xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวัฒน์” หิวแสง? ปมพิพาท ส.ป.ก.-อุทยานฯ เหมือนจะจบแต่ไม่จบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมพิพาท ส.ป.ก.-อุทยานฯ เกิดเพราะต่างฝ่ายต่างถือแผนที่คนละฉบับ แต่แนวโน้มได้ข้อยุติ เมื่อนายกฯ ให้ใช้แผนที่ทหารเป็นตัวตัดสิน และกระทรวงเกษตรฯ โดย รมว.ธรรมนัส ยอมถอย กันพื้นที่ทับซ้อนเป็นบัฟเฟอร์โซน ปลูกป่าชุมชน ไม่ออกเอกสาร ส.ป.ก. แต่ “ชัยวัฒน์” ยังทำตัวเกเร ไม่ยอมรับแผนที่ทหาร โวยวายว่าไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนแต่เป็นเขตอุทยานฯ จับตาเป็นการเมืองในพรรค พปชร.หรือไม่



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี ปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนและเกิดข้อพิพาทระหว่างกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กับ ส.ป.ก. ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่เป็นประเด็นต่อเนื่องเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอดีตอธิบดีกรมป่าไม้ นายดำรงค์ พิเดช เป็นที่ปรึกษา


สัปดาห์ที่แล้ว วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เรียก ร.อ.ธรรมนัส , นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.), นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมไปถึง พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร เพื่อมาหารือเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้

ต่อมา วันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วยนายวิณะโรจน์ นายจตุพร นายอรรถพล และ พล.ท.ชาคร ร่วมกันแถลงภายหลังหารือนายกฯ สรุปเป็นประเด็น ว่า

1. หากพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินซึ่งตามหลักฐานเดิมตั้งแต่ปี 2527 มาถึง 2530 จนถึง 2534 เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อเกิดปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ติดกัน เรียกว่าแนวกันชน

ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจะออกนโยบายว่า “ต่อไปนี้ พื้นที่ที่เป็นแนวกันชนหรือพื้นที่ติดประชิดกัน จะไม่จัดให้พี่น้องเกษตรกรทำกินอย่างเด็ดขาด นี่คือข้อตกลงที่ได้คุยกันไว้ทั้งสองหน่วยงาน”

2.พื้นที่ที่มีปัญหา ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่าเบื้องต้นให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ออกคำสั่งยกเลิกทั้งหมดในเอกสารที่ออกมา แล้วตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเกษตรกรคือตัวจริงหรือไม่ใช่ตัวจริง หากมีมูลก็จะตั้งคณะกรรมการดำเนินการเอาผิดทั้งวินัยและวินัยร้ายแรง และดำเนินคดีอาญา


3.แนวทางการทำงานในอนาคตจะมีการบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยูระหว่าง ส.ป.ก. กับกรมอุทยานฯ ในการที่จะกระทำการใดๆ ก็ตามในพื้นที่ที่จะจัดสรรให้กับเกษตรกร จะต้องมี คณะกรรมการเป็นรูปธรรม ต่อไปจะมอบให้ ส.ป.ก.จังหวัด ที่ประกอบด้วยทุกหน่วยงาน ทั้งส.ป.ก., กรมอุทยานฯ, กรมป่าไม้, กรมธนารักษ์และหน่วยงานของรัฐที่ดูแลพื้นที่ดินของรัฐทั้งหมดจะได้มีความโปร่งใส

4.ในการแถลงข่าวดังกล่าว ร.อ.ธรรมนัส ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจด้วยว่า การเริ่มรังวัดเริ่มตั้งแต่ วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาประมาณ 2 เดือน(รัฐบาลเศรษฐาเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนในวันที่ 5 กันยายน 2566)

5.ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันด้วยว่าไม่ใช่ประเด็นการเมือง เพราะรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวง(กระทรวงเกษตรฯ และ กระทรวงทรัพย์ฯ)มาจากพรรคเดียวกัน แต่เป็นความผิดพลาดในการทำงานที่ไม่คุยกัน ทางแก้คือ อธิบดีกรมอุทยานฯ และเลขาธิการ ส.ป.ก.ต้องคุยกัน โดยมีกรรมการกลางก็คือ “กรมแผนที่ทหาร”

