“สนธิ” เชื่อ “ภูมิใจไทย” รอดยุบพรรคยาก เหตุคำวินัจฉัยศาล รธน.ปม “ศักดิ์สยาม” ซุกหุ้น เข้าองค์ประกอบ 3 ข้อ ไม่ต่างจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบเมื่อปี 2563 ขณะที่ “ศักดิ์สยาม” ก็เสี่ยงติดคุก ฐานปกปิดทรัพย์สิน ฮั้วประมู มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ “เนวิน” เจ้าของพรรคตัวจริงน่าจะเดินเกมถ่วงเรื่องให้นานที่สุด เพื่อหาทางออกให้น้องชายแนะพรรคพวก อย่างไรก็ตาม คำตัดสินน่าจะออกมาภายในปี 67 ส่งผล สส.แห่แยกย้ายซบพรรคอื่นจาก 71 จะเหลืออยู่ไม่เกิน 30 หากตั้งพรรคใหม่มารองรับก็จะมีบทบาทไม่ต่างจากประชาธิปัตย์เวลานี้
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ลงมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 วินิจฉัยว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดสภาพการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หลังจากได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่มาก่อนหน้าตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 เนื่องจากกระทำความผิด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี มาตรา 4(1)คงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้น หรือกิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นการกระทำต้องห้าม หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือนายศักดิ์สยามทำความผิดด้วยการซุกหุ้นนั่นเอง
คำวินิจฉัยของศาลดังกล่าว ส่งผลให้นายศักดิ์สยาม ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เป็นเวลา 2 ปี แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น ก็คือรายละเอียดของความผิดที่นายศักดิ์สยามได้กระทำลงไปนั้นร้ายแรงถึงขั้นต้องยุบพรรคภูมิใจไทย และ จะส่งกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสมการการเมืองไทยครั้งใหญ่ เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยถือเป็นพรรคใหญ่อันดับที่ 3 ด้วยจำนวน ส.ส.มากถึง 71 เสียง
ทั้งนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อเกือบ 28 ปีที่แล้วใน วันที่ 8 มีนาคม 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ก่อนที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 159 ล้าน 5 แสนบาท ในปัจจุบัน
ปมซุกหุ้นของนายศักดิ์สยาม ถูกขุดคุ้ยและตั้งข้อสังเกตโดยสำนักข่าวอิศราตั้งแต่ปี 2564 ว่า ช่วงการเลือกตั้งปี 2562 นายศักดิ์สยาม ในฐานะผู้ก่อตั้ง หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โอนหุ้นที่เคยถือครองกว่า 119 ล้านบาท ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยที่ผู้รับโอนหุ้นคือ นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ หรือนายเอ เป็นพนักงานของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นเอง
นอกจากนี้นายศักดิ์สยาม ยังใช้ที่อยู่บ้านของตนเองเป็นที่ตั้งของ หจก.บุรีเจริญฯ และเพิ่งเปลี่ยนที่ตั้งของบริษัทเพียง 23 วัน ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกับกรณีที่ดินเขากระโดง ซึ่งเป็นกรณีที่ดินอื้อฉาวใน จ.บุรีรัมย์ด้วย
ต่อมา สำนักข่าวอิศรา ชี้ว่า ในช่วงระหว่าง ปี 2558-2562 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่นยังได้เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ อย่างน้อย 60 รายการ รวมเป็นวงเงินกว่า 1,261 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งนี้ใช้ที่อยู่ของนายศักดิ์สยาม เป็นที่ตั้ง
อีกทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า ในการยื่นประกวดราคาของ หจก.บุรีเจริญฯ พบว่ามี “คู่เทียบ” เป็นบริษัทหน้าเดิม คือ บริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด โดย บ.บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ฯ ปรากฏชื่อเป็นผู้ที่บริจาคเงินเข้าพรรคภูมิใจไทยด้วย
