xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก “Sky Doctor” หน่วยกู้ชีพเหินฟ้า ขนย้ายผู้ป่วยวิกฤตด้วยอากาศยาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยวิกฤตในพื้นที่ห่างไกล ผู้ป่วยติดอยู่กลางทะเล เกาะ ป่าเขา พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม หรือในถิ่นทุรกันดาร เคยเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย ที่จะต้องมีกระบวนการทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ไปถึงโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาให้ได้

การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยาน หรือ Thai Sky Doctor ซึ่งเป็นการส่งเฮลิคอปเตอร์หรือเครื่องบินเข้าไปรับผู้ป่วยวิกฤติจากพื้นที่ที่เข้าถึงยาก หรือพื้นที่ภัยพิบัติเพื่อนำไปส่งโรงพยาบาล เริ่มถูกนำมาใช้งานเมื่อปี 2552 หรือ 1 ปีหลังจากที่มี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คำว่า “การแพทย์ฉุกเฉิน” สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้จริง

“ช่วงแรก เราต้องทำ MOU กับหน่วยงานที่มีอากาศยาน และต้องเปิดการฝึกงานด้านเวชศาสตร์การบินให้กับหน่วยแพทย์ซึ่งมีสถานะเป็นพลเรือนครับ โดยในช่วงนั้น เรายังเน้นไปแค่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างที่ จ.แม่ฮ่องสอน”

การันต์ ศรีวัฒนบูรพา
การันต์ ศรีวัฒนบูรพา ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. เล่าถึงสถานการณ์ในช่วงเริ่มของโครงการ Sky Doctor ซึ่ง สพฉ. ต้องเข้าไปทำ MOU กับทั้ง 4 เหล่าทัพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอากาศยาน เพื่อที่จะให้นำอากาศยานมาบืนรับส่งผู้ป่วยได้ โดยมี สพฉ. เป็นหน่วยที่จะออกค่าใช้จ่ายเองผ่าน "กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน" ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งขึ้นมา โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการบินอยู่ที่ 40,000 บาท ต่อการขึ้นบิน 1 ชั่วโมง ต่อเครื่องบิน 1 ลำ แต่ก็มีความจำเป็นต้องให้องค์ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมเพื่อให้ปฏิบัติงานได้จริง

“เรามีเครื่องบินแล้ว ก็มาคุยกันต่อว่า แล้วคนที่จะขึ้นไปอยู่บนเครื่องในระหว่างขนย้ายผู้ป่วยได้จะต้องมีความสามารถอะไรบ้าง เพราะเวลาขึ้นไปบนฟ้ามันอาจจะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อผู้ป่วย เช่น ความกดอากาศที่เปลี่ยนไปจากลมที่เข้ามา หรือภาวะที่มีออกซิเจนน้อยลง เราก็เลยไปทำความร่วมมือเพิ่มกับสถาบันเวชศาสตร์การบิน เพื่อขอให้เขาเปิดสอนกับพลเรือน และเราก็ส่งทีมแพทย์ พยาบาล เข้าไปเรียนการทำงานบนเครื่องบิน รวมไปถึงการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตและการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเมื่ออยู่บนเครื่องบิน”

“ช่วงแรกเราทำงานเป็นหลักที่ จ.แม่ฮ่องสอนครับ เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลจากโรงพยาบาล ที่มีศักยภาพในด้านเครื่องมือแพทย์และการผ่าตัด จนมาถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก็เป็นจุดที่ Sky Doctor เริ่มมีบทบาทสำคัญขึ้นมาก เพราะเราใช้ในการอพยพผู้ป่วยจากจุดน้ำท่วมใหญ่ที่รถพยาบาลเข้าถึงไม่ได้เลย อย่างที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือที่ จ.นครสวรรค์ มาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง”
ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. เล่าถึงพัฒนาการของการใช้ Sky Doctor ในประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบเมื่อประมาณ 12 ปีก่อน


การฝึกตามหลักสูตร BHEMS หรือ Basic Helicopter EMS คือรูปแบบการทำงานในปัจจุบันของทีม Sky Doctor ซึ่ง การันต์ บอกว่า เป็นการพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงผู้ป่วยได้เร็วที่สุด

