แฉขบวนการช่วย “ทักษิณ” พ้นโทษก่อนกำหนด ยังไม่ละความพยายาม หลังขอพระราชทานอภัยโทษวาระต่างๆ ไม่สำเร็จ หยิบเอาระเบียบคุมขังนอกเรือนจำมาใช้ก็ยังไม่ได้ เหตุ “8 อรหันต์” ไม่เอาด้วย จึงโยกย้าย ขรก.ราชทัณฑ์เอาคนที่สั่งได้มาเดินเรื่องพักโทษ “ทักษิณ” โดยมีเหตุพิเศษ และปูทางใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำเตรียมรับ “ยิ่งลักษณ์” กลับประเทศ โดยไม่ติดคุกแม้วันเดียว
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประพฤติตัวเป็น “นักโทษเทวดา” ถูกศาลตัดสินจำคุก 8 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษเหลือ 1 ปี แต่กลับไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว และขณะนี้ก็ยังคงรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจต่อไปหลังจากผ่านไป 150 กว่าวันแล้ว
ทั้งนี้ “นิด้าโพล” ได้เปิดเผยผลสำรวขความคิดเห็นประชาชน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 และสื่อต่าง ๆ นำมาพาดหัว ยกตัวอย่างเช่นมติชน :โพลนิด้าชี้กรณีทักษิณ ไม่ส่งผลต่อความอยู่รอดของรัฐบาล INN : “นิด้าโพล” บอก “ทักษิณ” นอนโรงพยายาลตำรวจไม่มีผลต่อรัฐบาล ไทยรัฐ : โพลชี้ ปม "ทักษิณ" ไม่ส่งผลกระทบรัฐบาล-ไม่ลุกลามสู่วิกฤติรอบใหม่ ช่อง 7 : โพลชี้ ทักษิณ นอนโรงพยาบาล ไม่กระทบรัฐบาล เป็นต้น
แต่ในความเป็นจริง สื่อมวลชน และประชาชนจำนวนมากนั้นไม่ได้ดูรายละเอียด และไส้ในของผลการสำรวจที่เน้นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจประมาณ 1,300 กว่าตัวอย่าง ไปที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในปัจุบัน
นอกจากนี้ ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งก็คือ จากคำถามที่ว่า “ท่านคิดว่าการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าเรือนจำ จะลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ เหมือนการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. ในอดีต หรือไม่ ?”
คำตอบที่ได้และมีนัยสำคัญก็คือ
1. จะไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่แน่นอน 41.60%
2. จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แต่ไม่ใหญ่โตเหมือนในอดีต 41.30%
3. จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนในอดีตแน่นอน 11.15%
4. เฉย ๆ / ไม่ตอบ / ไม่สนใจ 5.95%
ถ้ามองแบบผิวเผิน ก็อาจจะมองได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ 41.60% มองว่าปัญหาเรื่องนายทักษิณไม่ยอมติดคุกจะไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่
แต่ในความเป็นจริงก็คือ เมื่อนำความเห็นของประชาชน ข้อ 2 และ ข้อ 3 มาบวกรวมกัน คือ 41.30% บวก 11.15% จะได้เท่ากับ 52.45% ซึ่งเกินครึ่งและมากกว่า ข้อที่ 1 อย่างชัดเจน
นั่นหมายความว่า แม้ว่าส่วนใหญ่กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถามจะเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยในภาคอีสาน และภาคเหนือ แต่ก็ยังมองว่า “การชุมนุมประท้วง กรณีที่นายทักษิณไม่ยอมติดคุกจะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แน่ ๆ”… เพียงแต่จะลุกลามหรือไม่ลุกลามใหญ่โตเท่านั้นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมองจากความเคลื่อนไหวทั้ง ในสภา-นอกสภา และสถานการณ์แวดล้อมต่างๆ ตั้งแต่กลุ่ม ส.ว., กลุ่มฝ่ายค้าน, การเคลื่อนไหวบนท้องถนน รวมไปถึงล่าสุด แม้แต่ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ออกมากระทุ้งเรื่องนี้แรงๆ ด้วย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2567 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายชวน หลีกภัย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า ธรรมศาสตร์และประชาชน”
ตอนนึ่ง นายชวนกล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ที่พักอยู่ที่ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจมากว่า 150 วันแล้ว โดยไม่ยอมติดคุกว่า นายชวนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปีที่แล้วว่า ในกรณีนี้แพทยสภาควรปกป้องแพทย์ไว้ก่อน ให้คำแนะนำว่าอย่าไปเซ็นหรือรับรองอะไรที่มันไม่ถูก ช่วยกรุณาป้องกันเอาไว้ก่อนเรื่องนี้มีปัญหา เพราะความจริงก็คือความจริงวันยังค่ำ วันนี้ไม่ปรากฏวันหน้าก็ต้องปรากฏ รู้ว่าหลายๆ คนไม่อยากทำผิด
นายสนธิ กล่าวอีกว่า ความพยายามที่จะให้นายทักษิณได้ออกมาก่อนที่จะถึงเกณฑ์พักโทษตามปกตินั้น มีมาตลอด ทั้งโดยการจะขอพระราชทานอภัยโทษในในวาระต่างๆ เช่น วันที่ 13 ตุลาคม และ 5 ธันวาคม แต่ยังไม่สำเร็จ จึงหยิบเอา“ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง ในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566” หรือ “ระเบียบจำคุกนอกเรือนจำ” ที่ปูทางเตรียมไว้ล่วงหน้า สมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว.ยุติธรรม มาใช้
แต่การจำคุกนอกเรือนจำก็มาติดตรงที่ว่า เรื่องนี้จะต้องมีการตั้ง “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะถูกแต่งตั้งโดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโดยตำแหน่ง จำนวน 8 คน หรือที่เรียกเล่นๆ ว่า “8 อรหันต์”
