“…สีแดง มาจากแร่ปรอท สีเหลืองเป็นยางไม้หรือว่าแร่กำมะถันก็มี สีเขียวมาจากคอปเปอร์ออกไซด์ ( Copper oxide) ที่เป็นแร่ทองแดงซึ่งเกิดจากสนิมที่กัดกินทองแดงแล้วเกิดเป็นสีเขียว หรือมาลาไคต์ (Malachite) คือแร่ทองแดงที่ตกผลึกในธรรมชาติ…สีขาวมาจากเปลือกหอย สีดินแดงหรือน้ำตาลแดง มาจากแร่หินที่มี Iron oxide…”
“…ที่เห็นได้ชัดก็คืองานจิตรกรรมที่ใช้สีเหล่านี้ แม้จะผ่านมาเป็นพันปีแล้ว สีก็ยังคงอยู่…
“เราต้องทำความเข้าใจว่า ในคอนเซ็ปต์ของงานโบราณนั้น เป็นเชิงศึกษาค้นคว้าและทดลอง เราทำวันนี้ อีกหลายร้อยปีมีคนมาพิสูจน์ มาทดลองกับเรา มันเป็นงานประวัติศาสตร์ด้วยและเป็นงานที่สร้างคุณค่าให้กับโลกใบนี้เลยครับ…”
เขาคือนักออกแบบตาลปัตร ช่างเขียนจิตรกรรม อีกทั้งยังเป็นช่างทำเครื่องลายคราม ออกแบบผ้าลายอย่าง และยังเป็นผู้สร้างสรรค์ ทำสีฝุ่นจากธรรมชาติหรือ ‘กระยารงค์’ เพื่อใช้ในงานเขียนจิตรกรรม เขียนตาลปัตรอีกด้วย
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘นพพล นุชิตประสิทธิชัย’ นักออกแบบตาลปัตร-ช่างเขียนจิตรกรรม-ช่างศิลปกรรมหลากแขนง และยังเป็นช่างทำกระยารงค์ สีฝุ่นธรรมชาติ ที่เขาศึกษาองค์ความรู้ของบรมครูโบราณแล้วนำมาสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าสนใจ
ไม่เพียงความประณีตในกระบวนการ ขั้นตอน เทคนิคต่างๆ ของงานศิลป์ที่เขารังสรรค์ขึ้นโดยเฉพาะการออกแบบตาลปัตรและกระยารงค์ที่เป็นประเด็นสำคัญของการสนทนาครั้งนี้
การศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ของผลงานศิลปกรรมในยุคโบราณ การพัฒนา ปรับตัว คิดค้นเทคนิคใหม่ๆ แต่ไม่ละทิ้งจิตวิญญาณ อัตลักษณ์ แก่นแท้แห่งงานศิลป์อันทรงคุณค่า ยังเป็นอีกเรื่องราวที่เขาบอกเล่า ถ่ายทอดไว้ได้อย่างน่ารับฟัง
แรกเริ่มแห่งแรงบันดาลใจ
เมื่อขอให้เล่าย้อนถึงแรงบันดาลใจนับแต่แรกเริ่ม ว่าอะไรทำให้สนใจศิลปะและการออกแบบตาลปัตร กระทั่งกลายเป็นนักออกแบบตาลปัตร
อาจารย์นพพลตอบว่า ต้องท้าวความไปว่าตนก็เป็นอดีตอาจารย์สอนจิตรกรรมไทยและช่างเขียน
ซึ่งเมื่อครั้งเป็นนักเรียน ได้ศึกษาข้อมูลงานศิลปกรรมไทยเป็นหลัก ทำให้ได้ค้นคว้าข้อมูลและพบเจองานศิลปกรรมของจริงที่เป็นงานตาลปัตรหรือว่างานพัดรองที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ ‘สมเด็จครู’ ท่านได้ทำไว้ รวมถึงตาลปัตรที่ศิลปินยุคใหม่ๆ ได้ทำ
