xs
xsm
sm
md
lg

เกือบได้เป็นนักร้องวงสุนทราภรณ์ในวัยเยาว์ “อุษา เสมคำ” สู่น้องใหม่ในการแสดงในวัย 78

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง “วัยตกกระ” โดย ชนะ คราประยูร ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยชูเนื้อเรื่องและนักแสดงสูงวัยซึ่งเป็นการแสดงนำเป็นครั้งแรกๆ เป็นตัวนำเรื่องแล้ว วงการหนังไทย ก็แทบจะไม่มีหนังในเชิงลักษณะนี้อีกเลย จนแทบจะลืมไปแล้วว่า การนำนักแสดงสูงวัยมาเป็นตัวนำเรื่องนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

และเมื่อผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของค่ายจีดีเอช อย่างเรื่อง ‘หลานม่า’ ที่มีเค้าโครงเรื่องและนักแสดงนำสูงวัยเป็นตัวนำเรื่อง แถมยังมีความใกล้เคียงกันด้วยตรงที่ผู้รับบทตรงนี้นั้น ก็เป็นนักแสดงหน้าใหม่เอี่ยมอ่อง ด้วยวัย 78 ปี อย่าง ป้าแต๋ว-อุษา เสมคำ ผู้ที่เกือบเข้าวงการด้วยการเป็นหนึ่งในนักร้องวงสุนทราภรณ์ในวัยเยาว์ สู่การขอเริ่มต้นใหม่ในวงการอีกครั้งด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้

อยากให้ป้าแต๋วช่วยเล่าช่วงชีวิตหน่อยครับ ว่าเป็นใตร เติบโตมายังไงมาพอสังเขปหน่อยครับ

ขอเริ่มตั้งแต่ตอนช่วงเข้าวงการดีกว่า คือโดยส่วนตัวเราจะเป็นคนที่ชอบร้องรำทำเพลง อย่างเวลาที่เราไปออกกำลังกายที่สวนสาธารณะแถวบ้าน เราก็ไปรำกับเขาบ้าง ก็เลยมีการถูกส่งไปประกวดตามที่ต่างๆ แล้วทางโมเดลลิ่งเขาก็ไปขอเบอร์เรา ให้มาอยู่ในประเภทผู้สูงอายุ ให้ไปออกรายการอาม่าคาเฟ่ แล้วทางรายการก็มีการคัดตัวไปจนได้ในที่สุด เลยทำให้ติดร่างแหไปด้วย (หัวเราะเบาๆ) พอไปร่วมรายการก็ไปร่วมสนุกกับนักแสดงตลกท่านต่างๆนะ ไปเล่นแบบไม่มีสคริปท์เลยนะ ออกรายการแบบเลยตามเลยไปเลย เราก็เล่นตามเขาไป ก็รู้สึกสนุกดี เพราะหลังจากที่ไปออกรายการนั้น ทางโมเดลลิ่งต่างๆ ก็มีการติดต่อเข้ามา ให้ป้าไปถ่ายโฆษณา น่าจะช่วงประมาณ 5 ปีก่อน อย่างโฆษณาชิ้นแรกเป็น ผลิตภัณฑ์ Vaseline Men ร่วมกับ หมาก-ปริญ (สุภารัตน์) หลังจากนั้นทางคุณจะเล่นต่างๆก็ตามเข้ามา เราก็รับได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ทำตรงนี้มาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

