xs
xsm
sm
md
lg

สัมพันธ์ลึก “เจ้าสัว”-นักการเมือง โมโนเรลรางร่วง-ล้อหลุดไม่สน เร่งเปิดเดินรถ รับเงินสนับสนุน 2,200 ล้าน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โมโนเรลสายสีชมพูรางจ่ายไฟร่วง สายสีเหลืองล้อหลุด สะท้อนความชุ่ยแต่เจ้ากระทรวงคมนาคมก็ไม่กล้าหือกับ “เจ้าสัว” ผู้รับสัมปทาน ไม่มีบทลงโทษใดๆ แถมยอมทำตามใบสั่งให้เปิดเดินรถไปก่อน เพื่อรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 2,200 ล้าน เผยสายสัมพันธ์ “รมช.สุรพงษ์” เด็ก “เจ๊แดง” กับ “คีรี” โยงถึง “ชั้น 14” งานนี้พิสูจน์ชัด “เงิน” สำคัญกว่าความปลอดภัยของประชาชน ล่าสุดข่าวแว่วมากำลังหาช่องล้มประมูลสายสีส้ม



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุรางนำกระแสไฟฟ้าของรถไฟฟ้าโนโนเรลสายสีชมพูหลุดร่วงจากทางวิ่งลงสู่พื้นถนนเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ต่อเนื่องด้วยเหตุล้อรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองตกใส่รถแท็กซี่ได้รับความเสียหาย บริเวณเทพารักษ์ กม.3 เมื่อวันอังคารที่ 2 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา


อุบัติเหตุทั้งสองครั้งไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะเหตุเกิดในช่วงเวลาที่ไม่มีผู้คนสัญจรบนท้องถนนมากนัก แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความไม่ปลอดภัยจากงานก่อสร้างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น


เหตุการณ์ทั้ง 2 ครั้ง คนในวงการก่อสร้างทราบดีว่า ตามมาตรฐานแล้วถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง และจะนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ของรถไฟฟ้าทั้งสองสาย ที่มีคนตั้งชื่อให้น่ารักน่าชังว่า “น้องนมเย็น” คือสายสีชมพูและ “น้องเก็กฮวย” คือสายสีเหลือง

แต่ความเป็นจริงรถไฟฟ้าสองสายนี้กลับไม่น่ารักตามชื่อ กำลังเป็นความน่ากลัวของประชาชนผู้ใช้บริการ และ คนใช้รถใช้ถนนที่ต้องหวั่นระแวงว่า จะมีอะไรหล่นมาจากฟ้าใส่หัวตัวเอง หรือ รถยนต์ นอกจากรางนำไฟฟ้า และ ล้อรถไฟฟ้า


นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงเบื้องหลังกัน

เพราะเหตุที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เป็นความบังเอิญ และ ไม่บังเอิญอีกเช่นกันที่รถไฟฟ้าที่มีปัญหาทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลือง เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรล เจ้าของผู้รับสัมปทานเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่าง บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เช่นเดียวกัน

สำหรับบริษัท บีทีเอส นั้นก็รู้กันว่าเป็นของ “เจ้าสัวคีรี” นายคีรี กาญจนพาสน์ ส่วนบริษัท ซิโน-ไทยฯ เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างของตระกูล “ชาญวีรกูล” ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


ทั้งสายสีชมพูและ สายสีเหลือง บริษัทฯ ของตระกูลนายอนุทินเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง รับผิดชอบงานโยธา ส่วนงานระบบและการเดินรถไฟฟ้าดำเนินการโดยบีทีเอสของนายคีรี

งานนี้ทั้ง ๆ ที่เห็นกันอยู่แล้วว่า ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมีความเสี่ยงสูงแค่ไหน กับความห่วยของงานก่อสร้างและระบบความปลอดภัยที่โป๊ะแตกออกมา แต่กลับไม่มีบทลงโทษใด ๆ ตามมาจากกระทรวงคมนาคม ต้นสังกัดของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสองสาย มิหนำซ้ำกลับเร่งให้เปิดบริการ โดยส่วนที่เป็นรางนำไฟฟ้าที่ร่วงยังซ่อมไม่เสร็จ และที่ล้อหลุดก็ยังไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยโดยละเอียด

