xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยไรเดอร์ แก๊งคอลฯ ใช้บัญชีรับเงินจากเหยื่อ ออกอุบายขอรหัส "กดเงินไม่ใช้บัตร"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มผู้ขับขี่รถส่งอาหาร หรือไรเดอร์ มีการเตือนกันให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำทีให้ไปส่งของ ขอโอนค่าส่ง แต่เงินเข้าบัญชีเป็นหมื่น ออกอุบายขอรหัส "กดเงินไม่ใช้บัตร" เอาเงินออกมา ก่อนให้ไปนั่งรอแต่รอเก้อ ขอยกเลิกออเดอร์ไปก่อน รู้ตัวอีกทีบัญชีถูกอายัด เข้าแอปฯ ธนาคารไม่ได้

วันนี้ (14 ม.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ในกลุ่มผู้ขับขี่รถส่งอาหาร หรือไรเดอร์ ได้มีการเตือนภัยถึงพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่อาศัยบัญชีธนาคารของไรเดอร์ในการรับเงินจากเหยื่อ แล้วให้ไรเดอร์กดเงินไม่ใช้บัตร (Cardless ATM) ส่งไปให้กลุ่มมิจฉาชีพ โดยพฤติการณ์ก็คือ กลุ่มมิจฉาชีพจะเรียกไรเดอร์ให้ไปส่งของ เมื่อไรเดอร์รับออเดอร์แล้ว กลุ่มมิจฉาชีพก็โทรศัพท์ไปหา กล่าวว่าจะโอนค่าส่งให้จำนวนหลักร้อย พร้อมกับขอเลขที่บัญชี ปรากฏว่าเงินเข้าบัญชีไรเดอร์เกินถึงหลักหมื่นบาท

เมื่อไรเดอร์ต้องการโอนเงินคืนให้ลูกค้าทันที กลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นลูกค้าก็ทำทีปฏิเสธ บอกว่าแอปฯ ใช้ไม่ได้ และไม่มีบัตรเอทีเอ็ม ก่อนออกอุบายให้ไรเดอร์ขอเป็นการกดเงินสดผ่านตู้ ATM โดยไม่ใช้บัตร (Cardless ATM) ผ่านธนาคารแห่งหนึ่ง โดยขอเป็นเบอร์โทรศัพท์และรหัสกดเงิน เมื่อไรเดอร์ไปถึงหน้าตู้ ATM ลูกค้าบอกว่าให้โอนคืนมาหลักหมื่นบาท หักออกไปหลักร้อยบาทเป็นค่าขนส่งและค่าเสียเวลา ไรเดอร์จึงทำตามที่ลูกค้าบอก ให้เบอร์โทรศัพท์มือถือและรหัสกดเงินแก่ลูกค้า

จากนั้นกลุ่มมิจฉาชีพที่แฝงตัวเป็นลูกค้า จะให้ไรเดอร์ไปรอที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเพื่อที่จะรับของ เมื่อรอได้สักพักลูกค้าจึงโทรศัพท์เข้ามาบอกว่าจะขอยกเลิกออเดอร์ก่อน ถ้าของมาถึงห้างฯ แล้วจะโทร.หาไรเดอร์อีกรอบหนึ่ง เพื่อที่จะให้ไรเดอร์ไปส่งของให้อีกครั้ง แต่ตลอดทั้งวันลูกค้าไม่ได้โทร.เข้ามา กระทั่งวันต่อมาบัญชีธนาคารของไรเดอร์ถูกอายัด เข้าแอปฯ ธนาคารไม่ได้ เพราะมีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงโทรศัพท์ไปยังธนาคารให้อายัดบัญชี เพราะโอนเงินเข้ามาในบัญชีของไรเดอร์

ด้านผู้ใช้ติ๊กต็อกชื่อ GOGONG ไปกับก้อง ได้ออกมาเตือนภัยเรื่องนี้ หัวข้อ "เตือนภัยสำหรับไรเดอร์ ระวังมิจฉาชีพจะทำให้คุณเป็นบัญชีม้าโดยไม่รู้ตัว" โดยมีไรเดอร์คนหนึ่งพบเจอเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มมิจฉาชีพทำทีเป็นลูกค้า กล่าวว่าจะโอนค่าส่งให้ 250 บาท แต่กลับโอนมาเกินเป็นจำนวน 19,600 บาท กระทั่งกลุ่มมิจฉาชีพออกอุบายให้ทำรายการกดเงินไม่ใช้บัตรจำนวน 19,100 บาท และให้ส่งเบอร์มือถือกับรหัสกดเงิน และเมื่อไปหาที่จุดนัดพบกลับพบว่าลูกค้าขอยกเลิกออเดอร์ก่อนแล้วจะติดต่อกลับไปใหม่ กระทั่งวันต่อมาจึงถูกอายัดบัญชี ซึ่งได้แจ้งความต่อตำรวจแล้ว

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ปัจจุบันมีธนาคารที่มีบริการกดเงินไม่ใช้บัตร (Cardless ATM) โดยใช้รหัสกดเงินจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ แอปฯ SCB EASY, ธนาคารกรุงไทย แอปฯ Krungthai NEXT, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา แอปฯ KMA, ธนาคารทหารไทยธนชาต แอปฯ ttb touch, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แอปฯ ธ.ก.ส. A-Mobile รวมทั้งมีบางธนาคารที่อาศัย ATM ธนาคารอื่นในการกดเงินไม่ใช้บัตรด้วยรหัสกดเงิน เช่น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เป็นต้น ส่วนธนาคารอื่น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ แอปฯ Bangkok Bank Mobile Banking, ธนาคารกสิกรไทย แอปฯ K PLUS และธนาคารออมสิน แอปฯ MyMo ใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ดจากมือถือของเจ้าของเครื่องเท่านั้น

สำหรับเหตุที่กลุ่มมิจฉาชีพหันมาหลอกลวงไรเดอร์ เป็นช่องทางในการรับเงินโอนจากเหยื่อที่เป็นผู้เสียหาย เพราะที่ผ่านมาตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงินกวดขันบัญชีม้าอย่างหนัก จึงทำให้กลุ่มมิจฉาชีพแสวงหาช่องทางใหม่ในการรับเงินโอนจากเหยื่อ หนึ่งในนั้นคือการหลอกลวงไรเดอร์ ด้วยการออกอุบายว่าโอนเงินเกิน แล้วให้ไรเดอร์นำเงินออกผ่านบริการกดเงินไม่ใช้บัตร นอกจากนี้ยังมีกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกประชาชนทั่วไปว่าโอนเงินผิดบัญชี โดยจะโอนเงินมาให้ก่อนหนึ่งครั้ง และโทร.มาบอกว่าโอนผิดบัญชี ให้โอนต่อไปยังบุคคลที่สาม หรือเอาเงินออกด้วยวิธีอื่น หากได้รับสายที่น่าสงสัยให้ใช้สติเข้าสู้ เมื่อไรที่ปลายสายบอกให้โอนเงิน สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเป็นมิจฉาชีพ ห้ามโอนเด็ดขาด และให้แจ้งคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารเจ้าของบัญชีเป็นผู้ดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น