6. ในการแถลงข่าว ร.อ.ธรรมนัส ยังยอมรับแบบแมน ๆ ด้วยว่าเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ชี้แจงมีเหตุมีผล และตอนที่ตัวเองลงพื้นที่ก็เห็นสภาพเป็นป่าที่ฟื้นขึ้นมาเพราะเกษตรกรไม่ได้เข้าทำกินมานาน โดยจิตสำนึกมนุษย์ไม่ควรจะจัดให้เกษตรกร จึงจะจะตั้งกรรมการสอบสวนแน่นอน หากมีมูลว่าผิดก็ต้องดำเนินคดีอาญา

แม้เรื่องนี้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูเรื่องปัญหาการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อจัดสรร ส.ป.ก. รวมไปถึงอุทยาน และพื้นที่อื่น ๆ ที่ร่ำลือกันว่ามากถึง 150,000 ไร่

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงที่สุดแล้ว ต้องยอมรับว่า รมว.เกษตรฯ นั้นแม้ตอนแรกจะออกแนวดุดันหรือล้ำเส้นไปบ้าง แต่สุดท้ายเมื่อได้นั่งโต๊ะพูดคุยกันก็ยอมถอยเร็ว และน่าจะเดินไปถูกทิศถูกต้อง


คล้อยหลังจากนั้น 2 วัน วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงนามในบันทึกข้อความส่วนราชการ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง นโยบายการดำเนินการบริเวณเขตพื้นที่กันชน (Buffer Zone) กับเขตปฏิรูปที่ดิน

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้มอบนโยบายและขอให้ ส.ป.ก. ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจโดยเคร่งครัดดังต่อไปนี้

1.ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณพื้นที่ตามแนวเขตปฏิรูปที่ดินที่ติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และพื้นที่ต่อเนื่อง ว่าเป็นการจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด

2.จัดทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกันพื้นที่ดังกล่าวให้จัดทำเป็นป่าในเขตปฏิรูปที่ดิน

3.ตรวจสอบการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินบริเวณรอยต่อกับพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐอื่น ๆ โดยให้ดำเนินการทั่วทั้งประเทศว่า มีกรณีจัดที่ดินโดยผิดกฎหมายหรือไม่ หรือจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือยังมีที่ดินที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดให้แก่เกษตรกรแต่อย่างใด หากพบว่าการจัดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ดำเนินการตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องโดยเคร่งครัด

4.เตรียมการสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรหรือที่ดินว่างเปล่ารองรับเกษตรกร กลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ไม่มีที่ดินทำกินโดยให้จัดสรรที่ดินให้กับกลุ่มเหล่านี้ตามระเบียบ ส.ป.ก.ต่อไป


“ผมเอาเรื่องนี้มาพูด ประเด็นหลักอยู่ที่ว่า แรกสุด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็ดึงดันที่จะเดินหน้าไป เพราะคิดว่าตัวเองทำไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อได้รับการท้วงติงแล้ว เขาก็ยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าเขาถอยได้ ซึ่งการตัดสินใจถอยและจัดระเบียบขึ้นมาใหม่นี้ ก็ต้องชื่นชม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถึงแม้ว่าคนจะมองเขาในแง่ลบก็ตาม อะไรที่เป็นความจริง เราต้องยอมรับความจริงไป” นายสนธิกล่าว

ทั้งนี้ การที่ ร.อ.ธรรมนัส ออกมายืนยันว่าพื้นที่ Buffer Zone นั้นจัดทำเป็นป่าชุมชนได้ ก็เท่ากับยอมรับแล้วว่าจากนี้ไปจะไม่มีการออกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.ให้กับพื้นที่ในบริเวณเหล่านั้นอีกต่อไปทั่วประเทศ

“นี่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง และต้องขอขอบคุณ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่กล้าพอที่จะถอยออกมาก้าวหนึ่ง แล้วก็ร่างแนวป้องกันขึ้นมา เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหานินทา แต่อย่างที่ผมเรียนให้ทราบครับ รัฐบาลชุดนี้เข้ามารับผิดชอบเดือนกันยายน 2566 แต่โฉนดที่ดินของ ส.ป.ก. ที่มีปัญหานั้น เกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา


