ทำความรู้จัก “แร่ลิเทียม” หลังรัฐบาลไทยประกาศเจอมากเป็นอันดับ 3 ของโลก เตรียมดันเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า สุดท้ายดับฝันเพราะข้อมูลคลาดเคลื่อน
จากกรณี นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ไทยพบ 2 แหล่งแร่ลิเธียม ที่มีศักยภาพ คือ แหล่งเรืองเกียรติ และ แหล่งบางอีตุ้ม พร้อมแหล่งแร่โซเดียมมากมายในภาคอีสาน ทั้ง 2 ชนิดเป็นแร่หลักในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า 100% เดินหน้าตามเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางและฐานการผลิตแบตเตอร์รี่ EV ในภูมิภาค พร้อมคุยโวมีมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
ล่าสุด วันนี้ (20 ม.ค.) รองโฆษกรัฐบาล ชี้แจงกรณีการนำเสนอการค้นพบพบแหล่งแร่ลิเธียมในไทย ที่เปรียบเทียบว่ามีปริมาณมากเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น เพราะอยากให้เป็นข่าวดี กับการมีแหล่งวัตถุดิบสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะมีปริมาณแร่ลิเธียม เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
สำหรับ “แร่ลิเทียม” คือธาตุที่ 3 ที่ถูกค้นพบต่อจากไฮโดรเจน และฮีเลียม มีสัญลักษณ์ Li และเลขอะตอม 3 ในตารางธาตุ อยู่ในกลุ่มโลหะอัลคาไล (Alkali) ซึ่งเป็นกลุ่มธาตุที่ว่องไวในการทำปฏิกิริยามาก ติดไฟเองในอากาศ ทำปฏิกิริยารุนแรงกับน้ำได้ ลิเทียมบริสุทธิ์ เป็นโลหะที่อ่อนนุ่ม และมีสีขาวเงิน ถูกออกซิไดซ์ (Oxidize) เร็วในอากาศและน้ำ ลิเทียมเป็นธาตุของแข็งที่เบาที่สุด และใช้มากในโลหะผสมสำหรับการนำความร้อนในแบตเตอรี่ไฟฟ้าและถ่านไฟฉายรวมถึงเป็นส่วนผสมในยาบางชนิดที่เรียกว่า “mood stabilizer” ด้วย
ลักษณะพื้นฐานของแร่ลิเทียม
ลิเทียมเป็นโลหะที่เบาที่สุดในบรรดาโลหะทั้งหมด และมีความหนาแน่นเพียงครึ่งเท่าของน้ำ และยังมีคุณสมบัติของโลหะแอลคาไลน์เอิร์ธ (Alkaline Earth) ด้วย
ลิเทียมเป็นโลหะสีเงิน อ่อนนิ่มมาก สามารถตัดด้วยมีดที่คมได้ มีคุณสมบัติอย่างโลหะอัลคาไลทั้งหมด นั่นคือ มีวาเลนซ์อิเล็กตรอนเพียงตัวเดียว และสามารถสูญเสียอิเล็กตรอนตัวนี้ไปเป็นไอออนบวก ทำให้มีอิเล็กตรอนในระดับชั้นพลังงานที่ไม่ครบถ้วน ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ทำให้ลิเทียมทำปฏิกิริยาในน้ำได้ง่าย และไม่ปรากฏโดยอิสระในธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ลิเทียมยังถือว่าทำปฏิกิริยายากกว่าโซเดียม ซึ่งมีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายกัน ลิเทียมที่อยู่ในรูปโลหะบริสุทธิ์จะติดไฟได้ง่ายและระเบิดได้ค่อนข้างง่าย หากสัมผัสกับอากาศ และโดยเฉพาะกับน้ำ ไฟจากลิเทียมนั้นดับได้ยาก ต้องอาศัยสารเคมีเฉพาะที่ผลิตมาสำหรับการดับไฟนี้โดยตรง
โลหะลิเทียมยังสึกกร่อนง่าย และต้องจับต้องอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนัง การเก็บรักษาควรเก็บไว้ในรูปของสารประกอบที่ไม่ทำปฏิกิริยา เช่น แนพธา (naphtha) หรือไฮโดรคาร์บอน
สารประกอบลิเทียมนั้นไม่มีบทบาทเชิงชีววิทยาในธรรมชาติ และถือว่าเป็นพิษพอสมควร เมื่อใช้เป็นยา จะต้องคอยตรวจสอบอย่างระมัดระวัง เพราะลิเทียมไอออน (Li+) จะทำให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น
ประโยชน์ของแร่ลิเทียม
ลิเทียมสามารถนำไปผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้ (Rechargeable Battery) ซึ่งแบตเตอรี่เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า และสมาร์ตโฟน (Smartphone) นอกจากนั้นลิเทียมยังถูกนำไปใช้ในการผลิตเซรามิกและแก้ว และการผลิตจารบี เป็นต้นและเนื่องจากลิเทียมมีความร้อนจำเพาะที่สูงมากที่สุดในบรรดาของแข็งใด ๆ ทำให้มีการใช้ลิเทียมในการถ่ายเทความร้อน นอกจากนี้ยังใช้เป็นโลหะขั้วแอโนด (Anode) ของแบตเตอรี่ ทั้งนี้เพราะศักย์ทางไฟฟ้าเคมีที่สูง ขณะเดียวกัน การที่มีน้ำหนักแห้งกว่าเซลล์มาตรฐานทั่วไป แบตเตอรีเหล่านี้จึงให้แรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่า (3 โวลต์ ขณะที่แบตเตอรีแบบอื่นให้แรงดัน 1.5 โวลต์)