1.สื่อทำเนียบฯ ตั้งฉายา รบ. "แกงส้ม ผลัก รวม" ส่วน "เศรษฐา" ได้ฉายา "เซลล์แมนสแตนด์ ชิน" ด้านสื่อรัฐสภาให้ "พิธา" คว้า "ดาวดับ"!
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้ร่วมกันตั้งฉายารัฐบาล และรัฐมนตรีประจำปี 2566 ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล โดยปราศจากอคติ
โดยให้ฉายารัฐบาลว่า “แกงส้ม ผลัก รวม” โดยอธิบายความหมายว่า “แกง” คือ คำสแลงที่ใช้แทนความหมายว่า แกล้ง “ส้ม” คือ สีของพรรคก้าวไกล ส่วนคำว่า “ผลักรวม” ล้อมาจากคำว่า “ผักรวม” เมนูแกงส้มยอดนิยมประเภทหนึ่ง เมื่อรวมกันแล้ว นิยามความหมายในทางการเมือง สะท้อนกระแสสังคม มองพรรคก้าวไกลถูกกลั่นแกล้ง MOU ถูกฉีก และถูกผลักออกจากการร่วมรัฐบาล...
ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฉายา “เซลล์แมนสแตนด์ ชิน” โดยถูกมองว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เดินหน้าหารายได้เข้าประเทศ ประกาศตัวเป็นเซลล์แมนเต็มรูปแบบ แต่ในทางการเมือง ยังถูกมองว่า ไม่ใช่นายกฯ ตัวจริง เงาของคนในตระกูล “ชินวัตร” ยังปกคลุม เปรียบเสมือนตัวแสดงแทน หรือสแตนด์อิน เพราะเคยหลุดปากขณะออกงานพร้อม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวสุดที่รักของนายใหญ่ หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเช่นกัน ว่า “นายกฯ คนไหน มีนายกฯ 2 คน” อีกทั้งหลายนโยบาย ก็ถูกวิจารณ์ว่า ต่อยอดมาจากนโยบายเดิมของรัฐบาลนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ฉายา "พลิกทินสู่ดาว" โดยระบุว่า ได้ยินแทบไม่เชื่อหู ใครเห็นเป็นต้องขยี้ตา เมื่อพลเมืองเต็มขั้น เคยรับเงินเดือนครู หลงใหลในดนตรีหมอลำ ผันตัวเข้าสู่แวดวงการเมือง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกองทัพ นอกจากนามสกุล “คลังแสง” ขนาดเจ้าตัวยังไม่เคยนึกฝัน ว่า ชีวิตนี้จะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ด้วยบุคลิกสุภาพ ใจเย็น มืออ่อน และลีลาร้องรำน่าเอ็นดู จึงเข้าได้กับทหารทุกกรมกอง พลิกชีวิตลูกอีสาน สู่ดาวเจิดจรัสเฉิดฉาย ท่ามกลางเหล่าทัพได้อย่างแนบเนียน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ฉายา "ทวี สอดไส้" โดยถูกมองว่า แม้จะไม่โดดเด่นในการบริหารราชการช่วง 3 เดือนแรก แต่กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะประเด็นเอื้อประโยชน์ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังเดินทางกลับมารับโทษ ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตำรวจ ทำให้ไม่ต้องนอนคุกแม้แต่คืนเดียว เผือกร้อนแค่ไหนคงไม่ต้องถาม มือพองแค่ไหนก็ต้องถือ กว่านายทักษิณจะออกจากคุก ต้องถูกจ้องถล่มอีกมากแค่ไหน คงไม่ต้องเดา
