xs
xsm
sm
md
lg

“ทะลุวัง” พังทั้งขบวน จับโป๊ะ อ้างความเป็นสื่อปั่นข่าวแยบยล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดโปง “ก๊วนทะลุวัง” พ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ใช้กลยุทธ์สร้างข่าวแบบแยบยลเพื่อปั่นกระแสต้าน ม.112 นักข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระใช้คราบความเป็นสื่อสมรู้ร่วมคิดก่อเหตุ จนถูกจับดำเนินคดีทั้งขบวนการ อินฟลูเอนเซอร์ด้านสื่อ-สมาคม-กรรมการสิทธิ์ฯ รีบออกมาปกป้อง ไม่ดูตาม้าตาเรือว่านั่นคือการทำหน้าที่สื่อหรือไม่ เมื่อก่อน “สนธิ” ASTV,NEWS1 เคยถูกลอบยิง กลับเงียบ



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี“ตะวัน ทะลุวัง”หรือน.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ “แฟรงค์” นายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ก่อเหตุบีบแตรใส่และขับรถไล่จี้ขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บนทางด่วน เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ทั้งสองถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดในหลายข้อหา เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และก่อความเดือดรำคาญในที่สาธารณะฯ และศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว ต้องเข้าเรือนจำตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า ผู้นำขององค์กรตำรวจคือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการอย่างล่าช้า จนเกือบมีการปะทะกันระหว่างมวลชนกลุ่มทะลุวัง กับกลุ่มคนที่เขารักสถาบัน และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องเรียก ผบ.ตร. กับ ผบช.น. เข้าไปพบ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผบ.ตร.จึงได้สติ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รีบดำเนินคดีป่วนขบวนเสด็จพระเทพฯ พร้อมกับ ไปรื้อคดีเก่า ๆ ของ“แก๊งทะลุวัง”ขึ้นมาเพื่อเอาใจท่านนายกรัฐมนตรี

จริง ๆ แล้ว คดีพวกนี้เป็น “คดีนโยบาย” ผู้นำองค์กรของกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำอย่างตำรวจ ต้องมีความชัดเจนว่าท่านจะเอาอย่างไรเพราะข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับสถาบัน ขบวนการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นขบวนการใหญ่ ที่มีเครือข่ายแทรกซึมไปในหลากหลายวงการ บางคนทำตัวเป็นอีแอบ ต่อหน้าทำท่าจงรักภักดีต่อสถาบัน แต่ลับหลังกลับว่ากล่าว ให้ร้าย ปั้นเรื่องเท็จ หรือให้เงินสนับสนุนขบวนการนี้ก็มาก ยกตัวอย่างพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้านี่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลและผู้นำฝ่ายค้าน ฯลฯ


นอกจากนี้คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล เมื่อ วันที่ 31 มกราคม 2567 ก็ชัดเจนว่า การที่พรรคก้าวไกลเอาการแก้มาตรา 112 มาเป็นนโยบายพรรค ในการหาเสียงเลือกตั้งนั้นเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดเจน

พรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า นี่เองเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ชัดว่า“ขบวนการล้มสถาบัน”นั้นไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มเด็กเยาวชน หรือ แก๊งทะลุวัง ที่เป็นกลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว แต่ยังมีผู้บงการ-สั่งการ นายทุน ผู้ร่วมขบวนการและแนวร่วมเครือข่ายที่ครอบคลุม ไปในหลายวงการด้วย

นี่เอง ทำให้ ผบ.ตร. เพิ่งตื่นและสั่งให้ดำเนินปฏิบัติการขุดคดีการกระทำผิดเก่า ๆ ที่ยังค้าง ๆ คา ๆ ของ “แก๊งทะลุวัง และเครือข่าย” แต่ถูกดองเค็มเอาไว้ขึ้นมา และในสัปดาห์ถัดมาก็มีการจับกุมผู้ต้องหาทั่วประเทศประมาณ 10 ราย โดย 6 รายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะผู้ต้องหาใน “คดีพ่นกำแพงพระบรมมหาราชวัง” เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้นเก็บสะสมข้อมูลเอาไว้อย่างละเอียด และครบถ้วนแล้ว