เบื้องหลังสายสีชมพู ใบสั่งให้เร่งเปิดเพื่อเบิกเงินสนับสนุน 2,200 ล้าน

กรณีรถไฟฟ้าสายสีชมพู หลังเกิดเหตุรางนำไฟฟ้าร่วง เจ้ากระทรวงคมนาคม ทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของฉายา“สุริยะมือเหล็ก”รัฐมนตรีว่าการ และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ที่กำกับดูแลระบบรางได้ลงไปตรวจพื้นที่


นายสุริยะ ออกแอ็กชั่นทำขึงขังสั่งการให้ปิดชั่วคราวทันที ขณะที่สาเหตุ ก็ได้อธิบายกับสื่อว่ามาจากเรื่องของ “ดิน” ส่วน รมช.สุรพงษ์ ก็บอกว่า “รางนำไฟฟ้า” ที่ร่วงเป็นเพราะได้รับผลกระทบจากงานก่อสร้างบริเวณใกล้เคียง

เหตุผล กับ คำอธิอบายที่ได้ฟังแล้วน่าตลก แบบนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ออกจากปากคนระดับรัฐมนตรีคมนาคมทั้งคู่

คำถามก็คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าภาษีของประชาชนมูลค่า 4 หมื่นกว่าล้านบาท เพราะอะไร? เพราะเหตุใด? ทำไมจึงเปราะบาง และอ่อนไหวได้ขนาดนี้เพียงแค่ “ดิน” และ “งานก่อสร้างข้างเคียง” ก็สามารถทำให้เกิดปัญหากับรางนำไฟฟ้าจนร่วงลงสู่พื้นอย่างนั้นหรือ?

ที่เหลือเชื่อกว่านั้นก็คือ เอกชนผู้รับสัมปทาน ผู้รับเหมางานโยธา ไม่โดนปรับ ไม่ถูกลงโทษอะไรเลยจาก “ความชุ่ย” ที่ปรากฏให้เห็น


โดย เจ้าของฉายา“สุริยะมือเหล็ก”เปลี่ยนเป็นมือไม้อ่อนไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ แค่คาดโทษเบา ๆ เอาไว้ว่า คราวหน้าอย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ที่เหลือก็โอนอ่อนผ่อนตาม นายสุรพงษ์ รัฐมนตรีช่วยฯ ให้ช่วย ๆ เอกชนเปิดบริการกันไป เพียงเท่านี้จริงๆ

ทั้ง ๆ ที่แนวรางนำไฟฟ้าที่เป็นปัญหาร่วงหล่นลงมานั้น ว่ากันว่า ยาวกว่า 5 กิโลเมตร จากระยะทางรวมของเส้นทางตลอดทั้งสาย 34.5 กิโลเมตร หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของทั้งโครงการ

ส่วนที่ร่วงลงมาเอกชนผู้รับสัมปทานชี้แจงว่า ต้องรออะไหล่มาเปลี่ยน ตอนนี้กำลังเร่งสั่งซื้อตัวรางจ่ายกระแสไฟฟ้า และ อุปกรณ์ยึดรางจ่ายไฟฟ้า หรือ คลิปยึดจากผู้ผลิตแล้ว ซึ่งระยะทาง 5 กิโลเมตร ต้องใช้จำนวน 1,700 ตัว คาดว่าจะมาถึงประเทศไทยประมาณปลายเดือนมกราคม 2567 นี้


อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นายสุรพงษ์ กลับลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและทดลองเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูอีกครั้ง จากสถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 ถึงสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี แล้วสรุปเอาง่าย ๆ ว่า จาก 7 สถานีที่ประสบเหตุดังกล่าว ตั้งแต่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี - สถานีแยกปากเกร็ด ปัจจุบันเหลือเพียง 4 สถานีที่ยังไม่สามารถเดินรถได้เต็มรูปแบบ ต้องเดินรถทางเดียวไปก่อน ได้แก่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สถานีแคราย สถานีสนามบินน้ำ และสถานีสามัคคี

