1.อธิบดีราชทัณฑ์ไฟเขียว “ทักษิณ” อยู่ รพ.ตำรวจต่อ หลังเกิน 120 วัน อ้างแพทย์บอก ยังป่วยหลายอย่าง ต้องดูแลใกล้ชิด!
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังเด็ดขาดรักษาตัวภายนอกเรือนจำที่ รพ.ตำรวจนานเกิน 120 วันว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานการรักษาตัวของนายทักษิณจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่ทราบจากสื่อว่าอธิบดีกรมราชทัณฑ์จะเสนอมายังตนเองภายในสัปดาห์นี้
ด้านกรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารระบุว่า ...ขณะนี้ นายทักษิณ ชินวัตร ได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการประสานไปยัง รพ.ตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่า ผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วย เพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิต
เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ที่ระบุไว้ว่า “กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาการเรือนจำดำเนินการ ดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป”
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาแล้ว มีความเห็นว่ายังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 67 ให้นายทักษิณอยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที
โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวง จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป โดยกรมราชทัณฑ์ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากล รวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้...”
ด้าน พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ เผยกรณีคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือขอมาศึกษาดูงานการนำตัวผู้ต้องขังที่ส่งจากราชทัณฑ์มารักษาตัวที่ รพ.ตำรวจในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค. ว่า พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีหนังสือตอบรับให้เข้ามาศึกษาดูงานแล้ว โดยย้ำว่า การเข้ามาศึกษาดูงานจะต้องไม่กระทบการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่กระทบสิทธิหรือละเมิดสิทธิของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และไม่ทำความเสียหายให้โรงพยาบาลตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนจะสามารถขึ้นไปยังจุดที่นายทักษิณรักษาตัวอยู่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ได้หรือไม่นั้น พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะการจะไปดูผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณ หรือผู้ป่วยรายอื่น รพ.ตำรวจคงไม่อนุญาต
ทั้งนี้ วันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการราชทัณฑ์ ได้เรียกประชุมเพื่อออกหลักเกณฑ์คัดกรองผู้ต้องขัง ที่เข้าข่ายตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 เพื่อพิจารณาให้นักโทษที่เข้าเกณฑ์ได้คุมขังนอกเรือนจำ โดยมีนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อม พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ (สบ8) รักษาราชการแทนนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และผู้บริหารกรม เข้าร่วม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวหลังการประชุมว่า ได้มีการรับทราบความคืบหน้าของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่มีการออกระเบียบดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา จึงนำเข้าให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ร่วมรับทราบ และยืนยันว่า การประชุมในวันนี้ไม่ได้มีการระบุถึงตัวบุคคลหรือสถานที่ โดยเฉพาะนายทักษิณ ชินวัตร ที่รักษาตัวใน รพ.นอกเรือนจำเกิน 120 วัน แต่เป็นการพูดถึงภาพรวมของระเบียบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ออกมา ซึ่งได้กำชับให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกรณีที่มีการออกระเบียบมาในช่วงเวลานี้พอดี ว่าเป็นไปตามวาระที่ต้องมีการขับเคลื่อน และเป็นจังหวะที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพอดี
ส่วนกรณีของนายทักษิณจะเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วยหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า ให้เป็นไปตามอำนาจของ ผบ.เรือนจำแต่ละแห่งไปพิจารณาคัดเลือก พร้อมย้ำว่า การให้ไปคุมขังที่อื่นไม่ใช่การปล่อยตัวออกไป เพราะหากจะปล่อยตัว ต้องขอศาลออกหมาย โดยระเบียบลักษณะนี้ ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการเหมือนกัน
