“ผมติดตามโค้ชอิชิอิมาตั้งแต่คุมทีมคาชิมะ แอนด์เลอส์” เปิดใจ กี้-พงศ์พิสิฐ อินทรนันท์ นักข่าวสายบอลไทย ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ผ่านการสะสมเสื้อฟุตบอล
รายงานพิเศษ
“ผมชอบสะสมเสื้อบอล และเสื้อแข่งของทีมในเจลีก (J -League) สวยมากทุกทีม ผมก็เลยชอบดูเจลีกไปด้วย ช่วงที่ผมดูเจลีกคือช่วงประมาณปี ค.ศ. 2015-2016 ซึ่งทีมคาชิมะ แอนด์เลอส์ เป็นแชมป์ลีก และไปถึงตำแหน่งรองแชมป์สโมสรโลก ซึ่งก็เป็นช่วงที่โค้ชอิชิอิ ทำหน้าที่คุมทีมพอดี”
พงศ์พิสิฐ อินทรนันท์ หรือ กี้ นักข่าวสายฟุตบอลไทยของทีมข่าวกีฬา สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) เล่าถึงที่มาที่ทำให้ “เสื้อบอล” ที่เขาใส่ในการแถลงข่าวก่อนเกมระหว่างทีมชาติไทยกับทีมชาติอุซเบกิสถานกลายเป็นข่าวดัง เพราะ “มาซาทาดะ อิชิอิ” หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ตั้งคำถามถามกลับไปยังกลุ่มสื่อมวลชน เพราะเห็นนักข่าวคนหนึ่งในเสื้อของทีมคาชิมะ แอนด์เลอส์ มานั่งอยู่ด้วย
“ตอนนั้นเขาบอกให้เป็นคำถามสุดท้ายแล้วครับ แต่ไม่มีใครถามอะไรแล้ว ทางโค้ชอิชิอิก็เลยบอกว่า เขาขอถามเอง แล้วโค้ชมาถามมาที่ผมว่า ทำไมผมถึงใส่เสื้อทีมเก่าของเขา คือ คาชิมะ แอนด์เลอส์ มาในวันนี้ ผมก็ตอบกลับไปว่า ผมใส่มาให้กำลังใจโค้ชครับ จากนั้นเขาก็เชิญเราไปถ่ายรูปร่วมกัน และบอกขอบคุณที่ช่วยสนับสนุนกัน”
เสื้อสีแดง หมายเลข 10 ของทีมคาชิมะ ซึ่ง กี้ พงศ์พิสิฐ ใส่มาในวันนั้น ไม่ใช่เสื้อแข่งในยุคที่เขาติดตามดูในช่วงที่ อิชิอิ ทำหน้าที่เป็นโค้ช แต่เป็นเสื้อแข่งในยุคที่ผู้เล่นหมายเลข 10 ของทีม คาชิมะ แอนด์เลอส์ มีชื่อว่า มาซาทาดะ อิชิอิ เป็นเสื้อแข่งในสมัยที่ อิชิอิ ทำหน้าที่เป็นจอมทัพของทีม (ค.ศ. 1991-1997)
“เสื้อตัวนี้ผมได้มาตั้งแต่ช่วงที่โค้ชอิชิอิ ยังทำทีมอยู่ที่บุรีรัมย์ครับ อย่างที่บอกว่าผมตามเชียร์ทีมคาชิมะ แอนด์เลอส์ อยู่แล้ว ซึ่งหลังๆ เห็นเขาหายไปจากวงการ แล้วก็มาเห็นอีกทีตอนที่โค้ชมาทำทีมสมุทรปราการ ซึ่งทำให้ทีมเล่นสนุกมาก พอเขาย้ายมาคุมบุรีรัมย์ประสบความสำเร็จ ผมก็เลยมองหาเสื้อแข่งในสมัยที่โค้ชยังเป็นผู้เล่นอยู่ ซึ่งก็หาไม่ง่ายเลย”
“ผมเข้าไปหาในกลุ่มเพจขายเสื้อฟุตบอลมือสอง มันมีเสื้อสีแดง เบอร์ 10 ตัวนี้อยู่พอดี แต่สภาพในตอนนั้นไม่ใช่แบบนี้เลยนะครับ เพราะมันเก่ามากแล้ว ลายหรือหมายเลข 10 บนเสื้อก็ลอกไปเยอะ ผมซื้อมาแล้วก็ต้องเอามาซ่อมอีกเยอะ ... รวมๆ ตัวนี้ก็มีราคาราวๆ 4,000 บาท” นักข่าวผู้ชื่นชอบการสะสมเสื้อบอลเล่าที่มาของเสื้อตัวนี้
ก่อนมาเป็นนักข่าวกีฬา พงศ์พิสิฐ ในวัยเด็ก คือ ผู้รักษาประตูในระดับเยาวชนของทีม จ.แพร่ เขาจึงเป็นหนึ่งในนักข่าวที่มีฝีเท้าด้านฟุตบอลพอตัว และมีความรู้เรื่องฟุตบอลไม่น้อยกว่าใคร ดังนั้นการไปทำข่าวฟุตอบเอเชียนคัพที่กาตาร์ครั้งนี้ เขาจึงไม่ใช่แค่รายงานความเคลื่อนไหวของทีมชาติไทย แต่ยังติดตามดูแนวทางการทำงานของโค้ชคนใหม่ชาวญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดด้วย
