xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิสัยทัศน์ ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ หนึ่งในแคนดิเดตอธิการบดี จุฬาฯ ผู้ต้องการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนให้ประเทศดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การสรรหาอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนใหม่ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567 นี้นั้น ถือได้ว่านอกจากจะเป็นการคัดเลือกกันภายในประชาคมจุฬาฯ กันตามปกติแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นบุคคลที่จะกำหนดทิศทางทุกด้านของหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศแห่งนี้ ว่าจะไปในทิศทางไหนอย่างไรต่อไปในวาระใหม่ในช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ ดร. พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งแคนดิเดตในการสรรหาดังกล่าว ก็นับได้ว่าเป็นอีกบุคคลที่พร้อมด้วยศักยภาพอีกท่านหนึ่ง ซึ่งด้วยประสบการณ์จากการบริหารงานคณะที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จแล้ว ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งบยยุคคลที่พร้อมเสนอตัวมาเป็นว่าที่ผู้บริหารของรั้วจามจุรีที่อยากจะกำหนดทิศทางที่ดีทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และขอเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองให้กับประเทศไทยไปในคราวเดียวกัน หากได้รับการสรรหาครั่งดังกล่าวนี้ด้วย

ทำไมอาจารย์ถึงได้ตัดสินใจมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นอธิการบดีของจุฬาฯ ครับ

ต้องเล่าให้ฟังว่า เวลาที่เราทำงานในคณะมันก็จะเห็นภาพหนึ่ง แล้วเราก็รู้สึกว่ามันจะมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราก็คิดว่า เราน่าจะสามารถที่จะแก้ปัญหานั้นได้ คือเราจะมองเห็นภาพ ว่าเราอาจจะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะแก้ปัญหาได้ อย่างกรณีเรื่องคะแนน PISA ที่มันเกิดกรณีคะแนนต่ำ แล้วในฐานะที่เป็นคณบดีของคณะ เราทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าอยู่ในบทบาทอธิการบดีเราก็จะสามารถทำให้ตรงนี้มันปรับเปลี่ยนได้ เราอาจจะไปคุยกับคณะต่างๆแล้วดึงส่วนอื่นๆมาพัฒนา คือต้องเรียกว่าเป็นความหวังดีกับทางจุฬาฯ และประเทศ ที่รู้สึกว่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้ประเทศมันดีขึ้นได้ ซึ่งจากเดิมที่เป็นคณบดีของคณะ เราอาจจะดูได้แค่เรื่องระบบสุขภาพช่องปาก ซึ่งโดยส่วนตัวเราเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะทำได้ ซึ่งโดยคณะของผมเองนั้น ถือว่าก้าวกระโดดพอสมควร คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ก่อตั้งมา 84 ปี ณ ปัจจุบันนี้ เราได้ Top 70 ของ โรงเรียนทันตแพทย์ของโลก จากการจัดอันดับในปี 2023 ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้สถาบันของเราเทียบเท่าในระดับนานาชาติ ซึ่งจากเดิมอยู่ในอันดับ 100 กว่าๆ ในก่อนหน้านี้ นั่นคือข้อแรก

อันที่ 2 เราได้ HA ขั้นที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นโรงพยาบาลทันตกรรมแห่งแรกของประเทศไทย เราได้ EdPEx 200 ในแง่หลักสูตรเราได้ AUN-QA และผลงานวิจัยของทางคณะเราก็ถือว่าเป็นในทางที่ดีขึ้น แล้วในช่วงที่ผมบริหารคณะจากเดิมมีอยู่ประมาณแค่ 100 เรื่องตอนนี้ขึ้นมามันเป็น 200 เรื่อง ซึ่งถือว่าขึ้นมาประมาณ 200 เปอร์เซ็นต์ จากการพัฒนางานของเราเอง เรารู้ว่าอาจารย์เรา และงบประมาณที่ได้รับมาแต่ละปีมีอยู่แค่นี้ แต่ก็สามารถพัฒนาในด้านต่างๆได้ ฉะนั้นผมก็เลยคิดว่า เราก็มีผลงานกับทางคณะอยู่พอสมควร


แสดงว่าจากที่อาจารย์ว่ามาเมื่อกี้ ในเรื่องของคะแนน PISA ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจของอาจารย์เอง