“ตามหลักการแล้ว เรามีภารกิจหลายระดับ ตั้งแต่ Primary Mission คือ รับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุไปส่งที่โรงพยาบาล , Secondary Mission คือ การย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลหนึ่งไปทำการรักษายังโรงพยาบาลที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ แต่อยู่ไกลกันมาก หรือหากผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือเพียงพอดีแล้วแต่ไม่มีแพทย์ผ่าตัด ก็สามารถทำภารกิจนำแพทย์มาส่งให้ได้ รวมทั้งในในการนำอวัยวะมาให้ผู้ป่วยที่ต้องปลูกถ่ายอวัยวะได้”

“เมื่อก่อนตอนที่เริ่มโครงการใหม่ๆ ก็ต้องยอมรับว่า กว่าจะมีการตัดสินใจให้นำเฮลิคอปเตอร์บินออกไปรับผู้ป่วยเคสหนึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง หรือบางเคสใช้เวลานานนับวัน แต่พอเราทำไประยะหนึ่ง เราก็มีช่องทางสื่อสารกันในกลุ่มนักบิน มีเครือข่ายที่เข้มแข็งขึ้น หน่วยงานรัฐก็ให้ความสำคัญมากขึ้นในการติดตั้งให้เป็น Ambulance Helicopter เลย โดยเฉพาะการฝึกในหลักสูตร BHEMS ทำให้เราทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น เช่นในการฝึก เราสามารถนำเฮลิคอปเตอร์ลงไปจอดถึงที่เกิดเหตุบนทางด่วน เพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุได้เลย”


ปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ถือว่ามีพัฒนาการที่สำคัญของ Sky Doctor เมื่อประเทศไทย มีนโยบาย Quick Win 13 ข้อ โดยมีข้อสุดท้าย คือ นโยบายท่องเที่ยวปลอดภัย ทำให้กระทรวงสาธารณสุข นำเสนอเป็น โครงการ 1 เขตสุขภาพ 1 Sky Doctor ซึ่งทำให้มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีหน่วย Sky Doctor ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

“ก่อนจะมีนโยบายนี้ เราก็ยังเน้นการวางจุดที่มี Sky Doctor ไปที่จุดเสี่ยง เช่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงผจญภัยต่างๆ อย่าง 2 เขตสุขภาพในพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่ภาคตะวันตก หรือพื้นที่ในทะเลอย่าง เกาะสมุย เกาะพงัน หรือเกาะต่างๆในทะเลอันดามัน แต่พอทำโครงการนี้ ก็ทำให้เรามี Sky Doctor รองรับครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศแล้ว เช่นในสัปดาห์ที่แล้ว (กลางเดือนมกราคม 2567) เราก็เพิ่งย้ายผู้ป่วยชาว จ.ยะลา ออกจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ไปส่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งถือเป็นระยะทางที่ไกลเกินกว่าจะใช้เฮลิคอปเตอร์ จึงใช้เครื่องบินและทีมลำเลียงผู้ป่วยที่มีศักยภาพมาจากโรงพยาบาลกรุงเทพ โดย สพฉ.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ซึ่งทีมขนย้ายจะคิดเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำมัน และค่าแรงของเจ้าหน้าที่เท่านั้น”

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาที่จะใช้การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยานหรือไม่ ผู้ช่วยโฆษก สพฉ. เปิดเผยว่า หากมีเหตุการณ์ที่จะต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุไปโรงพยาบาล ผู้แจ้งเหตุจะต้องโทรมาแจ้ง 1669 อยู่แล้ว ทำให้ทาง สพฉ.จะเป็นผู้ประเมินเองว่ามีเหมาะสมที่จะต้องเคลื่อนย้ายทางอากาศหรือไม่ 

ส่วนการเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลเล็กๆ ไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ก็จะมีแพทย์เจ้าของไข้จากทั้ง 2 ฝั่ง เป็นผู้ประเมินอยู่แล้วว่าจะร้องขอการเคลื่อนย้ายด้วยอากาศยานหรือไม่ 

ดังนั้น การจะใช้อากาศยานในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เจ้าของไข้
































กำลังโหลดความคิดเห็น