“เราชอบทีมคาชิมะอยู่แล้ว รู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นโค้ชที่เก่งมาก แต่พอได้เขามาเป็นโค้ชทีมชาติไทย ทีแรกก็ยังกลัวว่าจะซ้ำรอยปัญหาเดิมจากโค้ชญี่ปุ่นคนก่อน คือ อากิระ นิชิโนะ ในเรื่องสไตล์การทำงาน ก็มีคำสบประมาทอยู่พอสมควร แต่พอมาติดตามการทำงานของโค้ชอิชิอิในทัวร์นาเม้นท์นี้ เราก็เห็นเลยว่า เขาเป็นคนที่ทำงานปราณีตมาก ลงรายละเอียดในทุกเรื่องเยอะมาก มีความใส่ใจแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ก็หวังว่าจะเป็นผลดีกับทีมชาติไทยไปยาวๆ ครับ”
การถูกทักจากโค้ชอิชิอิเกี่ยวกับเสื้อที่เขาใส่มาในงานแถลงข่าว ทำให้เรื่องราวการเป็นนักสะสม “เสื้อฟุตบอล” ของพงศ์พิสิฐ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
นักข่าวหนุ่มจาก ThaiPBS เล่าถึงที่มาและวิธีการสะสมเสื้อฟุตบอลของเขาไว้ด้วย
“ผมเป็นนักฟุตบอล และก็ชอบเสื้อฟุตบอลมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วครับ แต่ว่าเมื่อก่อนเราไม่มีเงินมากพอ เสื้อบอลมันค่อนข้างแพง ก็เข้าถึงได้ยากหน่อย”
“ผมจะนับเสื้อตัวแรกที่ผมมี คือเสื้อของ ปีเตอร์ ชไมเคิล ผู้รักษาประตูของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เพราะผมเล่นตำแหน่งเดียวกันและผมก็เป็นแฟนปีศาจแดง แต่จริงๆ แล้ว เสื้อตัวนั้นมันไม่ใช่ยี่ห้อ UMBRO ที่แมนยูฯ ใส่แข่งนะครับ มันเป็นของก็อป (หัวเราะ) ของจริงสมัยก่อนมันถือว่าแพงมากๆ สำหรับเรา ... ส่วนของเจลีกที่เราตามดูเพราะเสื้อสวย ปัจจุบันก็มีอยู่หลายตัวครับ อย่างของทีมที่เราเชียร์คือ คาชิมะ มี 2 ตัว (รวมทั้งเสื้ออิชิอิ) และเสื้อของนักเตะไทยที่ไปเล่นเจลีก ก็พยายามหามาสะสม ทั้งของ เจ (ชนาธิป – คอนซาโดเล ซัปโปโร), อุ้ม (ธีราธร - โยโกฮามา มารินอส), มุ้ย (ธีรศิลป์ - ซานเฟรชเซ่ ฮิโรชิมา), เช็ค (ศุภโชค - คอนซาโดเล ซัปโปโร), บุ๊ค (เอกนิษฐ์ - อูราวะ เรดส์) รวมทั้งของทีมอื่นที่เราเห็นว่าสวย ซึ่งเกือบทั้งหมดก็ไปซื้อมาจากเพจเสื้อบอลมือสองครับ เพราะเสื้อเจลีกมันราคาค่อนข้างสูงมาก”
“ส่วนของฟุตบอลไทย ก็เริ่มสะสมมาประมาณ 6 ปี หลังจากที่ผมเปลี่ยนตำแหน่งจากคนทำงานเบื้องหลัง มาเป็นนักข่าวสายบอลไทยที่ต้องออกภาคสนามบ่อยๆ มันก็เริ่มจากการที่เรามีคนรู้จักในวงการ เริ่มมีคนแนะนำว่าต้องทำยังไงถึงจะได้มา เสื้อตัวไหนมีสตอรี่น่าสนใจยังไง ... และที่ภูมิใจที่สุด คือ ผมไปหาเสื้อของทุกทีมในไทยลีก ช่วงปี 2009 มาได้ครบทั้งชุดเหย้าและชุดเยือน หลังจากที่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสื้อบอล บอกผมว่า ถ้าใครหามาได้ครบ นี่จะเป็นคอลเลคชั่นที่เจ๋งที่สุด”