ต่อมา ในปี 2565 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายได้นำข้อมูลของสำนักข่าวอิศราไปใช้ โดยตั้งคำถามต่อ นายศักดิ์สยามว่า ตั้ง “นอมินี” คือนายเอ ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ขึ้นมาเพื่อปกปิดทรัพย์สินของตัวเองหรือไม่?จากกรณีที่ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาในปี 2539 โดยมีครอบครัวตระกูลชิดชอบถือหุ้น 80% และใช้บ้านของนายศักดิ์สยามเป็นที่ตั้งของสำนักงาน และชี้ปมที่นายศักดิ์สยาม ได้โอนหุ้นของบริษัทแห่งนี้ออกไปทั้งหมดให้นายศุภวัฒน์ เป็นจำนวนกว่า 119 ล้านบาทเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 โดยไม่ปรากฎหลักฐานการชำระเงินใด ๆ การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการขายกิจการออกไปจริง ๆ หรือเพียงแค่เปลี่ยนชื่อเพื่อหลีกเลี่ยงทางกฎหมาย
ซึ่งในข้อเท็จจริงทางภาษี ถ้าสืบกันจริง ๆ นั้นจะเป็นจุดตายของบรรดานักการเมือง และพวกพ้องที่ร่วมกันคอร์รัปชัน ก็คือ ระหว่างปี 2558-2563 ซึ่งเป็นช่วงที่นายศักดิ์สยาม โอนหุ้นให้ นายศุภวัฒน์ นายศุภวัฒน์ แจ้งต่อกรมสรรพากรว่ามีรายได้เพียงเดือนละประมาณ 9,000 บาท หรือคิดเป็นปีละประมาณ 100,000 บาทเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เอง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตอนหนึ่งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่ผ่านมาจึงระบุว่า “สำหรับข้อเท็จจริงถึงการบริจาคเงินของนายศุภวัฒน์ให้กับพรรคภูมิใจไทยในระหว่างที่ผู้ถูกร้องเป็นเลขาธิการพรรค จากเอกสารของพรรคภูมิใจไทย ปรากฏว่า นายศุภวัฒน์บริจาคเงินหรือทรัพย์สินประโยชน์อื่นให้พรรคในนามส่วนตัวมูลค่า 2,270,000 บาท
“และในปี 2562 บริจาคในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญฯ เป็นเงิน 4,800,000 บาทและจำนวน 6,000,000 บาทในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายหลังผู้ถูกร้องโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์ในปี 2561 แล้ว ไม่ปรากฏว่าช่วงเวลาก่อนโอนหุ้นนายศุภวัฒน์และห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญฯ เคยบริจาคเงิน ทรัพย์สินให้แก้พรรคภูมิใจไทยหรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ใด ๆ กับพรรคมาก่อน
“ประกอบกับที่นายศุภวัฒน์ เบิกความว่าก่อนที่ตนจะได้รับโอนหุ้นตนไม่เคยบริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย กรณีมีข้อพิรุธสงสัยว่า นายศุภวัฒน์และห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญฯ ไม่เคยมีความสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจไทย แต่ช่วงเวลาที่ผู้ถูกร้องโอนหุ้นให้นายศุภวัฒน์แล้ว นายศุภวัฒน์และห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญฯ กลับบริจาคเงินและทรัพย์สินให้กับพรรคการเมืองที่ผู้ถูกร้องเป็นเลขาฯ พรรค”
นอกจากนี้ในตอนท้ายของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า “ดังนั้น จากข้อพิรุธหลายประการดังกล่าว ประกอบพฤติการณ์แวดล้อมทั้งปวงแห่งคดี จึงฟังได้ว่า นายศักดิ์สยาม และนายศุภวัฒน์ เกษมสุข ตกลงนำเงินของนายศักดิ์สยาม ทำธุรกรรมต่าง ๆ ในนามนายศุภวัฒน์ โดยขั้นตอนสุดท้ายนำเงินนั้นซื้อกองทุนต่างๆ ในชื่อนายศุภวัฒน์ แล้วขายกองทุนดังกล่าว ชำระค่าหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม
"เช่นนี้ เงิน 119.5 ล้านบาท ยังเป็นของนายศักดิ์สยาม จึงยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีนายศุภวัฒน์ ครอบครองหุ้นของ หจก.บุรีเจริญ และดูแล หจก.บุรีเจริญ แทนนายศักดิ์สยาม มาโดยตลอด"
สรุปแบบเข้าใจง่าย ๆก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อพิจารณาจากเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้ว นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ หรือ “นายเอ” เป็นเพียง“ลูกน้อง-นอมินี”ของนายศักดิ์สยามเท่านั้น
นอกจากนี้ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่นในช่วงปี 2558-2562 ยังเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ อย่างน้อย 60 รายการ รวมเป็นวงเงินกว่า 1,200 กว่าล้านบาท และ นี่เองเป็นสาเหตุให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หจก.บุรีเจริญฯ บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยมากมายหลายสิบล้านบาท