ใช่ครับ เพราะเรารู้สึกว่า เราจะสามารถมีศักยภาพที่จะเชื่อมโยง การขับเคลื่อนต่างๆ แล้วก็ไปแก้ปัญหาได้ คือทางจุฬาฯ ต้องมีบทบาทต่อสังคม แล้วจุฬาฯ เป็นเสาหลักของสังคมมาตลอด แล้วเราจะทำยังไงให้เราแสดงศักยภาพ ว่าเชื่อมโยงส่วนต่างๆและเป็นแกนหลักในการทำ อย่างกรณีคะแนน PISA ก็เรื่องหนึ่ง เรื่องบทบาทและเรื่องนวัตกรรมก็เป็นอีกเรื่องที่เราคิดว่าน่าจะทำได้

อีกอย่างโดยส่วนตัวเราก็มีการเรียนหลักสูตรต่างๆ เยอะ ซึ่งเราจะใช้เครือข่ายจากการไปเรียนหลักสูตรต่างๆนี้ แล้วเราก็จะใช้ความรู้จากการศึกษาทิศทางของผู้บริหารเหล่านี้ว่าเขาทำกันยังไง บริหารงานกันยังไงแล้วเราก็จะทำให้เกิดการพัฒนาขับเคลื่อนได้ เราเลยเห็นภาพกว้างอยู่พอสมควร


แล้วจากประสบการณ์ในการเป็นคณบดีของทางคณะที่ผ่านมา โดยส่วนตัวของ อ. ถือว่ามีความท้าทายในครั้งนี้ด้วยมั้ยครับ

ก็คือเราเริ่มมองเห็นภาพแล้วว่า อย่างคนทำงานมันก็ต้องมีเรื่อง passion ซึ่งเราทำงานในคณะก็มีส่วนดังกล่าวอยู่ เราก็มีความรู้สึกว่าเกิดความรักทั้งจุฬาฯ และประเทศ เรารู้สึกว่าอยากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมันได้ แล้วพอมาเห็นภาพคณะ เราก็มีความรู้สึกว่าถ้าเราได้เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย เราก็น่าจะทำได้ดีกว่านี้ อารมณ์เหมือนประมาณเหมือนนักมวย ที่เวลามองคนอื่นต่อยก็มีความรู้สึกว่าทำไมถึงไม่ต่อยแบบนี้ๆ นะ เราก็เลยมีความรู้สึกอย่างที่ว่ามาดังกล่าว ซึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะตอบสนองในความตั้งใจเราตรงนี้

คือต้องบอกก่อนว่า จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำนะ แล้วสิ่งที่ผมอยากจะเข้าไปทำ แล้วมหาวิทยาลัยก็มุ่งสู่นวัตกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว แล้วสิ่งที่ผมคิดว่าจุฬาฯ น่าจะทำได้ดีกว่านี้ก็คือ ไปพัฒนาศักยภาพของคน ซึ่งธีมของผมก็คือ People First Innovation Next เราบอกว่าถ้าคนมีศักยภาพที่ดี จุฬาฯ จะดีได้กว่านี้ เพราะเราทำให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะดีแต่ถ้าคนเรามีศักยภาพดีกว่านี้ การพัฒนาก็มีการพัฒนาหลายส่วน เราบอกว่าจุฬาฯ ก็เป็นองค์กรของรัฐระดับหนึ่ง เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ถ้าบุคลากรในสังกัดได้ถูกพัฒนาตามสหวิชาชีพ มีการเพิ่มทักษะ อาจารย์ก็มีศักยภาพในเรื่องการเรียนการสอน ทำให้อาจารย์เขาเข้าใจและทำให้นิสิตมีผลผลิตที่ดี และอันหนึ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมคือ Live Long Learning Center คือเราทำอยู่แล้ว คือเราบอกว่าการศึกษาต้องไร้พรมแดนแน่ แต่เราจะทำอันนี้เป็นเสาหลักของประเทศ ทำให้มันบูมขึ้นมา ทำให้จุฬาฯ มีศักยภาพ ต้องบอกว่าจุฬาฯ ดีกว่ามหาวิทยาลัยอื่นตรงที่ในแง่เรื่องของเครื่องมือต่างๆ ซึ่งเราจะเอาเครื่องมือตรงนี้มาตอบสนองสิ่งที่ว่ามา แล้วเอามาพัฒนาทั้งอาจารย์ บุคลากร นิสิต คนรอบข้างและสังคมไทย แล้วผมมองภาพอย่างนี้ว่าาเราจะไม่ได้พัฒนาแค่สังคมไทยอย่างเดียวนะ เราจะพัฒนาแบบ Global ซึ่งเวลาที่เราเล่นสังคมออนไลน์มันก็จะขึ้นตามที่เราคิด เราจะเป็นผู้นำอย่างนั้นแล้ว เราเชื่อว่าอาจารย์ของเรามีศักยภาพ กล่าวโดยสรุปคือจะทำการศึกษาไร้พรมแดน และพัฒนาบุคลากร