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ฉายา "มาเฟียละเหี่ยใจ" โดยถูกมองว่า เป็นนักการเมืองชื่อดังแห่งจังหวัดอุทัยธานี ที่มีประวัติโลดโผน ภาพจำพัวพันวงการนักเลง ถูกประทับตรามาเฟีย ผู้คนยกสถานะให้เป็นผู้ทรงอิทธิพล แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธมาโดยตลอด พร้อมให้คำจำกัดความตัวเองไว้ว่า “ความดีพอสมควร ความชั่วพอประมาณ สันดานพอคบได้” หน้าที่การงานในตำแหน่งรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญ เป็นโต้โผปราบปราม “ผู้มีอิทธิพล” จนฮือฮากันทั้งประเทศ แต่ยังไม่ทันได้สร้างผลงาน “ลูกเขย” ก็สร้างเรื่องก่อน ถูกเจ้าหน้าที่ ปปป. จับกุม ในข้อหาเรียกรับสินบนจากผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการระบบประปาหมู่บ้านแบบบาดาล 2 โครงการ งานนี้เก้าอี้รัฐมนตรีร้อนระอุ เปิดแถลงข่าวภายใน 24 ชั่วโมง สั่ง “ลูกเขย” ยื่นใบลาออกทันที ไม่ต้องรอสอบสวน ลั่นเป็นลูกเขยชาดา สปิริตต้องมากกว่าคนอื่น
ส่วนวาทะแห่งปี คือ “ผมจะทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” ซึ่งเป็นคำพูดที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 หลังพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย โดยขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เป็นรัฐบาลที่จะทุ่มเท ทำงานหนัก รับฟังเสียงของประชาชน นำความสามัคคีกลับคืนสู่คนในชาติ แต่ทำงานยังไม่ถึง 4 เดือน กลับขอลาพักผ่อนกับครอบครัวเป็นเวลา 4 วัน จนชาวโซเชียล อดแซวไม่ได้
หากถามนักข่าวหลายคนที่คุ้นเคย และ ตามติดภารกิจนายเศรษฐา ต่างรู้ซึ้งเป็นอย่างดี ถึงคำว่า “ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” แทบทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ตามนายกฯ 3 เดือน เหมือน 3 ปี ให้สัมภาษณ์ทุกที่ ที่มีโอกาส ถึงไม่เห็นหน้าก็มาทางโซเชียล ค่ำคืนไม่พักไม่ผ่อน โพสต์ประเด็นร้อนทันใจ “ภูเก็ตก็แค่ปากซอย” นักข่าวพิสูจน์แล้ว นายกฯ ทำได้จริง พร้อมสะท้อนปัญหาหลักของนายกฯ ที่มักบอกว่าเป็นคนพูดตรง คือ การสื่อสาร หลายครั้งนำภัยมาสู่ตน เมื่อขึ้นศักราชใหม่แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร คงต้องรอติดตามกันต่อไป
ด้านผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้ร่วมกันตั้งฉายาของรัฐสภาประจำปี 2566 เช่นกัน โดยสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา “สภาลวงละคร” เพราะถูกมองว่า เป็นสภาที่มีการชิงไหวชิงพริบ เพื่อเป็นเจ้าของอำนาจ โดยในครั้งแรกพรรคเพื่อไทยเล่นตามบทเป็นมวยรอง แต่สุดท้ายใช้สารพัดวิธีพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีแต่การหักเหลี่ยมเฉือนคม ...แม้กระทั่งการหักหลังฝ่ายเดียวกันเองระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นฝ่ายเดียวกันมาก่อน ...เปรียบเสมือนโรงละครโรงใหญ่ ที่มีแต่ฉากการหลอกลวง
วุฒิสภา ได้รับฉายา “แตก ป. รอ Retire” ล้อมาจากฉายาของวุฒิสภาในปี 2565 คือ ตรา ป. ที่ สว.ทำหน้าที่รักษามรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์ของ 2 ป. คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี หรือ ป.ประวิตร แบบไม่มีแตกแถว แต่ในปีนี้ทั้ง 2 ป. ได้แยกทางกัน ซึ่งในการลงมติเลือกนายรัฐมนตรีที่ผ่านมา สว.ฝ่าย ป.ประยุทธ์ ได้ลงมติยอมสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน สวนทางกับ ป.ประวิตร ที่งดออกเสียง และ สว.กำลังจะหมดอำนาจหน้าที่ในเดือน พ.ค. 2567 จึงเป็นเสมือนการรอเวลาเกษียณ หมดเวลาการทำหน้าที่ สว.