เมื่อสืบค้นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ พบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เป็นคู่สัญญา ก็จะพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น กวาดสัญญากับภาครัฐไปมากถึง 332 รายการ คิดเป็นมูลค่า งานที่ได้รับจากภาครัฐ 4,804,772,751 บาท
ยกตัวอย่าง 10 สัญญา ที่ทำให้ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 - มกราคม 2566 มูลค่าโครงการตั้งแต่ประมาณ 10-25 ล้านบาท มูลค่ารวม 157.2 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นสัญญากับกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เช่น
สัญญาที่หนึ่ง เลขที่สัญญา 108/2566 มูลค่าตามสัญญา 16,979,000 บาท
หน่วยงานจัดซื้อ กรมทางหลวงชนบท
ชื่อโครงการ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานบำรุงรักษาทางหลวงชนบท ซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ถนนสายบร.4032แยกทางหลวงหมายเลข 2378 -บ้านห้วยราชอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน1แห่งด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ผู้ชนะการเสนอราคาหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
วันที่ลงนาม 11มกราคม2566
วันที่สิ้นสุดสัญญา 11เมษายน 2566
สัญญาที่ 2 เลขที่สัญญา 112/2566 มูลค่าตามสัญญา 14,980,000บาท
หน่วยงานจัดซื้อ กรมทางหลวงชนบท
ชื่อโครงการ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย ถนนสายบร.4032 แยกทางหลวงหมายเลข 2378 -บ้านห้วยราชอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 1แห่ง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ผู้ชนะการเสนอราคาหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
วันที่ลงนาม 11มกราคม2566
วันที่สิ้นสุดสัญญา 10มิถุนายน 2566
สัญญาที่ 3 เลขที่สัญญา 109/2566 มูลค่าตามสัญญา 11,988,000บาท
หน่วยงานจัดซื้อ กรมทางหลวงชนบท
ชื่อโครงการ ประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานบำรุงรักษาทางหลวงชนบท ซ่อมสร้างผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ถนนสายบร.5077 แยกทางหลวงชนบท บร.3070 -บ้านบุอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน๑ แห่งด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
ผู้ชนะการเสนอราคาหจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
วันที่ลงนาม 11มกราคม2566
วันที่สิ้นสุดสัญญา 10เมษายน 2566
เป็นต้น
นอกจากนี้ เมื่อไปย้อนดูระบบค้นหาข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ในเว็บไซต์ ACT Ai ซึ่งจัดทำโดย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ก็จะพบว่า ตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่นของนายศักดิ์สยาม ก็ได้รับงานภาครัฐคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ และมาพีคสุดในปี 2566 คือ
ปี 2557 มีสัญญาภาครัฐ 1 โครงการ คิดเป็นวงเงิน 5,251,000 บาท
ปี 2558 มีสัญญาภาครัฐ 36 โครงการ110,279,495 บาท
ปี 2559 มีสัญญาภาครัฐ 23 โครงการ155,468,921 บาท
ปี 2560 มีสัญญาภาครัฐ 34 โครงการ323,352,755 บาท
ปี 2561 มีสัญญาภาครัฐ 26 โครงการ426,778,534 บาท
ปี 2562 มีสัญญาภาครัฐ 36 โครงการ458,858,691 บาท
ปี 2563 มีสัญญาภาครัฐ 37 โครงการ558,543,263 บาท
ปี 2564 มีสัญญาภาครัฐ 39 โครงการ591,474,226 บาท
ปี 2565 มีสัญญาภาครัฐ 32 โครงการ520,159,000 บาท
ปี 2566มีสัญญาภาครัฐ 30 โครงการ654,299,900 บาท
รวม 10 ปี หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชัน ได้สัญญาจากโครงการรัฐ 294 โครงการ คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 3,804,465,785 บาท หรือ ตีกลม ๆ ก็ 3,800 กว่าล้านบาท!
ที่สำคัญที่สุดคือ ในช่วงที่ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น รับงานหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม โกยโปรเจ็กต์รัฐอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพิ่มขึ้นทุกปี ๆ นั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย !
ซึ่งถ้าหากคิดในช่วงปี 2562-2566 ที่นายศักดิ์สยามนั่งเป็น รมว.คมนาคม หจก.บุรีเจริญฯ ก็ได้โครงการรัฐ 174 โครงการ คิดเป็นวงเงินทั้งสิ้นสูงถึง 2,783,335,080 บาท !
