xs
xsm
sm
md
lg

NARIT เผย 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2567 เช็กเลยจะมีปรากฏการณ์อะไรบ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผย 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2567 พร้อมระบุรายละเอียดจะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญอะไรบ้าง และจะเกิดขึ้นเมื่อไร

วันนี้ (4 ม.ค.) เฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ได้สรุป 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2567 ดังนี้ เปิดตัวกันไปแล้วกับ 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2567

NARIT จะมาสรุปรายละเอียดแต่ละประเด็นให้ในโพสต์นี้ ✨

1. ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ

ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลก
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 (วันมาฆบูชา) - ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon)
วันที่ 17 ตุลาคม 2567 - ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon)

ดาวเคราะห์ใกล้โลก
วันที่ 8 กันยายน 2567 - ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี
วันที่ 8 ธันวาคม 2567 - ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

ดวงจันทร์บังดาวเสาร์
ครั้งที่ 1 วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 03.09-04.27 น. (เห็นทั่วไทย)
ครั้งที่ 2 วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 02.19-03.00 น. (เห็นในไทยบางส่วน เฉพาะประเทศไทยตอนบน)

ดาวเคียงเดือน
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 - ดาวอังคาร ดาวศุกร์ เคียงดวงจันทร์
วันที่ 8 มีนาคม 2567 - ดาวอังคาร ดาวศุกร์ เคียงดวงจันทร์
วันที่ 6-7 เมษายน 2567 - ดาวอังคาร ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ เคียงดวงจันทร์

ดาวเคราะห์ชุมนุม
วันที่ 27 มกราคม 2567 - ดาวพุธเคียงดาวอังคาร
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 - ดาวศุกร์เคียงดาวอังคาร
วันที่ 22 มีนาคม 2567 - ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์
วันที่ 11 เมษายน 2567 - ดาวอังคารเคียงดาวเสาร์
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 - ดาวอังคารเคียงดาวพฤหัสบดี

2. เกาะกระแสดาราศาสตร์โลก
ในปี 2567 มีภารกิจสำรวจอวกาศสำคัญ ได้แก่
- ภารกิจ Artemis II โดย NASA เตรียมส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในรอบกว่า 50 ปี (พฤศจิกายน 2567)
- ยาน Europa Clipper โดย NASA สำรวจดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี (ตุลาคม 2567)
- ยาน MMX โดย JAXA สำรวจดวงจันทร์ของดาวอังคาร (กันยายน 2567)
- ยาน Hera โดย ESA สำรวจดาวเคราะห์น้อย Didymos-Dimorphos (ตุลาคม 2567)

3. โครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ระดับโลก
เตรียมติดตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส (VGOS) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ที่จังหวัดเชียงใหม่ และสงขลา เพื่อการวิจัยด้านยีออเดซี และธรณีวิทยา เชื่อมต่อเครือข่ายกับนานาประเทศ

4. NAPA แอปพลิเคชันดูดาวฝีมือคนไทย
จากซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองฝีมือคนไทย สู่แอปพลิเคชันดูดาวในโทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้กลายเป็นแผนที่ดาวดิจิทัล และเครื่องมือช่วยดูดาว ได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา

5. ความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศไทย จับตา NARIT Cube-1 ดาวเทียม CubeSat ฝีมือคนไทย ที่มีแผนจะปล่อยสู่อวกาศในปี 2567 และเผยโฉม TSC-1 พร้อม Payload ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ที่มีแผนจะประกอบขึ้นในห้องปฏิบัติการ Clean Room ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

6. ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศไทย-จีน พัฒนาขีดความสามารถคนไทย ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศเชิงลึก ผลิตอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก เพื่อติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเชิงวิศวกรรมร่วมกันระหว่างสองประเทศ และจีนมีแผนจะส่งไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี พ.ศ. 2569

7. งานพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูง ฐานกล้องโทรทรรศน์ติดตามวัตถุท้องฟ้าความแม่นยำสูง ฝีมือคนไทย ออกแบบและผลิตโดยห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวและวิศวกรรม NARIT อำนวยความสะดวกในการศึกษาวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ห่างไกลจากพื้นโลก อาศัยหลักการควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้องโทรทรรศน์ให้ชี้ไปยังวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการศึกษาด้วยความแม่นยำสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต่อเนื่อง และครบถ้วนสำหรับการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์

8. จับตาผลงานเด่นงานวิจัยดาราศาสตร์
NARIT ร่วมศึกษาหาต้นตอปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดึงเทคโนโลยี และองค์ความรู้ดาราศาสตร์แก้ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ศึกษาวิจัยการประเมินแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยวิเคราะห์หาชนิด และปริมาณสารประกอบอินทรีย์ระเหยจากแหล่งชีวภาพ และตัวติดตามละอองลอยทุติยภูมิของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ที่ชัดเจน ตรงประเด็น สอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ด้วยอุปกรณ์ต้นแบบ Atmospheric LiDAR ที่ออกแบบและผลิตขึ้นเอง สำหรับตรวจจับกลุ่มอนุภาค หรือฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ

9. Amazing Dark Sky in Thailand ชวนขึ้นทะเบียนเป็น #เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
NARIT จับมือหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผลักดันสถานที่เข้าร่วมเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” สถานที่ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย และได้รับสนับสนุนสื่อและอุปกรณ์เพื่อการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ปัจจุบัน มีอุทยานแห่งชาติ หน่วยงาน ชุมชน และภาคเอกชน ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดแล้วทั้งสิ้นจำนวน 30 แห่ง สำหรับผู้สนใจ และประสงค์จะเสนอพื้นที่เข้ารับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ Dark Sky Thailand https://darksky.narit.or.th/

10. หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน แห่งที่ 5 ของไทย : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 5 ของไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) จังหวัดพิษณุโลก เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 หากแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของภาคกลางตอนบน สนับสนุนการบริการวิชาการดาราศาสตร์ งานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา สร้างความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการของชุมชน และท้องถิ่น
ชมคลิป 10 ประเด็นฯ ปี 2567 ได้ที่ https://www.facebook.com/NARITpage/videos/310171548061640/


กำลังโหลดความคิดเห็น