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา “(วัน) นอ-มินี” เนื่องจาก ตำแหน่งนี้เป็นที่แย่งชิงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมาก่อน ก่อนที่จะเห็นร่วมกันว่า ใช้โควตาคนนอก พรรคเพื่อไทย จึงได้เสนอชื่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติในขณะนั้น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพรรคก้าวไกลก็ยอมรับ ดังนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ จึงเป็นเสมือนนอมินีของการแย่งชิงครั้งนี้ ทั้งที่จำนวนเสียง ส.ส.ที่มีก็ไม่ได้เพียงพอต่อการชิงตำแหน่งประธานสภา แต่ก็ถือเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่พรรคพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งยังเคยเป็นคนของพรรคเพื่อไทยมาก่อนด้วย
สำหรับปีนี้ ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่าไม่มีผู้ใดเหมาะสมและโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่ง "ดาวนเด่น 66"
ส่วน “ดาวดับ 66” ได้แก่ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เนื่องจากถูกมองว่า มีความโดดเด่นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจนกระทั่งรู้ผลเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด เดินสายขอบคุณประชาชน พบหน่วยงานต่างๆ ประหนึ่งว่าเป็นนายรัฐมนตรีแล้ว พลอยให้บรรดาด้อมส้มเรียก นายกพิธา ทำให้เกิดกระแส พิธาฟีเวอร์ แต่สุดท้ายกลับไปไม่ถึงดวงดาว สภาไม่ได้เหยียบ ทำเนียบไม่ได้เข้า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งแขวน ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จากคดีหุ้นไอทีวีที่ยังลูกผีลูกคน จึงเป็นดาวที่เคยจรัสแสง แต่ตอนนี้ได้ดับลงแล้ว
2.ศาลฎีกานักการเมืองเสียงข้างมากยกฟ้อง "ยิ่งลักษณ์" คดีโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" มิชอบ ชี้ ไม่มีพยานยืนยัน ย้ายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ญาติได้นั่ง ผบ.ตร.!
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสนามหลวง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จากกรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก ใช้อำนาจโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในขณะนั้น ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2554
ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า แม้กรณีคดีนี้เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม แต่คดีของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยคดีนี้ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) และ (3) อันมีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้ว
ส่วนคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก็มีประเด็นเพียงว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่สั่งให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นวินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาของบุคคลใด ...จึงอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ส่วนประเด็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมากเห็นว่า การกระทำความผิดตามฟ้อง นอกจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการปฏิบัติหน้าที่ต้องมีเจตนาในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว เจ้าพนักงานผู้นั้นยังต้องมีเจตนาพิเศษในขณะกระทำความผิดเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือต้องมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
โดยพยานหลักฐานจากการไต่สวนได้ความว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณโยกย้ายตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำแตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป ประกอบกับจำเลยมิได้มีสาเหตุขัดแย้งอันใดกับนายถวิลเป็นการส่วนตัว อันจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งนายถวิลแต่อย่างใด
จำเลยคงอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลก่อนได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมีนายถวิลเป็นกรรมการและเลขานุการ เกิดเหตุการณ์นำไปสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงต้องการเปลี่ยนตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แสดงว่ากรณีมีเหตุที่จะโอนนายถวิลมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่ได้มีข้อคำนึงถึงว่า พลตำรวจเอก ว. จะยินยอมย้ายจากตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือไม่
อีกทั้งพลโท ภ. อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเบิกความว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