“ต้องไปถามคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ และคุณประภัตร โพธสุธน ต้องถามสองคนนั้น ไปดู วัน ว. เวลา น. ว่าโฉนดออกในช่วงไหน ก็จะรู้ทันทีเลยว่ายุคนั้นใครรับผิดชอบ ส.ป.ก. ถ้าเป็นคุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน หรือคุณประภัตร โพธสุธน ก็เป็นหน้าที่ของสองคนนี้ต้องตอบคำถามให้สังคม โชคร้ายของธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งตัวเองนั้นมีปัญหาในเรื่องภาพพจน์ในบางส่วน ต้องมารับเผือกร้อนเรื่องนี้ แต่ก็ต้องขอชมเชยว่าเขากล้าพอที่จะถอย”

นายสนธิ กล่าวต่อ ว่ากรมแผนที่ทหารซึ่งได้สำรวจพื้นที่ ส.ป.ก.ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ แล้ว หลังจากทำแผนที่ที่เรียกว่า One Map กรณีนี้เสร็จ นายกฯ จึงสั่งการให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าว สรุปว่า ทั้งสองหน่วยงานไม่มีใครผิด-ใครถูก เนื่องจากถือแผนที่คนละฉบับ แต่ ร.อ.ธรรมนัส ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ บอกว่าได้มีการตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินที่มีพฤติกรรมส่อผิดกฎหมายในการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. มอบหมายที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หากตรวจสอบพบการกระทำผิดตามกฎหมาย จะดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 157 และเรื่องวินัยร้ายแรง

นอกจากนี้แล้ว ร.อ.ธรรมนัส ยังสั่งการให้ตรวจสอบพื้นที่ ส.ป.ก.รอบเขาใหญ่ทั้งหมดว่ามีการจัดสรรที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าเป็นรีสอร์ตหรือโรงแรม อาจจะยึดคืน ซึ่งได้ให้สำรวจทั่วประเทศ หากพื้นที่ใดไม่ได้จัดสรรให้เกษตรกร ทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางจะทำเป็นป่าชุมชน หากพื้นที่ใดทำผิดวัตถุประสงค์ ก็จะทำการเพิกถอน


หนังสือที่เจ้ากรมแผนที่ทหารนำเสนอต่อนายกฯ ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ ส.ป.ก. ไปปักหมุดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยาน แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้กับพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ จึงเห็นว่าควรจะกันเป็นพื้นที่กันชน ซึ่งตรงกับนโยบายที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องการ ไม่ควรเอาพื้นที่นี้มาทำ ส.ป.ก. นายกฯ ลงมาสั่งการด้วยตัวเอง ไม่ให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ ประชุมที่ดิน 72 จังหวัด ได้ข้อสรุปว่า ต่อจากนี้สองหน่วยงานจะจับมือกันพิทักษ์ป่า พื้นที่อุทยานด้วยกัน ทำกันชนทั้งประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา

“และนี่คือปัญหา ส.ป.ก. ซึ่งผมคิดว่าจบแล้ว และผมก็ต้องขอชมเชย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่า รู้จักถอย และยอมรับ แล้วก็แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะถูกเข้าใจผิดได้ วันนี้มีกรมแผนที่ทหารแล้ว ทำแผนที่ขึ้นมา 1 ฉบับ ให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน” นายสนธิกล่าว

“ชัยวัฒน์” คิดอะไรอยู่? ไม่ยอมรับแผนที่ทหาร



เมื่อพูดถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แล้ว ก็จำเป็นต้องพูดถึง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เราต้องยอมรับว่า ถ้าถามประชาชนแล้ว ประชาชนจะยืนข้างนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อย่างแน่นอนที่สุด แต่ที่เอาเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส มาพูด เพื่อชี้ให้เห็นวา จะอย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัสพร้อมที่จะถอยและแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดแล้ว

