ต่อจิ๊กซอว์คมนาคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดใช้แล้วถนนเลี่ยงเมืองปัตตานี 14 กิโลเมตรเศษ เชื่อมระหว่างวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว ถึงถนนปัตตานี-นราธิวาส หลังก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562 แต่เจอปัญหาความไม่สงบ น้ำท่วม แถมผลกระทบโควิด-19 ผ่านไป 5 ปีเปิดใช้เต็มเส้นทาง
วันนี้ (12 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ได้เปิดใช้เส้นทางถนนเลี่ยงเมืองปัตตานี ช่วงตอน แยกทางหลวงหมายเลข 418 (บ.มะพร้าวต้นเดียว) - อ.ยะหริ่ง ระหว่าง กม.7+800 - 22+000 ในพื้นที่ ต.กาเต๊าะ อ.หนองจิก ถึง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ระยะทาง 14.2 กิโลเมตร งบประมาณ 1,970 ล้านบาท แล้วเสร็จ และให้บริการแก่ประชาชนในการสัญจรแล้ว หลังจากใช้เวลาก่อสร้างมานานถึง 5 ปี ที่ผ่านมารถที่มาจากทาง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะไปจังหวัดนราธิวาส เมื่อถึงวงเวียนมะพร้าวต้นเดียวต้องเลี้ยวซ้ายไปทางถนนสายปัตตานี-ยะลา (ทางหลวงหมายเลข 418) ไปอีก 6 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาที่แยกงาแม่นอก ตรงไปอีก 99 กิโลเมตร ต่อจากนี้สามารถใช้ถนนเลี่ยงเมืองปัตตานี สิ้นสุดเส้นทางที่ อ.ยะหริ่ง ตรงไปอีก 87 กิโลเมตร ช่วยร่นระยะทางจากเดิมประมาณ 4 กิโลเมตร
สำหรับถนนเลี่ยงเมืองปัตตานี เป็นการก่อสร้างถนนแนวใหม่ เชื่อมต่อระหว่างวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว ซึ่งบรรจบกันระหว่างถนนหาดใหญ่-ปัตตานี (ทางหลวงหมายเลข 43) กับถนนสายปัตตานี-ยะลา (ทางหลวงหมายเลข 418) ไปสิ้นสุดที่ถนนปัตตานี-นราธิวาส (ทางหลวงหมายเลข 42) มุ่งหน้าไปยังจังหวัดนราธิวาส และด่านสุไหงโก-ลก พรมแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศมาเลเซีย โดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองปัตตานีอีกต่อไป ลักษณะเป็นมาตรฐานชั้นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ 2 ช่องจราจร ผิวจราจรชนิดแอสฟัลต์คอนกรีต มีเกาะกลางแบบเกาะร่องและแบบกําแพงคอนกรีตแบ่งทิศทางจราจร ก่อสร้างสะพาน 14 แห่ง พร้อมระบบระบายน้ำ ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย
แบ่งการก่อสร้างเป็น 5 ตอน มีผู้รับจ้าง 3 ราย ได้แก่ บริษัท ก.นราพัฒน์ จำกัด (ตอน 1 และ 2) บริษัท ตาปีแทรคเตอร์ จำกัด (ตอน 3 และ 5) และห้างหุ้นส่วนจำกัด หาดใหญ่เรืองชัยการโยธา (ตอน 4) เริ่มต้นสัญญาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2562 แต่การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาพื้นที่ความมั่นคง ปัญหาอุทกภัย ซ้ำด้วยผลกระทบจากโควิด-19 และบางตอนต้องรอเวนคืนที่ดิน จึงได้มีการลดค่าปรับลงเหลือร้อยละ 0 เพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถดำเนินงานต่อไปได้โดยไม่ให้กระทบต่อสภาพคล่อง ต่อมางานก่อสร้างแล้วเสร็จตามลำดับ ได้แก่ ตอน 5 งานแล้วเสร็จวันที่ 19 ต.ค. 2565 ตามมาด้วยตอน 3 งานแล้วเสร็จวันที่ 10 ก.พ. 2566 และตอน 4 งานแล้วเสร็จเดือน ก.ย. 2566 ส่วนตอน 2 งานแล้วเสร็จ ม.ค. 2567 และตอน 1 งานแล้วเสร็จ ก.พ. 2567 และเปิดให้สัญจรตามปกติ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 418 จากบ้านคลองขุด อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ผ่านวงเวียนมะพร้าวต้นเดียว ถึงบ้านท่าสาป ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2545 มีกำหนดสิ้นสุดสัญญาวันที่ 30 ก.ย. 2548 งบประมาณ 703.5 ล้านบาท แต่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้การก่อสร้างทำได้แค่ 25% ก่อนที่ผู้รับจ้างทิ้งงานไปตั้งแต่ปี 2547 และบอกเลิกสัญญา ต่อมาวันที่ 27 พ.ย. 2549 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมการทหารช่างก่อสร้างส่วนที่เหลือในวงเงิน 1,040.8 ล้านบาท เพื่อสานต่อโครงการให้แล้วเสร็จ ใช้เวลาก่อสร้าง 720 วัน ใช้กองกำลังทหารช่างเฉพาะกิจจากทุกกองทัพภาค รวม 1,200 นาย ท่ามกลางความยากลำบากและเสี่ยงภัย กระทั่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้สัญจรไปมาได้เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2552