วันต่อมา (12 ม.ค.) นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เผยหลังเป็นตัวแทน กมธ.ฯ ขึ้นไปตรวจสอบที่บริเวณชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา รพ.ตำรวจว่า จากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับ พล.ต.ต.นพ.สามารถ ม่วงศิริ ผอ.โรงพยาบาลตำรวจ ได้รับทราบว่า ขณะนี้มีผู้ต้องขังที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลแบบค้างคืน คือนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ที่เหลือเป็นผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยมารับการรักษาแบบไปเช้าเย็นกลับ
ซึ่งตนได้หารือตามกรอบระเบียบกับทางโรงพยาบาล จึงได้รับการอนุญาตให้ขึ้นไปยังชั้น 14 เพื่อไปดูขั้นตอนการคุมขัง ที่มีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ จำนวน 2 นาย ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ สน.ปทุมวัน 3 นาย และตำรวจสันติบาล 3 นาย รวมเป็น 8 นาย หลังจากที่เห็นเจ้าหน้าที่ทั้ง 8 นายแล้ว ก็ได้ลงมาชั้น7 เพื่อมาตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติกับผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วยว่ามีขั้นตอนอย่างไร โดยมีผู้ป่วย 2 รายเข้ารับการรักษา และมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์คอยควบคุม 2 นาย
“ทำให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า การปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์กับผู้ที่มารักษาตัวมีความเท่าเทียมกัน โดยมีการผลัดเวรกันทุก 24 ชั่วโมง และต้องถ่ายภาพเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาทุกๆ 2 ชั่วโมง และในห้องที่มีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ป่วย ไม่มีการล็อค เพื่อให้ผู้คุมได้เดินเข้า-ออกได้ตลอดเวลา ซึ่งผมได้ขึ้นไปชั้น14 ได้พบเจอเจ้าหน้าที่จริง แต่ถ้าถามว่าได้เจอกับนักโทษหรือไม่ ตรงนี้เป็น พ.ร.บ.ส่วนบุคคลที่เขาอนุญาตเพียงเท่านี้”
“เราไม่ทราบว่าอาการป่วยของนายทักษิณหนักขนาดไหน แต่ทางโรงพยาบาลตำรวจชี้แจงมาอย่างหนึ่งว่า มนุษย์เราเมื่อเข้าสู่วัย 70 ปี มีอาการป่วยได้ตลอดเวลา ส่วนจะถือว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ ผมก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะเราไม่ทราบว่าอาการป่วยหนักแค่ไหน”
เมื่อถามว่า ส่วนตัวเชื่อหรือไม่ว่านายทักษิณยังอยู่บนชั้น14 นายชัยชนะ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ ต้องไปถามกรมราชทัณฑ์ ตนไม่ได้เห็น เห็นแต่เจ้าหน้าที่ จะตอบเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่ได้
ด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่่องต่อ ป.ป.ช. ขอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนอธิบดีกรมราชทัณฑ์-แพทย์ รพ.ราชทัณฑ์-แพทย์ รพ.ตำรวจ-พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ว่ากระทำการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณอยู่ รพ.ตำรวจเกิน 120 วันหรือไม่
2.กฤษฎีกา ยัน ไม่ได้ไฟเขียว รบ.ออก พ.ร.บ.กู้เงินแจกดิจิทัลวอลเล็ต แค่ชี้ ต้องเข้าเงื่อนไขจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้วิกฤต ปท. ด้าน “สมชัย” เตือน รบ. ระวังเจอคุก!
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรรมการกฤษฎีกาได้ตอบคำถามของกระทรวงการคลังกรณีการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า สามารถออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาทได้ แต่มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะมาด้วย ในเรื่องของให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ในประเด็นความคุ้มค่า เพราะจะต้องมีการประเมินผลได้ ทั้งก่อนและหลังโครงการ ในเรื่องของกลไกที่จะเป็นไปตามข้อกฎหมายตามมาตรา 53 คือ ต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะวิกฤต จนไม่สามารถตั้งงบประมาณปกติมาดำเนินการได้ ซึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ของทางกระทรวงการคลัง และเป็นภาระหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายจะดำเนินการให้ครบถ้วน ส่วนข้อเสนอแนะ คือการให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายต้องประชุมเพื่อพิจารณาเชิญทุกฝ่ายร่วมแสดงความเห็น
"พวกเราก็ในฐานะกรรมการนโยบายหลังจากประชุมกันแล้ว ก็คงจะต้องมีมติว่าเราจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ที่ทำได้ แต่เมื่อมีข้อเสนอแนะมา เราต้องรับฟัง ทั้งนี้ ยืนยันว่าต้องคงกรอบเวลา จะต้องเป็นไปตามกรอบเดิม คือเป้าหมายเดิมในเดือน พ.ค.”