ส่วนในทางการแสดงนั้น พอดีมีเพื่อนมาชวนให้ไปเล่นมิวสิควีดีโอ พอเล่นเสร็จก็คือจบตรงนั้น เราก็ถ่ายโฆษณาของเราไปเรื่อยๆ จนมาถึงช่วงที่ฝ่ายแคสติ้งของหนังเรื่องนี้กำลังหาคนที่มาเล่นบทอาม่า ปรากฏว่าโมเดลลิ่งต่างๆ ไม่มีใครส่งป้าเลย ซึ่งในการแคสติ้งบทนี้ก็มีคนมาแคสอยู่ประมาณเป็นร้อยคนเลยนะ แต่ก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจของทีมงาน จนในที่สุดก็มีการถูกถามว่า ทำไมถึงไม่เรียกป้าแต๋วดูล่ะ ประกอบกับทางโมเดลลิ่งก็ไปเจอ เขาก็ถามเลยว่าใครมีรูปยายแต๋วบ้าง ปรากฏว่าเพื่อนคนนี้มีรูปเรา แล้วให้ติดต่อมาเล่นหนังเรื่องนี้ ซึ่งตอนแรกสุดเราก็ไม่กล้าที่จะเล่นนะ เพราะ หนึ่ง เรากลัวว่าเราเล่นไม่ได้ สอง มันมีบท ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะให้เล่นยังไง แถมเราก็กลัวว่าจะจำบทไม่ได้อีก ก็ยังเกิดความลังเลอยู่ จนในที่สุดเพื่อนคนนี้เขาก็มาบอกว่า ให้ไปแคสติ้งให้ทีมงานดูอีกรอบ เพราะว่าเขาอยากเจอตัวเรา เนื่องจากคนที่มาแคสติ้งบทนี้ ไม่มีใครได้เลย เราก็มาก็มา มาแคสต์ที่นี่

พอมาถึงทางทีมงานก็ให้เล่นกับน้องๆทีมงาน และเอาที่แคสติ้งให้ผู้กำกับดู ทางผู้กำกับก็เรียกเราให้มาเจอตัวหน่อย เราก็มา ก็มาเจอกับทางผู้กำกับ (พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์) บิวกิ้น (พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) และทางแอคติ้งโค้ช ของหนังเรื่องนี้ พอได้เจอกันแล้วทางผู้กำกับก็บอกว่าไหนลองมาแสดงด้วยกันดูซิ เราก็ถามว่าจะให้เล่นแบบไหนก็บอกหัวข้อมา แล้วมาเล่นกับบิวกิ้น 2 คน พอมาเล่นด้วยกันปรากฏว่าสนุก ทางผู้กำกับก็โอเคกับการแสดงตรงนี้ ป้าแต๋วก็เล่นกับน้องบิวกินได้ คือเราก็ไปกันได้ จนในที่สุดทางทีมงานก็ตกลงให้เราเป็นคนรับบทอาม่าในที่สุด และก็มาทำการ workshop กับทีมงานในเวลาต่อมา


อย่างกรณีใกล้เคียงกัน ผมนึกถึงนักร้องที่ชื่อสวีทนุช ที่เขาเคยร้องเพลงต่อสาวๆ แต่ต้องทำงานประจำ จนกระทั่งมาได้ร้องเพลงอาชีพจริงๆก็ตอนช่วงวัยประมาณนี้ล่ะครับ

แต่ตอนสมัยป้าเป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียนศึกษานารี เราเคยไปสมัครร้องเพลงกับวงสุนทราภรณ์ ถึงขั้นได้เจอกับครูเอื้อ สุนทรสนาน เลย แล้วครูท่านก็บอกว่า วันรุ่งขึ้นลองมาที่วงใหม่ ลองมาทดสอบอัดเสียงกับทางวงดู แต่สุดท้ายเราก็ไม่กล้าไป ซึ่งเพื่อนป้าก็โกรธเรานะว่า เฮ้ยทำไมไม่ไป คือเราเป็นคนที่ชอบร้องเพลงแล้วรู้สึกว่าเพราะนะ แล้วก็รำเก่งอย่างที่บอก ซึ่งเป็นนิสัยของเราอยู่แล้ว แม้กระทั่งในช่วงแต่งงาน เวลาทำกับข้าวให้กับที่บ้าน เราก็ชอบร้องเพลงนะ ก็จะมีความสุขกับการร้องตรงนี้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งทำภารกิจอื่นๆ ก็จะต้องมีการร้องเพลง ซึ่งจุดตรงนี้มั้งเลยทำให้เราที่จะอยากแสดง

แต่ในช่วงเวลาตรงนั้น อาจจะเรียกว่ามีข้อจำกัดด้วย ว่าเป็นการ “เต้นกินรำกิน”