“สำหรับผม สิ่งนี้เป็นเรื่องที่มองแล้วไม่ไกลตัว เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เราก็เลยอยากทำในสิ่งที่คิดไว้ว่าอยากให้สื่อสารออกมาทางตาลปัตร เมื่อเราได้ทำช่วงที่เราเป็นครู เราก็สามารถนำมาสอนนักเรียนเพื่อให้นักเรียนนำไปประกอบอาชีพได้
“และเมื่อเราได้ทำงานสั่งสมประสบการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ มุมมองความคิดและประสบการณ์ที่มากขึ้นก็ทำให้เราสามารถสร้างสรรค์ตัวงานตาลปัตร โดยที่บางชิ้นเป็นงานคิดขึ้นใหม่ หรือบางชิ้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานครูโบราณก็มีครับ ในคอนเซ็ปต์บางอย่างที่เราอยากให้ได้อารมณ์ วิธีการ และเทคนิค กระบวนการแบบโบราณ”
ถามว่านับแต่ริเริ่มทำตาลปัตร กระทั่งปัจจุบัน เป็นระยะเวลากี่ปีมาแล้ว
อาจารย์นพพลตอบว่า นับเป็นระยะเวลาสิบปีแล้ว เพราะทำมาเรื่อยๆ ต่อเนื่อง เพียงแต่อาจจะไม่ได้ทำเยอะแยะมากมาย
หากถามว่างานตาลปัตรที่ออกแบบมีทั้งคิดขึ้นมาใหม่หรือมีที่มาคือได้แรงบันดาลใจจากเหล่าบรมครูช่างโบราณ
นักออกแบบตาลปัตรรายนี้ตอบว่า “ประการแรก มีทั้งกรณีที่สร้างสรรค์งานขึ้นมาใหม่ได้ โดยการครีเอท คลี่คลาย ประยุกต์ขึ้นมาให้เป็นแบบของเรา"
"ประการที่ 2 คือได้รับมอบหมายในคอนเซ็ปต์ต่างๆ เช่นงานมงคล หรืองานอวมงคล เราก็จะได้ข้อมูล รายละเอียดของเจ้าของพัดนั้นๆ แล้วเราก็จะนำมาตีความโดยจะนำข้อมูลส่วนตัวที่เป็นของเจ้าภาพนั้นๆ นำมาเป็นหัวใจในการออกแบบ แล้วเราก็ไปค้นคว้าอีกว่าชื่อหรืออะไรที่จะสื่อถึงตัวเจ้าของได้ละเอียดมากขึ้น”
“ประการที่ 3 กรณีที่เราได้แรงบันดาลใจจากครูโบราณก็คือ บางครั้งเราได้ไปเห็นรูปแบบงานศิลปกรรมที่พิพิธภัณฑ์บ้าง ที่วัดบ้าง ที่ในอดีตมีการพระราชทานหรืออุทิศถวายให้กับเจ้านายพระองค์นั้น เราก็จะรู้สึกว่างานเหล่านี้ ด้วยเทคนิค วิธี องค์ประกอบที่สวยงาม เราก็น่าจะ Adapt ขึ้นมาได้ แล้วก็มีการออกแบบใหม่ แต่เราประยุกต์บางอย่างขึ้นมาแทน ส่วนอะไรที่สวยอยู่แล้ว เราก็หยิบยืมมาใช้”
คารวะ ‘สมเด็จครู’
ถามว่า เมื่อพูดถึงงานที่ได้รับอิทธิพล คุณได้กล่าวถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ ‘สมเด็จครู’ เช่นนั้นแล้ว มีงานอะไรบ้าง ของสมเด็จครู ที่คุณได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่าน แล้วน้อมนำมาออกแบบตาลปัตร
อาจารย์นพพลตอบว่า “จริงๆ แล้ว งานของสมเด็จครูนั้นจะมีอยู่สองยุค หลักๆ คือท่านทำงานแบบประเพณี หรือการออกแบบลายไทยแบบดั้งเดิม พูดง่ายๆ ว่าท่านก็นำงานครูโบราณมาเป็นไอเดียเหมือนกัน แล้วในช่วงหลังมา สังเกตได้ว่าท่านเองก็มีการคิดใหม่ โดยนำเทคนิควิธี รูปแบบฝรั่งบ้าง จีนบ้าง ขอมบ้าง เพื่อนำมาใช้ให้เกิดความแปลกใหม่