“หยก ทะลุวัง” กับ คดีพ่นกำแพงวัง


“หยก ทะลุวัง” หรือ น.ส.ธนลภย์ ผลัญชัยถูกแก๊งทะลุวัง เครือข่ายสามนิ้ว รวมไปถึงพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนายพิธา ชูออกมาเป็น “ตัวชน” หรือ อีกนัยหนึ่งก็คือ “เหยื่อ” ในการยกเลิกและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วยว่า“หยก ทะลุวัง” คือ เหยื่อของ ม.112 ที่มีอายุน้อยที่สุดคือเรียนอยู่ชั้น ม.3 ในวัย 14 ปี ยังไม่ครบ 15 ปี

“หยก ทะลุวัง” ได้ถูกยุยงและใช้งานจากกลุ่มทะลุวัง ให้เป็นตัวก่อเรื่อง-ก่อคดี มาหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้าที่จะถูกดำเนินคดี ม.112 จนกลายเป็นเรื่องโด่งดังสมใจ

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 วันคล้ายวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9“หยก ทะลุวัง”เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” ที่บริเวณเสาชิงช้า หน้าศาลาว่าการ กทม. ใกล้บ้านป้า "หยก" ได้เขียนข้อความ บนพื้นบริเวณเสาชิงช้า ซึ่งล้วนแต่มีเนื้อหาอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยให้ร้ายพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมถึง กรมสมเด็จพระเทพฯ ด้วย


อย่างไรก็ตามจาก เหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2565“หยก ธนลภย์”ยังไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปดำเนินคดี แต่ถูก“หมายเรียก” ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา

ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่แค่ออก“หมายเรียก”นั้นถือเป็นเรื่องที่ผิดแผนของของ “แก๊งทะลุวัง” และขบวนการที่อยู่เบื้องหลัง เนื่องจากการถูก“หมายเรียก”ไม่ใช่“หมายจับ”นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่“เบา”เกินไปที่จะไปตีปี๊บผ่านสื่อ หรือ ประโคมข่าวต่าง ๆ นานาว่ามีเด็กอายุแค่ 14 ปี ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112

และนี่เองจึงก่อให้เกิดอีกปฏิบัติการป่วนเมืองอีกครั้งหนึ่งของ “แก๊งทะลุวัง” เพื่อให้ที่จะทำให้ “หยก เด็กอายุ 14 ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีให้ได้”

และนั่นจึงเป็นที่มาของ ปฏิบัติการพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 28 มีนาคม 2566

ปฏิบัติการ “พ่นกำแพง” พระบรมมหาราชวัง


เมื่อประมาณ 11 เดือนก่อน หรือ วันที่ 28 มีนาคม 2566 ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2566 ในช่วงเย็นเกิดเหตุตำรวจสายตรวจเข้าจับกุมตัว นายศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือ บังเอิญ อายุ 24 ปี ชาว จ.ขอนแก่น โดยจับกุมตัวได้ขณะที่ผู้ต้องหา กำลังพ่นสีสเปรย์สีดำใส่กำแพงบริเวณ ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.

การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก ขณะที่เจ้าหน้าที่สายตรวจ สน.พระราชวัง กำลังลาดตระเวนตรวจตรารอบรั้ววัดพระแก้ว และพระบรมมหาราชวัง พบผู้ต้องหา กำลังใช้สีสเปรย์สีดำพ่นข้อความใส่กำแพง จึงนำกำลังเข้าควบคุมตัว นำส่งพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง ดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งนี้จากการตรวจสอบประวัติ ของผู้ต้องหาพบว่า เจ้าตัวเป็นศิลปินอิสระ สังกัดกลุ่มศิลปะปลดแอก มักใช้ Facebook ส่วนตัวที่มีชื่อว่า Suttawee Soikham (ปกติแล้วผู้ตายเป็นคนอารมณ์ดี) และ Facebook ส่วนตัวที่มีชื่อว่า บังเอิญ คนจริง โพสต์ข้อความทางการเมืองเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย ม.112 และ กฎหมาย ม.116 อยู่หลายครั้ง แต่ยังไม่เคยถูกจับกุมตัวดำเนินคดี ที่ผ่านมาจึงมีผู้สนใจ และให้การติดตามเป็นจำนวนมาก


ทั้งนี้ ตัวอักษร สัญลักษณ์ และตัวเลข 3 อย่างที่ “นายบังเอิญ” พ่นใส่กำแพง ได้แก่

1.อักษร P โดยคาดว่าจะพ่นคำว่าPeopleหรือประชาชน แต่ผู้กระทำความผิดยังพ่นไม่เสร็จ และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมเสียก่อน

2.อักษร A ในรูปวงกลมซึ่งย่อมาจาก Anarchy หรือ อนาธิปไตย สัญลักษณ์ต่อต้านการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันเป็นลัทธิและความเชื่อที่เห็นว่าบ้านเมืองไม่ควรมีรัฐบาลปกครอง ไม่มีกฎหมาย และไม่มีระเบียบ

3.ตัวเลข 112 และขีดกลางคือ การเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112


ทั้งนี้นายเอิน หรือ บังเอิญ ศุทธวีร์ นั้นถูกจับกุมตัวในข้อหา “ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน และ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฎด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือ รูปรอยใด ๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน หรือ อยู่ในที่สาธารณะ” ตามคดีอาญาที่ 269/2566 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2566

กรณีที่ นายบังเอิญ ศุทธวีร์ ก่อเหตุพ่นสีบนกำแพงวัดพระแก้ว ได้มีการเผยแพร่ภาพและคลิปวีดิโอ ผ่านช่องทางสื่อ และโซเชียลมีเดีย เครือข่ายที่สนับสนุนกลุ่มสามนิ้ว และล้มสถาบันอย่างรวดเร็ว

ทำไมการก่อเหตุ “พ่นกำแพงวัง” ของศิลปินเครือข่ายล้มเจ้าถึงสามารถเผยแพร่ และส่งต่อภาพและวีดิโอ การก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว ?

คำตอบง่าย ๆ ก็คือ เหตุการณ์นี้มีการหารือ แบ่งงาน แบ่งบท และจัดฉากไว้ล่วงหน้าแล้วว่าใครจะต้องทำอะไร ที่ไหน ยังไง เพื่อให้ภาพดูออกมา สวย สมจริง และสามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้มากที่สุดนั่นเอง


วิธีการอย่างนี้ ถือเป็น คู่มือ หรือ Playbook ในการแพร่กระจายข่าวสาร ด้วยการใช้ภาพ ใช้วีดิโอ ใช้สื่อผสมผสาน ภาพการ์ตูน ภาพกราฟิก และการประโคมข่าวแบบรวดเร็ว-ฉับไว ทันต่อสถานการณ์ โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสาร

เช่นเดียวกับ “ม็อบฮ่องกง” ที่จะมีช่างภาพทแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อเก็บภาพ ช่างภาพที่เขาส่งมาโดยเฉพาะ เพื่อเก็บภาพที่โดนใจ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Touching

