xs
xsm
sm
md
lg

บขส.ปรับ 1 หมื่น รถทัวร์กรุงเทพ-อุดรฯ โก่งราคา คาดโทษหากทำอีกสั่งหยุดเดินรถ 7 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บริษัท ขนส่ง จำกัด เปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการเดินรถ สายกรุงเทพฯ-อุดรธานี 1 หมื่นบาท หลังจำหน่ายตั๋วรถ ม.2 เกินราคาสูงเกือบ 600 บาท พร้อมคาดโทษหากทำผิดซ้ำสั่งหยุดเดินรถ 7 วัน

วันนี้ (31 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับ บริษัท อุดร-หนองคาย ป.2 ผู้ประกอบการเดินรถร่วม บขส. สายกรุงเทพฯ-อุดรธานี ในความผิดจำหน่ายตั๋วเกินราคาที่กำหนด เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมกำชับห้ามจำหน่ายตั๋วเกินราคาอีก หากกระทำผิดซ้ำจะถูกสั่งให้หยุดเดินรถเป็นเวลา 7 วัน

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ บขส. ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีผู้โดยสารรายหนึ่งเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ไปยังจังหวัดอุดรธานี ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ปรากฎว่าถูกเรียกเก็บค่าโดยสารสูงถึง 580 บาท ทั้งที่อัตราค่าโดยสารที่แท้จริง หากเป็นรถโดยสารมาตรฐาน 2 หรือรถ ม.2 (รถปรับอากาศ มีที่นั่งผู้โดยสารเกิน 30 ที่นั่ง ไม่มีห้องสุขภัณฑ์) ค่าโดยสารเพียงแค่ 368 บาท และเมื่อลงไปยังชานชาลา พบว่านายท่าให้ผู้โดยสารต่อคิวเปลี่ยนตั๋วจากที่ซื้อมา เป็นตั๋วกระดาษเขียนด้วยลายมือ ระบุปลายทางที่จะลงและหมายเลขชานชาลาที่ซื้อตั๋วเท่านั้น ซึ่งแต่ละรอบจะมีที่นั่งจำนวนจำกัด ประมาณ 40 ที่นั่ง หากผู้โดยสารรายใดต่อคิวไม่ทันต้องรอรถรอบถัดไปประมาณ 1 ชั่วโมง โดยพบว่ามีช่องขายตั๋วในลักษณะดังกล่าวประมาณ 6-7 ราย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ที่ผ่านมา บขส.ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการรถร่วม บขส. ติดป้ายแสดงราคาค่าโดยสารที่หน้าช่องขายตั๋วให้ชัดเจน และขอให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ

ส่วนรถเสริม หรือรถโดยสารไม่ประจำทาง (รถ 30) ได้กำชับให้ผู้ประกอบการติดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เพื่อแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ เนื่องจากเป็นการขอความร่วมมือผู้ประกอบการวิ่งให้บริการเสริมในเส้นทางต่างๆ กรณีรถโดยสารในเที่ยววิ่งปกติไม่เพียงพอในช่วงเทศกาล โดยใช้รถมาตรฐาน 1 พ อีกทั้งผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตีรถเปล่ากลับมารับผู้โดยสาร ทำให้การคิดค่าโดยสาร จะคิดในอัตราต้นทางถึงปลายทางในเส้นทางสายยาว เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งอัตราค่าโดยสารจะสูงกว่าเที่ยวปกติ ประมาณ 15-20% แต่หากผู้โดยสารต้องการลงในจังหวัดระหว่างทาง สามารถเลือกใช้บริการรถเสริมในเส้นทางอื่น เช่น กรุงเทพฯ-นครสวรรค์, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพื่อเดินทางต่อได้เช่นกัน

หากผู้โดยสารพบปัญหา แจ้งได้ที่จุดบริเวณประชาสัมพันธ์ ชั้น 1 และชั้น 3 สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) และที่จุดประชาสัมพันธ์ ณ สถานีขนส่งฯ ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บขส. Call Center 1490 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น