“และที่แปลกใหม่มากกว่านั้นคือเรื่องของวัสดุ ท่านได้นำวัสดุที่ทันสมัยมาใช้บ้าง เช่นที่มีลักษณะเหมือนแผ่นอะคริลิค ทำให้รู้สึกว่า ท่านมีความ Create ในด้านวัสดุ อย่างเช่นสมัยก่อน มักนิยมการปักและเขียนแบบภาพจิตรกรรมไทย แต่สมเด็จครู ท่านให้นายคาร์โล รีโกลี (Carlo Rigoli จิตรกรชาวอิตาลีที่เข้ามาทำงานในสยาม ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ) ซึ่งเป็นจิตรกรที่ทำงานร่วมกับสมเด็จครูท่านมาโดยตลอด ก็มีการเพนท์สีนำมันลงบนตาลปัตรเป็นงานจิตรกรรม Pure เลยก็มีเหมือนกันครับ จึงทำให้เห็นว่างานตาลปัตรนั้น จริงๆ แล้วสามารถต่อยอดได้ไกล ไม่หยุดนิ่ง เพราะแท้แล้ว คอนเซ็ปต์ก็คือพัดหนึ่งเล่ม ดังนั้น จึงสามารถครีเอท สร้างสรรค์ได้”
จากที่อาจารย์นพพลเล่ามา อาจมองได้ว่า งานของสมเด็จครูมิได้มีเพียงรูปแบบอนุรักษ์นิยม แต่ยังมีความก้าวหน้าอย่างมากด้วยเช่นกัน
ช่างเขียนผู้นี้ตอบว่า “โอ้โฮ! ท่านพัฒนางานท่านตลอดครับ”
แล้วผลงานออกแบบตาลปัตรแรกๆ คอลเลกชั่นแรกๆ ของคุณ เป็นงานแบบไหน
อาจารย์นพพลตอบว่า ชิ้นแรกๆ อาจจะเป็นคอลเลกชั่นเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้หวือหวามาก เป็นแบบเฉพาะกิจ เป็นงานที่มีการพูดคุยกับเจ้าของผลงานว่าเราจะทำงานกันประมาณไหน เมื่อมีคนพบเห็นแล้วก็ถามไถ่กันว่าใช้ช่างที่ไหนทำ ใครเขียน ใครออกแบบ
“เราก็พยายามเขียนด้วยความประณีต เรียบร้อย เราจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะคือความเรียบร้อยนี่แหละครับ”
เอกลักษณ์เฉพาะตัว
ถามว่านอกจากความประณีตแล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณในการออกแบบตาลปัตร
อาจารย์นพพลตอบว่าคือใช้วัสดุที่มีการประยุกต์ แล้วพัฒนาเทคนิคของงานปักที่ไม่ใช่แค่ปักมืออย่างเดียว แต่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
อาจารย์นพพลสะท้อนความเห็นว่าในสังคมปัจจุบัน ยอมรับเรื่องของ AI แล้ว ตนจึงพยายามทำงานกับเครื่องจักรเพื่อให้งานออกมาแล้ว Smooth ที่สุด บนความมุ่งหวังที่ต้องไม่ทิ้งคุณค่าของงานศิลปกรรมไป
“ผมก็พยายามคิดอย่างนี้ เพราะในปัจจุบันเรามีสื่อมากมาย แต่สื่อบางสื่อ ไม่ได้ถูกกลั่นกรองด้วยความเฉพาะด้าน รูปแบบงานศิลปกรรมที่ออกมาก็เช่นกัน ไม่ได้ถูกคนที่เข้าใจในงานศิลปกรรมไทยที่มีลักษณะเฉพาะมาช่วยกันกลั่นกรอง หรือช่วยกันควบคุมรูปแบบ ฉะนั้น เมื่องานออกมาแล้ว มันอาจจะกลายเป็นว่าดูแปลกตาไปมาก สาเหตุที่แปลกตาไปมากก็เพราะเนื่องจากว่ามันเกิดจากการ ‘ตัด-แปะ’ เกิดจากการย้ำรูปแบบมาก เพราะว่าเราไม่เข้าใจ
“เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ก็เกิดค่านิยมที่อาจจะทำให้รูปแบบและความเข้าใจในศิลปกรรมไทยจริงๆ นั้นคลาดเคลื่อนไปมาก ผมจึงใช้เครื่องจักรโดยพยายามใช้คนควบคุมเครื่องจักรอีกที คือเราทำความเข้าใจกับกลวิธี กระบวนการ โปรแกรมของมัน ว่ามันจะมีการปักแบบไหน แล้วเราสามารถควบคุมให้สอดคล้อง งานที่ออกมาก็จะมีความลงตัวมากขึ้น ทั้งสีไหมหรือลวดลายต้องเหมาะกับการปักด้วย เมื่อปักออกมาแล้ว รูปแบบก็จะสมบูรณ์มาก ลายไทยเป็นลายไทยแบบดั้งเดิมได้ และมีความสวยไม่แพ้หรืออาจจะด้อยกว่างานมือสักหน่อย
“เพราะไม่ว่าอย่างไร ‘งานมือ’ เป็นคุณค่าที่ผมยกไว้เป็นงานชั้นครู ผมจะไม่เปรียบเปรย ไม่เปรียบเทียบ”
ความประณีตในทุกกระบวนการ
ถามว่าในกระบวนการทำตาลปัตร อะไรสำคัญที่สุด และขั้นตอนประกอบด้วยอะไรบ้าง
นักออกแบบตาลปัตรผู้นี้ตอบว่า จริงๆ แล้ว การทำตาลปัตรนั้น ความสำคัญคือในทุกๆ กระบวนการ ต้องเกิดความประณีต
“ความประณีตเป็นตัวควบคุมของทุกกระบวนการ แต่อีกสิ่งนึงที่สำคัญมากก็คือเรื่องของแบบ เพราะแบบจะเป็นตัวคุมกระบวนการทั้งหมดเลย เมื่อเราออกแบบแล้ว เมื่อแบบเสร็จแล้ว ส่งไปที่งานปักหรือเขียน แบบตัวนี้ก็จะเป็นตัวกำหนดความสวยงาม ดังนั้น สิ่งที่จะกำหนดกระบวนการเขียนหรือปัก ทุกอย่างต้องเกิดความประณีต ไม่ว่าปักมือ หรือเขียน
“จากนั้น เมื่อเรานำมาขึ้น นำมาตรึง จะต้องไม่มีรอยย่นเลยเด็ดขาด เก็บขอบให้เรียบร้อย ความเรียบร้อยต้องคุม Theme ทุกอย่างครับ”
“ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา ขั้นตอนที่เราเขียนหรือปักก็นับว่าเป็นขั้นตอนที่ โอ้โห! ยุ่งยากมาก ค่อนข้างที่จะใช้เวลา สมาธิ และใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาอย่างมาก เป็นงานที่ Skill สูงมากเลย หากพูดถึงในเรื่องของกระบวนการปักมือนะครับ ค่อนข้างที่จะใช้ Skill สูงมาก เพราะพวกนี้ เราไม่สามารถจะใช้อะไร ใคร ก็ได้ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างทุกงาน ต้องใช้วิชาชีพเฉพาะที่ถูกฝึกฝนเคี่ยวกรำมาอย่างละเอียดอ่อนเลยครับ”
อาจารย์นพพลเล่าด้วยว่า ตาลปัตรที่เขาออกแบบ ยังมีตาลปัตรที่ใช้งานมือในทุกๆ กระบวนการก็มีเช่นกัน เนื่องจากงานตาลปัตรมีหลายสไตล์
ทั้งนี้ เดิมที ตาลปัตรของอาจารย์นพพลจะมีผู้สั่งทำเท่านั้น แต่ต่อมาในระยะหลัง มีผู้สนใจหลายท่าน แล้วไม่สามารถทำในระยะเวลาที่จำกัด อาจารย์นพพลจึงมีความคิดว่า น่าจะทำตาลปัตรที่คนสามารถซื้อได้เลย ถ้าหากในวันนี้เขาต้องการใช้ก็สามารถซื้อไปได้ทันที
