xs
xsm
sm
md
lg

“เรือดำน้ำ” ส่อจบแบบแฮปปี้ ใช้เครื่องยนต์จีน เลื่อนส่งมอบ 2 ปี ทัพเรือมั้นใจผ่าน ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เรือดำน้ำ” ส่อจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง หลังอัยการตอบ 3 ปมสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องเครื่องยนต์ MTU ถือเป็นสาระสำคัญหรือไม่ คาดใช้เครื่องผลิตในจีน ไม่เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต ขอเลื่อนส่งมอบ 2 ปี ทัพเรือมั่นใจผ่านมติ ครม.เตรียมปรับปรุงเรือหลวงช้างเป็นเรือพี่เลี้ยง พร้อมเดินหน้าจัดหาเรือฟริเกตลำใหม่



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนของกองทัพเรือว่า หลังจากที่ดำเนินการมาอย่างยืดเยื้อยาวนานก็ใกล้จะปิดฉากลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งแล้ว หลังจากที่นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชี้แจงในสภาฯ ในวันที่มีการพิจารณางบประมาณกระทรวงกลาโหม และกล่าวพาดพิงถึงโครงการเรือดำน้ำโดยพรรคฝ่ายค้าน

นายสุทินได้ลุกขึ้นตอบโต้ว่า แม้จะมีคนระบุให้ยกเลิกสัญญา แต่หากยกเลิกแล้วจะทำให้ได้เงินที่จ่ายไปหลายงวดคืนรวมทั้งเงิน 6,000 ล้านบาท ตนก็จะทำตั้งแต่วันนี้ เรื่องดังกล่าวต้องเห็นใจกองทัพเรือ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศจีนด้วย เศรษฐกิจที่ทำร่วมกับประเทศจีนจะมีประโยชน์ร่วมกัน 200,000 ล้านบาท เอาเรื่องปัญหาเรือดำน้ำมาทำนั้นมันไม่คุ้มในข้อขัดแย้ง


นี่คือคำชี้แจงกลางสภาฯ ของนายสุทินรัฐมนตรีฯ กลาโหมเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการเรือดำน้ำ ซึ่งมีการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่าสามารถแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ กรณีที่จีนไม่สามารถติดตั้งเครื่องขับกำเนิดไฟฟ้าตราอักษร MTU ที่ผลิตในเยอรมนี หรือต้องยกเลิกสัญญาอันเนื่องจากจีนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุใน TOR ทำให้ไม่สามารถส่งมอบเรือดำน้ำให้แก่ไทยได้ ทั้งๆ ที่ถึงเวลาตามสัญญาแล้ว

วันที่ 16 มกราคมนายสุทินได้ให้สัมภาษณ์สดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งเกี่ยวกับความคืบหน้าเรือดำน้ำไทยโดยระบุว่า อัยการได้ส่งหนังสือตอบข้อสงสัยกองทัพเรือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการเรือดำน้ำทั้ง 3 ประเด็น คือ 1.การแก้ไขสัญญาจากเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในเยอรมนีเป็นเครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในจีนถือเป็นสาระสำคัญในสัญญาหรือไม่ 2.หากไม่ใช่สาระสำคัญซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขสัญญาในเรื่องดังกล่าวได้ อำนาจการแก้ไขสัญญานั้นเป็นอำนาจของใคร และ 3.ถ้าแก้ไขสัญญาเปลี่ยนแปลงจากเรือดำน้ำไปเป็นเรือฟริเกตสามารถทำได้หรือไม่ มีขั้นตอนการดำเนินการอย่างไร


ทั้งนี้ นายสุทิน อ้างว่าได้มีคำตอบทั้ง 3 ประเด็น จากอัยการสูงสุดมาแล้ว แต่ทางกระทรวงกลาโหมยังไม่มีเอกสาร จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้ขณะนี้ แต่เชื่อว่าคำตอบของอัยการสูงสุดมีทิศทางไปในแนวทางที่ดี ซึ่งทางกลาโหมจะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ลงมติอีกครั้งหนึ่ง

