xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ยกปรากฏการณ์ประหลาด "ฟ้าผ่าทั้งที่ฝนไม่ตก" ชี้พบได้ยาก แต่อันตรายมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.ดร.เจษฎา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ให้ความรู้จากกรณีเกิดฟ้าผ่าทั้งที่ไม่มีฝนตก ชี้หายากแต่อันตรายมาก แนะปฏิบัติตามกฎ 30/30 เพื่อความปลอดภัย

จากกรณีมีคนงาน 3 คนถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บทั้งที่ไม่มีฝนตกขณะนั่งพักใต้ต้นขนุน และทำให้รถเสียหาย สตาร์ทไม่ติดไปอีก 2 คัน ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (12 ก.พ.) เพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์“ หรือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ระบุข้อความว่า “ฟ้าผ่าทั้งที่ไม่มีฝนตก เกิดขึ้นได้ หายาก แต่อันตรายมาก วันก่อนนี้มีข่าวแปลกๆ คำถามคือ "ฝนไม่ตก แล้วฟ้าผ่าได้อย่างไร" นึกว่าต้องมีฝนตกเท่านั้นถึงจะมีฟ้าผ่าได้ หรือว่า เป็นเพราะกำลังเล่นมือถืออยู่หรือเปล่า ถึงได้ล่อฟ้ามา ซึ่งคำตอบก็คือ มันเกิดขึ้นได้ครับ ที่จะมีฟ้าผ่าทั้งที่ฝนไม่ตก แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่พบได้ยากหน่อย เรียกว่า "ฟ้าผ่าแบบบวก positive lightning"

ตามรายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17.00 น. มีผู้บาดเจ็บถูกฟ้าผ่าจำนวน 3 ราย ที่ชุมชนห้วยยายพรม หมู่ 1 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่บริเวณต้นขนุน พบผู้บาดเจ็บนอนกองอยู่กับพื้นดิน 2 คนนอนแน่นิ่งอยู่กับพื้นแต่ยังสามารถให้การได้ อีกคนอยู่ในอาการหมดสติ หายใจอ่อนแรง ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่พบต้นขนุนสูงประมาณ 10 เมตร ถูกฟ้าผ่าหักโค่นลงมา และยังพบรถ 2 คันได้รับความเสียหาย สตาร์ทไม่ติดเนื่องจากถูกกระแสไฟฟ้าช็อต สอบถามชาวบ้านบอกว่า ผู้บาดเจ็บทั้ง 3 รายได้มานั่งพักใต้ต้นขนุน นั่งเล่นโทรศัพท์พักผ่อนรอเวลาเลิกงาน จู่ๆ ได้ยินเสียงฟ้าผ่าแบบชนิดที่ไม่มีฝนตกลงมาเลย

ซึ่งถ้าประเมินตามข้อมูลนี้ก็น่าจะเกิดฟ้าผ่าลงมาที่ต้นขนุน ซึ่งเป็นจุดที่สูงและโดดเด่น มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นตำแหน่งที่ถูกฟ้าผ่า และกระแสไฟก็กระโดดจากต้นไม้ เข้าสู่ทั้ง 3 คน ซึ่งโชคดีที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต (โดยที่โทรศัพท์มือถือนั้นไม่ใช่ตัวล่อฟ้า อย่างที่บางคนเข้าใจผิดกันมา)

ประเด็นคือ แล้วเกิดฟ้าผ่าได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีรายงานว่ามีฝนตก สาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้ คือบังเอิญเกิดฟ้าผ่าจากยอดเมฆที่อยู่ห่างจากบริเวณนั้น หรือที่เรียกว่า "ฟ้าผ่าแบบบวก"

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ได้เคยอธิบายเรื่อง "ฟ้าผ่าแบบบวก positive lightning" ไว้ดังนี้คือ นอกจากฟ้าผ่าจากก้อนเมฆลงสู่พื้นจะเป็นอันตรายต่อคนมากที่สุดแล้ว ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้นยังถือเป็นภัยจากฟ้าผ่าอีกรูปแบบหนึ่งที่มีอันตรายต่อคนได้ แต่ประชาชนกลับยังไม่ค่อยรู้จักนัก ฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้นนั้น เป็นการปลดปล่อยประจุบวก (positive charge) ออกจากก้อนเมฆ (ฟ้าผ่าแบบบวก) สามารถผ่าได้ไกลออกไปจากก้อนเมฆถึง 30 กิโลเมตร

นั่นคือ แม้ท้องฟ้าเหนือศีรษะจะดูปลอดโปร่ง แต่ก็อาจจะถูกฟ้าผ่า (แบบบวก) ได้ หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ห่างไกลออกไปราว 30 กิโลเมตร โดยฟ้าผ่าแบบบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง คือ หลังจากฝนที่กระหน่ำเริ่มซาลงแล้ว และแม้ว่าฟ้าผ่าแบบบวกจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก (น้อยกว่า 5% ของฟ้าผ่าทั้งหมด) แต่ก็ทรงพลังมากกว่าฟ้าผ่าแบบลบถึง 10 เท่า กล่าวคือ กระแสไฟฟ้าอาจสูงถึง 300,000 แอมแปร์ และความต่างศักย์ 1 พันล้านโวลต์เลยทีเดียว อีกทั้งฟ้าผ่าแบบบวกยังอาจทำให้เกิดไฟป่าได้อีกด้วย หากในป่าบริเวณที่โดนฟ้าผ่าเกิดไฟลุกไหม้ลาม และไม่มีฝนตกลงมาดับไฟ

สำหรับคำแนะนำถึงวิธีการสังเกตการเกิดฟ้าผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้น มีกฎจำง่ายๆ ที่เรียกว่า กฎ 30/30 เป็นข้อปฏิบัติที่ทหารใช้กัน โดยเลข 30 ตัวแรกมีหน่วยเป็นวินาที หมายถึงว่า หากเห็นฟ้าแลบ แล้วได้ยินเสียงฟ้าร้องตามมาภายในเวลาไม่เกิน 30 วินาที แสดงว่า เมฆฝนฟ้าคะนองอยู่ใกล้มากเพียงพอที่ฟ้าผ่าจะทำอันตรายคุณได้ ให้หาที่หลบที่ปลอดภัยทันที (ตัวเลขนี้มาจากการที่เสียงเดินทางด้วยอัตราเร็วประมาณ 346 เมตร/วินาที ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส)

ส่วนเลข 30 ตัวหลังมีหน่วยเป็นนาที หมายถึงว่า หลังจากที่พายุฝนฟ้าคะนองหยุดลงแล้ว (นั่นคือ ฝนหยุด และไม่มีเสียงฟ้าร้อง) คุณควรจะรออยู่ในที่หลบอีกอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้มั่นใจว่าเมฆฝนฟ้าคะนองได้ผ่านไป หรือสลายตัวไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าฟ้าผ่าแบบบวกมักจะเกิดในช่วงท้ายของพายุฝนฟ้าคะนอง”

โดยสรุปคือ ถึงแม้จะไม่มีฝนตก แต่ถ้าช่วงนี้ช่วงไหนเริ่มมีข่าวพายุฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ก็อย่าประมาทครับ ถึงไม่มีฝนตก หรือฝนหยุดตกไปแล้ว ก็อาจจะเกิดฟ้าผ่าได้ครับ!

ปล. พยากรณ์อากาศเมื่อวันที่ 9 ก.พ.ก็บอกว่า "บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนได้แผ่ปกคลุมถึงประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาวตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือในคืนวันนี้ ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาไม่แข็งแรง ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี" 

คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น