“เราจึงพยายามคิดว่า จะทำตาลปัตรที่มีความเป็นกลางๆ เช่น ใช้งานบวชก็ได้ งานตายก็ได้ ใช้ได้ทั้งงานมงคลและอวมงคลเลย เช่น รูปของพระพุทธเจ้าเป็นรูปที่สื่อถึงศาสนา ก็เป็นรูปที่กลางๆ อยู่แล้ว บางครั้งเราก็ออกแบบเป็นเทพประจำวัน หรือพระประจำวันก็ได้ สำหรับใครที่อาจจะมีบางเหตุการณ์ เช่น พรุ่งนี้จะบวชแล้ว แต่เกิดอุบัติเหตุที่ตาลปัตรเขาหัก หาซื้อไม่ได้ ก็เคยมีเหตุการณ์ที่เขามาขอซื้อที่สตูดิโอก็มีเหมือนกันครับ ผมจึงคิดว่า เรื่องแบบนี้ทำไว้ก็ดี เพื่อที่เราจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่เขาอาจไม่มีคอนเซปต์ และมีระยะเวลาจำกัด เพื่อที่เราจะได้มีอะไรช่วยเหลือลูกค้าได้บ้าง”
ถามว่าหากมีผู้สนใจตาลปัตรที่คุณออกแบบ ต้องไปหาที่ใด
อาจารย์นพพลตอบว่า “มาที่ ‘Nop-Art-Studio บ้านสวนกล้วย’ ก็ได้ครับ สตูดิโอตั้งอยู่ที่บ้านผมเลยครับ ที่ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ชื่อ Nop-Art-Studio ครับ หรือแวะไปที่ร้าน Dinsor Art Gallery & Studio ( หมายเหตุ : ร้านตั้งอยู่ที่ถนนดินสอ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ) ก็ได้เช่นกันครับ”
ในอนาคต อาจารย์นพพลกล่าวว่า มีความตั้งใจอยากเปิดคอร์ส Workshop สำหรับพระและสามเณรรวมถึงกลุ่มบุคคลที่สนใจอยากจะทำตาลปัตรเพื่อนำไปถวายพระ ทำบุญ โดยอยากจะสอนฟรีสำหรับพระภิกษุสามเณร
คือผู้สร้างงานศิลป์หลากแขนง
อาจารย์นพพลเล่าว่าหากท่านใดสนใจแวะไปเยี่ยมชมที่สตูดิโอ ไม่เพียงจะได้เห็นงานตาลปัตรที่มีอยู่เท่านั้น แต่ ณ ที่แห่งนี้ ยังมีงานศิลปะอีกหลายแขนงจากฝีมือการออกแบบและสร้างสรรค์ของอาจารย์นพพล ไม่ว่างานเครื่องกระเบื้องลายคราม
งานผ้าลายอย่าง งานจำหลักไม้ เป็นต้น
“เราทำงานศิลปกรรมไทยหลายประเภท บางจังหวะอาจได้เห็นงานจำหลักไม้ด้วย ที่จำหลักแล้ว ปิดทองแล้ว ประดับกระจกแล้ว อาจจะเรียกได้ว่าเราทำสังฆภัณฑ์แทบจะครบวงจรเลยครับ เราพยายามจะสร้างชิ้นงานศิลปกรรมที่เกี่ยวกับศาสนา สิ่งเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยศรัทธาและถูกนำไปใช้ด้วยศรัทธา
“ผมจึงอยากให้ชิ้นงานพวกนี้มีคุณค่า เมื่อนำไปใช้แล้ว แม้จะผ่านไปนานแล้วก็ยังมีคุณค่าอยู่และยิ่งมากคุณค่าขึ้น นอกจากนั้นผมยังเขียนงานจิตรกรรมที่ถูกเขียนขึ้นมาด้วยกระบวนการอย่างเป็นธรรมชาติ ด้วยสีธรรมชาติ ที่ใช้กันในยุคโบราณด้วยครับ”
อดถามไม่ได้ว่า คุณทำงานจิตรกรรมแบบไหนบ้าง