แต่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ในขณะนี้ประชาชนหลายคนชื่นชมในตัวเขามาก เขามีประเด็นน่าสนใจเยอะ แต่พอเวลาทอดไป ผ่านออกไป นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจง ด้วยความขัดแย้งของสองหน่วยงาน หน่วยงานหนึ่งก็คือกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแผนที่ของตัวเอง หน่วยงาน ส.ป.ก. ก็มีแผนที่ของตัวเอง ทั้งสองหน่วยงาน ทั้งกรมอุทยานฯ และ ส.ป.ก. ไม่มีใครผิด-ใครถูก เพราะถือแผนที่กันคนละฉบับ นายกฯ จึงหาทางออกที่ดีที่สุด คือใช้กรมแผนที่ทหารมาจัดการ เอาแผนที่ทหารเป็นหลักในการแก้ไขปัญหา


ซึ่งถ้าพูดถึงความแม่นยำกันแล้ว ต้องเชื่อมั่นในกรมแผนที่ทหารมากกว่า กรมแผนที่ทหารจะไม่แม่นยำได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องของพื้นที่ประเทศไทย จึงต้องแม่นยำมาก

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้ดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีการตั้งกรรมการสอบเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินที่มีพฤติกรรมส่อผิดกฎหมายในการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก. มอบที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ว่าถ้าตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมาย ต้องดำเนินคดีตามมาตรา 157 และเรื่องวินัยอย่างร้ายแรง

นอกจากนี้แล้ว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังสั่งการให้ตรวจสอบพื้นที่ ส.ป.ก.รอบเขาใหญ่ทั้งหมดว่ามีการจัดสรรที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นรีสอร์ตหรือโรงแรม จะยึดคืน แล้วได้สั่งให้สำรวจทั่วประเทศ หากพื้นที่ยังไม่ได้จัดสรรให้เกษตรกร ทั้งสองหน่วยงานมีแนวทางทำเป็นป่าชุมชน พื้นที่ใดขัดวัตถุประสงค์ก็ทำการเพิกถอนต่อไป

นอกจากนี้ ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังบอกว่า ต่อไปนี้ข้อตกลงที่กระทรวงเกษตรฯ คุยกับกระทรวงทรัพยากรฯ คือพื้นที่ที่เป็นแนวกันชน หรือพื้นที่ที่ติดประชิดกัน จะไม่ให้พี่น้องเกษตรกรทำกินเป็นอันขาด พื้นที่ที่เป็นข้อสงสัยว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม ก็ไม่ให้มีการออก ส.ป.ก.

ความจริงเรื่องนี้น่าจะคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กลับออกมาแถลงตอบโต้กรมแผนที่ทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่นายกฯ ส่งเข้ามาแก้ปัญหา


วันที่ 28 กุมภาพันธ์ นายชัยวัฒน์เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ตอบโต้กรมแผนที่ทหาร ระบุว่า ไม่มีแนวกันชน และยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยาน 100% การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐ หรือ One Map นายชัยวัฒน์ ก็บอกว่ายังไม่ได้ประกาศใช้ คนที่อยู่ในคณะกรรมการ One Map ก็เป็นคนเดียวกันกับที่มาอ้าง

แล้วยังเรียกร้องขอเข้าไปชี้แจงกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยตรง แล้วจะจับตาดูว่าเอกสารที่นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีจะเป็นเอกสารที่ถูกต้องหรือไม่ พร้อมกันนั้น กล่าวหากรมแผนที่ทหารว่าเป็นการตัดสินใจที่ ต้องพูดความจริงทั้งหมด เอารายละเอียดมาคุยกันเรื่องจะจบง่าย ถ้าเป็นเช่นนี้เรื่องไม่จบแน่นอน

“ผมคิดว่าคุณชัยวัฒน์ เริ่มจะเกเรมากขึ้นไปแล้ว คือจริงๆ แล้วผมไม่ทราบว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะเจ้านายโดยตรงของคุณชัยวัฒน์ ทำไมถึงเงียบไป คุณพัชรวาท คุณต้องไปถามพี่ชายคุณ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าเชื่อใจในกรมแผนที่ทหารบกหรือเปล่า เขาเป็นทหาร เขาต้องเชื่อใจทหารด้วยกัน