อีกส่วนหนึ่งสำหรับนิสิตก็คือ นโยบาย Global Citizen ซึ่งไม่ได้ผลิตเพื่อประเทศไทยอย่างเดียว ถ้าเราดูเด็กสมัยนี้ ว่ามีการเคลื่อนย้ายแรงงานตามปกติ เวลาทำงานบริษัทต่างชาติก็มีการเคลื่อนย้ายไป ซึ่งคนเรามีศักยภาพแล้วทำไมจะต้องบีบให้เขาอยู่แค่ในประเทศ เราก็จะผลิตเขาตาม Global citizen ครับ


แล้วในฐานะที่เป็นคณบดีของคณะในตอนนี้ คิดว่าในการบริหารงานในปัจจุบัน มันค่อนข้างแตกต่างจากช่วงอดีตที่ผ่านมายังไงบ้าง

ในช่วงที่ผมขึ้นมาเป็นคณบดี ผมมองว่า ค่านิยมของมหาวิทยาลัยคือ Research University Teach คือเน้นงานวิจัยแล้วผมก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบว่าเราไม่เน้นปริมาณ เราเน้นคุณภาพ ผมมองว่างานวิจัยที่มีคุณภาพจะตอบไปสู่นวัตกรรม ตราบใดที่ประเทศไทยบอกว่าจะก้าวข้ากับดักจาก 3.0 มาเป็น 4.0 เปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้สูงต้องมีนวัตกรรมมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นเราต้องทำงานวิจัยให้มีคุณภาพก่อน อาจารย์เรามีศักยภาพ ฉะนั้นเน้นเรื่องวิจัยที่มีคุณภาพ แล้วผลสุดท้ายในสมัยหน้า คณะของเราจะมุ่งเน้นไปสู่นวัตกรรมอย่างจริงจัง ซึ่งในปัจจุบันก็มีแล้วแต่ก็ยังไม่ได้มากอย่างเห็นได้ชัด

หรืออย่างเรื่องการเรียนการสอน เราก็ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น แล้วก็มีการรับรองจากต่างชาติ เราก็มีความใกล้ชิดกับเด็กจนจะบอกว่าในกลุ่มคณะทันตแพทยศาสตร์เรามี Student engagement program เด็กสามารถจะสื่อสารกับผู้บริหาร หรืออาจารย์ต่างๆ ทำให้เด็กไม่มีความเครียด เราตอบสนองกับการแก้ปัญหาเขาได้อย่างชัดเจน

อย่างเรื่องการบริหารงานบุคคล ซึ่งในเรื่องนี้เรารู้ว่ามันก็มีความสำคัญ ก็มีการพัฒนาตั้งแต่ในฝ่ายนี้ สร้างแผนพัฒนาบุคลากร ทั้งสายปฏิบัติการ และสายวิชาการ มีการบอกว่าอาจารย์ในคณะต้องไปเรียนต่อด้านการเรียนการสอน เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าอาจารย์มีความรู้ความเข้าใจในการเรียนการสอน เทคนิคในการสอนใหม่ๆ ก็จะทำให้เด็กไม่มีความเครียด การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องนิสิต ผมก็เน้นให้พวกเขาออกไปสู่โลกภายนอกซึ่งเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะปีการศึกษาล่าสุดเราให้ทุนการศึกษาไปดูงานต่างประเทศ คนละ 30,000 บาท แล้วนิสิตที่ไปก็คืออยู่ในชั้นปีที่ 5 และ 6 ผมมองว่าเขาต้องไปเรียนรู้ภายนอก ส่งออกไปอารมณ์ประมาณทูตสันตวไมตรีของเรา กลุ่มทีมบริหารยังจำกัดว่าไปได้ไม่กี่ประเทศ แต่เราจะส่งนิสิตไปในแบบ student Exchange แล้วเขาจะได้เรียนรู้และเกิดไอเดีย และเขาก็จะกลับมาทั้งพัฒนาตัวเองและคณะ ให้ไอเดียว่าสิ่งที่เราทำทำยังไง ซึ่งผมก็ไม่เสียใจนะถ้าเกิดเขาไปแล้วไม่ได้กลับมาที่คณะ แต่อย่างน้อยก็ได้ให้เขาได้ไปเปิดหูเปิดตา ให้เขาไปใช้ความรู้ที่ได้มาไปพัฒนาตัวเองในอนาคต อันนี้เป็นทุนที่สำคัญ ซึ่งก็จากที่ว่ามาก็ค่อนข้างที่จะครอบคลุมเกือบทุกส่วน


อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าถึงนโยบายต่อการเลือกตั้งครั้งนี้มาพอสังเขปครับ

นโยบายก็คือจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาคนก่อน พอคนมีประสิทธิภาพก็จะไปสู่การเกิดนวัตกรรม ถ้าในแง่ของความเป็นอาจารย์ เราก็มีในเรื่องของ faculty development program พัฒนาอาจารย์ครับ ผมมองว่าอยากให้ภาพของอาจารย์จุฬาฯ มาเน้นเรื่องการเรียนการสอน เรามีการเน้นในเรื่องนวัตกรรมมากเกินไปจนไม่ได้ย้อนมาดูการเรียนการสอนของเรา ผมอยากมองว่าการเรียนการสอนของจุฬาฯ มีประสิทธิภาพดีที่สุดในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ถือว่าดีอยู่แล้วอยู่ในสถานะผู้นำด้วย

ในเรื่องนักวิจัยจะมีทุนสนับสนุนเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อให้เขาสามารถมีเครื่องมือในการทำวิจัย แล้วเขาจะได้มีการผลิตงานวิจัยที่ดีขึ้น พอทำสิ่งเหล่านี้ได้ตามเป้าและมีเวลาและผู้ช่วยสนับสนุนมากขึ้น เขาก็จะได้มีเวลาไปทำในเรื่องของการเรียนการสอน อย่างเรื่องงานนวัตกรรมจะมีการทำ Business Unit ใหม่ขึ้นมา สมมุติว่าอาจารย์ทำแนวคิดนวัตกรรมเสร็จ แล้วจะให้อาจารย์มานั่งคิดแผน ผมคิดว่าอาจารย์ส่วนใหญ่จะจบแค่นั้น แค่ขั้นสิทธิบัตรและไม่ได้ทำต่อ ฉะนั้นเราจะสร้างหน่วยตรงนี้ขึ้นมา ทำงานร่วมกับเอกชน เข้ามาช่วยในเรื่องการวางแผนต่อ และทำการเชิงลบกับบริษัทเอกชน สมมุติว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งแล้วคิดว่าเราจะต่อยอดยังไง แล้วหน่วยงานนี้จะสร้างขึ้นมา ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีข้อบังคับของทางจุฬาฯ ที่สามารถเอื้อประโยชน์ในตรงนี้ได้

ส่วนเรื่องนิสิตก็จะเป็นเรื่อง Global citizen อย่างที่บอก หลักสูตรก็จะเป็น individualized Learning นิสิตจะสามารถเลือกเรียนต่างๆได้ และปรับหลักสูตรที่เหมาะสมเช่น ถ้าเขาเรียนจบออกไปแล้วอยากจะไปทำ startup เราก็จะมีหลักสูตรต่างๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเรามองในแง่ของประชาชน ก็จะบอกว่าเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาแบบไร้พรมแดน โดยใช้ตรงนี้ในการขับเคลื่อน จากที่เรียนว่ามีการขับเคลื่อนทั้งด้านอาจารย์ บุคลากร ตัวนิสิต และประชาชน ฉะนั้นเราก็จะมีความใกล้ชิดกับประชาชน เราจะมีแผนที่จะพัฒนาชุมชนรอบๆ เราจะทำการกลับไปพิจารณาว่า วิทยาเขตสระบุรีจะทำยังไง

แล้วในแง่สิ่งแวดล้อมเราก็จะทำแผน ESG อย่างจริงจัง หรือแผนอื่นๆ ซึ่งท่าทางจุฬาฯ จะทำแผนที่วางไว้ เชื่อว่าหน่วยงานต่างๆก็จะเข้ามาร่วมมือกัน