แต่แผนคุมขังนอกเรือนจำกลับกลายเป็นหมันไป เนื่องจาก “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โดยอาชีพ ทำงานมายาวนาน แสดงผลงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไต่เต้าขึ้นมาเป็นถึงรองอธิบดี เป็นผู้อำนวยการกองโน้น คนกลุ่มนี้ในกรมราชทัณฑ์ก็เห็นว่าทำไม่ได้ ในการประชุมคณะกรรมการคัดกรองการคุมขังในสถานที่คุมขังเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 จึงไม่มีการผ่าน “ระเบียบจำคุกนอกเรือนจำ” ใดๆ ทั้งสิ้นออกมา
ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานของกระทรวงยุติธรรมภายใต้การชี้นำและควบคุมของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จึงต้องหาช่องทางอื่นที่พอจะเป็นไปได้ สุดท้ายจึงมาตกที่การพักการลงโทษ “กรณีมีเหตุพิเศษ” โดยอ้างว่า นช.ทักษิณ มีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรงหรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การจะดำเนินการการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษได้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง และนายทักษิณ จะต้องจัดการสะสางเรื่อง “คนภายในกรมราชทัณฑ์” ให้เป็นคนที่เชื่อฟังคำสั่ง และพร้อมทำตามสิ่งที่ตนเองต้องการเสียก่อน นั่นเองจึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 2567 ลงนามโดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์
คำสั่งกรมราชทัณฑ์ฉบับดังกล่าวแนบ 9 รายชื่อคนที่จะโยกย้าย โดยโฟกัสไปที่ 3 คน คือลำดับที่ 1, ลำดับที่ 3และลำดับที่ 4โดยเฉพาะคำสั่งที่ให้ไปปฏิบัติหน้าที่อะไร
ลำดับที่ 1 น.ส.สุวิมล แซ่อึ้ง เดิมตำแหน่งนักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ เรือนจำ จ.พระนครศรีอยุธยา ปฏิบัติหน้าที่เรือนจำพิเศษธนบุรีให้มาปฏิบัติหน้าที่ นักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักงานเลขานุการกรม
ลำดับที่ 3 น.ส.แสงสุข ลิ่มพันธ์ เดิมตำแหน่งนิติกรชำนาญการพิเศษ กองกฎหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักผู้ตรวจราชการกรม (หมายเหตุ โดยปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มงานรับเรื่องราวร้องทุกข์)
ลำดับที่ 4 น.ส.วริศรา กุญชร ณ อยุธยา เดิมตำแหน่งนักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ เรือนจำ จ.นราธิวาส ปฏิบัติหน้าที่สถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์ให้มาปฏิบัติหน้าที่ นักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ กองกฎหมาย
การปรับย้ายบุคลากรทั้ง 3 คนนี้ก็มาเพื่อมาดำเนินการ การพักการลงโทษ “กรณีมีเหตุพิเศษ” ให้กับ นช.ทักษิณ ที่กำลังดำเนินการอยู่อย่างแข็งขัน
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากคำสั่งกรมราชทัณฑ์ที่ 74/2567 ลงวันที่ 19 มกราคม 2567แล้ว ในวันเดียวกัน นายสหการณ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังมีการเซ็นคำสั่งอีกคำสั่งหนึ่ง คือ คำสั่งกรมราชทัณฑ์ที่ 75/2567 เรื่อง ให้ข้าราชการช่วยราชการ โดยสาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ ให้ นายเกษม ศัลยวุฒิ ตำแหน่งนักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ปฏิบัติหน้าที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ มาช่วยราชการกองทัณฑวิทยา ให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการควบคุมผู้ต้องขัง นับตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567
สำหรับคำสั่งนี้ คนในแวดวงรู้ทันทีว่า การโยกย้าย “นายเกษม” มาทำงานในตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการควบคุมผู้ต้องขัง ก็เพื่อสานต่อภารกิจ “จำคุกนอกเรือนจำ” นั่นเอง โดยแม้ว่าอาจจะดำเนินการให้ นช.ทักษิณไม่ทัน แต่การจัดกำลังใหม่ครั้งนี้น่าจะเป็นการเตรียมการสำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมา โดยค่อยๆ ดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนไม่ให้กระโตกกระตาก เมื่อสำเร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาก็ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวเหมือนพี่ชาย
“ผมฝากไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ สุภาพสตรีทั้งสามท่าน และคุณเกษม หมู่ข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมือง ที่ร่วมขบวนการ โกงการติดคุกให้ทักษิณ และกำลังวางแผนไปเผื่อถึงน้องสาว ยิ่งลักษณ์ อีกครั้งว่า อย่าทำเรื่องโง่ ๆ
“คุณอย่าคิดว่าสิ่งที่พวกคุณทำอยู่คนอื่น หรือ ประชาชนเขารู้ไม่ทัน เพราะทุกวันนี้ที่คุณกลับเข้ามาเมืองไทยอีกครั้งได้ก็เพราะเงื่อนไขพิเศษ คนทั่วไปเขาไม่ได้รักคุณ หรือลืมสิ่งที่คุณทำไว้หรอก แต่เพราะมันมีเงื่อนไขพิเศษ ที่สำคัญคือ คุณกำลังเปลี่ยนให้เงื่อนไขพิเศษดังกล่าวหมดไป และกำลังจะกลายเป็นเชือกที่มัดคอพวกคุณเอาไว้ แบบดิ้นไม่หลุด” นายสนธิกล่าว