xs
xsm
sm
md
lg

จับตา “เลือกตั้งไต้หวัน” จุดชี้ขาดสัมพันธ์จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาเลือกตั้งใหญ่ไต้หวัน แนวโน้ม “ไล่ ชิงเต๋อ” ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่สนับสนุนเอกราชไต้หวันจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ทำให้ความตึงเครียดกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต่อเนื่องมา 8 ปีถึงจุดชี้ขาด ไต้หวันจะเผชิญกับแรงกดดันจากจีนอย่างเต็มพิกัด



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเลือกตั้งใหญ่ในไต้หวันที่มีขึ้นวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2566 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี สมัยที่ 16 และ สมาชิกสภานิติบัญญัติ สมัยที่ 11 โดยมีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ 19.5 ล้านคน และคาดว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งได้ในช่วงดึกของวันเสาร์ที่ 13 มกราคมนั่นเอง

ทั้งนี้ การเมืองไต้หวันมีการแบ่งสี-แบ่งขั้วอย่างชัดเจน โดย 2 พรรคการเมืองหลัก คือ 1.พรรคก๊กมินตั๋ง พรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคก๊กมินตั๋ง ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คือนายโหว โหย่วอี๋ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไต้หวัน ที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการนคร นิวไทเป


2.พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคฝ่ายเสรีนิยมที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นพรรคของคนไต้หวันแท้ ๆ มีจุดยืนสนับสนุนเอกราชไต้หวัน ผู้นำคนปัจจุบัน คือ นางไช่ อิงเหวิน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว 2 สมัย 8 ปี จึงลงรับสมัครเลือกตั้งไม่ได้อีก 

พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าใช้ สีเขียว เป็นสัญลักษณ์ ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คือนายไล่ ชิงเต๋อ อดีตนายแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นนักการเมือง เคยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการนครไถหนาน, เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และปัจจุบันเป็น รองประธานาธิบดี คู่กับนางไช่ อิงเหวิน

นายไล่ ชิงเต๋อ
การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีความพิเศษกว่าครั้งก่อน ๆ คือมีผู้สมัครจาก พรรคการเมืองขั้วที่ 3 คือ พรรคประชาชนไต้หวัน พรรคนี้ใช้สีขาวเป็นสัญลักษณ์ โดยคนที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี คือ นายเคอ เหวินเจ๋อ นายแพทย์ที่ผันตัวมาเล่นการเมือง จนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงไทเป

พรรคการเมืองขั้วที่ 3 คือ พรรคประชาชนไต้หวัน ทำให้การเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้ ฐานเสียงของฝ่ายอนุรักษ์นิยม คือ พรรคก๊กมินตั๋งถูกแบ่งออกไป และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีโอกาสชนะการเลือกตั้งสูง


ฐานเสียงของ 2 พรรคใหญ่ แบ่งข้างชัดเจน

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การเมืองของไต้หวันพัฒนาจนมีลักษณะเฉพาะ คือ ฐานเสียงของ 2 พรรคการเมืองใหญ่แบ่งข้างอย่างชัดเจน ได้แก่

พรรคก๊กมินตั๋ง มีฐานเสียงจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม, กลุ่มทุนธุรกิจและชนชั้นกลาง, ผู้สูงอายุ, คนที่อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งคนที่มีธุรกิจ และมีความผูกพันกับจีน

นายโหว โหย่วอี๋
พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีฐานเสียงจากกลุ่มเสรีนิยม, กลุ่มทุนใหม่, หนุ่มสาวรุ่นใหม่ และคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนไต้หวันแท้ ๆ ไม่ใช่คนจีน

ในเชิงพื้นที่ พรรคก๊กมินตั๋งจะยึดพื้นที่ภาคเหนือออกของไต้หวันที่เป็นเมืองใหญ่ ส่วนพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าจะยึดพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีความเป็นท้องถิ่นสูง จนมีคำกล่าวว่า “ภาคเหนือสีน้ำเงินภาคใต้สีเขียว”

จากผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา ไต้หวันจะผลัดขั้วอำนาจทุก ๆ 8 ปี หรือก็คือ 2 สมัยของประธานาธิบดี ซึ่งในปีนี้ก็ครบรอบ 8 ปีที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนขั้วรัฐบาลจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มาเป็น พรรคก๊กมินตั๋ง แต่ว่าในการเลือกตั้งในปีนี้ ผลโพลมีแนวโน้มสูงว่า จะไม่มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ คือนายไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของไต้หวัน

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมฐานเสียงแตก จับตาได้ ส.ส. เกินครึ่งหรือไม่


สาเหตุที่ นายไล่ ชิงเต๋อ มีโอกาสชนะเลือกตั้งสูง ก็เพราะสาเหตุสำคัญคือ หนึ่ง การเลือกตั้งครั้งนี้มี “พรรคขั้วที่ 3” คือ พรรคประชาชนไต้หวัน ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมฐานเสียงแตก

นายเคอ เหวินเจ๋อ หัวหน้าพรรคประชาชนไต้หวัน เดิมเป็นหัวหน้าคณะแพทย์ประจำตัวของอดีตประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยน จากนั้นได้วางมีดหมอมาเป็นนักการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงไทเปในนามอิสระ โดยพึ่งพาฐานเสียง “สีเขียว” ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ซึ่งไม่ส่งผู้สมัครลงแข่ง จนชนะเลือกตั้ง

3 ผู้สมัครประธานาธิบดีไต้หวัน นายโหว โหย่วอี๋ นายไล่ ชิงเต๋อ และนายเคอ เหวินเจ๋อ
แต่ว่าต่อมา นายเคอ เหวินเจ๋อ ได้เปลี่ยนท่าทีจากฝ่ายก้าวหน้าไปเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม จนชนะเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงไทเป สมัยที่ 2 และมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในครั้งนี้

นายเคอ เหวินเจ๋อ แย่งฐานเสียงของพรรคก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น-คนชั้นกลาง เขาใช้การหาเสียงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เสนอตัวเป็นทางเลือกใหม่ ด่าทั้ง 2 พรรค คือ ด่าทั้งพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

การมีขั้วที่ 3 ส่งผลต่อพรรคก๊กมินตั๋งมาก เพราะว่า ฐานเสียงฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่เข้มแข็ง และไม่กระตือรือร้นเท่ากับฝ่ายพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

สอง ผู้สมัครของพรรคก๊กมินตั๋ง ไม่โดดเด่น

นายโหว โหย่วอี๋ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไต้หวัน เมื่อมาเป็นนักการเมืองก็ไม่ได้มีผลงานโดดเด่นอะไร ถึงแม้จะสร้างภาพว่า “เป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง” แต่ว่าก็หนีไม่พ้นภาพลักษณ์ “สีเทา” ของอดีตตำรวจ

นายโหว โหย่วอี๋ มีประสบการณ์ทางการเมืองน้อยมาก เพราะเป็นตำรวจมาทั้งชีวิต เพิ่งเป็นผู้ว่าการนครนิวไทเป แค่ 5 ปี เทียบไม่ได้กับ นายไล่ ชิงเต๋อ คู่แข่งจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ที่อยู่ในวงการการเมืองมานานเกือบ 30 ปี เคยเป็นทั้ง ผู้ว่าการเมือง, ส.ส., นายกรัฐมนตรี, รองประธานาธิบดี

สาม ความล้มเหลวในการรวมเสียงฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ผลโพลทุกครั้งชี้ว่า นายไล่ ชิงเต๋อ มีคะแนนนำอยู่มากพอสมควร ไม่ได้เป็นการแข่งขันที่สูสีเหมือนที่ผ่านมา ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงพยายามที่จะเจรจาให้ นายโหว โหย่วอี๋ กับ นายเคอ เหวินเจ๋อ ลงสมัครรับเลือกตั้งคู่กัน แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ

เมื่อฝ่ายอนุรักษ์นิยมรวมเสียงไม่ได้ ย่อมเป็นประโยชน์กับ นายไล่ ชิงเต๋อ เพราะว่าไต้หวันใช้ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง ไม่ใช่การรวมเสียง สส. ในรัฐสภาเพื่อเสนอชื่อนายกฯ เหมือนประเทศไทย ดังนั้น ผู้ชนะที่ได้คะแนนสูงที่สุด แม้ว่าจะชนะแค่ 1 คะแนนเสียงก็จะได้เป็นประธานาธิบดี