“โอ๊ย! โดนใจจังรูปนี้ เด็กยืนชูสามนิ้ว น้ำตาไหลพราก แล้วก็ถ่ายออกไป พวกนี้จะเป็นช่างภาพมืออาชีพ ซ่อนตัวอยู่ในกลุ่ม แล้วก็พยายามหาภาพที่มันโดนใจ ดูแล้วมีความรู้สึกเศร้าโศก อินไปด้วยกับภาพ เขาถ่ายภาพนี้เพื่ออะไร ? เพื่อการใช้ภาพเหล่านี้เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ผ่านสังคมสื่อออนไลน์ ให้สังคมสื่อออนไลน์เห็นใจ โดยใช้ภาพนี้เป็นตัวแสดงออก"

เช่นเดียวกัน ในปฏิบัติการพ่นสีกำแพงวัง เมื่อ วันที่ 28 มีนาคม 2566 ก็มีการวางแผนเกี่ยวกับเรื่องภาพ วีดิโอ และสื่อต่าง ๆ กันเอาไว้อย่างดิบดี โดยไม่ใช่ เรื่อง บังเอิญ หรือ การไปทำข่าวแบบปกติ แต่เป็น“กระบวนการสมรู้ร่วมคิด”ที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างแยบยล


เหตุการณ์พ่นกำแพงเกิดขึ้นสั้นมากเริ่มจากเวลา 17.39 น. หลังจากนั้น เพียง 1 นาทีเวลา 17.40 น.เจ้าหน้าที่ก็เข้ารวบตัวคนก่อเหตุแล้ว แต่ทวิตเตอร์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกลับนำข้อมูล คลิป และวิดีโอ ไปเผยแพร่ทันทีในเวลา 17.54 น. ห่างไปอีก 14 นาที พิสูจน์ชัดเจนว่าศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นกลุ่มที่ตั้งทนายขึ้นมาเพื่อปกป้องหรือสู้ทางกฎหมายให้กับพวกสามนิ้ว หรือพวกกลุ่มทะลุวังต่างๆ

"เพราะฉะนั้นแล้ว ท่านผู้ชมจะได้ยินการแถลงข่าวของกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จริงๆ แล้วไม่ใช่เพื่อสิทธิมนุษยชนหรอกครับ แต่เพื่อปลุกปั่น เต้าข่าว" นายสนธิ กล่าว


เจาะปฏิบัติการพ่นกำแพงวัง “แก๊งทะลุวัง-เครือข่าย”

ปฏิบัติการ“พ่นกำแพงพระบรมมหาราชวัง”นั้นคนในกลุ่มทะลุวัง และเครือข่าย เข้าร่วมหลัก ๆ อย่างน้อย 4 คนด้วยกัน ตามแผนผังของกลุ่ม ประกอบไปด้วย

คนที่ 1 นายศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือ บังเอิญ ตัวแสดงหลัก ทำหน้าที่คือ พ่นสีสเปรย์ใส่กำแพงวัง

คนที่ 2 หยก ธนลภย์ ซึ่งตอนนั้นยังใช้คำนำหน้าเป็น “เด็กหญิง” อยู่เนื่องจากคดีใช้ชอล์กเขียนให้ร้ายสถาบันที่เสาชิงช้า ตำรวจยังไม่ได้จับกุมตัวไป จึงถูกใช้มาก่อเหตุในครั้งนี้เพิ่มเติมอีก โดย“หยก”นั้นมีหน้าที่ในการไลฟ์สด และให้กำลังใจ “นายบังเอิญ” ในที่เกิดเหตุ


โดยจากเหตุการณ์นี้ทำให้หยก ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดี พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ พร้อมกับคดี ม.112 ซึ่งเป็นคดีที่ก่อก่อนหน้า และถูกส่งไปควบคุมตัวอยู่ที่ บ้านปราณี จ.นครปฐม โดยเจ้าตัวปฏิเสธในการยื่นขอประกันตัว


คนที่ 3 นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำแก๊งทะลุวังนั้นมีหน้าที่บันทึกภาพการก่อเหตุจากบริเวณด้านซ้ายของผู้ก่อเหตุ บริเวณมุมสนามหลวง 


