โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถมต้อนรับคณะอาจารย์และนักเรียน 28 ชีวิตจากโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ในโครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister School) มุ่งหวังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษา ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม และสร้างสัมพันธไมตรีอันดีงามของเยาวชนทั้งสองประเทศ
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ อาจารย์ศรียา เนตรน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับคณะอาจารย์และนักเรียน โรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (เป่ยต้าฟูเสียว) จากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 28 คน เดินทางมาร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในโครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister School) ระหว่างโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ปีการศึกษา 2566 รุ่นที่ 1 ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-28 ม.ค. 2567 โดยมีคณะนักเรียนในโครงการฯ และอาจารย์ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมกันนี้ยังได้มีการมอบของที่ระลึกและกล่าวขอบคุณระหว่างกัน และการแสดงนาฏศิลป์ไทย "รำต้นวรเชษฐ์" ฝึกซ้อมการแสดงโดย ผศ.สุกัญญา ทรัพย์ประเสริฐ เป็นที่ประทับใจแก่คณะนักเรียนและอาจารย์จากประเทศจีน
สำหรับโครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister School) ระหว่างโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ปีการศึกษา 2566 รุ่นที่ 1 เกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านภาษา ชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม เปิดโลกทัศน์และมุมมองต่างๆ ในระดับสากล และเป็นตัวแทนของโรงเรียนที่สร้างสัมพันธไมตรีอันดีงามของทั้งสองประเทศ โดยโครงการระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 23-28 ต.ค. 2566 ผู้บริหารและอาจารย์จำนวน 4 คน และคณะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 24 คน เดินทางไปเยือนโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
กระทั่งการดำเนินโครงการระยะที่ 2 อาจารย์และนักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง จำนวน 28 คน เดินทางมาเยือนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ดังกล่าว ซึ่งทางโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม คาดหวังว่าคณะผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียน และผู้ปกครอง จะได้รับความร่วมมืออันดีระหว่างทั้งสองโรงเรียน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ สัมพันธไมตรีอันดีงามของทั้งสองประเทศผ่านความร่วมมือทางด้านการศึกษา ที่จะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์เรียนรู้สู่โลกกว้าง และนำประสบการณ์ที่ได้รับมาพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้าสู่ระดับสากลในอนาคต
สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีภูมิศาสตร์ของทั้งสองประเทศอยู่ใกล้ชิดกัน มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่คล้ายคลึงกัน มีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอมาอย่างช้านาน นับแต่อดีตมีคนจีนอพยพหลั่งไหลเข้ามาอยู่เมืองไทยจากรุ่นสู่รุ่น กลายเป็นพลเมืองไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข สะท้อนได้จากวาทกรรมที่ทุกคนคุ้นเคยว่า "จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนแล้ว ในระดับผู้นำและบุคคลสำคัญของประเทศ เมื่อครั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระนามในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ค. 2524 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจนครบทุกมณฑลในปี พ.ศ. 2547 เป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง พระองค์ทรงมีความมุ่งมั่นในการศึกษาภาษาจีนและค้นคว้าวิจัยทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง ทรงเคยตรัสว่า "ภาษาจีนนั้นสามารถนำคนเข้าสู่อาณาจักรแห่งความรู้อันอุดมไพศาลแหล่งหนึ่งของโลกได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งศึกษายิ่งตระหนักในขอบเขตอันกว้างขวางลุ่มลึกนั้น"
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน กระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายรางวัล "มิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน" เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2543 และสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งประชาชนจีนได้ถวายพระสมัญญานามให้ทรงเป็น "ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน" เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2547 จากการที่ทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนมาอย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2552 ประชาชนชาวจีนมากกว่า 2 ล้านคนได้ลงคะแนนโหวตเทิดทูนพระองค์ให้ทรงเป็นหนึ่งในสิบ "มิตรที่ดีที่สุดในโลก" ของประชาชนชาวจีน
จากพระราชกรณีกิจที่ทรงคุณค่า ได้ทรงเป็นต้นแบบให้โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ได้เห็นถึงความสำคัญของมิตรภาพอันแน่นแฟ้นของประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งด้วยความเจริญก้าวหน้าของจีนอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่โรงเรียนฯ ต้องเรียนรู้และศึกษา ไม่ว่าทั้งทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทางด้านเทคโนโลยี ภาษาและศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษาที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเสริมสร้างเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน เพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศชาติ
สำหรับโครงการดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นเมื่อปีการศึกษา 2561 ผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้มาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2561 โดยผู้บริหารทั้งสองโรงเรียนได้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยร่วมกัน จากนั้นโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้เชิญคณะผู้บริหารอาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ประกอบด้วย ผศ.ทินกร บัวพูล ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ พร้อมด้วยอาจารย์พรรณงาม ใจรักษ์ศักดิ์ ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการศึกษา ผศ.กนิษฐา พวงไพบูลย์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการศึกษา และอาจารย์เจี๋ย หลิว (Liu Jie) อาจารย์ผู้สอนภาษาจีน ในปีการศึกษานั้น ไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างทั้งสองโรงเรียน จึงได้คิดริเริ่มจัดทำโครงการมิตรภาพสัมพันธ์นักเรียนประถมศึกษา ไทย-จีน เพื่อให้อาจารย์และนักเรียนของทั้งสองโรงเรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ศึกษาภาษา ศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงในด้านความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษาที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้นไป
จากนั้น ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จึงได้ดำเนินโครงการมิตรภาพสัมพันธ์นักเรียนประถมศึกษา ไทย-จีน โดยระยะที่ 1 ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ย. 2562 คณะผู้บริหาร อาจารย์ และนักเรียนจากโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างอาจารย์ นักเรียนของโรงเรียนทั้งสองแห่ง เพื่อให้อาจารย์และนักเรียนได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ทางด้านภาษา ชีวิตความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการศึกษา รวมถึงจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่ พร้อมทั้งจัดให้นักเรียนจีนได้เข้าพักอาศัยร่วมกับครอบครัวของนักเรียนไทย (Host Family) เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับนักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้การใช้ชีวิต การแก้ปัญหา การอยู่ร่วมกันและการให้ความร่วมมือที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นการสร้างพื้นฐานที่ดีทางด้านทักษะชีวิตทั้งต่อตนเองและสังคม
แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ทำให้การดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ไม่สามารถดำเนินต่อเนื่องได้ จึงทำให้นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม ไม่สามารถเดินทางไปแลกเปลี่ยนตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ กระทั่งเห็นว่าปีการศึกษา 2566 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลาย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จึงได้มีการสานต่อการดำเนินโครงการดังกล่าวขึ้นอีกครั้ง ซึ่งดำเนินโครงการโดยฝ่ายวิรัชกิจและการพิเศษ โดยใช้ชื่อว่า โครงการโรงเรียนพี่น้อง (Sister School) ระหว่างโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม และโรงเรียนประถมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (รุ่นที่ 1) ดังกล่าว