เพราะฉะนั้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงเท่ากับว่า เงินที่ “นายเอ ศุภวัฒน์” บริจาคให้พรรคภูมิใจไทยก็คือเงินของนายศักดิ์สยามนั่นเอง !
โดมิโน “ศักดิ์สยาม” ลามถึงยุบภูมิใจไทย เจ้าตัวไม่พ้นต้องติดคุก
เมื่อศาลวินิจฉัยออกมาอย่างนี้แล้วเท่ากับว่าเงินที่พรรคภูมิใจไทยได้รับบริจาคมาจากนายเอ ศุภวัฒน์ และ หจก.บุรีเจริญฯ จึงเป็น “เงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ตาม มาตรา 72 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ มาตรา 126 อยู่ในหมวดบทกำหนดโทษระบุว่าผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
กรณีของพรรคภูมิใจไทยจึงไม่ต่างกับกรณีที่พรรคอนาคตใหม่เมื่อ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 หรือ 4 ปีที่แล้ว ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้ยุบพรรคตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในกรณีกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 191.2 ล้านบาท พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี
ดังนั้น เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรเป็นเช่นนี้แล้ว ขั้นต่อไป กกต.ก็ต้องยื่นคำร้องจากกรณีพรรคภูมิใจไทยกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบ
เพราะฉะนั้น วันนี้ วิบากกรรมของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ จึงยังไม่จบเพียงแค่การพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ ถูกห้ามเป็นรัฐมนตรี 2 ปี หรือ การที่เจ้าตัวต้องลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เท่านั้น แต่ต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่คดีความ และคดีอาญาอื่น ๆ เช่น
การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน อันเป็นเท็จ, การจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน,การฮั้วประมูล หรือ สมยอมในการเสนอราคา,การทุจริตประพฤติมิชอบ โดยที่ตัวเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แล้วใช้บริษัทภายใต้การควบคุมของนอมินีตัวเองเข้าประมูลโครงการในกระทรวง และกรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ฯลฯ
พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.2543 ได้กำหนด ‘ข้อห้าม’ มิให้รัฐมนตรีกระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารครอบงำหรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นหรือการจัดหาผลประโยชน์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 1 แสนบาทถึง 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ พบว่าระหว่างที่นายศักดิ์สยาม ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้งานจากหน่วยงานของรัฐจำนวนมากนับร้อยโครงการ คิดเป็นเงินนับพันล้านบาทซึ่งเท่ากับนายศักดิ์สยามเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐเสียเอง เข้าข่ายความผิดขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
เช่นเดียวกันกับพรรคภูมิใจไทย แม้ภายหลัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะทำปากแข็ง โดย วันที่ 26 มกราคม 2567 เมื่อถูกถามว่ากังวลเรื่องถูกยุบพรรคหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างเรื่องพรรคกับเรื่องส่วนตัว สิ่งที่พรรครับรู้รับทราบในปัจจุบันนี้ไม่มีตรงไหนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พรรคก็ขับเคลื่อนและดำเนินกิจการของพรรคได้อย่างถูกต้อง ถ้าหากมีอะไรก็ค่อยพิสูจน์ข้อกล่าวหา แต่ในข้อเท็จจริงก็ปรากฎชัดดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวิจิฉัยออกมาแล้ว
นอกจากนี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง ออกมาอธิบายในเรื่องนี้ว่า โดยข้อกฎหมายเรื่องการเงินของพรรคอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคนั้น ต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่1. วิธีการที่พรรคได้รับเงิน ต้องเป็นไปตามกฏหมายกำหนด เช่น การบริจาคหรือระดมทุน 2. ผู้ให้ที่เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ต้องมีคุณสมบัติและไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามกฏหมายพรรคการเมืองและ3. แหล่งที่มาของเงินต้องชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในส่วนแหล่งที่มา กกต.ไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัย เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่จะวินิจฉัย