ช่างศิลป์ผู้นี้ตอบว่า “มีทั้งเขียนโบสถ์เป็นหลัก และบางท่านนำไปตกแต่งเป็นห้องพระ โดยเราจะมีการเขียนเป็นผ้า Canvas อย่างดี มีการอบร่ำไม่ให้เกิดเชื้อรา แล้วก็นำไปผนึกอย่างดี แบบนี้ก็มีครับ
“และมีทั้งเขียนจิตรกรรมที่โบสถ์ บนผนังพระอุโบสถ เขียนจิตรกรรมบนตาลปัตรก็ได้ หรืองานตกแต่งก็ได้ เราสามารถที่จะทำได้ค่อนข้างครอบคลุม โบสถ์ที่เราเขียน ก็มีเช่น ที่โบสถ์วัดนางในธัมมิการาม อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และที่หอธรรม เป็นต้นครับ”
ผู้สร้างสรรค์ ‘กระยารงค์’
ถามว่า จากที่คุณเกริ่นถึงการทำสีธรรมชาติเพื่อใช้ในงานจิตรกรรมที่สืบต่อมานับแต่โบราณ นั่นหมายถึงสี ‘กระยารงค์’ ใช่หรือไม่
อาจารย์นพพลตอบว่า “ถูกต้องครับ จริงๆ แล้ว กระยารงค์เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของสีที่เราใช้เขียนภาพในงานจิตรกรรมสมัยอดีต เป็นศัพท์ช่าง ที่มาที่ไปของสีประเภทนี้คือเป็นสีที่ถูกใช้ในงานจิตรกรรมไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งรูปแบบของสีพวกนี้ก็เกิดจากการที่เราได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย หรือพวกอิหร่าน เปอร์เซีย
“ด้วยความเป็นช่างไทย เราจึงมีการกำหนดเป็นรูปแบบเฉพาะของสกุลช่างอย่างเราให้เกิดขึ้นมา และมีการใช้สี จัดกลุ่มสีขึ้นมาเฉพาะ กลายเป็นรูปแบบที่มีอัตลักษณ์ ผมเกิดความประทับใจในสีพวกนี้ คิดว่าไม่น่าหายไปแล้วก็เกิดความอยากทำสีขึ้นมา จึงค้นคว้าทั้งจากตำราในไทยและต่างประเทศ
“แต่ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนทำคนแรกนะครับ ขออนุญาตออกตัวไว้ก่อน จริงๆ แล้ว ในอดีต ครูบาอาจารย์ท่านก็มีการทำมาก่อนบ้างแล้ว เราก็ได้พื้นฐาน ได้ข้อมูลมาจากครูบาอาจารย์ในการต่อยอดเพื่อที่จะให้เกิดความสืบเนื่องและส่งต่อ เพื่อให้เกิดรูปแบบและกระบวนการที่ชัดเจนมากขึ้น
“ในอดีตนั้น อาจจะเป็นเพียงแค่คำบอกเล่า หรือข้อมูลเป็นตัวอักษร แต่ปัจจุบันนี้ มันกลายเป็นรูปแบบศิลปกรรมที่บัญญัติออกมาแล้ว กลายเป็นรูปแบบจิตรกรรมที่ใช้สีซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ นั่นก็คือวัสดุของสี มีการใช้แร่ที่มาจากธรรมชาติ โดยแต่ละสี มาจากธาตุธรรมชาติที่ไม่เหมือนกันเลย”
หลากสีสัน จากธรรมชาติ
อาจารย์นพพลระบุเพิ่มเติมว่า “ตัวอย่างเช่น สีแดง มาจากแร่ปรอท สีเหลืองเป็นยางไม้หรือว่าแร่กำมะถันก็มี หรือสีเขียวมาจากคอปเปอร์ออกไซด์ ( Copper oxide) ที่เป็นแร่ทองแดงซึ่งเกิดจากสนิมที่กัดกินทองแดงแล้วเกิดเป็นสีเขียว หรือมาลาไคต์ (Malachite) คือแร่ทองแดงที่ตกผลึกในธรรมชาติก็มีเช่นกัน