รัฐบาล ย่อมต้องการผู้ได้รับความไว้วางใจสูงสุดมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็มีความชอบธรรมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ โดยก่อนที่นายถวิลจะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว มีพลโท ส.ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเข้าสู่สมัยนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการโอนย้าย พลโท ส. จากต้นสังกัดเดิมมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำเช่นเดียวกับกรณีของนายถวิล
การใช้ดุลพินิจของจำเลยในการโยกย้ายนายถวิล จึงเป็นไปตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมาแต่เดิม ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่นายถวิล ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยต้องการให้พลตำรวจเอก พ. ญาติของจำเลย ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น เมื่อทางไต่สวนไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยัน กรณีจำเป็นต้องพิจารณาจากพยานแวดล้อมที่ปรากฏในการไต่สวน ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่อาจบ่งชี้อย่างชัดแจ้งว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายได้มีการคบคิดวางแผนกันล่วงหน้าในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยมาตั้งแต่แรก
อีกทั้งหากจำเลยมีเจตนาตระเตรียมการให้รับโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และรับโอนพลตำรวจเอก ว. มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติแทน เพื่อที่จะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลงแล้ว น่าจะต้องมีการแจ้งหรือทาบทามพลตำรวจเอก ว. ให้ยินยอมที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเสียก่อน
แต่ขณะที่นาย บ. จัดทำบันทึกขอรับโอนนายถวิล จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการโอนนายถวิลมาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำนั้น ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่า จำเลยสั่งการหรือมอบหมายผู้ใดทาบทามพลตำรวจเอก ว.ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ พลตำรวจเอก ก. ได้โทรศัพท์มาทาบทามพลตำรวจเอก ว. แล้วพลตำรวจเอก ว. จึงตัดสินใจไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว อันเป็นการยินยอมภายหลังจากที่โยกย้ายนายถวิลไปแล้วนานถึง 22 วัน
ยิ่งกว่านั้น ขณะที่จำเลยสั่งการให้โอนนายถวิลก็ไม่มีข้อบ่งชี้ว่า จำเลยทราบว่าต่อมาภายหลังพลตำรวจเอก ว. จะสมัครใจย้ายหรือไม่ หรือจะย้ายไปดำรงตำแหน่งใด เมื่อใด ย่อมรับฟังไมได้ว่า จำเลยสั่งการให้รับโอนนายถวิลโดยมีเจตนาเพื่อจะให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง และไม่อาจฟังได้ว่าการสมัครใจย้ายของพลตำรวจเอก ว.เป็นผลโดยตรงจากการโยกย้ายนายถวิลอีกด้วย
ส่วนที่นาย บ. เลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีบันทึกข้อความถึงรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก ก.) เพื่อขอรับโอนนายถวิลมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดยระบุว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดให้ความเห็นชอบและยินยอมการรับโอนแล้ว ทั้งยังได้ความเห็นชอบ และมีการแก้ไขวันที่ที่ทำเอกสารจากวันที่ 4 ก.ย. 2554 เป็นวันที่ 5 ก.ย.2554 นั้น ไม่ปรากฎว่า จำเลยรู้เห็นเกี่ยวข้องกับข้อความในเอกสารฉบับดังกล่าว
ส่วนการดำเนินการในการขอรับโอน ขอรับความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ รวมทั้งการที่จำเลยได้มีคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีใช้เวลาเพียง 4 วัน ก็ได้ความว่า การเสนอแต่งตั้งโยกย้ายเป็นเรื่องที่ต้องเร่งรัดให้ทันต่อการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นบ่อย จึงไม่ถือเป็นข้อพิรุธ
และที่จำเลยมีส่วนในการดำเนินการโยกย้ายนายถวิลให้พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยเป็นผู้อนุมัติให้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติในวันที่ 6 ก.ย.2554 ได้ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและร่วมลงมติอนุมัติให้นายถวิลพ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วจำเลยได้ออกคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแล้ว ก็เป็นกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมายในการโอนย้ายข้าราชการระดับสูง
การกระทำของจำเลยในส่วนนี้ย่อมไม่อาจนำมารับฟังว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อประโยชน์ของพลตำรวจเอก พ. จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง เเละให้ถอนหมายจับคดีนี้
ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา ตัวเเทนอัยการสูงสุดโจทก์ซึ่งเดินทางมาฟังคำพิพากษา กล่าวก่อนเดินทางกลับว่า จะต้องคัดคำพิพากษาเสนอไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาต่อไป เนื่องจากเรื่องการอุทธรณ์ อัยการสูงสุดเป็นผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว
3. อัยการส่งสำนวนคืนตำรวจ เหตุแจ้งข้อหา "เด็ก 14 ปี" กราดยิงพารากอน ก่อนผลตรวจทางจิตเสร็จสิ้น ไม่ชอบด้วย ก.ม. ให้รอเด็กสู้คดีได้ แล้วทำสำนวนมาให้พิจารณาใหม่!