กับคำถามว่า ทำไมต้องปี 2009 พงศ์พิสิฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่บรรดาเซียนเสื้อบอลไทย ยกให้เสื้อทีมในปี 2009 เป็นที่ที่เจ๋งที่สุด เพราะนั่นเป็นปีที่ไทยลีกเริ่มบูมที่สุด ทีกระแสการตอบรับจากคนดูดีมาก มีแฟนบอลเข้าเต็มสนาม ซึ่งก็คือช่วงที่ทีมเมืองทอง ยูไนเต็ด โด่งดังขึ้นมาเพื่อช่วงชิงความเป็นมห่อำนาจกับทีมอย่างชลบุรี
“เสื้อที่มีค่าสำหรับคนที่ชอบสะสม เราเรียกว่า เสื้อ Match Worn ครับ” พงศ์พิสิฐ เล่าเบื้องหลังต่อ เขาบอกว่า มันคือการสะสมเสื้อที่ได้มาจากนักฟุตบอลที่ลงเล่นเกมนัดนั้นจบลง และถอดมาจากตัวนักฟุตบอลเลย ... แต่ในวงการฟุตบอลไทย การจะขอเสื้อจากผู้เล่นมาแบบนั้นเลยมันทำไม่ได้ เพราะแต่ละคนจะมีโควต้าเสื้อแข่งของตัวเอง ถ้าเขาใก้เรา เขาก็ต้องไปเสียเงินซื้อใหม่จากสโมสร ดังนั้นถ้าเราอยากได้เสื้อ Match Worn เราก็จะต้องเอาของใหม่ไปแลก
“ต้องพอรู้จักกันก่อนครับ ผมจะติดต่อนักเตะไปล่วงหน้าว่าเราจะไปแลกเสื้อกับเขานะ แล้วผมก็ไปซื้อแข่งตัวใหม่ของสโมสรนั้นมา ติดชื่อ ติดหมายเลข ติดโลโก้ของสปอนเซอร์ทุกอย่างเหมือนที่ใช้ลงแข่งทั้งหมด พูดง่ายๆ ก็คือ เราเอาของใหม่ ไปแลกกับเสื้อที่เขาเพิ่งใส่แข่งเสร็จนั่นแหละครับ”
“คุณค่าที่มากกว่าของมัน ไม่ใช่แค่เราได้ลายเซ็นเพราะไปรับมาจากตัวผู้เล่นเองโดยตรง ที่สำคัญกว่ามันคือ เขาใส่แข่งวันนั้น มีความเหน็ดเหนื่อยและทุ่มเทของนักฟุตบอลอยู่ในนั้น ดังนั้น แม้แต่รอยเปื้อนจากการลงแข่งติดเสื้อมาด้วย เราก็ทำมันคงสภาพเดิมอยู่แบบนั้น ซึ่งเสื้อพวกนี้ผมจะไม่ซักเลย พอได้มาผมก็เอาไปน็อกน้ำแข็งไว้ก่อน ให้รอยเปื้อนต่างๆยังอยู่เหมือนเดิม จากนั้นก็เอามาเก็บใส่ถุงอย่างดี แล้วค่อยเอาไปแขวนโชว์ไว้ที่บ้าน ซึ่งช่วงหลังๆ ผมทำข่าวทีมบอลหญิงค่อยนข้างเยอะ ตอนนี้ก็เริ่มมีเสื้อของนักบอลหญิงเยอะขึ้น”
จากนักกีฬาฟุตบอลระดับเยาวชนของ จ.แพร่ มาสู่การนักข่าวสายฟุตบอลไทยในสถานีโทรทัศน์ที่ใส่เสื้อแข่งในอดีตของโค้ชทีมชาติไทยคนในปัจจุบันมาร่วมงานแถลงข่าว
เมื่อเราลงลึกไปถึงเหตุผลความชื่นชอบในการสะสมเสื้อฟุตบอลของเขา ลงลึกไปค้นหาที่มาและวิธีการได้มาของเสื้อแต่ละตัว เราก็จะพบว่า ความหลงใหลในกีฬาฟุตบอลของคนคนหนึ่ง เป็นพลังสามารถแปรเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเพียรพยายามหาของสะสมทีได้มาไม่ง่ายเลย
ไม่แน่ว่า ของสะสมในวันนี้ของ “พงศ์พิสิฐ อินทรนันท์” นักข่าวผู้หลงใหลในเสื้อฟุตบอล อาจกลายเป็นหนึ่งในการช่วยจารึกประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลไทย
เสื้อประวัติศาสตร์สมัยเป็นผู้เล่นของมาซาทาดะ อิชิอิ ที่แม้แต่เจ้าตัวยังเอ่ยปากถาม ... เสื้อประวัติศาสตร์ของนักเตะไทยยุคแรกที่ได้ไปเล่นเจลีก ... หรือแม้แต่เสื้อประวัติศาสตร์ของทุกทีมในยุคที่ไทยลีกเป็นที่นิยมที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 2009 ... เสื้อเหล่านี้ เป็นดั่งบันทึกเรื่องราวที่สำคัญในแต่ละช่วงเวลา หากเราไม่ลืมและนำเรื่องราวเหล่านั้นมาทบทวนอยู่บ่อย ก็อาจเป็นหนึ่งในบันทึกที่ช่วยพาวงการฟุตบอลไทยก้าวต่อไปในอนาคต