xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิถันยรักษ์ฯ-ทรูปลูกปัญญา” มอบรางวัลชนะเลิศ “มรภ.อุตรดิตถ์-สวนสุนันทา” ในโครงการ “สืบสานและต่อยอดภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ปี 2566”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประสบความสำเร็จอย่างงดงามเป็นปีที่ 2 สำหรับการประกวดโครงการ “สืบสานและต่อยอดภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจําปี 2566 รอบชิงชนะเลิศ อีกหนึ่งโครงการดี ๆ จาก มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ร่วมกับ ทรูปลูกปัญญา และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ สืบสานปณิธานจัดตั้งชมรมในมหาวิทยาลัยและต่อยอดเปิดพื้นที่จัดประกวดให้คนรุ่นใหม่แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป้าหมายการเผยแพร่องค์ความรู้ รณรงค์ให้ผู้หญิงไทยรู้จักวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สร้างความตระหนักถึงภัยของมะเร็งเต้านม ‘รู้เร็ว รักษาได้’ ตลอดจนเร่งป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในวัยรุ่น

ชมรมถันยรักษ์ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ มีจำนวน 14 ชมรมจากทั้งหมด 31 ชมรมที่เข้าร่วม ดังนี้ กลุ่มสืบสาน จำนวน 5 ชมรม ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

ขณะที่ กลุ่มต่อยอด จำนวน 9 ชมรม ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชกัฏสุรินทร์


และปีนี้ตัวแทนจากภาคตะวันออกเฉียงเหลืออย่าง “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์" คว้ารางวัลชนะเลิศใน “กลุ่มสืบสาน” พร้อมรับทุนการศึกษาจำนวนกว่า 40,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศและเกียรติบัตรจากมูลนิธิฯ ขณะที่ตัวแทนภาคกลาง “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา” คว้ารางวัลชนะเลิศใน “กลุ่มต่อยอด” เป็นปีที่ 2 รับทุนการศึกษา 50,000 บาท พร้อมถ้วยเกียรติยศและเกียรติบัตรจากมูลนิธิฯ โดยมีนางบุษดี เจียรวนนท์, นายประพาฬพงษ์ มากนวล, นพ.เฉลิมเดช กรรณวัฒน์, นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา ร่วมมอบรางวัล

นอกจากนั้น ภายในงานยังมีรางวัลพิเศษอีกมากมาย ประกอบด้วย รางวัลอาจารย์ที่ปรึกษาคุณูปการ, รางวัลสื่อออนไลน์สร้างสรรค์ และรางวัลขวัญใจมหาชน

รศ.ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ
รศ.ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวในพิธีประกาศผลและมอบรางวัลว่า ขอแสดงความยินดีกับชมรมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และยินดีกับทุก ๆ มหาวิทยาลัยราชภัฏที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ พระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระนามที่นิยมเรียกกันว่า "สมเด็จย่า" ของปวงชนชาวไทยเมื่อหลายสิบปีมาแล้วคือต้องการให้ผู้หญิงไทยทุกแห่งในประเทศไทยได้พ้นภัยจากโรคมะเร็งเต้านมที่คร่าชีวิตของหญิงไทยทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก โดยการให้ความรู้และรู้จักวิธีการตรวจเต้านมของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้พบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ซึ่งหากผู้ป่วยสามารถเข้าสู่กระบวนรักษาได้เร็วที่สุด ก็จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏได้เข้ามามีบทบาท โดยผ่านจัดตั้งชมรมถันยรักษ์ทั่วประเทศ ในการส่งต่อความรู้และรณรงค์ในเรื่องนี้ร่วมกัน นับได้ว่า เป็นส่วนสำคัญในการสืบสานและต่อยอดภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านมในประเทศไทย

“การที่ได้มีโอกาสมารับฟังการนำเสนอของทุกชมรม ได้เห็นความตั้งใจอันดีของทุกคนที่ร่วมกันทำเรื่องนี้ ก็ขอความกรุณาให้ทำกันอย่างต่อเนื่องเหมือนที่ได้พูดมา เพราะว่ามันมีความสำคัญจริง ๆ ต่อชีวิตของหญิงไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม ผมจึงขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วม” รศ.ดร. จิรายุ กล่าว

นางบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ
“2 ปีแล้วที่เราร่วมมือมหาวิทยาลัยราชภัฏผ่านการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งชมรมเข้าไปในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ปัจจุบันมี 31 ชมรมจาก 38 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคณะอาจารย์ นักศึกษา ซึ่งมีความตั้งใจ มีความสร้างสรรค์ คิดวิธีการการสอนและให้ความรู้ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยในบ้านตนเอง รู้จักเชื่อมต่อชุมชน อสม. มูลนิธิ โรงพยาบาล อำเภอได้ดี วันนี้ได้มาชมการแข่งขันก็รู้สึกมีความภูมิใจมาก ยิ่งเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เรามองว่า มีความก้าวหน้ามาก ๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ที่เราให้เพื่อการขยายขอบเขตการให้ความรู้ไปจนถึงรากหญ้า รวมถึงการสอนใช้แอปพลิเคชั่นที่เราสร้างมา เพื่อจะเชื่อมโยงประชาชนทั่วประเทศให้มีการตรวจเต้านมอย่างสม่ำเสมอและเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง”

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจ นางบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก โดยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพบมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีอายุน้อยลงเป็นจำนวนมากขึ้น สามารถพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อย ๆ