ดังนั้น ตั้งแต่ เวลา 17.00 น. วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา รถไฟฟ้าสายสีชมพูได้เปิดให้ประชาชนใช้บริการทดลองเดินรถทั้ง 30 สถานีอีกครั้งทั้งหมด โดยปรับรูปแบบการเดินรถให้ผู้ที่โดยสารจากสถานีศูนย์ราชการนนทบุรีหรือจากสถานีมีนบุรี ต้องแวะเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกรมชลประทาน จากนั้นจึงจะโดยสารต่อไปยังสถานีปลายทางได้ ซึ่งการโดยสารแบบทางเดียวจะใช้เวลารอขบวนรถประมาณ 15-20 นาที


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ในฐานะกรรมการ บ.นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล (NBM) เอกชนที่รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีชมพู กล่าวว่า หลังจากหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แล้ว การเปิดให้บริการเก็บค่าโดยสาร 15 บาท - 46 บาท จะเริ่ม วันที่ 7 มกราคม 2567 นี้ โดยจะเก็บค่าโดยสารในอัตรา 13-38 บาท โดยจะงดเว้นไม่เก็บค่าโดยสารใน 4 สถานีที่ยังเดินรถทางเดียวอยู่ ซึ่งจะเก็บในอัตรานี้ไปถึงกลางเดือนมกราคม 2567

ความหมายนี้แปลว่าอะไร? สรุปว่า รัฐได้อนุญาตให้รถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดให้บริการ และ จะเก็บค่าโดยสารในวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคมนี้ โดยที่ยังมีคำถามคาใจประชาชนว่า มีการตรวจสอบความปลอดภัยทั้งระบบแล้วหรือ ทั้ง ๆ ที่เหตุเพิ่งเกิดขึ้นแบบสด ๆ ร้อน ๆ และอะไหล่ที่จะนำมาเปลี่ยนที่ต้องสั่งจากต่างประเทศจะมาถึงในปลายเดือนมกราคม 2567

ทั้ง นายสุริยะ รมว.คมนาคม และ นายสุรพงษ์ รมช. ต่างให้สัมภาษณ์การันตี แบบเอาหัวเป็นประกันถึงความปลอดภัย 100%


แต่โดยหลักการสำหรับการบริหารจัดการระบบรถไฟฟ้า หรือ การคมนาคม และก่อสร้างไม่ว่าจะที่ใด “Safety First” หรือ “ความปลอดภัยต้องมาก่อน” ไม่ใช่หรือ อย่างน้อย ๆ เจ้าของสัมปทาน หรือ บีทีเอส ควรต้องมีการตรวจสอบจนมั่นใจ จากนั้นภาครัฐเอง โดย รฟม. หรือ องค์กรกลาง เข้ามาร่วมตรวจสอบซ้ำ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นเสียก่อนแล้วค่อยให้เปิดบริการจะดีกว่าหรือไม่?

นี่คมนาคมสรุปเอาตามบีทีเอสว่าได้ตรวจสอบแล้ว สามารถเดินรถได้ ก็ไม่รู้ว่าตรวจสอบอย่างไร ของที่สั่งยังมาไม่ถึงเลย ยังไม่ได้ติดตั้งเลย ทำไมจึงรีบร้อน รีบเร่งขนาดนี้ ?

การเร่งรีบดันทุรังให้เปิดบริการทั้ง ๆ ที่เพิ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้นนี้ มีรายงานว่า หลังเกิดปัญหารางนำไฟฟ้าร่วง นายสุรพงษ์ เรียกผู้ว่า รฟม.มาสั่งการ จากเดิมที่จะให้เลื่อนการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูจากกำหนดเดิมวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ออกไปก่อน แต่นายสุรพงษ์ได้เรียกผู้ว่า รฟม.มาคุยพร้อมกับสั่งการให้ รฟม.ต้องอนุญาตให้คู่สัญญาก็คือกลุ่มบริษัทบีทีเอสของนายคีรี เปิดเดินรถไปตามปกติกำหนดเดิมโดยไม่มีเงื่อนไข


มีรายงานอีกว่า เจ้าสัวคีรีมีใบสั่งมาว่า หาก รฟม.ไม่อนุญาตให้เปิดบริการจะเกิดปัญหากับเงื่อนไขการรับ “เงินสนับสนุน” จากรัฐบาลได้ หรือ พูดง่าย ๆ ก็คือ เจ้าสัวอยากได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ไม่ขอรออะไรแล้ว ไม่สนเรื่องความปลอดภัย เงื่อนไขถ้าเปิดบริการได้ก็ได้รับเงิน จึงต้องรีบเปิด