“ส่วนการที่คุณชัยวัฒน์ ไม่เชื่อ คุณชัยวัฒน์ ก็สามารถจะดำเนินการในช่องทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่มาโวยวาย ออกมาดิสเครดิตท่านนายกฯ หาว่าข้อมูลต่างๆ ที่ท่านนายกฯ ได้รับไปนั้นอาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผมเป็นห่วงเรื่องนี้

“คุณชัยวัฒน์ บอกว่าพี่น้องประชาชนผู้ไม่มีที่ทำกินสบายใจได้ ถ้า ส.ป.ก.ตั้งใจจะทำงานนี้ด้วยความถูกต้อง แม่นยำ ก็ต้องเอาคนที่เป็นกลุ่มนายทุนและกลุ่มที่ได้ไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ยึดกลับมา

“ก็จริง ผมเห็นด้วย แล้วผมเชื่อว่าคุณธรรมนัส พรหมเผ่า ก็กำลังจะทำเช่นนี้เช่นกัน
แต่มาถึงจุดนี้แล้วผมคิดว่าคุณชัยวัฒน์ กำลังเคลื่อนไหวอยู่ คุณเกเรมากแล้ว การออกมาไม่ยอมรับแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ทำไมคุณไม่ยอมรับตั้งแต่ต้นล่ะ ที่ประชุมร่วมกันไง คุณเสนอไอเดียไปสิว่าไม่ยอมรับ เพราะอะไร พูดในที่ประชุมไปเลยกับท่านนายกฯ แต่กลับยอมรับกัน แล้วคุณใช้เวลาที่เขาประชุมตกลงกันเรียบร้อยแล้ว คุณมาบอกว่าคุณไม่เชื่อแผนที่ทหาร ทำไมแผนที่กรมอุทยานฯ ถึงจะแม่นยำกว่าทุกๆ คนล่ะ คนอื่นเขาไม่แม่นยำบ้างหรืออย่างไร แล้วกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไม่มีแผลบ้างหรือ ก็มีเยอะแยะไปหมด อย่าให้ผมต้องขุดเรื่องขุดราวขึ้นมาพูดเลย” นายสนธิกล่าว

มิหนำซ้ำนายชัยวัฒน์ ยังจัดทัวร์ไปด่านปากช่อง เรียกเสียงร้องมวลชนสร้างแรงกดดันเพิ่มเติม ฝั่งกระทรวงเกษตรฯ ถอยแล้ว กรมอุทยานฯ ทำไมไม่ถอยบ้าง เอาคนกลางมาเป็นคนตัดสิน แล้วที่สำคัญ เวลาเขาประชุมร่วมกันทำไมไม่ค้านไปเลย

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ - นายอรรถพล เจริญชันษา
“ตอนนั้นที่เข้าประชุม คุณจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้านายคุณ คืออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็คืออรรถพล เจริญชันษา ซึ่งเขาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และเป็นคนที่ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของคุณ ถ้าเขายอมรับ ทำไมคุณไม่รายงานเขาล่ะว่าคุณไม่ยอมรับเพราะอะไร แล้วก็ให้เขาส่งเรื่องส่งราวไปที่นายกฯ แต่คุณก็มาป่าวประกาศเพื่อเรียกเสียงให้ประชาชนเข้าข้างคุณ เพราะว่าวันนี้คุณพูดอะไร คุณเชื่อว่าประชาชนจะเชื่อคุณ เหมือนกัน เหมือนสุรเชษฐ์ หักพาล ไม่มีผิดเลย”

ท่าทีขึงขังของนายชัยวัฒน์ ทำให้ย้อนนึกไปถึงวันที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานผิดมาตรา 157 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 แต่ยกฟ้องข้อกล่าวหาฆ่าบิลลี่ โดยศาลให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานมีไม่พอเพียง

ซึ่งนายชัยวัฒน์ได้อุทธรณ์สู้คดี ม.157 ที่ถูกสั่งจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา และประกันตัวด้วยเงิน 8 แสนบาทออกไป และน่าสงสัย ว่า นายชัยวัฒน์ต้องมีผู้หลักผู้ใหญ่คอยสนับสนุนคุณอยู่หรือไม่ เพราะว่าขนาดโดนศาลสั่งจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ยังกลับมานั่งทำงานอยู่ตำแหน่งนี้ได้เหมือนเดิม ซึ่งนายชัยวัฒน์ ไม่ธรรมดา เป็นขาใหญ่จังหวัดเพชรบุรี