คนที่ 4 นายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ซึ่งระบุตัวเองว่าเป็นช่างภาพอิสระ จากภาพของกล้องวงจรปิดจะเห็นว่า นายคนนี้ใช้กล้องถ่ายภาพอย่างดี พร้อมเลนส์ซูมขนาดใหญ่ ยืนถ่ายภาพอยู่บริเวณด้านหลังซ้ายของผู้ก่อเหตุคือ นายบังเอิญ


คนที่ 5 ชื่อนายณัฐพลเหมือนกัน โดยระบุตัวเองว่าเป็นผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท โดยยืนอยู่บริเวณมุมหลังด้านขวาสุดเพื่อถ่ายภาพนายบังเอิญ ศุทธวีร์


อย่างไรก็ตาม ในการก่อเหตุนายณัฐพลอ้างว่าได้รับหมายจากต้นสังกัดคือ ประชาไท เพื่อไปทำข่าวดังกล่าว

สำหรับสำนักข่าวประชาไท นั้นอย่างที่ทุกคนทราบก็คือ เป็นหนึ่งในองค์กรในประเทศไทย ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะองค์กรที่ชื่อว่า National Endowment for DemocracyหรือNEDกองทุนเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า เป็น CIA ภาคพลเมือง

รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ EP.50 ออกอากาศเมื่อเดือนกันยายน 2563
ซึ่งหลักฐานการสนับสนุนของ NED กับประชาไทนั้น ในส่วนของข้อมูลเปิดเผยซึ่งสามารถค้นได้จากเว็บไซต์ NED.Org ชัดเจนว่า ในช่วง 5 ปีระหว่าง พ.ศ.2559-2563 นั้นประชาไท ได้รับเงินสนับสนุนมากถึง 261,670 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9 ล้านกว่าบาท


พอมีนักข่าวประชาไท ถูกรวบตัวจากปฏิบัติการสะสางคดี “แก๊งทะลุวัง” ของ เจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วไปกระทบกับคนในแวดวงสื่อ ก็เลยมีขบวนการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องว่าการทำข่าวไม่ใช่อาชญากรรม, หยุดปิดปากสื่อ, ปิดปากสื่อ = ปิดปากประชาชน

ไม่ว่าจะเป็นบรรดาแนวร่วมของสามนิ้วทั้งหลายทั้ง ในมหาวิทยาลัย, นักศึกษา-อาจารย์นิเทศ-วารสารศาสตร์ที่โน่นที่นี่, รวมไปถึงพวกสมาคมนักข่าวฯ และที่สำคัญที่ผมอยากจะพูดถึงคือ อินฟลูเอนเซอร์สื่อ 2 คน หนึ่งคือ สุทธิชัย หยุ่น ส่วนอีกคนก็คือ “แยม” ฐปณีย์ เอียดศรีไชย


สุทธิชัย หยุ่น พอทราบข่าวก็รีบโพสต์ในโซเชียลทันทีเลยว่า

“เมื่อรัฐบาลเริ่มจับนักข่าวเพียงเพราะไปทำข่าวตามหน้าที่ นั่นคือสัญญาณการเริ่มปราบปรามช่องทางการสื่อสารประชาชน!”


ส่วน แยม ฐปณีย์ ก็ไม่ต่างกันโพสต์เลยว่า “#นักข่าวไม่ใช่อาชญากร #Journalistisnotacriminal เป็นกำลังใจให้เป้/ยา และสำนักข่าวประชาไทค่ะ กรณีนี้เขาแค่ไปทำข่าว แต่กลับถูกดำเนินคดีให้การสนับสนุนทำลายโบราณสถาน และมีหมายจับ โดยไม่มีหมายเรียก ไม่มีโอกาสได้ชี้แจง ก็ถูกจับเข้าคุก ไม่มีโอกาสพูดใดๆการปิดปากสื่อมวลชน=ปิดปากประชาชน”