ทั้งนี้เงินสนับสนุน หรือ เงินสนับสนุนตามมติคณะรัฐมนตรีนั้น ในสัญญาเขียนไว้ว่า เป็นเงินที่รัฐบาลสนับสนุนค่างานโยธาที่กำหนดไว้จำนวน 22,500 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 โดยทยอยจ่ายให้ผู้รับสัมปทานหลังจาก รฟม.ได้ออกหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้งระบบ (Commissioning Certificate) หรือ “ใบเซอร์” แล้ว โดยกำหนดแบ่งจ่ายเป็นรายปีไม่ต่ำกว่า 10 ปี ตกปีละประมาณ 2,200 ล้านบาท

ซึ่งอันที่จริงหากรอติดตั้งรางที่ร่วงให้เสร็จและตรวจสอบจนมั่นใจแล้ว ก็น่าจะสามารถเปิดเดินรถได้ในเดือนกุมภาพันธ์ อีกเดือนเดียว แต่ก็รอไม่ได้

ได้ยินว่า นายสุรพงษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยุคนี้ สั่ง รฟม.ให้ออก“ใบเซอร์”แก่รถไฟฟ้าสายสีชมพูเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง ก่อนที่จะเกิดปัญหารางนำไฟฟ้าร่วงประจานผลงานก่อสร้างห่วยไม่กี่วัน


เรียกว่า ได้ “ใบเซอร์” รับรองการให้เปิดบริการได้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่กลับมาเกิดเหตุโป๊ะแตก อุบัติเหตุดันมาเกิดในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ใบเซอร์กำลังจะเอาไปขึ้นเป็นใบเสร็จรับเงินก้อนแรก 2,200 ล้านบาท ก็เลยสะดุด

แต่จะให้รอต่อไปเจ้าสัวไม่ยอม เพราะ ความล่าช้าที่ผ่านมาเงินที่กู้แบงก์มาลงทุน ดอกเบี้ยก็เพิ่มสูงขึ้นไปทุกวัน อย่ากระนั้นเลย ต้องเร่งให้รัฐจ่ายเงินสนับสนุนโดยเร็ว

นี่เองเป็นที่มาเบื้องหน้าเบื้องหลังว่า เพราะเหตุใดรถไฟฟ้าสายสีชมพูต้องรีบเร่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และจะเก็บค่าโดยสารอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มกราคม 2567 นี้ ท่ามกลางความอึดอัดคับข้องใจของ คน รฟม.ที่ต้องจำยอม เพราะโดนใบสั่งจากเบื้องบน

ถ้าเรื่องนี้มีคนไปร้อง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. รับรองว่า งานเข้าแน่ โดยตามหลักหากยืนอยู่บนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และดำเนินการตามสัญญา รฟม.มีสิทธิ์ที่จะบอกเลิก “ใบเซอร์” หรือ ไม่อนุญาตให้เปิดบริการจนกว่าจะมีผลการตรวจสอบ “ทั้งระบบ” มีความปลอดภัย 100%

การที่บีทีเอสดิ้นรนเปิดให้ได้ และนายสุรพงษ์ รัฐมนตรีช่วยฯ มาบีบ รฟม. ให้ทำตามใบสั่ง ถ้าไม่เช่นนั้นบีทีเอสจะไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐ 2,200 ล้านบาท


สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เมื่อล้อหล่น นายสุรพงษ์จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นบทลงโทษก็ย่อมได้ เช่น สั่งให้ตรวจสอบการเดินรถว่าจะเปิดบริการต่อต้องมั่นใจในความปลอดภัย หรือ สั่งทบทวนการปฎิบัติตามสัญญาการเดินรถหรือ KPI ก่อนที่รัฐจะจ่ายเงินค่าสนับสนุนปีละ 2,000 กว่าล้านบาท เหมือนสายสีชมพูก็ได้แต่เท่าที่ได้ข่าวมา คมนาคมสั่งให้ รฟม.ยอมทำตามกลุ่มบีทีเอส ให้ปรับตารางการเดินรถใหม่ จากความถี่เดิมทุก 5-10 นาที เปลี่ยนเป็น 30-45 นาทีต่อขบวน ถามว่า นี่เป็นบริการของรถไฟฟ้าที่ประชาชนควรได้รับบริการหรือ?

