xs
xsm
sm
md
lg

บูลลี่ในโรงเรียน ชนวนเด็กก่อความรุนแรง คดีอาชญากรรมขาสั้นพุ่งกว่าครึ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพัฒน์ฯ พบเด็กและเยาวชนก่อคดีรุนแรงมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปี 62 แถมใช้อาวุธอีกเพียบ ชี้ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่วัยมัธยม มาจากหลายสาเหตุ ครอบครัวเปราะบาง เพื่อนไม่ดี ชุมชนมีปัญหา เข้าถึงอบายมุข ใช้สารเสพติด ป่วยจิตเวช พบเยาวชนถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนจำนวนมาก ระเบิดเวลาปัญหาอาชญากรรม

วันนี้ (6 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ นำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ หัวข้อ "การกระทำผิดของเด็ก (Juvenile Delinquency) : เจาะเหตุพฤติกรรม เพื่อป้องกันความรุนแรง" ระบุว่า ปีงบประมาณ 2566 เด็กและเยาวชนก่อคดีเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 ถึงร้อยละ 58.7 ประกอบกับมีการใช้อาวุธเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 92.1 ซึ่งผู้กระทำผิดส่วนใหญ่ยังเป็นนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยร้อยละ 80 เป็นเยาวชนที่มีอายุ 15-17 ปีและร้อยละ 20 เป็นเด็กอายุ 11-14 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายกรณีนำไปสู่ความสูญเสียที่กระทบสังคมในวงกว้าง โดยสาเหตุและปัจจัยที่เด็กและเยาวชนก่อความรุนแรงสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ปัจจัย คือ

1) ปัญหาความเปราะบางของสถาบันครอบครัว ทั้งที่มาจากการไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ และการได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการลงโทษ การสั่งสอนโดยใช้ความรุนแรง ที่ทำให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ

2) ปัญหาสังคมเพื่อนที่ไม่ดี ทั้งจากการต้องการการยอมรับและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนที่ไม่ดี และการถูกบูลลี่ ซึ่งผลกระทบจากการถูกบูลลี่ส่วนหนึ่งทำให้อยากเอาคืนมากถึงร้อยละ 42.9

3) การอยู่อาศัยในแหล่งชุมชนที่มีปัญหา โดยเฉพาะแหล่งที่มีการซื้อขายยาเสพติด แหล่งที่มีการรวมตัวมั่วสุม แหล่งที่มีการทะเลาะวิวาทส่งเสียงดังเป็นประจำ

4) ปัญหาการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ไม่เหมาะสมได้ง่าย เช่น กลุ่มสังคมออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย เกมที่มีเนื้อหารุนแรง เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถคัดกรองและเลือกรับสื่อได้เท่าที่ควร จึงอาจทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงไปโดยที่ไม่รู้ตัวและเกิดพฤติกรรมเลียนแบบตามมาได้

และ 5) ปัญหาทางจิตเวช หรือการใช้ยาเสพติด โดยพฤติกรรมความรุนแรงบางประเภทมีสาเหตุมาจากอาการทางจิตเวชได้ เช่น โรคบุคลิกภาพแปรปรวน โรคพฤติกรรมเกเร โรคไซโคพาธ ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมรุนแรงมากขึ้นได้ โดยสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคจิตเวช คือ การใช้ยาเสพติด

จากปัจจัยดังกล่าวนี้การแก้ปัญหาทุกคนต้องร่วมกันป้องกัน มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ดังนี้

1) ความเข้มแข็งของสถาบันทางสังคม โดยเฉพาะใน (1) สถาบันครอบครัว ต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และการอบรมสั่งสอนด้วยเหตุผลแทนการใช้ความรุนแรง (2) สถาบันการศึกษา โดยบุคลากรครูต้องใส่ใจและสอดส่องปัญหาการใช้ความรุนแรงของเด็กให้มากขึ้น เช่น การสอดแทรกกระบวนการยับยั้งชั่งใจ การรู้เท่าทันตนเอง และการควบคุมอารมณ์ในวิชาเรียน และ (3) ชุมชน โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติในการสร้างชุมชนปลอดภัย

2) ความครอบคลุมและต่อเนื่องในการคัดกรองสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน เพื่อที่ทำให้ได้รับการประเมินสุขภาพจิต ตลอดจนการดูแลและส่งต่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที

และ 3) การเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงการสร้างความตระหนักให้กับผู้ปกครองและสังคมในการเฝ้าระวังสื่อที่มีผลกระทบต่อเด็ก ตลอดจนผู้ผลิตสื่อจำเป็นต้องให้ความรู้ รวมทั้งเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์ไม่ให้ถูกผลิตซ้ำ

ในตอนหนึ่งของการนำเสนอภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2566 ของสภาพัฒน์ฯ ยังพบว่า แม้ไตรมาสสี่ ปี 2566 คดีอาญารวมลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ หนึ่งในนั้นคือการถูกกลั่นแกล้ง (Bully) ในสถานศึกษา จากผลการสำรวจของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในปี 2566 พบว่าเด็กและเยาวชนเคยถูกกลั่นแกล้งร้อยละ 44.2 ซึ่งเกิดขึ้นในโรงเรียนมากถึงร้อยละ 86.9 นอกจากนี้ เด็กที่ถูกแกล้งยังเคยคิดแก้แค้นคืนกว่าร้อยละ 42.86 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น