ในแง่ของการบริหารงานภายใน ต้องเรียนอย่างนี้ว่า ทางจุฬาฯ มีเครื่องมือที่เทียบเคียงกับเอกชนเข้ามาเพื่อบริหารงาน เราจะทำให้จุฬาฯ มีความทันสมัยขึ้น ถ้าดูคณะทันตะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีความพัฒนาอย่างเด่นชัด ไม่งั้นมันจะไม่เกิดผลงานที่เด่นชัด เลยต้องมีเครื่องมือพวกนั้น อีกทั้งยังมีและระบบประเมินให้ชัดเจน คนทำงานที่มีประสิทธิภาพ จะได้มีความสุขในการทำงาน


ก็คือจากนโยบายที่ว่ามา ถือว่าเข้าถึงยุคสมัยในปัจจุบันด้วย

ใช่ครับ คือผมมองว่าทางจุฬาฯ ต้องมีการปรับเปลี่ยนนะ เพราะเนื่องด้วยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แล้วมีผู้เรียนลดลง ถึงแม้ว่าปัจจุบันผู้เรียนจุฬาฯ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากในระดับสถาบันอุดมศึกษานะ แต่โดยส่วนตัวผมมองว่า จุฬาฯ ก็ต้องมีการเตรียมตัว ทางเราก็ต้องมีการพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมรับกับผู้สูงอายุด้วย เราต้องมีการเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆไม่ใช่มาตื่นตัวในช่วงท้ายๆ ซึ่งจะต้องมีทักษะต่างๆ เพื่อรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันทางจุฬาฯ ก็จะมุ่งเน้นในเรื่องหลังการรับปริญญาเหมือนกัน และจะมีงานวิจัยที่มีคุณภาพขึ้น


แล้วในเรื่องของกิจกรรมของนิสิตที่ถือว่าเป็นอีกจุดเด่นของจุฬาฯ ละครับ

ผมว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอาจจะน้อยลงไปนะ ซึ่งเราก็อาจจะมี engagement activity คือไล่ไปตั้งแต่บุคลากรด้วย ให้เน้นว่ามีกิจกรรมเยอะขึ้น และทางนิสิตก็จะมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับแต่ละคณะมากขึ้น ซึ่งเราก็อยากเห็นภาพในอดีตก่อนหน้านี้ที่เวลามาเรียนที่มหาวิทยาลัย ก็จะมีกิจกรรมตรงเสาธงที่แบบเต็มไปหมดเลย ซึ่งในปัจจุบันนี้มันแทบไม่มีอะไร แล้วผมก็อยากจะทำบรรยากาศตรงนี้ให้กลับมาอีกครั้งนะ ให้เกิดภาพว่านิสิตทำกิจกรรมตรงนี้แล้วมีความสนุกสนาน ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ผมมองว่าจะทำให้นิสิตเกิดความผูกพันกับทางจุฬาฯ ด้วยนะ ซึ่งถ้าเขามีความผูกพันกับทางมหาวิทยาลัย อย่างในกรณีการใส่เครื่องแบบ ช่วงที่ผมเรียนเราจะมีความภาคภูมิใจตรงนี้นะว่าได้ใส่พระเกี้ยว ซึ่งแตกต่างจากตอนนี้ที่เขาจะไม่มีความรู้สึกผูกพันตรงนี้ ซึ่งเราก็เข้าใจ เราก็จะสร้างความผูกพันตรงนี้ให้กับเขา เขาจะได้รู้สึกว่าการได้แต่งชุดนิสิตมันก็จะเกิดความภูมิใจให้กับเขาด้วย เวลาที่เขาได้มาเรียนที่นี่

อย่างลูกผมที่เรียนแพทย์จุฬาฯ ปี 2 ซึ่งในบางชั่วโมงเขาก็อนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทได้ ผมก็ถามลูกนะว่าไม่ใส่เหรอ เขาก็จะตอบกลับมาว่าไม่ใส่ เพราะเขาจะมานั่งคิดว่าวันนี้จะใส่อะไร ซึ่งจุฬาฯ เขายังไม่พร้อมที่จะปล่อยอิสระนะ เพราะมันมีในเรื่องของความเท่าเทียม อย่างที่ลูกผมบอก แล้วถ้าเป็นคนทั่วไป ถ้าเกิดปล่อยฟรีเขาก็ต้องมานั่งคิดอีกว่าจะใส่อะไรในแต่ละครั้งดีนะให้เท่าเทียมกับผู้คน ซึ่งถ้าเป็นประเด็นนี้ผมก็จะตอบว่าเครื่องแบบก็ยังมีความจำเป็นอยู่ ก็จะเปิดโอกาสรับฟังผู้คน ว่าเครื่องแบบก็ยังมีความจำเป็นอยู่ในบางสถานการณ์ครับ