สิ่งที่ต้องจับตาจาการเลือกตั้งครั้งนี้มีอยู่ 2 เรื่อง ก็คือ

1.นายไล่ ชิงเต๋อ จะชนะด้วยคะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คือ ได้คะแนนเสียงมากกว่าคู่แข่งอีก 2 คนรวมกันหรือไม่ ? ซึ่งจะสะท้อนฉันทามติของประชาชนชาวไต้หวันว่า ต้องการให้เขาเป็นประธานาธิบดีจริง ๆ ไม่ใช่เพราะว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมตัดคะแนนเสียงกันเอง จนได้เป็น “ประธานาธิบดีส้มหล่น”

2.พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า จะได้เสียง ส.ส. เกินครึ่งของสภาหรือไม่? สภาชุดปัจจุบันที่เลือกตั้งเมื่อปี 2563 จำนวน 113 คน พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามีเสียงเกินครึ่ง คือ 61 คน ส่วนพรรคก๊กมินตั๋งมี ส.ส. แค่ 38 คน

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นไต้หวันเมื่อปี 2565
แต่ว่าแค่ 2 ปีต่อมา ในการเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2565พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ภายใต้การนำของนางไช่ อิงเหวิน พ่ายแพ้ย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคไต้หวันกลับมาเป็นสีน้ำเงินของพรรคก๊กมินตั๋งอีกครั้งเหลือแค่พื้นที่ภาคใต้ ที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า สีเขียว ยังคงรักษาฐานเสียงเอาไว้ได้

ถึงแม้ นายไล่ ชิงเต๋อ จะได้เป็นประธานาธิบดี แต่ว่าถ้ามีเสียง ส.ส. ในสภาไม่เกินครึ่ง ก็จะทำให้การทำงานของรัฐบาลยากลำบากมาก ภาพการประท้วงป่วนสภา ทะเลาะเบาะแว้ง ถึงขั้นลงไม้ลงมือกันกลางสภาแบบในอดีต อาจจะหวนกลับมาอีกครั้ง


ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน ในปี 2563 นางไช่ อิงเหวิน ใช้กลยุทธ์ “เขียนเสือให้วัวกลัว” สร้างภาพภัยคุกคามจากจีน โหนกระแสการประท้วงฮ่องกง บอกว่า “วันนี้ฮ่องกง วันหน้าไต้หวัน” ทำให้ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 8 ล้านคะแนน หรือคิดเป็น 57.13% ของผู้ลงคะแนนทั้งหมด

ไช่ อิงเหวิน ใช้นโยบาย “เลือกข้าง” ตะวันตก ยั่วยุจีนด้วยการเชิญนักการเมืองชาติตะวันตกมาเยือนไต้หวันอย่างถี่ยิบ ซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ด้วยเงินมหาศาล และยังเพิ่มระยะเวลาการเกณฑ์ทหาร ทำให้เสียงสนับสนุนนางไช่ อิงเหวิน ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว และทำให้พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของเธอ พ่ายแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่น ในเวลาแค่ 2 ปีต่อมา

และวันนี้ เธอกำลังส่งไม้ต่อให้กับ นายไล่ ชิงเต๋อ ที่มีจุดยืนเรื่องเอกราชไต้หวันเข้มข้นยิ่งกว่า


“ไล่ ชิงเต๋อ - เซียว เหม่ยฉิน” นักปั่นไต้หวันแยกประเทศตัวยง

นายไล่ ชิงเต๋อ เคยประกาศต่อสาธารณะหลายครั้งว่า “ไต้หวันเป็นรัฐอิสระอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องประกาศเอกราช” และยังบอกด้วยว่า “จีนกับไต้หวันไม่เกี่ยวพันกัน”

นายไล่ ชิงเต๋อ เคยส่งบทความไปเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ วอล สตรีท เจอร์นัล ชื่อว่า “แผนของข้าพเจ้าในการรักษาสันติภาพระหว่างจีนกับไต้หวัน” ระบุถึงหลัก 4 ประการ คือ
1. เสริมศักยภาพของกองทัพ เพื่อรับมือศัตรู
2.เสริมความมั่นคงให้เศรษฐกิจ ลดการพึ่งพาจีน
3.กระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรชาติตะวันตก และญี่ปุ่น
4.รักษาการติดต่อกับผู้นำจีน โดยต้องเสมอภาคและมีศักดิ์ศรี