อย่างสมัยก่อนเราก็เดินไปกลับโรงเรียน และแน่นอนว่าพ่อแม่เราก็ไม่ได้สนับสนุนทางนี้ ไม่เหมือนกับปัจจุบัน อย่างลูกสาวยายในตอนนี้ เขาสนับสนุนลูกสาวเขาจะตาย ให้ไปเรียนร้องเพลง เพราะว่าหลานเขาชอบตรงนี้ เขาชอบการแสดงเหมือนกับเรา แม่เขาก็ส่งตามที่บอก เราก็ได้แต่ฟังเพลงในช่วงนั้นแล้วก็ร้องเอง อย่างน้อยก็เป็นความสุขให้กับเรา

หลังจากนั้นมา “ป้าแต๋ว” ก็ใช้ชีวิตเรียบง่ายตามปกติ


ใช่ค่ะ พอเรียนจบมัธยม ก็ไปเรียนต่อที่บพิตรพิมุข แต่ก็เรียนไม่จบนะ เพราะว่าเราเลือกเรียนแผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แต่เพื่อนป้าไปเรียนด้านเลขานุการ เขาก็เรียนจบกันมาเพราะมันไม่ยากเท่าไหร่ แต่เราไปเรียนอย่างที่บอก มันก็เลยไม่จบ หลังจากนั้นก็ไปทำงานประจำอยู่พักนึง จนได้มาแต่งงานในที่สุด


แล้วในช่วงที่เล่นโฆษณาที่ผ่านมา มันมีความยากง่ายแตกต่างจากการแสดงจริงๆ ยังไงบ้างครับ

ป้าว่าในการถ่ายโฆษณามันไม่ยากเท่าไหร่หรอกนะ เพราะว่าเขาก็ไม่ได้ให้เราแสดงอะไรมาก แค่แสดงปากที่เขาบอก เช่น ให้ไปยืนรดน้ำต้นไม้ในฉากบ้าง หรือไม่มีบทพูด แต่พอก้าวเข้าสู่การแสดงอย่างเต็มตัว เราก็กลัวอยู่เรื่องเดียวคือ จะจำบท dialog ไม่ได้ อย่างที่บอก ซึ่งถ้าเกิดปัญหาตรงนี้มา การถ่ายทำในแต่ละฉาก มันก็อาจจะมาสะดุดชะงักที่เรา แล้วกลายเป็นว่าจะไปทำให้ทีมงานทำงานยากขึ้น เพราะเราไม่เคยแสดงมาก่อน มันจะเป็นลักษณะนี้

แล้วบทของเรามันก็หนาประมาณนี้ (ยกมือทำท่าประกอบ) เขาให้เป็นเล่มมา เราก็มาอ่านบทตั้งแต่หน้าแรกเลย ก็อ่านๆๆ ไป บางทีก็อ่านไม่จบ เราก็พักไว้ก่อน จากนั้นก็มาอ่านอีกครั้งจนจบ แล้วมาทำความเข้าใจกับตัวละครตัวนี้ เสร็จแล้ว ความกลัวที่เรากังวลตามที่บอกไป เราก็เอากระดาษมาจด จดบทของตัวเองตั้งแต่บทแรกที่เราจะต้องพูด จดจนสมุดที่ทางทีมงานให้มามีแต่โน๊ตเต็มไปหมดเลย ซึ่งต่างจากคนอื่นที่สะอาดเอี่ยมอ่องเลย (หัวเราะ) เพราะของป้าจะมีการเน้นย้ำในจุดต่างๆ แล้วก็เอามาลอกใส่กระดาษอีกรอบ พอทำอย่างนั้นเสร็จเราก็มาอ่านบท แล้วก็ต้องรู้ด้วยว่าเราจะต่อบทตรงไหน จากอีกตัวละครในแต่ละฉากว่าเขาพูดตรงไหน ซึ่งตรงนี้แหละที่ทำให้เราต้องท่องบทตลอดเวลา