อย่างปัญหาคลาสสิกที่คนทั่วไปเจอ ก็คือเรื่องที่ดินจุฬาฯ อยากให้อาจารย์อธิบายตรงนี้หน่อยครับ

ต้องเล่าอย่างนี้ครับว่า งบประมาณของทางจุฬาฯ สมมุติว่ามีประมาณ 15,000 ล้านบาท หมายถึงว่างบประมาณประจำปีนะ เราใช้ประมาณ 7,000 ล้านบาท แล้วงบประมาณ 1 ใน 3 นั้นมาจากงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งในตรงนี้ก็จะมีแค่เงินเดือนบุคลากรและจากโครงการต่างๆ

ส่วนที่ 2 ก็มาจากค่าเทอมซึ่งทางจุฬาฯ ก็ไม่ได้เก็บค่าเทอมเหมือนกับทางมหาวิทยาลัยเอกชนและส่วนสุดท้ายก็มาจากการจัดการทรัพย์สิน แล้วที่บอกว่าเรามีทรัพย์สินจนถึงขั้นรวยนั้น จริงๆแล้วมันก็เป็นแค่ 1 ใน 3 ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ คือต้องคิดว่ายิ่งจุฬาฯ เติบโตมากแค่ไหน ก็ยิ่งต้องการเงินมาพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ อีกทั้งต้องมีเงินเพื่อมาพัฒนางานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ซึ่งถ้าเราไม่ต้องการโต อาจจะใช้งบประมาณน้อยกว่านั้นก็ได้ แต่มันก็จะหยุดอยู่แค่นั้น คือต้องใช้คำว่าการดำเนินงานมันต้องใช้ขยายไปเรื่อยๆ แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก็เลยต้องมีการใช้เงินขึ้นมา ฉะนั้นทรัพย์สินของทางจุฬาฯ เราต้องเรียนว่า มันมีแค่ 1 ใน 3 มาช่วยเสริมเท่านั้นเอง

คือทางจุฬาฯ ก็มีหลายส่วนที่ไปทำงานให้กับสังคม และในเรื่องการเรียนการสอน ซึ่งถ้าเป็นทางมหาวิทยาลัยเอกชนก็ต้องขึ้นค่าเรียนเพื่อสนองกับการดำเนินงานในแต่ละครั้ง แต่ของเราก็เท่ากับว่าเงินค่าเทอมก็ต้องขึ้นไปอีก 3 เท่าเพราะค่าเทอมตอนนี้มันก็แค่ 1 ใน 3 ถามว่าทางเราทำอย่างนั้นได้ไหมก็ไม่ได้ เพราะเราบอกว่าเราก็ดูแลประชาชน พระราชปณิธานในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยก็บอกว่า ต้องการให้มีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีเงินสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดิน และมาจากเงินทรัพย์สินฯ เพื่อช่วยมาบริหารงาน


แน่นอนว่า การเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย อาจจะโดนไปเกี่ยวข้องทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในบางครั้ง ตรงนี้ จะสร้างความสมดุลตรงนี้ยังไงบ้างครับ

เราก็อยู่กับความถูกต้อง อยู่กับประชาชน เราก็มีหน่วยงานและคณะต่างๆ ทำการวิเคราะห์และให้ข้อมูลเรา ให้ความมั่นใจได้ว่าเราจะตอบสนองกับสถานการณ์เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คือต้องเรียนว่าในบางสถานการณ์มันก็เร็วเกินไปที่ทางเราจะตอบ ชี้แจ หรือให้ข้อมูลต่างๆ แต่กระนั้นในระหว่างนั้นเราก็จะคอยติดตามสถานการณ์ ซึ่งเราก็จะยังคงเป็นเสาหลักของสังคมจริงๆ เธอในบางเหตุการณ์ข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่ชัด แล้วจะให้ไปทำให้สังคมไขว้เขวอีกก็ไม่ใช่ครับ คือเราก็ต้องมีการดูว่าในเรื่องราวต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ทางจุฬาฯ ก็จะต้องมีบทบาทในลักษณะนั้น บางคนอาจจะมองว่าทำไมทางจุฬาฯ ฯ ถึงตอบสนองช้าในบางเรื่อง ถึงตอบสนองช้าในบางเรื่อง เราก็ต้องบอกว่าเราก็ต้องบอกว่า เราจะยังไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่งก่อน ซึ่งก็ต้องดูข้อมูลรอบด้านให้ชัดซะก่อน วิเคราะห์ข้อมูลจริง และตอบตามหลักวิชาการ