ทั้งนี้ ภายในกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีโครงการปลูกป่าล้านไร่ ปลูก "ป่าทิพย์" ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ใช้งบประมาณหลายร้อยหลายพันล้านบาท เกี่ยวข้องโดยตรงกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฏว่าใช้เงินไปหลายร้อยล้านบาท ไม่ได้ปลูกจริง ปลูกแค่ด้านหน้า ส่วนด้านในเป็นทุ่งหญ้า ป่าเสื่อมโทรม มีการทำไร่มันสำปะหลัง และอื่นๆ ทั้งๆ ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าสงวน แล้วป่าเสื่อมโทรมนั้น นายชัยวัฒน์ ต้องยอมรับว่าลูกน้องมีส่วนทำให้พื้นที่ป่าสมบูรณ์นั้น กลายเป็นป่าที่เสื่อมโทรม เพราะว่าได้เอาเข็มฉีดยาไปฉีดต้นไม้ให้ทรุดโทรม ร่วมมือกับนายทุนเหมือนกันในการที่จะทำให้ป่าส่วนนี้เป็นป่าที่เสื่อมโทรม เพื่อที่จะออก ส.ป.ก.

“เรื่องในความรับผิดชอบตรงๆ อย่างนี้ เรื่องในบ้านของคุณเอง คุณชัยวัฒน์ ต้องเข้าไปเคลียร์ เข้าไปช่วยแก้ไขด้วย ไม่ใช่เอาแต่หิวแสง แสวงหามวลชนเพื่อเป็นเกราะคุ้มกันให้ตัวเอง ที่สำคัญก็คือ คุณรู้อยู่แล้วว่าภาพพจน์คุณได้เปรียบมากกว่า ธรรมนัส พรหมเผ่า คุณก็เลยไม่หยุดเรื่องนี้


“ผมยังยืนยันนะครับ ในการประชุม 3 ฝ่ายนั้น กรมแผนที่ทหาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ท่านนายกรัฐมนตรี และ ส.ป.ก. เจ้านายคุณ คือปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และอธิบดีกรมอุทยานฯ เข้าประชุมด้วย และเขายอมรับแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร เมื่อคุณไม่ยอมรับ เป็นสิทธิ์ของคุณ และคุณมีข้อมูลที่ดีก็จริง คุณก็รายงานให้เจ้านายคุณฟังหน่อยสิ แต่คุณไม่สน คุณจะแหกโค้ง ตีโพยตีพายกับประชาชนเพื่อเอาเสียงเอาแสงเข้าตัวคุณเอง ว่าคุณคนเดียวในโลกนี้ที่ปกป้องป่า คนอื่นจ้องทำลายป่าอยู่อย่างเดียว ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง”

นายสนธิกล่าวต่อว่า ชื่นชมที่นายชัยวัฒน์ยืนหยัดปกป้องป่า แต่วิธีการและความเจ้าเล่ห์แสนกลของนายชัยวัฒน์ก็ไม่ใช่ธรรมดา มิหนำซ้ำยังบอกว่าจะต้องดูว่าส่งเอกสารอะไรผิดไปให้นายกฯ หรือเปล่า จะจับตาดู

“คุณนี่จะมากไปหน่อยแล้วมั้ง คุณไปบอกปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ สิ คุณจตุพร ท่านครับ ผมไม่เห็นด้วย โน่นนี่นั่น นี่ผมมีหลักฐานอย่างนี้ๆๆ ท่านต้องต่อสู้นะ เพื่อกระทรวง ถ้าปลัดไม่ทำ คุณก็ด่าปลัดไปสิ ตามสไตล์ที่คุณชำนาญไม่ใช่หรือว่าคุณปกป้องป่า แต่ปลัดของคุณไม่ปกป้องป่า”

