ประวัติไม่ธรรมดา พ่อพญ. ถูกฝรั่งที่ภูเก็ตทำร้าย ที่แท้คือ ครูเษม เกษม จันทร์ดำ สมาชิกกลุ่มนาคร และนักเขียนชื่อดัง
จากกณณี แพทย์หญิงโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ได้ร้องเรียนและแจ้งความดำเนินคดีชายชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของปางช้างและมูลนิธิเกี่ยวกับการดูช้างแห่งหนึ่งในภูเก็ต ในข้อหาทำร้ายร่างกาย จากการที่แพทย์หญิงรายดังกล่าวพร้อมเพื่อนสาวได้ไปเล่นที่ชายหาดอ่าวยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ในคืนวันมาฆบูชา แล้วไปนั่งพักที่บันไดซีเมนต์ขั้นสุดท้ายริมชายหาด และถูกชายชาวต่างชาติเตะที่หลังจนจุก พร้อมด้วยภรรยาคนไทย พูดจาดูถูกเหยียดยามศักดิ์ศรีคนไทยและคนท้องถิ่นภูเก็ต แต่ชายชาวต่างชาติได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เตะ แต่เป็นการสะดุดไปโดนหลังแพทย์หญิง จนกลายเป็นกระแสดังอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ พบว่า บิดาของแพทย์หญิงเป็นคนออกมาเคลื่อนไหวด้วยการกระจายข่าว ถึงเรื่องราวที่ลูกสาวถูกกระทำ ผ่านสื่อโซเชียล เพระาเกรงว่าลูกจะไม่ได้รับความยุติธรรม จนเกิดเป็นกระแสของสังคมก่อนที่หมอหญิงผู้เสียหาย จะเข้าแจ้งความเอาเรื่องถึงที่สุด ซึ่ง ต่อมา ทราบว่า บิดาของแพทย์หญิงธารดาว ที่ออกมาช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับลูกสาวนั้น ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนักเขียนที่คนในแวดวงรู้จักกันดี คือ ครูเษม เกษม จันทร์ดำ นักเขียนเจ้าของนามปากกา นามปากกา “ธัช ธาดา” และเป็นสมาชิกคนสำคัญ กลุ่มนาคร กลุ่มก้อนนักเขียนวรรณกรรมที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในยุคหนึ่ง
สำหรับ ครูเกษม หรือ อาจารย์เกษม จันทร์ดำ ปัจจุบันอายุ 63 ปีเกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2504 ที่บ้านขอนหาด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช ขณะศึกษาเป็นผู้นำนักศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและต่อ ต้านระบบที่ล้าหลังในรั้วการศึกษา
ต่อมาเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนชาวใต้ นามปากกา “ธัช ธาดา” และเป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม “นาคร” อดีตกลุ่มวรรณกรรมที่มีอิทธิพลทางความคิดเป็นอย่างมาก ในช่วงปี พ.ศ.2525 – 2540
เขียนผลงานทั้งเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ เช่น เรื่องสั้นชุด นาฬิกาไม้(2534) รวมบทกวีชุด บนฝั่งเมื่อปริร้าวกับส่วนชิ้นของแผ่นดิน (2530) พี่น้องผู้ร่วมชะตากรรม (2532) อุ่นลมหายใจ (2535) หยดหวาน (2541) นกเชิงภูเขาหลวง (2541) และ การระเหยไปของบรรพชน (2547)
นอกจากผลงานด้านงานเขียนแล้ง ยังเคยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนวัดหญ้าปล้อง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และเป็นนักวิจัยโครงการเกี่ยวกับธุรกิจรังนกนางแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วย.