นายสุทิน ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขใดๆ รัฐมนตรีกลาโหมไม่มีอำนาจ ต้องขึ้นอยู่กับมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น โดยส่วนตัวเชื่อว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และฟังข้อคิดเห็น ความต้องการของกองทัพเรือเป็นองค์ประกอบควบคู่ไปกับการคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างจีนกับไทย

เรื่องนี้กองทัพเรือเตรียมที่จะขอขยายระยะเวลาส่งมอบเรือดำน้ำออกไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี หลังจากที่ในสัญญาเดิม เรือดำน้ำจะต้องส่งมอบภายในวันพุธที่ 31 มกราคม ที่จะถึงนี้


รวมทั้งกองทัพเรือจะชี้แจงข้อมูลทางเทคนิคเพื่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องยนต์ MTU ของจีน เป็นเครื่องขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟสำหรับชาร์จแบตเตอรี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพลังงานขับเคลื่อนเมื่อเรืออยู่ใต้ผิวน้ำ ดังนั้นเครื่องขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจึงไม่ใช่เครื่องจักรใหญ่ หรือเครื่องยนต์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเรือโดยตรง และไม่ใช่เครื่องยนต์ที่ใช้ในขณะเรือแล่นอยู่บนผิวน้ำ จึงไม่ใช่สิ่งที่ถือเป็นสาระสำคัญในสัญญาเดิมที่ลงนามกันไว้ อีกทั้งมีความน่าเชื่อถือ และกองทัพเรือไทยไม่ใช่กองทัพเรือแรกในโลกที่ใช้เครื่องยนต์ MTU ที่ผลิตในจีน เพราะเรือดำน้ำปากีสถาน ซึ่งจีนส่งมอบมาแล้วอย่างน้อย 1 ลำ จากจำนวนทั้งหมดที่ลงนามในสัญญา 6 ลำ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้กองทัพเรือมั่นใจว่า ครม.จะเห็นชอบกับการขออนุมัติแก้ไขสัญญาตามแนวทางที่อัยการสูงสุดตอบมาให้เป็นข้อยุติในการปฏิบัติ


ส่วนกองทัพเรือนั้น ระบุว่า พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ค่อนข้างมั่นใจว่าโครงการเรือดำน้ำสามารถไปต่อจนถึงขั้นการส่งมอบเรือได้ การที่จะเปลี่ยนเรือดำน้ำ จากเรือดำน้ำ เป็นเรือฟริเกต ไม่น่าเกิดขึ้น จึงทำให้กองทัพเรือเดินหน้าเตรียมจัดหาเรือฟริเกตลำใหม่ มีข่าวว่าทั้งประเทศเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ สนใจในโครงการนี้ และมีการเสนอแบบเบื้องต้น และคุณลักษณะของเรือ ให้กองทัพเรือได้พิจารณาแล้วเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่อาจจะเป็นเครื่องชี้วัดความมั่นใจของกองทัพเรือ คือการเดินหน้าปรับปรุงเรือหลวงช้าง ซึ่งเป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ ตามวัตถุประสงค์แรก แต่ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นเรือยกพลขึ้นบกเอนกประสงค์ ซึ่งเรือหลวงช้างนั้นมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ถึง 3 ลำ จะต้องติดเรดาร์อีก 3 มิติ ระบบอาวุธเพิ่มเติมภายใต้วงเงิน 900 ล้านบาท และเป็นที่สนใจของบริษัทในยุโรป และอเมริกา ตลอดจนในภูมิภาคอาเซียนเช่นกันกับการยื่นข้อเสนอเรือฟริเกต และมีข่าวว่าตัวแทนบริษัทรัสเซียก็มีความสนใจในการยื่นข้อเสนอปรับปรุงเรือหลวงช้างให้แก่กองทัพเรือไทยเช่นเดียวกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น