คือพยายามทำตามที่บอก ครูแอคติ้งโค้ชก็อัดเสียงจากการท่องบทนี้ส่งมาให้เรา แต่เขาจะอัดเสียงเป็นคำพูดของคนอื่น เพื่อให้เราตอบ แต่เราก็ไม่ถนัด คือกดไปปุ๊บบางทีก็ต่อกันไม่ทัน เราก็เลยเอาแบบที่เราถนัดดีกว่า เราก็พยายามต่อบทปกติไป มันก็เลยจำได้หมด จำไปจนถึงกระทั่งว่า นอนไปแล้วก็ยังนึกถึงบทในหนังเลย ถึงขั้นในบางครั้งทำให้เรานอนไม่หลับก็มี

คล้ายกับว่า บทที่ว่านี้ซึมไปถึงการใช้ชีวิตเลย


ไม่ถึงกับซึมหรอก เรียกว่าเราต้องมีความพยายามมากกว่า เรากลัวไปกระทบการทำงานของทุกคนในกองอย่างที่บอก ซึ่งบุคคลที่ช่วยป้าได้ก็คือผู้กำกับ กับครูแอ็คติ้ง โค้ช เขาจะบอกเราว่าเป็นอาม่าให้ได้ ซึ่งผู้กำกับเขาก็รู้นะว่านิสัยป้าเป็นยังไง จะมีความสนุกสนาน แต่ต้องตัดตรงนี้ออก แล้วเวลาที่เราสวมบทบาทในการแสดงและถ่ายทำปั๊บ ต้องเอาจิตวิญญาณของเราเข้าไปเป็นอาม่าให้ได้ ซึ่งจุดตรงนี้มันช่วยเราได้เยอะ ทำให้เวลาในการแสดงแต่ละครั้งมันสามารถสลับระหว่างตัวตนของเรากับบทบาทในการแสดงได้

แล้วพอมาแสดงร่วมกับนักแสดงที่ประสบการณ์มากกว่าป้า มีความรู้สึกกดดันบ้างไหมครับ


พวกเขาเป็นดาราทั้งนั้น (หัวเราะ) คือตอนที่มาเจอหน้ากันครั้งแรก ทีมงานเขาก็ให้ป้ามาทำความรู้จักกันก่อน ซึ่งแต่ละคนเขาก็โอเคกับเรา โดยเฉพาะบิวกิ้น เขาก็มีความน่ารัก แล้วพอได้มาทำการแสดงร่วมกับน้องเขา อยู่ใกล้ชิดกันก็เหมือนกับหลานของเราคนนึงเลย กลายเป็นว่าเรามีความอบอุ่นมากกว่าที่จะไปกลัวตรงนั้น คล้ายๆว่าเราอยู่กับหลานของตัวเองประมาณนั้น เขาก็มีคอยแหย่เราบ้างในบางครั้ง หรือเวลาที่เราไม่ได้ เขาก็จะคอยบอกเรา แถมทางผู้กำกับก็คอยดูแลอย่างดี


แล้วยิ่งมาเป็นบิวกิ้นที่เป็นนักแสดงไอค่อนของยุคนี้

บอกตรงๆ ว่าไม่รู้จักเลย คือด้วยชีวิตประจำวันของเรา ก็คือถ้าไม่แวะไปบ้านลูก ก็จะไปสวนสาธารณะแถวบ้านหรือไปโรงพยาบาล คือเราแทบจะไม่ได้ดูรายการที่เกี่ยวกับวัยรุ่นยุคนี้เลย ก็ไม่รู้จัก ป้าก็เลยเล่าให้ลูกหลานฟัง เขาเลยตอบกลับมาว่า ยายเขาดังจะตาย แล้วพอวันแรกที่เจอกัน เขาก็คล้ายๆกับหลานเราเหมือนกัน ลักษณะก็คล้ายใกล้เคียงกัน ใส่กางเกงขาสั้น ทรงคล้ายกันเลย แล้วพอเวลามา workshop ด้วยกันหลายครั้ง มันก็ยังมีความคล้ายกับหลานของเราเอง ซึ่งเราก็ไม่น่าเชื่อนะว่าเขาจะเป็นดาราดังในยุคนี้นะ (หัวเราะ) จนเรารู้สึกว่า นี่เราเล่นหนังร่วมกับดาราใหญ่เลยเหรอนี่ ก็รู้สึกดีใจนะที่ได้เล่นกับดาราขนาดนี้