เมื่อถามถึงกรณีที่ สว.จะขอยื่นอภิปรายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ ซึ่งตนยินดี เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ชี้แจง และทำความเข้าใจ
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า กฤษฎีกาได้ส่งความเห็นไปให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว แต่จะต้องเข้าคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ก่อน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด
ทั้งนี้ นายปกรณ์ ยืนยันว่า ไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” กฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมายเท่านั้น ซึ่งต้องดูว่า เงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤติของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่
“ในฐานะนักกฏหมาย คงตอบได้เพียงแค่นี้ แต่สำหรับมาตรา 53 สามารถออกเป็นกฏหมายได้ ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็แล้วแต่ เพราะถือเป็นกฎหมายทั้งคู่”
พร้อมระบุว่า กฤษฎีกาไม่ได้มีข้อเสนอแนะอะไรกลับไป เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 ใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งจะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ตนเป็นนักกฎหมายไม่สามารถชี้นำได้ ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขที่เป็นตามหลักวิทยาศาสตร์
ส่วนความเห็นของกฤษฎีกาจะสามารถรับประกันได้หรือไม่ว่า รัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ทราบ “ถ้าทำตามเงื่อนไข ก็ไม่มีปัญหา ส่วนการที่รัฐบาลอ้างว่า GDP โตไม่ทันนั้น คงไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจได้”
นายปกรณ์ เผยด้วยว่า รัฐบาลถามมาเพียงแค่คำถามเดียว คือ จะสามารถออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินได้หรือไม่ และไม่ได้ถามเพิ่มเติมกรณีมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่
ทั้งนี้ วันเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า “สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า หนังสือตอบจากกฤษฎีกาไปยังกระทรวงการคลัง เรื่อง พ.ร.บ. เงินกู้ 500,000 ล้านบาท มีการตีตรา “ลับ”
“ลับ” แปลว่าอะไร ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับทางราชการ เอกสารลับ หมายถึงเอกสารใดก็ตามที่ “เปิดเผยทั้งหมดหรือบางส่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์แห่งรัฐ”
ดังนั้น เรื่องนี้ แม้บางคนรู้ บางคนมีสำเนาเอกสารในมือ ก็เอามาเปิดเผยไม่ได้ ต้องรอกระทรวงการคลังหรือ รมว.คลัง มาแถลงเอง แต่ถ้ากฤษฎีกาเขาบอกเพียงอธิบายข้อขัดข้องตาม มาตรา 53 ของ พ.ร.บ.วินัย การเงินการคลัง ไม่ได้ฟันธงว่ากู้ได้หรือไม่ได้ แล้วมีคนมาเจื้อยแจ้วว่า ไม่มีอะไรขัดข้อง ทำได้ ทำอยู่ ทำต่อ ระวังเจอข้อหา Fake News จำคุก 5 ปี หรือ ปรับ 100,000 บาท ตามที่โฆษกรัฐบาล คุณชัย ขู่ฟอดๆ เมื่อวันก่อนนะครับ”
วันต่อมา (9 ม.ค.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในที่ประชุม ครม.ยังไม่มีการพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นมายังรัฐบาล เพราะต้องเสนอผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ตนเป็นประธานก่อน โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กำลังดูเวลาอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาส่วนหนึ่งพูดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกู้เงินที่ต้องเป็นไปตามระเบียบการเงินการคลัง นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน
เมื่อถามว่า มองว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความชัดเจนหรือไม่ว่า ทำได้หรือไม่ได้ นายกฯ กล่าวว่า ตนอยากจะฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่ายด้วย เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกมาให้ฟังความเห็นของทุกๆ ฝ่าย ที่ต้องมีความเห็นของนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตทุกคน ต้องให้ความสำคัญกับทุกเสียง คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ได้บอกว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องของดุลพินิจและต้องรับฟังความคิดเห็น ถึงบอกว่าจะต้องมีการประชุมคณะกรรมการ
เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องรัฐบาลเปิดคำถามและคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกา นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาสมควรก็จะเปิดเผย ถามต่อว่า โดยส่วนตัวนายกฯ มั่นใจว่า เรื่องนี้เดินไปต่อได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ไปต่อได้แน่นอน ชัดเจน และต้องขอประชุมคณะกรรมการดิจิทัลก่อน และจะตอบเนื้อหาที่หลัง
เมื่อถามว่า จะทันเดือน พ.ค. 67 หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ณ เวลานี้ยังยืนยันตามไทม์ไลน์เดิม แต่ต้องขอประชุมก่อน ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะอะไรอีกหรือไม่ อย่างที่บอก นัยสำคัญของกฤษฎีกาคือต้องฟังความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย เมื่อถามว่า ยืนยันการออกเป็นพระราชบัญญัติจะทำได้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ยืนยันถ้าออก ก็ออกเป็นพระราชบัญญัติ
3. ศาลฎีกาตัดสิทธิลงสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต “3 สส.ภูมิใจไทย” พร้อมห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังฝ่าฝืนจริยธรรม เสียบบัตรแทนกันในสภา!