ส่วนสาเหตุที่ล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุดนั้น ทางกลุ่มบีทีเอสอ้างว่าเกิดจากความผิดพลาดจากโรงงานผลิตล้อรถไฟฟ้า แต่คำถามก็คือ รัฐจะมีบริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานไปทำไม? เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วก็โบ้ยทุกเรื่องไปยังบริษัทอื่น ส่วนบีทีเอสที่เป็นคู่สัญญากับรัฐก็ลอยตัว แล้ว รมช.สุรพงษ์ ก็ไม่หือไม่อือ เรียกว่าเชื่อตามบีทีเอส เอกชนอ้างมายังไง รัฐก็ว่าอย่างนั้น !?!

“สุรพงษ์” เด็กใคร?


“ผมรู้ว่าคุณสุรพงษ์คุณเป็นเด็กเจ๊แดง แล้วคุณได้รับคําสั่งจากชั้น 14 โรงพยาบาลตํารวจ ให้มานั่งที่รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ให้ดูแลระบบราง ซึ่งผมไม่รู้ว่าคุณคีรีไปพูดจาตกลงอะไรกับคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ผมเตือนคุณทักษิณ ชินวัตรหน่อย คุณทักษิณคุณอย่าเห็นแก่เงินมากจนเกินไป คุณควรจะเล่นการเมืองให้สะอาดโปร่งใสสักที ทุกวันนี้คุณไม่โปร่งใสเลยแม้แต่นิดเดียว


“วันนี้คุณจะต้องโทร.ไปบอกเลยกับสุรพงษ์ ก็คุณเป็นคนบอกให้จัดโควตาให้สุรพงษ์นั่งนี่หนิ คุณโทรไปบอกเขาสิ บอกคุณภูมิธรรมก็ยังได้ บอกว่าเฮ้ย บอกสุรพงษ์มันหน่อย บอกคีรีด้วย ให้มันรอหน่อย ให้ตรวจสอบให้เรียบร้อยให้ปลอดภัยทุกอย่าง ให้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วค่อยอนุญาตให้ใบเซอร์มา


“แล้วท่านผู้ชมรู้ไหมรถไฟฟ้าสีเหลืองนั้นบีทีเอสอ้างเกิดจากความผิดพลาดจากโรงงานผลิตล้อไฟฟ้า คําถามอย่างนี้ท่านผู้ชม เวลารัฐมีคู่สัญญาเป็นเอกชนสัมปทานเรามีไปทําไม เกิดอุบัติเหตุแล้วก็โบ้ยเรื่องไปบริษัทอื่น ส่วนบีทีเอสมีคู่สัญญากับรัฐก็ลอยตัว ส่วนนายสุรพงษ์ก็ไม่หือไม่อือ เชื่อตามบีทีเอสเอกชนอ้างยังไงรัฐก็ว่าอย่างงั้น ให้คุณทํางานให้เจ้าสัวเค้าเกิดคุ้มนะแต่คุณทํางานมากเกินงาม” นายสนธิกล่าว

หากถามว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กับ นายคีรี กาญจนพาสน์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร คนเป็นรัฐมนตรีถึงยอมทําตามใบสั่งบริษัทเอกชนได้แบบเรียกว่าแทบศิโรราบ ไม่กล้าหือกล้าอือ ก็ต้องย้อนดูประวัตินายสุรพงษ์



นายสุรพงษ์ ปิยโชติ ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นคนตําบลทุ่งสมอ อําเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เริ่มเติบโตมาจากสายนักการเมืองท้องถิ่น เคยเป็นนายก อบต. ต่อมาพัฒนาตัวเองผันตัวเองมาเป็นนายก อบจ. จบอนุปริญญาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลําปาง จบปริญญาตรีเทคโนโลยีการเกษตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีสัตว์ จากคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


ในการเลือกตั้งปี 2554 นายสุรพงษ์ลงเลือกตั้งได้เป็น สส.กาญจนบุรี ในนามพรรคเพื่อไทย ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 วันที่ 14 พฤษภาคม นายสุรพงษ์ไม่ได้ลงเลือกตั้งเอง แต่เป็นแม่ทัพศึกเลือกตั้งเพื่อไทยในกาญจนบุรี สามารถกวาด สส.กาญจนบุรีมาได้ 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 5 ที่นั่ง ทั้งที่ต้องขับเคี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทย

นายคีรี กาญจนพาสน์ นั้น รู้ว่านายสุรพงษ์เป็นเด็ก “เจ๊แดง” (นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของนายทักษิณ ชินวัตร) แน่นอนที่สุด นายทุนก็อยากจะมีเส้นสายทางการเมือง จึงทุ่มเงินลงไปเพื่อช่วยนายสุรพงษ์ในการหาเสียง จํานวนอย่างน้อยก็ครึ่งร้อยล้านบาท 50 ล้านบาทต้องมี และจังหวัดกาญจนบุรีนั่นก็เป็นจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร การใช้เงินซื้อเสียงนั้นก็ยังปรากฏกันทั่วไปไม่มีอะไรผิดปกติ


หลังการเลือกตั้ง นายสุรพงษ์จึงได้รับการตบรางวัลด้วยตําแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยคมนาคม คนที่หนุนหลังนายสุรพงษ์นั้นชัดเจนคือนายคีรี นายสุรพงษ์นั้นเป็นเพื่อนนักเรียนรุ่น วตท.(วิทยาลัยตลาดทุน)รุ่นเดียวกับนายคีรี คือรุ่นที่ 10 ปี 2553 ซึ่งนายคีรีได้รับเลือกเป็นประธานรุ่น เป็นปกติธรรมดาของเจ้าสัวนักธุรกิจใหญ่เมื่อเรียนรุ่นเดียวกับข้าราชการและนักการเมืองก็จะได้รับเลือกให้เป็นประธานเพราะว่าเป็นสายเปย์

แล้วทําไมนายสุรพงษ์ต้องมาดูแลเรื่องระบบราง ก็เพราะความสนิทสนมกันตั้งแต่สมัยเรียน วตท.ด้วยกันนั่นเอง

นายคีรีนั้น ทําธุรกิจรถไฟฟ้าระบบรางตั้งแต่รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง ตลอดจนพยายามที่จะเข้าไปประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่เนื่องจาก รฟม.ได้เปลี่ยนทีโออาร์ใหม่ จากเดิมใครให้ผลตอบแทนแก่รัฐมากที่สุดคนนั้นได้ไป แต่เนื่องจากมีการทักท้วงจากกลุ่มประชาชนและกลุ่มเอ็นจีโอทั้งหลายว่าสายสีส้มนั้นจะวิ่งผ่านใจกลางเมือง ผ่านโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง จึงเปลี่ยนเป็นให้ความสำคัญด้านเทคนิคแทน กลุ่มบีทีเอสรู้ว่าเทคนิคสู้ไม่ได้จึงถอนตัวออกไป แล้วก็ฟ้องคนที่ชนะการประมูล ฟ้องทุกศาล แต่ในที่สุดทุกศาลก้พิพากษาว่าการที่ รฟม.เปลี่ยนทีโออาร์นั้นถูกต้อง

ปัญหาด้านความปลอดภัยของ รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู-สายสีเหลือง “รางร่วง-ล้อหลุด” เป็นบทพิสูจน์ชัดเจนว่า “บีทีเอส” ไม่มีความสามารถทางเทคนิค ไม่เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมความปลอดภัย แค่งานรถไฟลอยฟ้ายังเกิดเหตุอย่างนี้ได้ อย่าไปพูดถึงรถไฟใต้ดินสายสีส้มที่ต้องขุดลอดแม่น้ำ ผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายมหาศาลไม่ว่าจะเป็นวัดพระแก้ว พระบรมหาราชวัง โรงพยาบาลศิริราช พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินเกือบทั้งเส้น

ไม่ผิดจากที่เคยพูดว่าการที่ “บีทีเอส” ไม่เข้าประมูลรถไฟสายสีส้ม เพราะรู้ว่าเทคนิคสู้ไม่ได้ พอตัวเองไม่เข้าประมูลก็ไปตีรวนคนอื่นซึ่งเขาประมูลได้

สิ่งนี้มันได้พิสูจน์แล้วจากกรณีอุบัติเหตุจากความชุ่ย “รถไฟสายสีชมพูและสีเหลือง” อย่างชัดเจน !


