ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อดีตอธิการบดีหญิงคนแรก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแก่อนิจกรรม รวมอายุได้ 89 ปี เป็นผู้ขับเคลื่อนการจัดตั้งศูนย์รังสิต ก่อตั้งคณะด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ รวมทั้งก่อสร้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้บริการผู้ป่วยในพื้นที่ภาคกลางถึงปัจจุบัน
วันนี้ (3 ม.ค.) เฟซบุ๊กส่วนตัวของนายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยต่อ ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี อดีตรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาธรรมศาสตร์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเวลา 20.18 น. ของวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา ผลงานดีเด่นที่ได้ทำไว้กับมหาวิทยาลัย คือ ขยายวิทยาเขตจากท่าพระจันทร์ไปรังสิต ตามเจตนารมณ์ของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และการตั้งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ที่กลายเป็นโรงพยาบาลชั้นนำสุดในจังหวัดปทุมธานีปัจจุบัน ขอให้สู่สุคติในสัมปรายภพบั้นปลาย
สำหรับศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี (ชื่อเดิม นงเยาว์ อโณทัยวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2478 รวมอายุได้ 89 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี พาณิชยศาสตร์ (เกียรตินิยมดีมาก) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท เศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เริ่มรับราชการในตำแหน่ง เศรษฐกรโท สังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ต่อมาได้โอนมาสังกัดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2507 ในตำแหน่งอาจารย์ และได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งฝ่ายบริหาร ได้แก่ หัวหน้าภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์ฯ เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย ในรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อปี 2540 หลังจากนั้นจึงลาออกเพื่อรับตำแหน่ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อปี 2543
ในสมัยที่ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2525-2531 ได้มีการสานต่อนโยบาย ศาสตราจารย์ดอกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยขยายการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในชั้นปริญญาตรี และเปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บนพื้นที่ 1,800 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินนิคมอุตสาหกรรม ของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งเปลี่ยนแปลงให้มีคณะทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการสาธารณสุข มากกว่าจะเป็นเพียงมหาวิทยาลัยที่เน้นด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กระทั่งในปี 2529 เริ่มย้ายอาจารย์และนักศึกษาไปเรียนที่นั่น รวมถึงมีการเปิดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคณะแรกและให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไปเรียนรวมกันที่ศูนย์รังสิตเป็นปีแรก รวมทั้งจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์
ต่อมาได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแรงศรัทธาของทายาท ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ ธนาคารทหารไทย จำกัด มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาคมธรรมศาสตร์ ตลอดจนประชาชน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๑๐) เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2529 เปิดให้บริการประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2530
ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ” ในระยะแรกมีเพียง 2 อาคาร ที่เปิดให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนทั่วไป คือ อาคาร ม.ร.ว.สุวพรรณ สนิทวงศ์ เปิดให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และสำนักงานต่างๆ และอาคารธนาคารทหารไทย เปิดให้บริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยในทุกประเภท โดยให้การบริการรักษาพยาบาลแก่นักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และขยายไปสู่ประชาชน
ปัจจุบันโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติตั้งอยู่บนที่ดิน 135 ไร่ มีทั้งหมด 8 อาคาร พื้นที่มากกว่า 100,000 ตารางเมตร เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิชั้นสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในภาคกลาง บริการผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละประมาณ 4,000 คน และรองรับผู้ป่วยในได้ 844 เตียง เป็นสถาบันการเรียนการสอน การวิจัย และการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ รวมถึงโรงเรียนและสถาบันต่างๆ ที่มาศึกษาดูงาน และเป็นสถานพยาบาลคู่สัญญาหลักของหน่วยบริการปฐมภูมิ ภายใต้โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) และสถานพยาบาลของผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม
สำหรับชีวิตส่วนตัว สมรสกับ ศาสตราจารย์กิตติคุณอรุณ ชัยเสรี มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์สิรี ชัยเสรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดอกเตอร์ปิยวัชร ชัยเสรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ คุณหญิงนงเยาว์ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2533 เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)