แล้วพอเป็นนักแสดงท่านอื่นก็ไม่ต่างกัน


อย่างคุณเผือก (พงศธร จงวิลาส) เขาก็มีความสนุกสนานตามประสาเขา ก็เลยทำให้สนิทกัน คุยกันได้ ส่วนคุณดู๋ (สัญญา คุณากร) เขาก็ไม่มีความเป็นดาราอะไรใส่ป้านะ เลยทำให้เราไม่เครียดกับเขา ทำให้พอได้ร่วมแสดงไปกับพวกเขามันก็คล้ายกับเหมือนกับครอบครัวไปด้วย

ในฐานะที่เป็นนักแสดงนำในช่วงสูงวัยและเป็นการแสดงครั้งแรกด้วย อีกทั้งเราไม่ค่อยได้เห็นหนังที่เอาดาราสูงวัยเป็นตัวนำ ตรงนี้ป้าแต๋วมองยังไงบ้างครับ


เราก็เคยถามผู้กำกับเหมือนกันนะว่า ทำไมไม่เอานักแสดงสูงวัยที่มีชื่อเสียงมาก่อนหน้าอยู่แล้วมาเล่นล่ะ เอาเรามาเล่นทำไม แล้วก่อนหน้านี้คือไม่เคยทำการแสดงมาก่อน โนเนมมาก เขาบอกว่าเขาต้องการแบบนี้ เขาต้องการคาแรคเตอร์ที่เป็นอาม่าจริงๆ เขาไม่ต้องการดารา เพราะถ้าเอาดารามาเล่นเขาก็จะแสดงแบบดาราเลย เรียกว่าการแสดงของป้านั้นเป็นแบบบ้านๆเลย มีความเป็นธรรมชาติให้ความรู้สึกว่าเราเป็นอาม่าในหนังจริงๆ แต่การแสดงในบางครั้ง เราก็ได้ผู้กำกับคอยกระซิบบอกเหมือนกันว่า ถ้าเรารู้สึกเหนื่อยๆเพลียๆ ก็จะแบบ พักก่อน ให้อาม่าพัก ก็เลยทำให้เราได้พัก ซึ่งพอได้พักแล้วทำให้เรามีแรงที่จะทำการแสดงถ่ายหนังต่อไป ไม่กดดันมาก คือผู้กำกับก็ให้คำแนะนำเราตลอดเวลานะ คอยให้กำลังใจเสมอ หรือแบบ อาม่าเล่นดีแล้ว แต่ขออีกเทคนึง (หัวเราะ) เราก็แกล้งร้องเพลงแหย่ อารมณ์ประมาณทำไมถึงทำกับฉันได้ แต่พัดบอกว่า ยาย ผมต้องการออกมาให้ดีที่สุด เราก็เข้าใจ


ในวัย 78 ของป้าแต๋ว สิ่งที่กลัวที่สุด คืออะไรครับ

ถ้าเป็นคนในวัยช่วงนี้ น่าจะกลัวเรื่องเดียวคือ เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เพราะว่ามันถึงวัยที่ต้องเป็น เราไม่เรียกเขาก็มา อย่างเรื่องความดัน กับเรื่องไขมัน ไม่เคยใฝ่หาเลย แล้วมันก็มา ซึ่งเราก็บอกกับตัวเองว่า มาอยู่ด้วยกันแล้วอย่าให้เราเจ็บมากละกัน ซึ่งถ้าเป็นมากก็แค่ตาย ก็มีการนึกอยู่ตลอดเวลา นอกนั้นก็ไม่มีอะไรมาก อย่างเรื่องครอบครัว เราก็ถือว่าโอเคนะ มีลูกสาว 3 คน พวกเขาก็ประสบความสำเร็จกันหมด

