xs
xsm
sm
md
lg

รัฐควรต่ออายุนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นทุก 3 ปีเช่นเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย สมรรถพล ยุทธพิชัย

เหตุการณ์ที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์และเกษตรกรภาคปศุสัตว์ต้องผนึกกำลังกัน เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองแบบด่วนที่สุดเมื่อปลายปีที่แล้ว สะท้อนความบกพร่องของนโยบายรัฐที่กำหนดอายุของประกาศนำเข้า “สั้นเกินไป” จนเกิดปรากฏการณ์น่าหวาดเสียว สุ่มเสี่ยงที่ประเทศไทยต้องเสียค่าปรับ และเสี่ยงมากกับการไม่มีวัตถุดิบจนต้องเผชิญการหยุดชะงักของภาคการผลิต ซึ่งจะเกิดความเสียหายตามมาอีกมหาศาล

แม้เกษตรกรหลายฝ่ายต่างออกมาชื่นชมรัฐบาลที่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เร่งสปีดให้ออกประกาศนำเข้าได้ทันเวลา แต่เหตุการณ์นี้ก็ควรเป็นบทเรียนให้ภาครัฐตระหนักว่า การกำหนดอายุประกาศที่สั้นเพียง 3 ปีนั้นไม่เพียงพอ ควรจะขยับออกเป็น 10 ปี หรือจัดทำเป็นนโยบายถาวร ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เนื่องจากประเทศไทยมีผลผลิตพืชเหล่านี้ไม่เพียงพอ และต้องนำเข้าเช่นนี้เป็นประจำทุกปี

พัฒนาการการต่ออายุประกาศนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนที่ “กระทรวงพาณิชย์” ต้องรับผิดชอบดำเนินการนั้น มีมาต่อเนื่องหลายยุคสมัย โดยในช่วงแรก อายุประกาศจะเป็นปีต่อปี และถ้าสังเกตให้ดี จากตารางจะพบว่าปีใดที่มีการประกาศนำเข้าหลัง 31 ธันวาคม จะเป็นปีที่เกิดความล่าช้า และมีความเสียหายอย่างหนักเกิดขึ้นตามมา เช่น ปี 2552 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศนำเข้าล่าช้าไป 12 วัน ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเสียค่าปรับจากการที่เรือขนส่งมาถึงแล้วเข้าเทียบท่าไม่ได้ และต่อเนื่องไปถึงกระทรวงการคลังที่กว่าจะประกาศลดอากรภาษีก็ปาเข้าไปกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ภาคธุรกิจต้องกู้มาเสียภาษีนำเข้าก่อน เป็นความเสียหายที่ไม่ควรเกิดขึ้น

จากนั้นก็มาถึงปี 2554 ยุคของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็น รมว.พาณิชย์ ที่มีการพิจารณาว่าการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จำเป็นต้องมีการวางแผนระยะยาว เพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก จึงปรับเปลี่ยนการต่ออายุประกาศนำเข้าจาก 1 ปี เป็น 3 ปี ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์สามารถดำเนินการได้ราบรื่นมากขึ้น ภาคธุรกิจจะทำการติดตามและเสนอการต่ออายุประกาศในทุกๆ กลางปีที่ 3 เพื่อให้ต่ออายุได้ทันเวลาและต่อเนื่อง จากนั้นการต่ออายุประกาศจึงเป็น 3 ปีต่อครั้งเรื่อยมา และมีตัวอย่างที่ดีที่สุด เป็นยุคของ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ปี 2557 ที่ทำการอนุมัตินำเข้าแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนกันยายน ไม่ใช่ธันวาคม ทำให้การวางแผนธุรกิจของภาคปศุสัตว์ราบรื่นดีมาก ไม่ต้องลุ้นว่าจะทันหรือไม่ทันเวลา

แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดในปี 2566 จึงเกิดความล่าช้า รัฐบาลเสนอการต่ออายุประกาศเข้าที่ประชุม ครม.ในนัดสุดท้ายของปี (26 ธันวาคม 2566) และต้องประกาศให้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพราะมีเรือบรรทุกกากถั่วลอยลำอยู่ในทะเลเตรียมเข้าเทียบท่าประเทศไทยในวันที่ 3 มกราคม 2567 แม้สุดท้ายจะประกาศทันเวลา แต่ก็เล่นเอาทุกภาคส่วนหายใจไม่ทั่วท้อง ตัวเลขค่าปรับประเทศไทยลอยมาในสมองแล้วหลายสิบล้านบาท ทำให้ถึงกับยกมือท่วมหัว ขออย่าให้ต้องลุ้นจนวินาทีสุดท้ายแบบนี้อีกแล้ว

สุดท้าย กลับเกิดสิ่งที่น่าประหลาดที่สุดคือ คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีมติให้ “ลดเวลาอายุประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองจาก 3 ปีลงไปเป็น 1 ปี” เมื่อกระทรวงพาณิชย์ออกประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองลดลงเหลือเพียง 1 ปี ทำให้ประกาศลดภาษีอากรกากถั่วเหลือง ที่ลงนามโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอายุเพียง 1 ปีเช่นเดียวกัน

เมื่อกลับมามองสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังมีสงครามต่อเนื่อง มีความยากลำบากในการจัดหาวัตถุดิบรวมถึงระยะเวลาการขนส่งที่นานขึ้น ภาคธุรกิจจะต้องวางแผนล่วงหน้า 3-6 เดือน เมื่อประกาศมีอายุสั้นลง การสั่งซื้อวัตถุดิบในช่วงรอยต่อที่ประกาศใกล้หมดอายุก็จะมีความเสี่ยง ไม่ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่ต้องนำเข้าอย่างต่อเนื่องและเป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องมานั่งพิจารณาทุกปี ในขณะที่มีภารกิจอื่นอีกมากมายที่ต้องเร่งดำเนินการ

ท่ามกลางการผลักดันของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น อุตสาหกรรมภาคปศุสัตว์เป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่สามารถช่วยให้รัฐสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ ดังนั้น รัฐไม่ควรสร้างอุปสรรคใดๆ ให้ภาคการผลิตนี้ ไม่ควรเพิ่มภาระขั้นตอนการทำงาน และไม่ควรขัดขวางการวางแผนระยะยาวในการนำเข้าวัตถุดิบ

ทางที่ดีที่สุด ควรทบทวนคำสั่งการต่ออายุประกาศนำเข้ากากถั่วเหลืองจากปีต่อปีให้เป็น 3 ปีต่อครั้ง และกระทรวงพาณิชย์จะต้องอนุมติให้เร็วก่อนประกาศหมดอย่างน้อย 3 เดือน และหากพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองเป็น 0 (ซึ่งไม่ได้ปรับลดมากว่า 15 ปีแล้ว) จะช่วยลดต้นทุนให้ภาคปศุสัตว์อีกทาง ซึ่งจะเกิดประโยชน์ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติตามนโยบายของรัฐบาลได้เร็วกว่าซอฟต์เพาเวอร์ที่กำลังพยายามผลักดันกันเสียอีก




กำลังโหลดความคิดเห็น