xs
xsm
sm
md
lg

รูดปรื๊ดเมืองนอก-เว็บ ตปท.ร้องจ๊าก เลือกจ่ายสกุลเงินบาท VISA-Mastercard เก็บ 1% เริ่ม 1 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายต่างๆ ประกาศว่า ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป รูดบัตรเครดิตวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดที่ต่างประเทศแล้วเลือกสกุลเงินบาท หรือชอปออนไลน์เว็บไซต์ต่างประเทศด้วยสกุลเงินบาท จะถูกเรียกเก็บค่าแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินบาท DCC Fee ร้อยละ 1 สายยิงแอดกุมขมับ สายสมัคร OTT หาทางแก้จ่ายผ่านบิลมือถือแทน

วันนี้ (3 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายต่างๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือทีทีบี ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และ บริษัท คาร์ด เอ็กซ์ จำกัด ได้ประชาสัมพันธ์แก่ลูกค้าบัตรเครดิตของแต่ละธนาคารว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป รายการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตวีซ่า (VISA) และบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด (Mastercard) ในการซื้อสินค้าและบริการด้วยสกุลเงินบาทที่ร้านค้าและร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศ รวมทั้งการกดเงินสดด้วยสกุลเงินบาทผ่านตู้ ATM ในต่างประเทศ จะถูกเรียกเก็บ "ค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท" ในอัตราร้อยละ 1 ของยอดใช้จ่าย หรือยอดถอนเงินสด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของธุรกิจบัตรเครดิต

สำหรับค่าธรรมเนียมการแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาท มีชื่อเรียกว่า Dynamic Currency Conversion Fee หรือ DCC Fee โดยผู้ที่รูดบัตรที่ต่างประเทศและเลือกสกุลเงินไทย รวมถึงร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ เช่น AIRASIA BERHAD, NETFLIX, APPLE, TikTok, AGODA, Booking, Klook, IHERB, ALIPAY, TAOBAO, PAYPAL, FACEBOOK, GOOGLE, AIRBNB, EXPEDIA, EBAY, SPOTIFY, ALIBABA, TRIP.COM, STEAMGAMES, VIU, AMAZON เป็นต้น จะคิดค่าใช้จ่าย 1% จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรด้วยสกุลเงินบาท โดยคิดจากยอด ณ วันที่บันทึกรายการใช้จ่าย กรณีมีการยกเลิกรายการ ค่าธรรมเนียม 1% จะมีการคืนเข้าบัญชีบัตรเครดิตภายใต้บัญชีบัตรหลัก รวมทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่รูดบัตรที่ต่างประเทศ รวมถึงร้านออนไลน์ที่จดทะเบียนต่างประเทศ แล้วเลือกสกุลเงินต่างประเทศ ธนาคารยังคงคิดค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงินต่างประเทศ (FX Rate) ไม่เกิน 2.5% ของยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ยกเว้นบัตรเครดิตบางผลิตภัณฑ์ที่คิดค่า FX Rate ต่ำกว่า 2.5% เช่น ttb absolute คิดค่า FX Rate 1%

อนึ่ง สำหรับการคิดค่า DCC Fee ดังกล่าว กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ค้าออนไลน์ที่ลงโฆษณาหรือยิงแอดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ติ๊กต็อก เพราะเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนที่ต่างประเทศ หากยิงแอด 100,000 บาท ต้องเสียค่า DCC Fee สูงถึง 1,000 บาทเลยทีเดียว รองลงมาคือกลุ่มที่สมัครบริการ OTT อาทิ เน็ตฟลิกซ์ ยูทูบพรีเมียม ซึ่งมีชาวเน็ตแนะนำว่าให้ใช้วิธีจ่ายค่าบริการผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ โดยอัปเดตข้อมูลการชำระเงิน ให้เพิ่มไปยังใบแจ้งยอดค่าบริการมือถือที่ชำระค่าบริการภายหลัง (Add to postpaid mobile bill) หรือเลือกเป็นบัตรเครดิตอีกค่ายหนึ่ง เช่น ยูเนี่ยนเพย์ (Unionpay) หรือเจซีบี (JCB) เพื่อหลีกเลี่ยงค่า DCC Fee จากผู้ให้บริการบัตรเครดิตวีซ่า และมาสเตอร์การ์ด






กำลังโหลดความคิดเห็น