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยกรณีนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ อดีต สส.เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, นายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต สส.เขต 1 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย และนางนาที รัชกิจประการ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ผู้คัดค้าน มีความผิดฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม กรณีเสียบบัตร สส.แทนกันในการประชุมสภาฯ
คดีนี้ สส.ทั้งสามคนถูกกล่าวว่า ยินยอมให้บุคคลอื่นเสียบบัตรแสดงตนแทนในการลงมติเรียงตามรายมาตรา ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วาระที่ 2-3 เมื่อวันที่ 10-11 ม.ค. 2563 เข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขอให้ศาลเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามมีกำหนดเวลาไม่เกิน 10 ปี ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ทั้งนี้ ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 และ 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 พ้นจากการเป็น สส.ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว
ต่อมา อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสามเป็นคดีอาญาด้วยมูลเหตุเดียวกับคดีนี้ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2566 แล้ว จึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อโดยไต่สวนพยานผู้ร้องกับไต่สวนพยานผู้คัดค้าน
องค์คณะผู้พิพากษาเห็นว่า เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานแวดล้อมอื่นประกอบพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นเอกสารสำคัญประจำตัว ซึ่งแสดงถึงสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้แทนประชาชน ผู้คัดค้านทั้งสามต้องใช้มาตรฐานที่มากกว่าวิญญูชนทั่วไปในการดูแลรักษาบัตรดังกล่าว ในทางไต่สวนได้ความว่า ภายหลังผู้คัดค้านทั้งสามทราบว่าตนลืมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ในที่ประชุม ก็ไม่ปรากฎว่าผู้คัดค้านทั้งสามดำเนินการใด เพื่อป้องกันมิให้ผู้อื่นนำบัตรของตนไปใช้
อีกทั้งเมื่อทราบว่า มีผู้อื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของตนไปใช้แสดงตนและลงมติโดยไม่ได้รับความยินยอม ผู้คัดด้านทั้งสามก็มีได้เร่งรีบตรวจสอบข้อเท็จจริง หรืออาศัยกลไกทางกฎหมาย เพื่อสืบหาตัวผู้กระทำดังกล่าว หรือแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการผิดวิสัยของวิญญูชนผู้สุจริต
อีกทั้งช่วงเกิดเหตุมีที่นั่งและช่องเสียบบัตร 300 ที่นั่ง ไม่เพียงพอต่อจำนวน สส.ทำให้ต้องมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนใช้เครื่องเสียบบัตรร่วมกันและระหว่างการประชุมไม่มีการบันทึกภาพสมาชิกขณะแสดงตนและลงมติไว้ ย่อมเป็นช่องทางให้มีการนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของ สส.รายอื่นไปใช้แสดงตนและลงมติแทนได้ง่ายโดยที่ถูกพบเห็นได้ยาก จึงเป็นข้อสนับสนุนให้เชื่อว่ามีบุคคลอื่นใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้คัดค้านทั้งสามโดยความรู้เห็นและยินยอมของผู้คัดค้านทั้งสาม
ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านทั้งสามเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นและความสำคัญของการออกจากที่ประชุม เพื่อเดินทางไปร่วมงานวันเด็กแห่งชาติและงานสัมมนา การไม่มีเหตุจูงใจใดให้ต้องฝากบัตรไว้ และการที่ผู้คัดค้านทั้งสามไม่อยู่ในที่ประชุม ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย รวมถึงความเร่งรีบ อาการเจ็บปวย และความเหนื่อยล้าที่ทำให้ลืมบัตรไว้นั้น มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จะฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือยินยอมให้ผู้อื่นนำไปใช้แสดงตนและลงมติแทนผู้คัดค้านทั้งสามได้ และมิใช่ข้อยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ไม่อาจใช้อ้างเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่มีการฝากหรือยินยอมให้มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทนหรือใช้เพื่อปัดความรับผิดในกรณีที่บุคคลอื่นนำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้แสดงตนและลงมติแทนได้
ส่วนที่อ้างว่าการใช้บัตรเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน เกิดจากการกระทำของ สส.ที่มีข้อขัดแย้งทางการเมืองและไม่หวังดีนั้น ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงรับฟังได้
การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามจึงเข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ฐานไม่รักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ฐานไม่ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
นอกจากนี้ การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามยังเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฐานกระทำการที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
ซึ่งเมื่อพิจารณาลักษณะของการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ เจตนา และความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ อันจะสะท้อนความสามารถในการบริหารประเทศด้านการเงินและการคลัง กับเสถียรภาพของรัฐบาล และต้องอาศัยมติและเสียงของสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเป็นหลักในการผลักดันร่างกฎหมาย
เมื่อผู้คัดค้านทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ย่อมเป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้คัดค้านทั้งสามต้องมอบหรือฝากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ให้บุคคลที่ได้มีการคบคิดกันมาก่อนแสดงตนและลงมติแทน ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่อยู่ร่วมประชุมเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ การกระทำในส่วนนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมที่มีลักษณะร้ายแรง
พิพากษาว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6, 7, 8 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง และข้อ 17, 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง ให้ผู้คัดค้าน 1, 2 พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ 3 ก.ย.2564 อันเป็นวันที่ศาลฎีกามีคำสั่งในคดีนี้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1, 2 หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามตลอดไปและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ กับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามมีกำหนดเวลา 10 ปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อนึ่ง ในส่วนคดีอาญา เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษาจำคุกอดีต สส.ภูมิใจไทยทั้ง 3 ราย คนละ 9 เดือน ไม่รอลงอาญา และให้พ้นจากตำแหน่งและตัดสิทธิทางการเมืองกรณีเดียวกันนี้ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์
4. ตำรวจส่งฟ้อง "ปิยบุตร"ปมจัดคลับเฮ้าส์ยุยงปลุกปั่น ผิด ม.116-พ.ร.บ.คอมฯ เจ้าตัวอ้าง ไม่ผิด ด้านอัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องหรือไม่ 8 ก.พ.!
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้นัดส่งตัวพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เเละความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป
คดีนี้ สืบเนื่องจากที่นายณฐพร โตประยูร ได้เข้าเเจ้งความดำเนินคดีนายปิยบุตร กรณีจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์ ใน Clubhouse เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564
ทั้งนี้ ก่อนเข้าพบพนักงานอัยการ นายปิยบุตรกล่าวว่า กรณีจัดรายการช่วง มี.ค.64 นายณฐพรได้อ่านหรือฟังข้อความหรือไม่ ตนไม่ทราบ ก็ไปแจ้งความพนักงานสอบสวนในวันที่ 17 เม.ย. ตอนนี้ผ่านมา 9 เดือน สุดท้ายพนักงานสอบสวนมีความเห็นทำสำนวนมาส่งให้อัยการ ซึ่งการสอบสวนก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเเละตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้มีการควบคุมตัวใดๆ ทั้งสิ้น และให้สิทธิในการต่อสู้คดีเต็มที่
"แต่สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้มาตลอดก็คือ ตกลงเหลือประเทศไทยเราในกระบวนการยุติธรรมอาญาวิธีพิจารณาความอาญา เราจะเดินหน้ากันแบบไหน ตกลงแล้วจะให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่เป็นเหมือนคนส่งหมาย ส่งสำนวนมาให้อัยการโดยที่ไม่มีดุลพินิจอะไรเลย ซึ่งชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าพนักงานสอบสวน ก็คงต้องสอบสวนให้เต็มที่ ตอนผมไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ผมขอสมมุติว่า ถ้าท่านมาเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ถ้าเราคิดแบบทำเป็นโจทย์ข้อสอบ ผมเชื่อว่าร้อยทั้งร้อย มันไม่เข้าองค์ประกอบความผิดเลย เเละผมจะไม่ต้องมารับทราบข้อกล่าวหา ไม่ต้องมานั่งถูกทำสำนวนส่งอัยการด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาเพราะเป็นคดีที่เกี่ยวพันกับความมั่นคง ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนมันหายไปเลยและตามน้ำกันไปหมด ต้องลองดูว่า ที่ผ่านมา มีจำนวนมากที่ศาลยกฟ้อง พนักงานสอบสวนต้องมีดุลพินิจ ซึ่งตนยืนยันว่า ถ้าเรื่องไหนมันไม่เข้าองค์ประกอบ ก็ควรจะไม่ต้องรับตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องทำสำนวนส่งมาที่อัยการ"