“ส่วนเขม่าจากหม้อ จากน้ำมันก็คือสีดำเขม่าซึ่งเปรียบเทียบได้กับหมึกจีน
หรือสีขาวมาจากเปลือกหอย สีดินแดงหรือน้ำตาลแดง มาจากแร่หินที่มี Iron oxide เยอะหรือมีแร่เหล็กเยอะ เป็นต้นครับ ค่อนข้างจะ Detail เยอะ”
ถามว่า สีเหล่านี้ นับแต่ครั้งที่บรมครูยุคโบราณใช้กันมานั้น มีความพิเศษอย่างไร เมื่อเทียบกับสีสังเคราะห์
อาจารย์ช่างศิลป์ ช่างเขียนผู้นี้ตอบว่า “ที่เห็นได้ชัดก็คืองานจิตรกรรมที่ใช้สีเหล่านี้ แม้จะผ่านมาเป็นพันปีแล้ว สีก็ยังคงอยู่
ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม มีความแห้งดี ไม่ชื้น ไม่มีความเค็มเข้ามาทำลาย อย่างเช่นพุทธศิลป์ที่ถ้ำโม่เกา ตุนหวง ที่จีน อายุเป็นพันปีแล้วก็ยังคงอยู่ (หมายเหตุ : ถ้ำโม่เกาแห่งตุนหวง ‘The Mogao Caves, The Mogao Grottoes’ ตั้งอยู่ในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายในถ้ำงดงามด้วยพุทธศิลป์จีนทั้งพระพุทธรูปและจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีอายุมากกว่า 1,000 ปี)
อาจารย์นพพลกล่าวว่า สีสังเคราะห์เกิดจากการใช้ผงแป้ง หรือวัสดุมาย้อมสีสังเคราะห์ขึ้นมา สีพวกนี้เมื่อถูกความร้อน หรือถูก UV เมื่อโดนแดดโดนฝน โดนความชื้นทุกอย่างจะซีดขาวไป กลายเป็นสีขาว คือไม่มีสี แต่ว่าสีธรรมชาตินั้น เมื่อเวลาผ่านไปก็จะยังคงอยู่ นอกจากจะหลุดร่อนไปด้วยสภาพของกาวหรือพื้นผิวที่เสื่อมทรุดไปแล้วก็ย่อมทำให้สีพวกนี้หลุดร่อนไปตามธรรมชาติ ภาพเขียนสีในถ้ำในอารยธรรมยุคโบราณ ก็ถือว่าใช้กระยารงค์นั่นเอง
“ต้องบอกว่าเราเขียนเหมือนเขา เพราะระยะเวลาของเขานั้นค่อนข้างเก่าแก่กว่าเรามาก ของเราสืบไปแล้วไม่ถึง 300-400 ปี แต่ว่าของเขาทำมานับพันปี อย่างที่อียิปต์ กว่าที่เขาจะตกผลึกเป็นสีต่างๆ ได้นั้น เขาใช้ระยะเวลายาวนาน เพราะฉะนั้น ความร้อน ความเย็นในธรรมชาติไม่มีผลต่อเขาแล้ว เขาอยู่มายาวนานมาก ฉะนั้น ก็ค่อนข้างมีความคงทน
แต่ด้วยเทคนิควิธีที่เราใช้สีธรรมชาติ สามารถใช้ได้ทั้งเชื้อน้ำและเชื้อน้ำมัน"
“น้ำมันก็มาจากพืช อย่างเช่นพวกยางรัก น้ำมันสน หรือน้ำมันลินซีด (น้ำมันเมล็ดฝ้าย : Linseed oil ) หรือ Medium ที่เป็นเชื้อน้ำ ก็อย่างเช่นพวกกาวที่มาจากพืชและสัตว์ เช่น ยางจากต้นอะคาเซีย (acacia) ยางต้นมะขวิด กาวหนังควาย กาวหนังกระต่าย