อย่างเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ในมุมของป้าแต๋วครับ


คือสมัยก่อนจะเป็นแบบว่า หนึ่ง ครอบครัวจะอยู่ด้วยกัน แล้วมีความอบอุ่น แล้วถ้ามีลูกคนหนึ่งแต่งงานก็จะยังอยู่ที่บ้านเดิม คล้ายๆ ว่าเพิ่มสถานะเป็นครอบครัวใหญ่ แม้ว่าตัวบ้านจะมีขนาดเล็ก แต่บางบ้านก็จะปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆ กัน ยิ่งเป็นต่างจังหวัดก็จะเป็นในลักษณะนี้ ถึงเวลาก็จะมากินข้าวด้วยกัน แต่ปัจจุบันนี้ ถ้ามีการแต่งงานก็จะมีการออกเรือนไป แล้วนานๆ ครั้งก็จะเจอะเจอกัน ก็ได้แต่ใช้โทรศัพท์คุยกัน อย่างส่วนตัวป้าเอง ในบางครั้งเราก็คิดถึงลูก มีความหวงมากลูกคนนี้เป็นยังไง สบายดีไหม เห็นเขาหายไปนานๆ ก็โทรหาเขา แล้วบางครั้งเขาก็มารับเราไปกินข้าว อาจจะเรียกว่าห่างเหินกันมันก็ไม่เชิง แต่มันเป็นสังคมที่เป็นอย่างนี้ อย่างหลานป้าก็เหมือนกัน เราก็มีความเป็นห่วง บางครั้งเราก็อยากจะไปอยู่เป็นเพื่อนหลานนะ แต่ลูกก็จะบอกว่า แม่อย่าไปเลย เดี๋ยวจะกลายมาเป็นห่วงเราแทน ทั้งๆที่ความตั้งใจเราก็อย่างที่บอก มันเลยกลายเป็นว่าดูห่างเหินไป

คือผู้สูงวัย เขาจะมีความกลัวนอกจากเรื่องโรคภัยไข้เจ็บอย่างที่ว่าไป ก็จะมีเรื่องการเป็นผู้ป่วยติดเตียง แล้วก็เรื่องอัลไซเมอร์ เพราะว่าถ้าเป็นขึ้นมา คนที่อยู่กับเราก็จะลำบากในเรื่องของการดูแล โดยเฉพาะกรณีแรกนี่คือไม่ใช่ดูแลกันง่ายๆนะ ถ้าช่วงเวลาหนึ่งไม่มีคนอยู่ในบ้านเลยจะทำยังไง อย่างโรคภัยอื่นนี่ก็อาศัยกินยาก็อยู่ได้ แต่จากที่ป้ายกตัวอย่างมานี่แหละ มันน่ากลัว


แล้วในเรื่อง Generation Gap หรือ ความห่างของช่วงวัยละครับ

ก็อย่างที่เราบอกนะ พอเรียนจบหรือว่าแต่งงานปั๊บ ยกตัวอย่างว่าเป็นหลานป้าละกัน พอเรียนจบ ด้วยความที่ที่ทำงานของเขาห่างไกลจากตัวบ้าน เขาก็จะไปอยู่คอนโด ถึงเวลางานก็ไปทำงานได้สะดวก ทำให้แม่อยู่ทางลูกก็อยู่ทาง สังคมเดี๋ยวนี้มันจะเป็นอย่างนี้อย่างที่บอก พอมาเจอกันนานๆครั้ง ก็จะสวมกอดให้ชื่นใจบ้างก็แค่นั้น หลังจากนั้นต่างคนก็ต่างกลับบ้าน วิถีชีวิตคนเป็นอย่างนี้ เลยทำให้ความรู้สึกที่อยู่ด้วยกัน หรือความอบอุ่นระหว่างกันนั้นมันน้อยลงไป เมื่อเทียบกับสมัยก่อน

ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ส่วนตัวละกัน อย่างข้างบ้านของป้า อยู่บ้านหลังใหญ่โตเลย พอลูกคนโตเขาเรียนจบ เขาก็ไปทำงานต่างจังหวัด ส่วนลูกคนเล็กก็แต่งงานแยกเรือนออกไป เหลือแค่พ่อแม่ 2 คนอยู่ในบ้าน แต่ทั้งคู่ก็ยังอยู่กันได้ แต่เขาก็จะมาบอกเราว่า ตอนเช้ายังไม่เจอหน้าเขา พอตกตอนเย็นเขาก็ยังไม่เลิกงาน ลูกคนโตเลยซื้อหมามาให้เลี้ยง เลยกลายเป็นว่าพ่อเลี้ยงหมาเป็นลูกแทน (หัวเราะเบาๆ) ซึ่งมันสะท้อนนะว่าสังคมปัจจุบันนี้มันเป็นอย่างนี้

แต่เราก็โทษเขาไม่ได้อีกแหละ เพราะสังคมในแต่ละช่วงเวลามันก็ไม่เหมือนกันอย่างที่บอก เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย ถ้าเราไม่เข้าใจเมื่อไหร่ เราจะกลายเป็นคนที่ซึมเศร้าเอง จะทำให้เราคิดตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะมาหาซะที ก่อนที่จะคิดถึงคนอื่นมากๆ ก็ต้องคิดถึงตัวเองก่อน ว่าถ้าเราอยู่ในสภาพแบบนั้น เราอาจจะกลายเป็นภาระให้ลูกหลานก็ได้ แล้วยิ่งสมัยนี้คนมีปัญหาทางสุขภาพจิตด้วย เราก็ต้องก้าวข้ามจุดตรงนี้ไปให้ได้ด้วย กลายเป็นว่าเราต้องเข้าใจเขา จะเป็นแบบว่า มาแล้วเหรอ กินอะไรมาหรือยัง กลายเป็นว่าเราเอาใจเราไปใส่ใจลูก ไม่ใช่ให้ลูกมาใส่ใจเรา

สมัยนี้ต้องเป็นอย่างนั้นก็คือเข้าใจและก้าวข้ามไปด้วย บางคนเขาไม่เข้าใจไง เลยกลายเป็นไม่ก้าวข้ามตรงนี้ แต่โดยส่วนตัวป้านี่คือ ตื่นเช้ามาอาบน้ำกินข้าวรดน้ำต้นไม้ ร้องเพลง แล้วก็ทำกิจกรรมที่เราทำในปัจจุบัน อยากไปไหนก็ไป อยากทำอะไรก็ทำ คือเราต้องอยู่ให้ได้แล้วอยู่ให้เป็นในยุคนื้


ในวัยของป้าแต๋ว อยากจะฝากอะไรให้กับคนหนุ่มสาวช่วงวัย 20-30 ปีในปัจจุบันนี้บ้างครับ

อยากให้พวกเขาหันกลับไปดูคนที่บ้านบ้าง ถึงแม้ว่าเขาจะไม่อยู่กับเรา แต่อย่างน้อยๆ ก็โทรหาเขา ถามไถ่เขาบ้าง ว่าเป้นยังไงบ้าง ถ้ามีเวลาก็กลับไปหาเขา อีกอย่างก็ให้คนรุ่นหลานเขาเขาใจคนรุ่นพ่อแม่บ้าง อย่างหลานชายป้าก็จะบอกเขาประมาณนี้ ว่าเดือนนึงก็ไปหาเขาบ้าง ซื้ออะไรไปฝากพ่อแม่ เพราะเขาก็เหงาเหมือนกันนะ หลานเขาก็สลับกันไป ป้าก็จะบอกแม่ของหลานแบบนี้แช่นกัน อย่างป้าถ้าเจอพวกเขาก็จะเข้าไปสวมกอดท่ามกลางที่สาธารณะเลย ไม่สนใจใครทั้งนั้นแล้ว เพราะว่าเรารักเขา เราแสดงความรักให้กับพวกเขาน่ะ (ยิ้ม)

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี



กำลังโหลดความคิดเห็น