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ฝ่ายบริหารรัฐบาลชุดนี้นำโดยพรรคเพื่อไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนตอนช่วงหาเสียง โดยแกนนำของพรรคเพื่อไทยพูดไว้ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ 116 เเละกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ มันไม่ต้องไปแก้ไขหรือยกเลิก แค่จัดการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมก็เพียงพอ แล้วใช้มาตรการบริหารทำกระบวนการยุติธรรมให้มันยุติธรรมก็พอแล้ว วันนี้รัฐบาลเข้ามาปฎิบัติหน้าที่แทบจะไม่เห็นพูดเรื่องนี้เลย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เเค่สั่งให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติหน้าที่อย่างมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นคดี 112 หรือ 116 หรือคดีการเมือง
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตนคนเดียว เป็นเรื่องของคนอีกมากมายที่เสียเวลาแบบนี้ และมันเปิดทางให้อาชีพใหม่มันเกิด คืออาชีพนักร้อง ซึ่งหน้าเดิมๆ ขอฝากสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรี “ไปถามทนาย ผู้พิพากษา อัยการที่ไหนก็ได้ ถามนอกรอบก็ได้ว่า เคสตรงนี้มันเข้า 116 ตรงไหน มันยุยงปลุกปั่นไหม ผมเป็นคนบอกด้วยซ้ำว่าให้ทำและรณรงค์ ให้ใจเย็นทั้งสองฝ่าย และกลายเป็นว่าผมปลุกปั่น ส่วนเรื่องขอความเป็นธรรมต่ออัยการ เดี๋ยวต้องลองคุยกับทนายความดูว่าจะดำเนินการขั้นตอนอย่างไร แต่เราคิดดู ประชาชนจำนวนมากอย่างเช่นประชาชนตาดำๆ นิสิตนักศึกษาโดนและมีภาระเต็มไปหมด เเล้วบอกว่าจะปรองดอง บอกว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง เเต่เรื่องแบบนี้มันยังมีอยู่เต็มไปหมด มันจะจบไปได้ยังไง”
ทั้งนี้ หลังนายปิยบุตรรายงานตัวพนักงานอัยการแล้ว อัยการได้นัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 8 ก.พ.นี้
5. ปปง. สั่งยึด-อายัดทรัพย์ “มินนี่” กับพวกเว็บพนันออนไลน์ 255 รายการ มูลค่ากว่า 41.4 ล้าน!
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายสุวิจักขณ์ ธรรมชัยพจน์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 หัวหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงวันที่ 25 ต.ค.66 เรื่อง แจ้งคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว กรณีได้รับรายงานการสืบสวนจากชุดคลี่คลายคดีพบว่า เว็บไซต์ www.betflikroyal.net จัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์โดยมีการโฆษณาชักชวนโปรโมทเว็บไซต์พนันออนไลน์ให้ลูกค้าประชาชนทั่วไปเข้าเล่นพนัน
จึงรวบรวมพยานหลักฐานยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขออนุมัติหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้อง ในข้อหาร่วมกันจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ซึ่งพนักงานได้มีการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกรรมของกลุ่มผู้ต้องหากระทำอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐาน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว เป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.-7 เม.ย.2567
โดยทรัพย์สินประเภทเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ต้องหาในคดีนี้ถูกอายัดทั้งสิ้น 11 รายการ มูลค่ารวม 8,293,653 บาท พร้อมดอกผล ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ที่ยึดมีทั้งสิ้น 244 รายการ มีราคาประเมิน 33,151,546 บาท พร้อมดอกผล ซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดและอายัด จำนวน 255 รายการ รวมราคาประเมิน 41,445,199 บาท พร้อมดอกผล
ทั้งนี้ นอกจากเงินสด เครื่องประดับ พระเครื่อง และกระเป๋าแบรนด์เนมหลายรายการของ น.ส.ธันยนันท์ สุจริตชินศรี หรือ “มินนี่” อายุ 26 ปี จะถูกยึดแล้ว ยังมีทรัพย์สินรายการอื่นของผู้ต้องหาร่วมขบวนการที่น่าสนใจด้วย อาทิ พ.ต.อ.เขมรินทร์ พิสมัย ถูกยึดเงินสดในบัญชีธนาคารทั้งสิ้น 3 บัญชี มียอดเงินทั้งสิ้น 749,587.66 บาท, พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยเกตุ ถูกยึดเงินสด 461,900 บาท, ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว ถูกยึดสร้อยทองรูปพรรณ แผ่นทอง รวม 3 รายการ มูลค่า 57,900 บาท ถูกยึดพระเครื่องเหรียญหลวงปู่ทวดรุ่นอภิมหาเมตตา มหาโพธิสัตว์ เจริญลาภ เจริญยศ เนื้อนวะ มูลค่า 8,000 บาท และถูกยึดนาฬิกาข้อมือ มูลค่า 4,000 บาท