“ที่ผมทราบมาล่าสุด นายสุรพงษ์กำลังหาทางจะรื้อการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หาข้อจับผิดที่จะยกเลิกการประมูล ผมจะเตือนไว้ก่อนว่าคดีนี้ถึงศาลแน่นอน คนที่เขาประมูลได้สายสีส้มไม่ได้ทำผิดอะไรเลย ผ่านการฟ้องร้องมาแล้ว จากกลุ่มคนบีทีเอสทั้งสิ้น และศาลได้ตีตราประทับเรียบร้อยแล้วว่าเขาไม่ผิด รฟม.ทำถูกต้อง


“ตามกฎหมายแล้ว คุณไปเที่ยวยกเลิก คุณโดนฟ้องตายเลยงานนี้ แต่ผมฟันธงเลยว่ามีความพยายามนี้อยู่ เพราะที่ปรึกษาคนหนึ่งของบีทีเอสตอนนี้เป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คุณทีวี สอดส่อง กำลังหาช่องทางที่จะล้มการประมูลสายสีส้มให้ได้ แล้วคุณทวี สอดส่อง อยู่พรรคประชาชาติ แล้วใครเป็นนายทุนพรรคประชาชาติ ถ้าไม่ใช่นายคีรี กาญจนพาสน์


“ผมเลยอยากฝากถึง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คุณสุรพงษ์ ปิยโชติ ที่กำกับดูแลระบบรางโดยตรง ว่าทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้น เหมือนที่เขาครหากันหรือเปล่า ความเห็นแก่ได้ ไร้จิตสำนึกของนายทุนเจ้าของสัมปทาน, ผู้รับเหมางานโยธาทำงานชุ่ย, มีนักการเมืองทำตัวเป็น “สมุนรับใช้” คอยรับใบสั่งปกป้องดูแลเอื้อผลประโยชน์ให้ มากกว่าที่จะปกป้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ใช่หรือเปล่า คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และคุณสุรพงษ์ ปิยะโชติ ต้องตอบคำถามนี้” นายสนธิกล่าว

ประกาศหาคนหาย “ดร.สามารถ-ดร.มานะ”

นายสนธิกล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เกิดเรื่องรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูรางร่วง - สายสีเหลืองล้อหลุด ซึ่งเวลาก็ผ่านมาหลายวันแล้ว มีคนตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมคนสองคนที่เคยพูดเจื้อยแจ้วเรื่องรถไฟฟ้าและระบบรางของเมืองไทยได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยจากสื่อ ไม่ออกแสดงความเห็นอะไรบ้างเลย ทั้ง ๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาถ้ามีเหตุการณ์ทำนองนี้ต้องโผล่ออกมาแล้ว


คนแรก ชื่อ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.

คนที่สอง ชื่อ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หรือ ACT

สำหรับ คนแรก ดร.สามารถ นั้นมักจะโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ติดตามเกี่ยวกับค่าโดยสารบ้าง ระบบการจัดการบ้าง ไปจนถึงการประมูลรถไฟฟ้า แต่ช่วงนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเลย ?


ส่วน คนที่สอง ดร.มานะ นิมิตมงคล มาพร้อมชื่อองค์กรที่ฟังดูแล้วคนโกงต้องหนาว คนทุจริตเป็นไข้จับสั่น เคยเคลื่อนไหวบี้คนนั้น บี้คนนี้ ให้ตรวจสอบเบื้องหน้าเบื้องหลังการประมูลโครงการตั้งแต่เล็ก ๆ ไปยันเมกะโปรเจกต์ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็ผสมโรงเห็นพ้องกับ"จอมแฉไปไถไป"อย่าง"นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์"ที่ตอนนี้หายไปไหนก็ไม่รู้แล้ว ซึ่งพอเกิดเรื่องขึ้นมา ณ วันนี้ คนชื่อ ดร.มานะ ก็ทำตัวเป็นใบ้ไปอีกแล้ว

จะบอกว่า เพราะเรื่องรถไฟฟ้าสายสีชมพู กับ สายสีเหลือง มันเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ทำให้ “สามารถ” และ “มานะ” ไม่มีอะไรจะพูด หรือ หรือพูดไม่ออกบอกไม่ถูก ก็คงไม่น่าใช่ ?