“พวกคุณนี่นะ คุณแยม คุณสุทธิชัย หยุ่น เสียดายคุณเป็นสื่อมวลชนทำข่าวมานาน เอาอคติ มายาคติของตัวเองนำหน้าข้อเท็จจริงและความจริงที่มีหนึ่งเดียว เพราะคุณไม่ได้ดูตาม้าตาเรือเลย หลักฐานจากภาพถ่าย กล้องวงจรปิด ข้อมูลในแชต ข้อมูลทางการเงิน ไม่นับข้อมูลอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมมา จนกระทั่งศาลอนุมัติหมายจับในที่สุด ศาลไม่ได้อนุมัติหมายจับง่ายๆ นะครับ” นายสนธิ กล่าว

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบค้นลึกลงไปกับพบว่า ผู้ก่อเหตุ และผู้ร่วมก่อเหตุทั้งหมดทุกคนต่างมีการนัดพบ และนัดหมายมาดูสถานที่ก่อเหตุล่วงหน้าแล้วหนึ่งวัน คือ ก่อเหตุ วันอังคารที่ 28 มีนาคม 2566 แต่กลับมีการนัดหมายกันมาดูพื้นที่ล่วงหน้าแล้วหนึ่งวันคือ ใน วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม 2566 โดยเป็นการนัดกันในช่วงเวลา 6 โมงเย็น ถึง ทุ่มครึ่งบริเวณหน้าศาลฏีกาเพื่อวางแผน และสำรวจเส้นทางก่อเหตุ


ไม่นับรวมกับข้อมูลในการแชตฯ, การโพสต์ภาพต่าง ๆ ลงในโซเชียล, ข้อมูลการโอนเงินค่าจ้าง, พิรุธในการเลื่อนปฏิบัติการจากวันที่ 27 มีนาคม 2566 มาเป็น วันที่ 28 มีนาคม 2566 เนื่องจากวันที่ 27 นั้นเป็นวันเกิดของนายบังเอิญ ศุทธวีร์ฯ แต่ข้อมูลที่มีการโพสต์ในวันเกิดเหตุกลับยังระบุเป็นเหตุการณ์ วันที่ 27 มีนาคม 2566 อยู่ ???

ดังภาพหลักฐานด้านล่างจาก เฟซบุ๊กไลฟ์ ของ “หยก” ที่ถูกจับกุมในที่เกิดเหตุที่ระบุว่าการก่อเหตุเกิดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม ทั้ง ๆ ที่ขณะก่อเหตุคือวันที่ 28 มีนาคม


นอกจากนี้ข้อมูลหลักฐานผู้ร่วมก่อเหตุพ่นสีกับ นายบังเอิญ ศุทธวีร์ฯ จำนวน 4 คนนั้น มิเพียงถ่ายภาพ และถ่ายวีดิโอนายบังเอิญเท่านั้น ยังมี
-การให้กำลังใจ
-เฝ้าระวังสังเกตการณ์
-ระงับยับยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการเข้ามาช่วยเหลือการขัดขวางจับกุม ก่อให้เกิดความวุ่นวายในขณะจับกุม
-รุมกดดันให้มีการปล่อยตัว นายบังเอิญ ศุทธวีร์ฯ ด้วย



“คุณสุทธิชัย คุณฐปณีย์ กับนิสิต นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงสมาคมสื่อ กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผมถามหน่อยว่า การมาร่วมประชุมก่อนหน้าจะเกิดเหตุ 1 วัน การให้กำลังใจ เฝ้าระวัง สังเกตสถานการณ์ ขัดขวางการจับกุมของเจ้าหน้าที่ รุมกดดันให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหา มันเป็นหน้าที่สื่อมวลชนหรือเปล่า คุณตอบผมซิ