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า ตามที่พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นคดีกล่าวหาเด็กชายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหา ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร โดยเหตุเกิดภายในห้างพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา
อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้ตรวจสอบสำนวนการสอบสวนแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. พนักงานสอบสวนได้มีการส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อทำการตรวจและบำบัดรักษา ซึ่งสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้รับตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไว้บำบัด รักษา และตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวชแบบผู้ป่วยใน เพราะเชื่อว่าผู้ต้องหามีอาการป่วยทางจิตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ และจากการตรวจสำนวนการสอบสวนยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างระยะเวลาที่แพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดียังไม่เสร็จสิ้น
พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยที่พนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับผลการตรวจประเมินและวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นแต่อย่างใด อีกทั้งยังมิได้สอบสวนแพทย์ผู้ตรวจการรักษาให้ได้ความโดยกระจ่างชัดเพื่อประกอบคดี
และยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ได้ส่งรายงานผลการตรวจวินิจฉัยและประเมินความสามารถของจิตแพทย์เจ้าของไข้ และทีมสหวิชาชีพ นิติจิตเวช ได้ตรวจวินิจฉัยและประเมินผลว่า ผู้ต้องหาไม่มีความเข้าใจตระหนักรู้เรื่องของข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในการพูดคุยและตอบคำถาม รวมทั้งไม่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ ผลการประเมินสรุปว่า ผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้
อัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในคดีนี้ โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ในเรื่องความสามารถของผู้ต้องหาที่เป็นเด็กก่อน แล้วทำการสอบสวนพร้อมกับมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 มาตรา 134 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6 โดยถือว่าเป็นการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กโดยไม่ชอบ จึงมีคำสั่งให้คืนสำนวนการสอบสวนในคดีนี้ไปยังพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
นายนาเคนทร์ เผยด้วยว่า การคืนสำนวนในครั้งนี้ พนักงานอัยการยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาของสำนวนแต่อย่างใด เพราะเห็นว่า กระบวนการสอบสวนยังไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงส่งสำนวนคืนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอยู่ในสภาวะหายป่วยเป็นปกติ และสามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้น แล้วส่งสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาอีกครั้งภายในอายุความตามกฎหมาย โดยอายุความในคดีนี้มีอายุความสูงสุด 20 ปี
4. ศาลพัทลุงพิพากษาจำคุก "เสี่ยแป้ง" กับพวก ตลอดชีวิต คดีพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเมื่อปี 62 ส่วนคดีปล้นผู้ต้องหา รอฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์!
