เอ็มอาร์ที คอร์ป ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในมาเลเซีย เปิดตัวชื่อสถานีใหม่ "ตุน ราซัก เอ็กซ์เชนจ์ ซัมซุง กาแลกซี" หลังซัมซุงได้รับสิทธิ์ในการใช้ชื่อสถานีและติดตั้งสื่อโฆษณาบนทำเลผู้โดยสารหนาแน่น เขตการเงินนานาชาติและศูนย์การค้าลักชัวรี ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้วเครือข่ายมือถือในมาเลเซียก็ได้รับสิทธิ์เช่นกัน
วันนี้ (11 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ซัมซุง มาเลเซีย ได้ร่วมกับ เอ็มอาร์ที คอร์ป (MRT Corp) ประเทศมาเลเซีย เปิดตัวชื่อสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีที่ชื่อว่า ตุน ราซัก เอ็กซ์เชนจ์ ซัมซุง กาแลกซี (Tun Razak Exchange Samsung Galaxy) เมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเอ็มอาร์ที คอร์ปฯ ให้สิทธิ์แก่ซัมซุง มาเลเซีย ในการใช้ชื่อสถานีดังกล่าว รวมทั้งติดตั้งสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ของซัมซุง โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนซัมซุง กาแลกซี เอส 24 ซีรีส์ ทั่วทั้งสถานี นอกจากนี้ ซัมซุง มาเลเซีย ได้ทำโปรโมชันแก่สมาชิกซัมซุงชาวมาเลเซียที่เดินทางผ่านสถานีดังกล่าว สามารถแลกรับเครดิตในแอปพลิเคชัน ทัชแอนด์โก อี-วอลเล็ต (Touch N'Go eWallet) มูลค่า 5 ริงกิตมาเลเซียอีกด้วย
ปัจจุบันสถานีรถไฟฟ้าตุน ราซัก เอ็กซ์เชนจ์ หรือเรียกโดยย่อว่า ทีอาร์เอ็กซ์ (TRX) มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 220,000 คนต่อวัน เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สายกาจัง (Kajang) สถานี S20 และสายปุตราจายา (Putrajaya) สถานี PY23 ตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการตุน ราซัก เอ็กซ์เชนจ์ ซึ่งเป็นเขตการเงินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ บนพื้นที่ 70 เอเคอร์ และศูนย์การค้าดิ เอ็กซ์เชนจ์ ทีอาร์เอ็กซ์ (The Exchange TRX) ศูนย์การค้าระดับลักชัวรี ที่มีร้านค้าแบรนด์เนมกว่า 400 แบรนด์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 โดยชื่อของตุน ราซัก หรือนายอับดุล ราซัก ฮุซเซน เป็นชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนที่ 2 และอดีตรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนแรก และเป็นบิดาของนายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พราซารานา อินติเกรต ดีเวลอปเมนต์ (Prasarana Integrated Development) ผู้พัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารางเบา สายเกอลานาจายา (Kelana Jaya LRT) ให้สิทธิ์แก่เครือข่ายมือถือเรดวัน (redONE) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ในประเทศมาเลเซีย เปลี่ยนชื่อสถานีเคแอล เซ็นทรัล (KL Sentral) ซึ่งเป็นสถานีกลางของรถไฟในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เฉพาะฝั่งของรถไฟฟ้าแอลอาร์ที ให้ใช้ชื่อว่า "เคแอล เซ็นทรัล เรดวัน" (KL Sentral redONE) เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2566 โดยสัญญามีอายุ 5 ปี
สำหรับประเทศไทย ย้อนกลับไปเมื่อปี 2558 เคยมีข่าวในแวดวงการตลาดว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อสถานีพร้อมพงษ์ ของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ให้เป็นสถานีเอม ดิสทริก (EM District) เพื่อให้เข้ากับโครงการพัฒนาศูนย์การค้าย่านสุขุมวิท ของกลุ่มบริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ในขณะนั้นยืนยันว่าไม่มีนโยบายเปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟฟ้าแต่อย่างใด