“ถ้าคุณตอบว่า ใช่ นี่คือหน้าที่สื่อมวลชน ก็หมายความว่าพวกคุณโคตรเลอะเทอะฉิบหาย ผมเป็นนักข่าวมาห้าสิบกว่าปี ยังไม่เคยเห็นความเลอะเทอะอย่างนี้มาก่อน เอาสื่อมาบังหน้า บอกว่าต้นสังกัดส่งไปทำข่าว ข่าวอะไร หมายก็ไม่มีออกมา ข่าวคนพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวังเหรอ พวกคุณก็เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องข่าว ก็รู้ว่านี่มันไม่ใช่ข่าวหรอก ถามหน่อย ไหนล่ะหมายข่าว ไหนล่ะหลักฐานคำสั่งบรรณาธิการ แล้วทำไมมีแค่นักข่าว 2 คน ไปทำข่าว ทำไมสื่ออื่นเขาไม่ได้บ้างล่ะ คุณก็รู้ว่าการพ่นสีกำแพงวังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำไมคุณไม่ห้ามปรามล่ะ”
นายสนธิกล่าว


แม้กระทั่งคนที่เป็นช่างภาพอิสระที่ไปถ่ายภาพ ต้นสังกัดก็ได้ออกมาปฏิเสธชัดเจนว่าไม่ได้ส่งนายณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ไปทำข่าว ไม่ได้มอบหมายงานไป แต่เจ้าตัวยอมรับเองว่าเพื่อสนองจุดยืนทางการเมืองส่วนตัว

“คุณสุทธิชัย คุณฐปณีย์ สมาคมนักข่าวครับ นี่ไง ช่างภาพนี่ออกไปให้สัมภาษณ์เลย ยืนยันว่า เจ้าขององค์กรที่ช่างภาพสังกัดอยู่ไม่ได้ส่งไป แต่เขาไปเอง เพราะว่าเป็นความเชื่อมั่นในความคิดเห็นเรื่องส่วนตัว”

นายสนธิ กล่าวอีกว่า ตนเคยถูกลอบยิงมาแล้ว วันที่ 17 เมษายน 2552 จำนวน 200 นัด ที่แยกบางขุนพรหม และก่อนหน้านั้นสำนักงานของ ASTV, News 1 เคยโดนบุกปาระเบิด เคยโดนคนใช้อาวุธสงครามยิงเข้ามาใส่ คนร้ายลอยลำอยู่บนเรือกลางเจ้าพระยา ขณะกำลังออกข่าวภาคค่ำ เที่้ยงคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ช่วงเวลาตีหนึ่ง ตีสอง คนร้ายใช้ปืนเจาะเกราะยิงห้องส่ง ASTV News1 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ ขณะที่พิธีกร คือนายรัฐวุฒิ มิตรมาก หรือบาส กำลังอ่านสรุปข่าวเที่ยงคืนออกอากาศสดนั้น ก็มีเสียงปืนรัวขึ้นชุดใหญ่


“คุณบาสล้มตัวหลงลงกับพื้น จนเก้าอี้หมุน มีร่องรอยของกระสุนปืนที่ยิงทะลุกำแพงและกระจกห้องส่งด้วย นับเป็นการคุกคามสื่อครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่พวกผมต่อสู้กับทักษิณ ตอนนั้นคุณสุทธิชัย คุณฐปณีย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย สมาคมสื่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ พวกคุณทำอะไรบ้างไหม ออกแถลงการณ์อะไรบ้างไหม


“ทีอย่างนี้ เรื่องที่ไร้สาระ เรื่องที่วางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อทำลายความมั่นคง เพื่อทำลายสถานภาพของสถาบันกษัตริย์นั้น พวกคุณเฮ้าเลี่ยน คุณฐปณีย์ คุณสุทธิชัย คุณเฮ้าเลี่ยนจริงๆ สมาคมสื่อ คุณก็เฮ้าเลี่ยน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ คุณก็ไม่ดูตาม้าตาเรือ ออกมาพูด พวกคุณอายกันบ้างหรือเปล่า” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น