นางบุษดี กล่าวต่อว่า มูลนิธิถันยรักษ์ฯ น้อมนำพระราชปณิธานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้อย่างเหมาะสม และให้รักษาคนจน คนรวยโดยเท่าเทียมกัน โดยยึดถือเป็นพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนและดำเนินงานเสมอมา นอกจากการให้บริการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมผ่านศูนย์ถันยรักษ์แล้ว ยังเดินหน้าให้ความรู้ รณรงค์ให้ผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่ห่างไกล ให้ได้เรียนรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก ผู้หญิงสามารถที่จะดูแล และคัดกรองหาสิ่งผิดปกติในเต้านมได้ด้วยตนเอง

ตลอดการดำเนินการกว่า 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า สามารถขยายผลเผยแพร่ความรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเองสู่กลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปได้มากถึง 48,000 คน และสามารถช่วยเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำและการบริหารจัดการให้แกนนำจิตอาสา และสมาชิกชมรมได้มากกว่า 11,200 คน

“นอกจากความรู้การป้องกันมะเร็งเต้านมแล้ว น้อง ๆ ก็ยังได้ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการเข้าสังคม การเป็นผู้นำต่าง ๆ เราได้คุยกับผู้ใหญ่หลายท่านในโครงการคือจริง ๆ มันเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการศึกษาร่วมด้วย นอกจากคณะพยาบาลที่เขามีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ก็ยังมีคณะอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจริง ๆ โครงการนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคณะพยาบาลเท่านั้นนะ สุดท้ายนี้ เราอยากจะขอความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานอื่น ๆ ร่วมกันส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม เพราะเราเชื่อว่า มะเร็งเต้านม ยิ่งเจอเร็ว ยิ่งรักษาเร็ว หายขาดได้แน่นอน” นางบุษดี กล่าว

มรภ.สวนสุนันทา
ในส่วนทิศทางต่อไปของโครงการฯ นายประพาฬพงษ์ มากนวล หัวหน้าฝ่ายทรูปลูกปัญญา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้คำตอบว่า ภาพรวมในปีนี้จากความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ในอนาคตถัดไปอาจต้องมาวิเคราะห์จุดดีและจุดเด่นเพื่อพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมชมรมถันยรักษ์ที่จัดตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้องการการสนับสนุนอย่างไรบ้าง และทรูปลูกปัญญาสามารถผลิตคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์อย่างไรได้บ้าง เพื่อส่งมอบองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาและประชาชนต่อไป

“ที่เลือกมหาวิทยาลัยราชภัฏเพราะทางโครงการมองว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏมีการกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในขณะที่นโยบายของมหาวิทยาลัยเองก็มุ่งเน้นการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับชุมชนอยู่แล้วในเบื้องต้น ดังนั้น ทางโครงการก็มุ่งหวังที่จะให้องค์ความรู้ตรงนี้ไปสู่นักศึกษาและให้นักศึกษานำไปขับเคลื่อนขยายผลในชุมชนและมหาวิทยาลัยของตนเองต่อไป ซึ่งการแข่งขันในวันนี้เรามี 14 ชมรมที่เข้ามานำเสนอข้อมูลที่ได้ดำเนินงานมาในปีที่ผ่านมาต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งปีนี้เห็นได้ชัดว่า นักศึกษามีการทำงานในเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เช่น เมื่อตรวจเจอก้อนเนื้อที่เต้านม ก็สามารถที่จะแนะนำประชาชน เพื่อส่งต่อให้เข้ารับการรักษาต่อไป หรือบางเคสอาจจะเป็นก้อนเนื้อธรรมดา แต่ก็เป็นการดี ที่น้อง ๆ จะได้รู้จักเฝ้าระวัง”

โดยตลอดการขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านมา ทรูปลูกปัญญาร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) บนแพลตฟอร์ม VCOURSE นอกจากนี้ได้ร่วมกับทรูดิจิทัลเฮลในการพัมนาแอปพลิเคชันพัฒนา ระบบบันทึกการตรวจเต้านมด้วยตนเอง BSE Application หรือ Breast Self Examination ถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

มรภ.อุตรดิตถ์
นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง จากผู้เชี่ยวชาญแขนงต่าง ๆ ครอบคลุมถึงการเขียนแผนงานอย่างมีกลยุทธ์ มุ่งสู่การต่อยอดกิจกรรมอย่างยั่งยืน และการสร้างสรรค์กิจกรรมให้น่าสนใจด้วยการใช้สื่อออนไลน์

“สิ่งสำคัญของโครงการฯ คือการได้เห็นพัฒนาการของนักศึกษาในแต่ละทีมผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่นั้น ๆ มีทั้งกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อไปสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชน และกิจกรรมสื่อสารออนไลน์เพื่อขยายไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่มากยิ่งขึ้น” นายประพาฬพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือนหรืออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งประโยชน์การตรวจอย่างสม่ำเสมอถือเป็นการเฝ้าระวัง เมื่อเต้านมมีความผิดปกติจะรู้ได้เร็วและรักษาเร็ว โดยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ช่วงหลังหมดประจำเดือนประมาณ 7 – 10 วัน ซึ่งทำให้ตรวจได้ง่าย

ทั้งนี้ สำหรับ BSE Application สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ IOS


กำลังโหลดความคิดเห็น