อาจารย์มองเรื่องการศึกษาสมัยใหม่ในปัจจุบันอย่างไรบ้างครับ

การศึกษาใหม่คือการศึกษาไร้พรมแดน ผมว่าทั้งทางจุฬาฯ หรือสถาบันการศึกษาของประเทศไทย ยังมีความช้าอยู่กับเรื่องนี้ ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศ ที่การศึกษาในลักษณะอย่างนี้เราสามารถที่จะค้นหาความรู้ อย่างถ้ามีเวลาว่างก็สามารถนั่งเรียนคอร์สต่างๆ เพื่อหาความรู้ คือการเรียนก็ไม่ได้อยู่ในตำราอย่างเดียว แต่ผมมองว่าทางจุฬาฯ ฯ จะดีขึ้นกว่านี้ถ้าเรามีเครื่องมือและบทเรียนต่างๆ เชิญชวนอาจารย์ให้มาทำหลักสูตรการเรียนในโลกออนไลน์มากขึ้น มีการพัฒนาศักยภาพตัวเองมากขึ้น ต่อไปโลกก็จะเป็นอย่างนั้นครับ ผู้เรียนในปัจจุบันก็ไม่ได้เรียนแบบ on site อย่างเดียว ก็มีการเรียนแบบออนไลน์ซะเยอะ สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาได้ ฉะนั้นเราควรจะเปิดโอกาสให้เขามีเครื่องมือที่จะพัฒนาตัวเองครับ

ผมว่าสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ อาจจะมีปัจจัย ทั้งในเรื่องโควิดเอง หรือ ความรู้มันสามารถค้นหาได้หมด เรามักจะใช้คำว่าคนเราอายุยืนนานแต่ความรู้จะสั้นลง เพราะว่าความรู้มันสามารถหาได้ จากเดิมอย่างคนรุ่นผมจะมีแค่อ่านหนังสือแค่อ่านหนังสือและตำราอย่างเดียว แต่ปัจจุบันแค่เราค้นหาทางโลกออนไลน์เราก็สามารถที่จะพบเจองานวิจัยได้หมดแล้ว ปัจจุบันนี้ความรู้ปัญหาได้เร็ว ถ้าคุณไม่ติดตามความรู้ให้ทัน สุดท้ายคุณก็จะตกยุค ฉะนั้นประโยคที่ว่ามามันก็จะเกิดขึ้น ถ้าเราไม่อัพเดทตัวเอง


แต่มันก็จะมีบ้างนะครับว่าต่อให้ค้นหาไป แล้วผู้เรียนดันปักใจเชื่อไปเลย ทั้งๆที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มไปอีก ซึ่งมันเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ อาจารย์มองมุมนี้ยังไงบ้างครับ

ในมหาวิทยาลัยจะถูกสอนว่าให้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล หมายถึงว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นมันน่าเชื่อถือได้หรือไม่ แล้วการวิเคราะห์วิจัยตรงนี้มันถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปเรียนในระบบ ก็ต้องมีการศึกษาเรื่องนี้


อย่างกรณีในการเกิดที่น้อยลงในปัจจุบัน จนทำให้เกิดการมาเรียนน้อยลง อาจารย์คิดว่าคณะไหนต้องมีการปรับตัวบ้างครับ

โดยส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเป็นเกือบทุกคณะโดยส่วนใหญ่นะ เพราะจากปัญหาที่ว่ามา แต่ผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะมีปัญหาในเรื่องของภาคแรงงาน เพราะหากเด็กเกิดน้อยลงเราก็ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ ซึ่งทางตุลาคมก็มีสถาบันวิจัยประชากรศาสตร์ ก็ได้ทำการวิเคราะห์พวกนี้แหละ แล้วก็มีความกังวลอยู่ว่าถ้าประเทศไทยไม่ได้มีการเตรียมตัวบุคลากร ไม่ได้เตรียมตัวประชาชนเพิ่ม ไม่ได้เพิ่มทักษะในกรณีที่จะมีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งโดยปกติคนเกษียณอายุจะอยู่ที่ 60 ปี แต่ถ้ามีการพัฒนาทักษะในช่วง 60-70 ปีล่ะ เขาก็สามารถที่จะเป็นกำลังทดแทนในกรณีการเกิดน้อยก็ได้ ผมเชื่อว่าทางคณะต่างๆของจุฬาฯ ฯ ฯก็จะต้องมีการปรับหลักสูตรต่างๆ เตรียมบุคลากรและอาจารย์เพื่อให้รองรับในการทำงานตรงนี้ ในขณะที่ส่วนของนิสิตก็อาจจะให้เตรียมตัวเข้าสู่สนามจริงในแต่ละวิชาของแต่ละคณะ ซึ่งทางเราก็พยายามที่จะทำหลักสูตรตรงนั้น อาจจะมีหลักสูตรประมาณว่าให้ฝึกในโรงเรียนไปก่อน ทำงานในบริษัทต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น