นายชัยวัฒน์ อายุจะ 60 ปีในเดือนกันยายนนี้ จะเกษียณอายุแล้ว ลึกๆ แล้วนายชัยวัฒน์ เป็นลูกเลี้ยงของนายยุทธ อังกินันทน์ เจ้าพ่อเมืองเพชร ผู้กว้างขวาง ยิ่งใหญ่มากในจังหวัดเพชรบุรี ไม่มีใครกล้าแหยมกับนายชัยวัฒน์ ตำรวจกลัวนายชัยวัฒน์หมด นายชัยวัฒน์ ไม่ได้เป็นแค่เจ้าหน้าที่อุทยาน ข้าราชการป่าไม้ธรรมดา แต่มีบารมีเป็นที่เคารพยำเกรงในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เรื่อยไปถึงข้าราชการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสื่อมวลชนในเพชรบุรีทั้งหมด


นายชัยวัฒน์ เคยเป็นจำเลยในคดีหลายๆ คดี เช่น คดีอุ้มฆ่านายบิลลี่ ทั้งยังเคยถูกเปิดเผยว่ามีไร่ราชพฤกษ์ บ้านพักตัวเอง ซึ่งนายชัยวัฒน์ อ้างว่าเป็นบ้านของพ่อให้มา

ในปี 2555 นายชัยวัฒน์ตกเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์เผานั่งยางช้างป่าเพื่อเอางา โดยจับผู้ต้องหาได้ 5 คน ซึ่ง 5 คนนั้นเป็นลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ รวมทั้งผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายชัยวัฒน์ ก็ได้เอาตำแหน่งตัวเองเข้าไปประกันตัว แล้วก็บอกว่าไม่รู้ไม่เห็นเรื่องนี้

นายชัยวัฒน์ เป็นคนฉลาด มีไพ่ในมือหลายใบ เลือกเล่นได้ เล่นกับกระแสสื่อ กระแสสังคม ได้อย่างชาญฉลาด ที่สำคัญก็คือว่า นายชัยวัฒน์ ชอบเลี้ยงกระแสให้ตัวเองอยู่ในสปอตไลต์ไว้ตลอดเวลา ไม่รู้ว่าทำเพื่ออะไร

“อย่างไรก็ตาม เรื่องที่คุณอุทธรณ์คดี 157 นั้น อีกไม่เกิน 1-2 ปี ศาลอุทธรณ์ก็คงมีคำสั่งลงมา แล้วค่อยดูกันตอนนั้นก็แล้วกัน กันยายนนี้ คุณก็เกษียณอายุแล้ว ผมจะปรบมือให้คุณ ในฐานะที่คุณออกมาปกป้องป่า แต่ผมตั้งข้อสงสัยในวิธีการของคุณ ไม่ใช่วิธีการที่แมนๆ ผมมีข้อคิดไว้เพียงแค่นี้”

นายดำรงค์ พิเดช
นายสนธิ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า นายชัยวัฒน์กำลังตกเป็นเครื่องมือของความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข่าวว่าไม่ถูกกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อย่างแรง โดย พล.ต.อ.พัชรวาท มีที่ปรึกษาชื่อ ดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ เจ้านายเก่าของนายชัยวัฒน์ นายดำรงค์ พิเดช เคยพาเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาป่วนการชุมนุมที่สวนลุมพินี พล.ต.อ.พัชรวาทไม่สั่งห้ามนายชัยวัฒน์ เชื่อว่ากลับส่งเสริมให้เดินสุดซอย เตะตัดขา ร.อ.ธรรมนัส อย่างแรง ส่วน ร.อ.ธรรมนัสก็รู้ทางปืนดี ยอมถอยออกมาแล้วก็สั่งแก้ไขข้อผิดพลาดทันทีเลย

“แล้วคิดว่าการที่นายกรัฐมนตรีเสนอกรมแผนที่ทหารบกมานั้น ก็เป็นทางออกที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ดันมีคุณชัยวัฒน์ เข้ามาบอกว่าไม่เห็นด้วย โดยข้ามหัวปลัดกระทรวงตัวเอง อธิบดีตัวเอง ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ให้สัมภาษณ์ฉะหน้าฉะหลังฉะซ้ายฉะขวา รบสิบทิศ เพื่อให้ประชาชนฮือฮาว่านี่คือคนที่ปกป้องอุทยานแห่งชาติ สาธุ สาธุ สาธุ ขอให้จริงเถอะครับ” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น