ซึ่งจากหลักฐานและคำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฎชัดแล้วว่า และมีผลผูกพันทุกองค์กร คือ นายศักดิ์สยามใช้นอมินีถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญฯ แล้วมารับงานรัฐ จากนั้นก็นำเงินจาก นอมินี และ หจก.บุรีเจริญฯ มาบริจาคเข้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งก็เท่ากับว่า เงินบริจาคที่นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งเป็นนอมินีนายศักดิ์สยาม และ หกจ.บุรีเจริญฯ ของนายศักดิ์สยามนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบทั้ง 3 องค์ประกอบที่ เลขาฯ กกต. ระบุเอาไว้ทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่แน่ชัดว่า ชะตากรรมของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นอกจากมีโอกาสที่จะติดคุกแล้ว พรรคภูมิใจไทย ก็มีโอกาสที่จะถูกยุบพรรคด้วย
ยุบพรรคภูมิใจไทย “บิ๊กเนม”ตายเรียบ
หาก กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคภูมิใจไทย แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่าผิด “นายศักดิ์สยาม” และ “พรรคภูมิใจไทย” ไม่รอด ก็อาจจะทำให้ นายศักดิ์สยามและกรรมการบริหารพรรค ต้องเสี่ยงจบชีวิตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว โดยถึงขั้นต้องถูกเว้นวรรคการเมืองเป็นเวลานาน อย่างน้อย ๆ 10 ปี
ทั้งนี้ รายชื่อกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องลุ้นไม่ให้มีการยุบพรรคภูมิใจไทยและไม่ให้โดนตัดสิทธิ์การเมือง ประกอบด้วย
1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค
2.นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 และ เหรัญญิกพรรค
3.นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รองหัวหน้าพรรค คนที่ 2
4.นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รองหัวหน้าพรรค คนที่ 3
5.นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรค คนที่ 4
6.นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรค คนที่ 5
7.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค
8.นายรังสิกร ทิมาตฤกะ รองเลขาธิการพรรค
9.นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนสมาชิกพรรค
10.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม กรรมการบริหารพรรค
ประเด็นนายศักดิ์สยาม อาจจะนำไปสู่การยุบพรรค เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้บิ๊กเนมในพรรคตายเรียบทั้งแก๊ง จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางการเมืองครั้งใหญ่ เพราะฉะนั้นแล้ว การที่จะเอารุ่นที่ 2 ขึ้นมารับผิดชอบแทนรุ่นที่ 1 ถ้าถูกยุบพรรคและต้องหมดสิทธิ์ไป ก็คงจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะบ่มฟักให้กับรุ่นที่ 2 ดีขึ้น
“ผมเชื่อว่าวันนี้ 71 เสียงในพรรคภูมิใจไทยนั้น พอที่จะอ่านเกมออกแล้ว ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ กำลังติดต่อ สส. ในพรรคภูมิใจไทย ให้ไปอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว ถึงจะตั้งพรรคใหม่อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่า สส. 71 คนนั้น จะไม่เหลือ อาจจะอยู่ได้ไม่เกิน 30 คน อีก 41 คน ต้องหายไป ไปเพิ่มเอาโควตาของพรรคพลังประชารัฐ และเอาตามโควตาของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้บทบาทของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งตั้งขึ้นมาในนามพรรคใหม่นั้น ไม่ได้ดีเด่นไปกว่าพรรคประชาธิปัตย์เลย อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนที่สุด”
ขอฟันธงไว้ตรงนี้เลย วิธีการของนายเนวิน ชิดชอบ เจ้าของพรรคภูมิใจไทยที่แท้จริง ก็จะงัดเกมถนัดออกมาเล่น คือยื้อเวลาไปเรื่อยๆ ถ่วงกระบวนการฟ้องร้องคดีน้องชายตัวเอง การยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย การตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคออกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหาทางออกที่สวยที่สุดให้กับตัวเองและพวกพ้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งพรรคอะไหล่ขึ้นมาทดแทน หรือควบรวมพรรคอื่น รวมทั้งบ่มเพาะบุคลากรแถว 2-3 ให้พร้อมขึ้นมายืนแถวหน้าเสียก่อน ซึ่งไม่รู้ว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อไร
“แต่ผมเชื่อว่าจะยื้ออย่างไรก็ตาม ภายในปี 2567 กกต. ต้องมีมติแล้ว ว่ากรณีของศักดิ์สยาม จะมีผลต่อการที่จะต้องถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด 10 คน ที่ผมเอ่ยชื่อไปนั้น จะต้องหลุดพ้นจากวงการเมืองไปเป็นเวลา 10 ปี หรือเปล่า ถ้าจะยื้อ อย่างไรก็ยื้อได้ไม่เกินสิ้นปีนี้ เพราะว่าพรรคภูมิใจไทยนั้นก็มีศัตรูอยู่เยอะพอสมควร ก็คงจะต้องมีคนไปบี้ ไปจี้ ไปกดดันให้ กกต. รีบทำหน้าที่ที่เที่ยงตรงและเที่ยงธรรมเสียที” นายสนธิกล่าว