเอกชนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมด“[1]

เผยแพร่โดย
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
15 มีนาคม 2567

อ้างอิง
[1] ANTHONY PAUL, PRIDI THROUGH A LOOKING GLASS, Asia Week, 28 December 1979 - 4 January 1980
https://thaipoliticalprisoners.files.wordpress.com/2009/01/pridi-interview_1980.pdf

[2] สถาบันปรีดี, ทรรศนะดร.ปรีดี ต่อสภาวะการณ์เมืองไทยปัจจุบัน,ถอดความเป็นภาษาไทยโดย ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช์ ร.น.​, ตรวจทานโดย สุภัทร สุคนธาภิรมย์, เผยแพร่โดยเว็บไซต์สถานบันปรีดี
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2522-111.pdf






กำลังโหลดความคิดเห็น