เพราะ อย่างน้อย ๆ ดร.มานะที่เคยเป็นตัวตั้งตัวตีจัดเวทีเสวนาสวด “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ก็น่าจะออกแอกขั่นสักหน่อย


ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าจากเหตุ“รางร่วง-ล้อหลุด” ของรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สายที่ ล้วนแล้วแต่มีผู้รับสัมปทานรายเดียวกันคือ บริษัทในกลุ่มบีทีเอส ก็มีประเด็นมากมายให้น่าขุดคุ้ยและหาคำตอบแล้ว เช่น มาตรฐานการก่อสร้างจากกลุ่มผู้รับสัมปทาน-งานโยธาโดยกลุ่มเดียวกัน ทั้ง "เจ้าสัว" คีรี บีทีเอส, ซิโน-ไทยฯ ของตระกูล "ชาญวีรกูล" นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย

รถไฟฟ้าโมโนเรล ทั้ง 2 โครงการมีมูลค่ารวมกันก็เกือบๆ แสนล้านบาท แต่การก่อสร้างยืดเยื้อดีเลย์มากว่า 3 ปี บทจะเร่งปิดจ็อบเพื่อรับเงินสนับสนุนจากรัฐ ก็เร่งทำงานแบบชุ่ยๆ จนเกิดเหตุ"รางร่วง-ล้อหลุด"นี่ละ

ทั้ง “ดร.สามารถ” และ “ดร.มานะ” เคยเชียร์ในเรื่องของการประมูลรถไฟสายสีส้มให้ดูแค่ที่ “ราคา” โดยไม่ต้องสนใจ “เทคนิคก่อสร้าง” วันนี้จะว่ากันอย่างไรก็ต้องวานบอก เพราะชาวกรุงเทพ และปริมณฑลตอนนี้อกสั่นขวัญแขวน เดินก้มหน้าก็ไม่ได้ แหงนมองฟ้าก็กลัวอะไรจะหล่นมาใส่ ขับรถใต้ทางรถไฟฟ้า ก็ขับไปเสียวไปเมื่อไหร่จะโดนกับตัวเองบ้าง

ความปลอดภัยอยู่ตรงไหน? มาตรฐานคืออะไร? “ดร.สามารถ” และ “ดร.มานะ” ต้องจี้ ต้องบี้แล้ว ต้องถามไปเลยว่า ทำงานชุ่ยแบบนี้ เปิดบริการได้ยังไง? อะไหล่ไม่พอซ่อมเอง ต้องรอสั่งของเป็นเดือน ออกแบบห่วย ของห่วย หรือสร้างห่วย งานนี้จะเป็นเพราะนักการเมือง-รัฐมนตรีคนไหนเอื้อประโยชน์ให้ใคร ต้องลากออกมากลางแจ้ง ประจานให้ชาวบ้านได้รู้

นี่แค่เกริ่นเรื่องคน 2 คน ที่ชอบออกมาแอ๊กติ้งเรื่องรถไฟฟ้า ระบบขนส่ง กับการคอร์รัปชัน ยังมีสื่อมวลชนอีกจำนวนมาก ที่พอเกิดเหตุกับรถไฟฟ้าทั้งสองสายที่รับสัมปทานโดยเจ้าสัวคีรี บีทีเอสแต่วันนี้กลับเงียบกริบ เช่น สื่อในเครือเนชั่น ของฉาย บุนนาค Top News ที่เคยออกมาตีปี๊บ ถ่ายทอดสดเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ของ “หมาแก่” นายดนัย เอกมหาสวัสดิ์

ไม่นับรวมกับสื่ออีกหลาย ๆ เจ้าที่กลัวจะถูก “เจ้าสัว” ตัดสปอนเซอร์ ทั้งที่เรื่องนี้เรื่องใหญ่ ทำไมไม่ออกมาเรียกร้องความปลอดภัย ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของการก่อสร้าง และบริหารจัดการรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้ง 2 สาย คือ สายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่เกิดอุบัติเหตุด้านความปลอดภัยซ้อน ๆ กัน เพราะความชุ่ย

หรือเห็นความปลอดภัยของประชาชนสำคัญน้อยว่าอำนาจเงินของสปอนเซอร์?


กำลังโหลดความคิดเห็น