ความแตกต่างระหว่างนายไล่ ชิงเต๋อ กับ นางไช่ อิงเหวิน ก็คือ ไช่ อิงเหวิน เป็นนักเจรจาต่อรอง ก่อนจะมาเล่นการเมืองก็ผู้แทนการเจรจาของไต้หวัน ยุทธศาสตร์ของไช่ อิงเหวิน ก็คือ ทำให้ฝ่ายเราได้ประโยชน์มากที่สุด ยอมเสียน้อยที่สุด

ส่วนนายไล่ ชิงเต๋อ เป็นนายแพทย์ ที่นิยามตัวเองว่าเป็น “ผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวันที่สอดคล้องกับความเป็นจริง” นายไล่ ชิงเต๋อ มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจมากกว่า แต่ขณะเดียวกัน ด้วยภูมิหลังที่เป็น “หมอ” ก็รู้ว่าต้องไม่บุ่มบ่าม ไม่งั้น “คนไข้” อาจจะ “ตาย” ได้

บุคคล ที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งคือ ผู้สมัครเป็นรองประธานาธิบดีคู่กับ นายไล่ ชิงเต๋อ คือ ผู้หญิงที่ชื่อว่า “เซียว เหม่ยฉิน” เธอมีพ่อเป็นคนไต้หวัน แม่เป็นชาวอเมริกัน เป็นมือทำงานด้านต่างประเทศของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ามากว่า 10 ปี จนได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้แทนไต้หวัน หรือก็คือ “ทูตไต้หวัน” ประจำสหรัฐฯ

ไล่ ชิงเต๋อ - เซียว เหม่ยฉิน
จุดยืนเรื่องเอกราชไต้หวันของนางเซียว เหม่ยฉิน เรียกได้ว่า “ฮาร์ดคอร์” ยิ่งกว่านายไล่ ชิงเต๋อ ทำให้เธอถูกสำนักงานกิจการไต้หวัน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะรัฐมนตรีจีน ขึ้นบัญชีดำเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ว่าเป็น “ผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวันตัวยง” โดยมีชื่ออยู่ในลำดับที่ 4 จากทั้งหมด 10 คน(นางไช่ อิงเหวิน และนายไล่ ชิงเต๋อ ไม่อยู่ในบัญชีดำของทางการจีน)

อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลังการเลือกตั้ง ?


หากชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี นายไล่ ชิงเต๋อ จะดูแลยุทธศาสตร์ภายในของไต้หวัน ส่วน เซียว เหม่ยฉิน ที่เป็นรองประธานาธิบดี จะรับผิดชอบยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยเมื่อดูจาก “หลักการ 4 ประการ” ที่นายไล่ชิง เต๋อ เคยประกาศไว้ ก็จะมองเห็นอนาคตของไต้หวันได้ คือ

-ไต้หวันจะซื้ออาวุธเพิ่มขึ้น เปิดทางให้ทหารสหรัฐฯ ช่วยฝึกฝนกองทัพไต้หวัน

-แยกตัวจากจีนในทางเศรษฐกิจ สร้างห่วงโซ่อุปทานร่วมกับชาติตะวันตก

-ทำให้ประเทศต่างๆทั่วโลก รู้สึกว่า ขาดไต้หวันไม่ได้ โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ประเทศต่าง ๆ จะต้องเดือดร้อนถ้าจีนคุกคามไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์จะขาดแคลน การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จะเผชิญปัญหา

-ในทางการเมือง ไต้หวันจะเลือกข้างชาติตะวันตกอย่างชัดเจน ด้วยการสร้างวาทกรรมเพื่อให้ชาติประชาธิปไตยร่วมกันปกป้องไต้หวัน เช่น “วันนี้ฮ่องกง วันหน้าไต้หวัน” “ไต้หวันจะไม่เป็นยูเครน 2” “ไต้หวันเกิดเรื่อง ญี่ปุ่นเดือดร้อน” เป็นต้น

