xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิกระจกเงาแชร์ประสบการณ์ 5 ข้อ ความรุนแรงในชีวิต “ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน” ปม “ป้าบัวผัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มูลนิธิกระจกเงา” แชร์ประสบการณ์ 5 ข้อ
ความรุนแรงในชีวิต “ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน” ปม “ป้าบัวผัน” ชี้หากมีช่องทางพาเข้าสู่การรักษา
มีพื้นที่ให้ใช้ชีวิต เชื่อผู้ป่วยอาจรอดพ้นความรุนแรง


เมื่อวันที่ 16 ม.ค. แฟนเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิกระจกเงา โพสต์ข้อความระบุว่า “ความรุนแรงในชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน จากกรณีป้าบัวผัน”

5 ประสบการณ์จากการทำงานกับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนของโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

1. ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน มักเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง ตั้งแต่ถูกล้อเลียน ด่าว่า ทุบตี ล่วงละเมิดทางเพศ (ในกรณีเป็นผู้หญิง) ในบางรายเราพบการตั้งครรภ์ของผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน (และมีปัญหาในการเข้าสู่ระบบการดูแลของหน่วยงานภาครัฐ) และความรุนแรงนี้แทบไม่เป็นที่รับรู้และแก้ปัญหา

2. ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนนได้ประสานงานนำเข้าสู่การรักษานั้น ทุกรายจิตแพทย์มีการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคจิตเภท (Schizophrenia)” กล่าวคือ เป็นโรคที่ทำให้สมองผิดปกติ ทำให้เกิดเห็นภาพหลอน หูแว่ว มีความคิดหลงผิด ส่งผลให้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตผิดปกติ

3. ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน เมื่อใช้ชีวิตเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะและไม่ได้เข้าสู่การรักษาที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตนั้นพัง เช่น เก็บของเสียในถังขยะกิน นอนในที่รกร้าง ส่งผลให้คุณภาพของสมองเสียหายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ฟังก์ชันการใช้ชีวิตต่างๆผิดปกติได้ เช่น การคิด และการพูด เป็นต้น

4. ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนพบกับความรุนแรงในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านทัศนคติ เช่น ถูกมองว่าเป็นคนบ้าคนเพี้ยนคนมีโลกส่วนตัวแต่มักถูกละเลยมองเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งที่ควรได้รับการรักษา ด้านระบบสาธารณสุข เช่น การเข้าถึงการรักษาที่ยากลำบาก เพราะขาดกลไกที่เหมาะสมคล่องตัวพอ

5. ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนคือคนชายขอบที่สุด ชายขอบที่มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ที่สุด ชายขอบที่ไม่มีสติพอที่จะรู้ว่าคุณภาพชีวิตตัวเองย่ำแย่ ชายขอบที่เมื่อไม่รู้ปัญหาของตัวเองก็ไม่พาตัวเองไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ และที่สำคัญคือ ถูกทิ้งจากรัฐที่หันหลังให้ ปล่อยให้ผู้ป่วยก้าวตกขอบเหวลงไปเอง

ในกรณีป้าบัวผัน ลองจินตนาการดู ถ้ามีช่องทางเข้าสู่การรักษาโรคจิตเภทหลากช่องทาง มีกลไกดูแลผู้ป่วยหลังรักษาแล้วอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่การใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของผู้ป่วย เช่น เรื่องงาน ที่อยู่อาศัย ผู้ป่วยอย่างป้าบัวผันคงพ้นจากความรุนแรงที่ต้องพบแบบนี้ได้ ใช่หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น