แล้วอย่างเทรนด์การศึกษาในปัจจุบัน โดยส่วนตัวของอาจารย์คิดว่าจะไปในทิศทางใดบ้างครับ

ผมว่าสิ่งที่กระทบที่สุดก็คือน่าจะเป็นเรื่องของ AI นะ มันทำให้การค้นหาข้อมูลหรือทำงาน มันเกิดการง่ายขึ้น ซึ่งเราก็ปฏิเสธมันไม่ได้ และทางจุฬาฯ ก็มีการปรับตัวในเรื่องนี้ ก็คือยอมให้นิสิตใช้ AI ในการทำงาน และในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แต่จะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพขึ้น จะทำอย่างไรให้จุฬาฯ นำมาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรได้ดีขึ้น อย่างคณะของเราก็ได้เริ่มทำการ chat box ทำการตอบโต้กับคนไข้ ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษา ผมคิดว่าคณะบางอย่างที่มีการออกแบบ ก็สามารถใช้ AI ในการทำงานได้ เราก็ต้องเอาสิ่งเหล่านี้เข้ามาใช้ ซึ่งเชื่อว่าจะเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนของที่นี่เช่นกัน

แต่เราก็ต้องรู้ด้วยนะว่าจะต้องมีการใช้งานยังไง ต้องใช้งานอย่างมีประโยชน์ครับ ยกตัวอย่าง อย่างงานธุรการ จากเดิมเจ้าหน้าที่จะมีการพิมพ์ตอบอีเมล ก็จะเปลี่ยนเป็นให้ระบบจัดการตอบอีเมล หรือว่างานพิมพ์ ก็แค่ป้อนข้อมูลพิมพ์แบบฟอร์มก็ได้ ก็ช่วยย่นระยะเวลาไป ผมว่าเราปฏิเสธเขาไม่ได้หรอก เพียงแต่ว่าเราจะอยู่กับสิ่งนี้ยังไง แต่บางทักษะมันก็ต้องใช้กลไกของมนุษย์ อย่างเช่น ทักษะของแพทย์ สถาปนิก หรือวิศวกร แต่ว่าพวกเขาก็อาจจะใช้ระบบ AI ช่วยในเรื่องของการออกแบบ หรือคำนวณ ทำให้ย่นระยะเวลาว่าง่ายดายขึ้น


หากได้รับเลือกให้เป็นอธิการบดีของจุฬาฯ อาจารย์มีความคาดหวังอย่างไรบ้างครับ

ถ้าหากได้รับเลือกนะครับ ผมก็อยากจะเป็นฟันเฟืองให้กับประเทศ แต่คือยังไงจุฬาฯ ก็ต้องดีขึ้นเรื่อยๆ จากกลไกของทางอาจารย์และบุคลากร ผมมองว่าเดี๋ยวเราก็พัฒนาทั้งคนและอาจารย์ต่างๆดังที่กล่าวไป ผมเชื่อว่าจุฬาฯ จะเป็นแกนสำคัญในการพัฒนาประเทศ จากปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆในปัจจุบัน เราก็จะเป็นอีกหนึ่งเดือนหลักที่จะไปร่วมแก้ไขปัญหากับกระทรวงต่างๆ ทำอย่างไรจะทำให้ผลิตครูได้อย่างมีคุณภาพ ก็คิดว่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้การศึกษาในประเทศนี้ดีขึ้นอยากเป็นรูปธรรม รวมถึงไม่ทิ้งศาสตร์อื่นๆด้วย คือทางจุฬาฯ สามารถใช้เครือข่ายต่างๆมาเชื่อมโยงกันได้

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ


กำลังโหลดความคิดเห็น