xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการลั่น! เป็นประตูต้อนรับสู่เมืองไทยที่เหี้ยมโหด หลังพบค่าบริการแท็กซี่ 90 บ. ยังเก็บค่ากระเป๋าอีกใบละ 20 บ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โซเชียลฯ เห็นด้วย นักวิชาการเผยพบค่าบริการแท็กซี่ในสนามบินฝั่งระหว่างประเทศ 90 บาท มีการเก็บค่าลากเพิ่มใบละ 20 บาท ลั่นเป็นประตูต้อนรับสู่เมืองไทยที่เหี้ยมโหดแท้ของชาวต่างชาติ พร้อมวอนปรับปรุงรัฐปรับปรุงสะพานลอยที่เป็นอีก 1 ทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ เนื่องจากมีความเสี่ยงยิ่งต่อการเกิดอุบัตเหตุ

วันนี้ (1 มี.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Kreangkrai Kirdsiri" หรือ รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ นักวิชาการ ได้ออกมาโพสต์หลังพบค่าบริการเรียกแท๊กซี่ที่สนามบินดอนเมือง มีการเก็บค่ากระเป๋าลากเพิ่มใบละ 20 บาท แยกจากค่าบริการเรียกแท๊กซี่ ที่เก็บอยู่แล้ว 90 บาท โดยระบุข้อความว่า “ผมคิดว่าหูผมไม่ฝาด หรือหูไม่อื้อจากเพิ่งลงจากเครื่องบิน ที่ได้ยินพี่ผู้ควบคุมคิวแท๊กซี่แจ้งอัตราค่าธรรมเนียมเรียกรถแท๊กซี่ ค่าบริการเรียกแท๊กซี่ที่สนามบินดอนเมือง ตอนนี้เป็น 90 บาท (ไม่แน่ใจว่าเป็นเฉพาะอาคารระหว่างประเทศไหม) และมีค่ากระเป๋าลากเพิ่มใบละ 20 บาท ขนาดไซส์ที่ Carry on board

ประเด็นน่าสนใจ คือ นักศึกษาต่างชาติที่เดินทางมาด้วยกันมีคำถามว่า ...กระเป๋าที่ Carry on board น้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัม ขึ้นบนเคบินมายังฟรี แล้วทำไมมาขึ้นแท๊กซี่ต้องเสียตังค์ คำถามที่สอง คือ ขาไปขึ้นแท๊กซี่มาจากที่พัก เอากระเป๋าขึ้นมาด้วย ก็ไม่ได้เสียเงินค่ากระเป๋า ทำไมขากลับออกจากสนามบิน แท๊กซี่ก็แบบเดียวกัน ทำไมต้องเสียเงินค่ากระเป๋า และประเด็นที่น่าสนใจ คือ คนขับได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียมนี้อย่างไรบ้าง เพราะจริงๆ ถ้าแสดงให้เห็นว่า คนขับแท๊กซี่จะได้ประโยชน์จากเงินส่วนนี้ และผู้โดยสารจะได้รับการดูแลที่พิเศษขึ้นกว่าเดิม ก็คิดว่าหลายๆ คนก็พึงพอใจที่จะจ่ายเพิ่ม ...แต่ความรู้สึกมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น... เพราะเป็นรถแบบเดียวกันกับที่ใช้บริการทั่วไป และการบริการก็ดุจเดียวกัน...

ในที่นี้ หากค่าธรรมเนียมที่อาคารระหว่างประเทศ และในประเทศไม่เท่ากัน ทำไมถึงไม่เท่ากัน มีบริการใดพิเศษกว่าหรือ และถ้าผู้โดยสารจากอาคารระหว่างประเทศ ไปใช้บริการที่อาคารภายในประเทศ สิ่งใดคือแนวที่ควรปฏิบัติ เพราะอะไรแบบไทยๆ มักทำ 2 ราคา คนไทยราคานึง คนต่างชาติราคานึง อันเป็นความประดักประเดิดที่พบเห็นอยู่ทั่วไป

ทั้งนี้ ในการบริหารจัดการนั้น สำหรับนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางชาวไทยที่ไม่ประสงค์จะเสียค่าธรรมเนียมอันแพง และดูไม่สมกับความคาดหวัง หากไม่ไปต่อรถไฟฟ้า (ถ้าดึกรถไฟฟ้าหมดแล้ว) ก็ต้องมาลงสะพานลอยแคบและชัน และมืด ซึ่งประเมินด้วยสายตาสะพานลอยนี้ไม่น่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่จะให้บริการสาธารณะ เพราะมีความเสี่ยงยิ่งต่อการเกิดอุบัตเหตุ เพื่อเรียกรถแท๊กซี่มิเตอร์ตามปกติ เป็นประตูสู่ต้อนรับสู่เมืองไทย ที่เหี้ยมโหดแท้

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยอนุเคราะห์ปรับปรุงสะพานลอยให้ปลอดภัย ทั้งความสูงชันและความกว้าง เปิดรั้วท่านเพิ่มเพื่อมีจุดกระจายผู้โดยสารออกไปยังทางเลือกแบบต่างๆ และมีไฟส่องสว่างด้วยเถิด รวมทั้ง หากมีจุดรับขึ้นแท๊กซี่หรือมอเตอร์ไซด์ที่เรียกผ่านแอพลิเคชั่นให้เป็นกิจลักษณะ เพิ่มทางเลือกที่ให้กับผู้โดยสารที่ไม่ประสงค์จะเรียกแท๊กซี่ที่มีค่าธรรมเนียม อย่าปล่อยปละละเลย จนดูเหมือนจงใจทำให้ผู้ใช้บริการสนามบิน ไร้ซึ่งทางเลือกที่จะได้รับการบริการที่ดี และจ่ายเงินอย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี การขึ้นรถแท๊กซี่เพื่อเดินทางกลับของผู้โดยสาร ควรเป็นทางเลือกหนึ่ง ในท่ามกลางอีกหลายๆ ทางเลือกที่มีเหตุมีผลแตกต่างกันไป เป็นการอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่พึงมีของท่าอากาศยานแบบสากลจะเป็น การที่ท่าอากาศยานนานาชาติที่อื่นๆ ได้รับรางวัลนั้นไม่ได้มาโดยไม่ได้คิดอะไร ทุกรายละเอียดที่จะสร้างความพึงพอใจและไม่พึงพอใจ เป็นจุดสำคัญยิ่ง จุดใดที่มีความพึงพอใจ ยิ่งต้องหนุนให้เกิดความรู้สึกเหนือความคาดหวัง และจุดที่สร้างความไม่พึงพอใจนั้น ต้องรีบแก้ไขปัญหา

รักษาชื่อเสียงของประเทศชาติ อย่าขูดรีดกันตั้งแต่ประตูขาเข้าประเทศเลย หากจะนำสนามบินยกระดับเพื่อความสามารถในการแข่งขัน ต้องเร่งรุดปรับปรุงจุดที่สร้างความไม่พึงพอใจ และสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลที่ผู้ใช้งานรู้สึก โดยความคิดแบบเกื้อกูลมองผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง”

คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น