ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้ให้การต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ และผู้บริหารจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ซึ่งจัดแสดงผลงานรวมถึงการประชุมเพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูลหลักสูตรจากผู้รับผิดชอบหลักสูตร รวมถึงผลการเรียนและการต่อยอดการเรียนของผู้เรียนและผู้ประกอบการ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
ในการนี้ รองอธิการบดีสายงานวิชาการ ยังได้นำเสนอถึงแนวคิด และแผนการดำเนินการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ทั้ง DPU Core ที่สนับสนุนแนวคิดความเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษาในทุกสาขาวิชา รวมทั้งสร้าง DPU DNA 6 ทักษะที่จำเป็นในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทางคณะกรรมการถึงความชำนาญและความพร้อมในการต่อยอดโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรของทางเลือกของมหาวิทยาลัย
โดยในการตรวจประเมินครั้งนี้ประกอบไปด้วยหลักสูตร Non-Degree จำนวน 4 หลักสูตร จากความร่วมมือจากผู้ชำนาญการจากหลากหลายคณะและวิทยาลัย ได้แก่ หลักสูตรนักออกแบบ 3 มิติ และแอนิเมชันสำหรับสื่อเชิงโต้ตอบ หลักสูตรการสร้างนักออกแบบและพัฒนา Gamification for Digital Content หลักสูตรการผลิตสื่อดิจิทัลสำหรับผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไป และหลักสูตรการประกอบการสื่อสังคมออนไลน์และธุรกิจดิจิทัล โดยผู้เรียนในหลักสูตร Non-degree ดังกล่าว สามารถเทียบโอนเข้าหลักสูตรในระดับปริญญาต่างๆของมหาวิทยาลัยได้
หลักสูตรที่ได้จัดการเรียนการสอนไปนั้น ล้วนเป็นทักษะด้านดิจิทัล และมีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการวางหลักสูตรตามความต้องการของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ (Demand Side) โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เอง มีประสบการณ์ในการวางหลักสูตรร่วมกับผู้ประกอบการจากโครงการ University-Industry Collaboration ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักศึกษาและสถานประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆในทุกปี จึงทำให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ได้ตรงตามความต้องการจริงๆของผู้ประกอบการ โดยผู้เรียนในหลักสูตร Non-degree ดังกล่าว สามารถเทียบโอนเข้าหลักสูตรในระดับปริญญาต่างๆของมหาวิทยาลัยได้
ในงานยังมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เรียนในหลักสูตรทั้ง 4 ได้เข้ามานำเสนอผลการนำองค์ความรู้ และทักษะนำไปต่อยอดในธุรกิจของตน ได้แก่ ร้านข้าวผัดปู รูบี้ ร้านฮาลาลปันสุข ธุรกิจโกเล้งโภชนา ราชาข้าวต้ม และสินค้าแบนรด์แป้งพัฟสายมู นะเมตตา ธุรกิจน้ำซอสปรุงรสป้านิกกี้ ธุรกิจป้ายโฆษณาหลังรถตุ๊กๆ ธุรกิจกาแฟ บริษัท BT Coffee ฯลฯ และได้จัดแสดงไอเดีย และสินค้าภายในงานนี้ด้วย
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ผลักดันทักษะและแนวคิดผู้ประกอบการให้กับเด็ก นับตั้งแต่แนวคิดแรกสมัยก่อตั้งมหาวิทยาลัย “นักธุรกิจเป็นผู้สร้างชาติ” สู่ยุค “สร้างธุรกิจ สร้างมืออาชีพ” ซึ่งนอกจากหน้าที่ในการมอบความรู้และโอกาสให้กับนักศึกษาในระบบแล้ว ยังมีร่วมผลักดันหลักสูตร Non-Degree เพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไป โดยเสริมความร่วมมือและการสนับสนุนจาก สป. อว. ภายใต้ชื่อโครงการ “บัณฑิตพันธุ์ใหม่” ที่ทำอย่างต่อเนื่องมาทุกปี