“จริงๆ แล้ว สีพวกนี้ค่อนข้างจะมีมิติของกระบวนการที่ซับซ้อน ผู้ที่เข้าใจและซาบซึ้งดีก็จะเห็นคุณค่าของมัน เราต้องทำความเข้าใจว่า ในคอนเซ็ปต์ของงานโบราณนั้น เป็นเชิงศึกษาค้นคว้าและทดลอง เราทำวันนี้ อีกหลายร้อยปีมีคนมาพิสูจน์ มาทดลองกับเรา มันเป็นงานประวัติศาสตร์ด้วย และเป็นงานที่สร้างคุณค่าให้กับโลกใบนี้เลยครับ ไม่ใช่แค่เรื่องที่เราทำมาหากินอย่างเดียว” อาจารยนพพลบอกเล่าอย่างเห็นภาพ
ถามว่ากระยารงค์ที่คุณสร้างขึ้นนำมาใช้กับตาลปัตรและงานจิตรกรรมต่างๆ ที่คุณเขียนและออกแบบใช่หรือไม่
อาจารย์นพพลตอบว่า “มีครับ ทั้งตาลปัตรและงานจิตรกรรมก็ใช้กระยารงค์ และตัวผมเองออกแบบผ้าลายอย่างด้วย ซึ่งออกแบบด้วยกระยารงค์หรือสีฝุ่นธรรมชาติ แล้วพิมพ์ด้วยสีที่ปลอดสารตะกั่ว คนทำสีต้องใช้สีด้วย เราจึงจะเข้าใจคุณสมบัติสีต่างๆ ฝุ่นสีต้องละเอียดมาก”
คุณค่าที่ไร้กาลเวลา
ก่อนจบบทสนทนา ถามทิ้งท้ายว่าคุณมีอะไรที่อยากฝากถึงเกี่ยวกับศิลปกรรม และกระยารงค์ที่สืบต่อกันมาแต่ยุคโบราณบ้าง
อาจารย์นพพลกล่าวว่า “ถ้าเราพูดในเรื่องสหวิทยาการต่างๆ กับศิลปวิยาการต่างๆ ว่าย่อมมาคู่กับการหมุนเวียนไปตามเวลาของโลกเรา มันไม่มีอะไรหยุดอยู่กับที่เลย ตั้งแต่อดีตมาแล้ว"
“ในโลกยุคใหม่ นักเรียนศิลปะยุคใหม่ก็ยังมองในเรื่องของการพัฒนา แต่สิ่งนึงที่เราไม่ควรจะหลงลืมคือการเป็นงานโบราณที่มีพื้นฐานที่จะสามารถทำให้งานปัจจุบันมันมีคุณค่ามากขึ้นและสามารถตอบคำถามได้ตรงจุดมากขึ้น
เพราะงานศิลปะของเรา มีทั้งคติความเชื่อที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์เรา งานศิลปะยุคนี้ จึงเป็นงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลหรือมีแรงบันดาลใจมาจากงานโบราณ ซึ่งงานโบราณก็ได้รับอิทธิพลจากประเทศรอบข้าง ด้วยการค้าขาย หรือการเดินทางของคณะทูตหรือทางศาสนา ความแตกต่างของแต่ละยุค จึงมีแตกต่างกันไป"
“ฉะนั้น ผมก็อยากฝากให้เยาวชนหรือคนรุ่นใหม่มองเห็นความสำคัญ หรือว่า ที่มาที่ไปในเรื่องของวัสดุ กระบวนการทางความคิด เพื่อให้เราเปิดใจ ศึกษา อ่าน วิเคราะห์ เพื่อให้ในอนาคตจะได้เป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะพัฒนาชิ้นงาน เพื่อที่เราจะได้พัฒนาไปอย่างมีราก และพูดให้เต็มปาก คือตระหนักว่างานศิลปกรรมของไทยเรามีที่มาที่ไปอย่างไร"
“เราจะได้ไม่ต้องพูดแต่คำว่า ‘อัตลักษณ์’ ตามๆ กันไปโดยที่ไม่เข้าใจเนื้อแท้
แต่เราจะสามารถพูดคำว่า ‘อัตลักษณ์’ ได้อย่างเข้าใจและภูมิใจครับ”
เป็นคำตอบทิ้งท้ายที่แหลมคมและสะท้อนถึงความรักที่มีต่องานศิลปกรรมอย่างแท้จริง
………………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : นพพล นุชิตประสิทธิชัย