จีนเดินหน้ากดดันเต็มพิกัด

ฝั่งจีน ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งไต้หวัน จีนแผ่นดินใหญ่ได้ปฏิบัติการ “กวนประสาท” เช่น ส่งเครื่องบินและเรือไปลาดตระเวนเฉียด ๆ พรมแดน, ส่งบอลลูนจีนไปลอยอยู่เหนือช่องแคบไต้หวันโดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีบอลลูนลอยจากจีนแผ่นดินใหญ่มาใกล้กับไต้หวัน 10 ลูก ซึ่งหลายลูกลอยข้ามน่านฟ้าไต้หวัน


ที่ผ่านมาเป็นแค่ “ออเดิฟ” ทางการจีนเตรียม “ชุดใหญ่ไฟกระพริบ” ไว้แล้ว หลังจากประเมินว่า ไล่ ชิงเต๋อ - เซียว เหม่ยฉิน น่าจะชนะการเลือกตั้ง เป็นต้นว่า

-ยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีตามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-ไต้หวัน หรือ เอ็กฟ่า Economic Cooperation Framework Agreement

-นักธุรกิจไต้หวันที่ลงทุนในจีน ที่ทุกวันนี้ได้รับสิทธิพิเศษเท่ากับคนจีน ไม่ถือเป็นธุรกิจต่างชาติ อาจจะเผชิญแรงกดดัน เช่น ถูกลดสิทธิพิเศษ หรือ ถูกตรวจสอบภาษี

-ผลิตภัณฑ์จากไต้หวันจะเผชิญการกีดกันการนำเข้าจากจีน เช่น กำแพงภาษี, การตรวจโรคและแมลงที่เข้มงวด

-การลาดตระเวนของเครื่องบินและเรือจีนจะเพิ่มความถี่ จนอาจกลายเป็น “นิวนอร์มัล” ที่ไต้หวันต้องยอมรับ และอาจจะมีการซ้อมรบ บริเวณรอบไต้หวัน

-บอลลูนลอยข้ามช่องแคบไต้หวัน เป็นเครื่องมือปั่นป่วนใหม่ เพราะบอลลูนลอยในระดับความสูงใกล้เคียงกับความสูงของเครื่องบินโดยสาร ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน

-จีนจะเพิ่มการ “แทรกซึม” ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งการก่อกวนทางไซเบอร์, การซื้อตัวนักการเมือง, สื่อมวลชน, อินฟลูเอนเซอร์ ยิ่งถ้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ไม่ได้เสียง ส.ส. ส่วนใหญ่ในสภา จีนจะยิ่งทำให้ การเมืองภายใน ของไต้หวันเต็มไปด้วยความอลหม่าน

มาตรการเหล่านี้จะใช้หรือไม่ ใช้อย่างไร ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาลใหม่ของไต้หวัน จีนไม่จำเป็นต้องใช้กระสุนแม้แต่นัดเดียว เพราะจีนมี “เครื่องมือ” ที่จะใช้กดดันไต้หวันได้มากมาย และ จีนรอได้ ! เหมือนที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้กล่าวในสุนทรพจน์ในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม 2566 ว่า “ความเป็นเอกภาพของมาตุภูมิ เป็นความแน่นอนทางประวัติศาสตร์”


“ท่านผู้ชมที่ติดตามผมมาตลอดจะทราบดีว่า ผมเคยเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง จีนกับฮ่องกง และจีนกับไต้หวันว่า ฮ่องกงกับจีนนั้นเหมือนลูกที่ถูกพรากไปจากพ่อแม่แล้วกลับคืนสู฿่อ้อมอก ส่วนจีนกับไต้หวัน เหมือนพี่น้องที่ทะเลาะกันแล้วแยกบ้านออกไป

“แน่นอนว่า ไต้หวันกับฮ่องกง มีสถานะที่แตกต่างกัน คนไต้หวันที่รู้สึกว่าคนจีนก็ลดลงเหลือไม่ถึง 3% แล้ว แต่ว่าพี่น้องก็อยู่ร่วมกันได้ เกื้อกูลกันได้ ไม่ใช่ว่าหาเรื่องชวนทะเลาะกันตลอดเวลา ปลุกกระแสความเกลียดชัง ให้เห็นขี้ดีกว่าไส้  เพราะว่าถึงอย่างไรก็ตาม เ
ลือดย่อมข้นกว่าน้ำนายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น