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ศาลจังหวัดพัทลุงได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการจังหวัดพัทลุงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเชาวลิต หรือเสี่ยแป้ง ทองด้วง อายุ 37 ปี กับพวก คดีพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเมื่อปี 2562 ทั้งนี้ เสี่ยแป้งซึ่งยังคงหลบหนี ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา มีเพียง ร.ต.ชัชวาลย์ บำรุงวงศ์ หรือทนายชัช และกลุ่มทนายใจดี พร้อมด้วยนายกษิดิ์ชาติ ทองด้วง พี่ชายเสี่ยแป้งมาฟังคำพิพากษา
โดยศาลพิพากษาลงโทษเสี่ยแป้งกับพวก ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นพกพาไปในสถานบริการและที่สาธารณะ ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ร่วมกันช่วยเหลือผู้อื่นไม่ต้องรับโทษ ร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และข้อหาที่มีอัตราโทษหนักสุด คือ ร่วมกันพยายามฆ่าผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 5 คน ตลอดชีวิต
สำหรับคดีนี้ ศาลจังหวัดพัทลุงได้นัดคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเสี่ยแป้ง ผู้ต้องหาในคดีอยู่ระหว่างหลบหนี จึงได้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปเป็นวันที่ 25 ธ.ค. ซึ่งคดีนี้ มีผู้ต้องหาทั้งหมด 9 คน และศาลพิพากษาไปก่อนหน้านี้แล้ว 4 รายเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเช่นกัน
หลังฟังคำพิพากษา ร.ต.ชัชวาลย์ ทนายความของเสี่ยแป้ง กล่าวว่า น้อมรับคำพิพากษา และจะทำหน้าที่ทนายความให้กับเสี่ยแป้งต่อไป ที่จะต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับตัวเสี่ยแป้งเองว่าจะกลับเข้ามาต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือไม่ อย่างไร
ทนายความเสี่ยแป้ง ยังกล่าววด้วยว่า คดีปล้นผู้ต้องหาก่อนหน้านี้ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลไปแล้ว รอฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้ ทางเสี่ยแป้งก็ต้องมายื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเอง ซึ่งทนายจะร่างคำอุทธรณ์ไว้ให้ก่อน และขอขยายเวลาไว้ก่อน
ทั้งนี้ ทนายความเสี่ยแป้ง ยอมรับว่า ตั้งแต่รับหนังสือร้องเรียนจากเสี่ยแป้งมา จนถึงวันนี้ยังไม่ได้พบหรือเจอตัวเสี่ยแป้งโดยตรงแต่อย่างใด
ขณะที่นายกษิดิ์ชาติ ทองด้วง พี่ชายเสี่ยแป้ง กล่าวหลังฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดพัทลุงว่า ขอน้อมรับในคำตัดสินของศาลชั้นต้น ส่วนเสี่ยแป้งจะออกมามอบตัวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวของเขาเอง และอยากฝากถึงน้องชาย ให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อที่จะต่อสู้ขอความเป็นธรรมให้ตัวเองต่อไป
5. นักข่าวสายอาชญากรรมตั้งฉายาตำรวจปีนี้ "ผบ.ตร." ได้ฉายา "ต่อ เฟรนด์ลี่" ขณะที่ "บิ๊กรอย" ได้ฉายา "สุภาพบุรุษสีกากี" ด้าน "บิ๊กโจ๊ก" ได้ฉายา “โจ๊ก รอได้”!
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมซึ่งทำงานใกล้ชิดกับแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอดปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันตั้งฉายาตำรวจประจำปีนี้ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา ได้แก่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้ฉายา "ต่อ เฟรนลี่" เนื่องจากที่ผ่านมาสื่อมวลชนสายอาชญากรรม ขนานนามให้ว่าเป็น "มือปราบสายธรรมะ" เนื่องจากเป็นนายตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงานและหลักรัฐศาสตร์ เดินสายปฏิบัติธรรมตามสถานที่ต่างๆ ในขณะเดียวกัน "บิ๊กต่อ" ยังเป็นคนเรียบง่ายไม่ถือเนื้อถือตัว บ่อยครั้งจะเห็นภาพของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ร่วมวงกินข้าว กินก๋วยเตี๋ยวกับผู้ใต้บังคับบัญชา เวลาออกเดินสายตรวจเยี่ยมกำลังพลตามโรงพักต่างๆ ที่ห่างไกล และยังวางตัวเป็นกันเองกับลูกน้อง เน้นสวัสดิการให้ลูกน้อง ใครต่อใครก็เข้าถึงได้ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย เป็นที่รักของลูกน้องจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของฉายาว่า "ต่อเฟรนด์ลี่"
พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ได้ฉายา "สุภาพบุรุษสีกากี" เนื่องจากถือเป็นนายตำรวจที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ด้วยฝีไม้ลายมือในการทำงานและผ่านงานระดับ ตร. ทุกหน้างาน ทั้งงานปราบปราม งานสืบสวน และความมั่นคง เป็นนายร้อยตำรวจรุ่น 40 เกษียณอายุราชการปี 2567 และเป็นรอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับที่ 1 ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 13 และคนที่ 14 ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง เมื่อไม่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ตร.ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่มีแม้จะฟ้องร้องหรือทวงสิทธิ์แต่อย่างใด และมีกระแสข่าวว่าจะโยก พล.ต.อ.รอย ไปรับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นการตอบแทนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร. เพื่อแก้ปัญหาด้านคุณธรรม คืนความเป็นธรรมและเยียวยาความรู้สึกผิดหวังให้ พล.ต.อ.รอย สุดท้ายก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น "บิ๊กรอย" ก็ยังคงปักหลักทำงานในหน้าที่ จึงเป็นที่มาของฉายาว่า “สุภาพบุรุษสีกากี”
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้ฉายา “โจ๊ก รอได้” เนื่องจากฝีไม้ลายมือการทำงานที่ปรากฏต่อสายตาประชาชน ประกอบกับอายุราชการที่ยังคงเหลืออีกหลายปี ทำให้ถูกจับตาว่ามีสิทธิ์ที่จะขึ้นเป็น ผบ.ตร. และสื่อมวลชนสายตำรวจวิเคราะห์ว่า หากไม่มีอะไรสะดุด ในปี 2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะกลายเป็นอาวุโสอันดับ 1 ทันที และก็อาจจะมีสิทธิ์ได้ใช้นามเรียกขาน “พิทักษ์ 1” แต่ก็ต้องผ่านอีกกี่ขวากหนามบนเส้นทางสู่ ผบ.ตร. อีกทั้งเจ้าตัวก็เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “ตนเองรอได้ ใครอยากเป็น ผบ.ตร.ก็เป็นไปก่อน” จึงเป็นที่มาของฉายา “โจ๊ก รอได้”
พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ฉายา “จ้าว แข็งโป๊ก” เนื่องจาก พล.ต.ท.ธิติมีฝีไม้ลายมือที่เป็นที่ยอมรับให้คุมพื้นที่เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร เป็นนายตำรวจที่ได้ชื่อว่ามีความตงฉิน ยอมหักไม่ยอมงอ และไม่ยอมรามือให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาที่ออกนอกลู่นอกทาง เน้นย้ำภารกิจสำคัญสูงสุด “ถวายความปลอดภัย” รวมถึงการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล กำชับเรื่องปัญหายาเสพติด บ่อนการพนัน สถานบริการ และการแต่งตั้งที่ผ่านมา หลายคนคิดว่า พล.ต.ท.ธิติ ต้องได้ย้ายหรือไม่ก็ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. เนื่องจากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ แต่ก็ยังรักษาเก้าอี้ “น.1.” ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นจึงเป็นที่มาของฉายา “จ้าว แข็งโป๊ก”
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สพฐ.ตร. ได้ฉายา “บิ๊กอรรถกัดไม่ปล่อย” เนื่องจาก พล.ต.ท.ไตรรงค์ ซึ่งมีชื่อเล่นว่า “อรรถ” ที่ผ่านมาเคยเป็นหัวหน้าทีมคดี “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุเกินกว่า 15 ปี 2 คดี และคดีข่มขืนกระทำชำเรา 1 คดี ในพื้นที่ สน.ลุมพินี โดยทำคดีอย่างตรงไปตรงมาไม่เลือกปฏิบัติ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะมีตำแหน่งใหญ่ก็ตาม ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาก็ฝากผลงานไว้มากมาย จากการที่สวมหมวกเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ PCT นำกำลังไล่กวาดล้างจับกุมเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่สร้างความเดือดร้อนมอมเมาเยาวชนและพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก และเกาะติดไล่ล่าชนิดถอนรากถอนโคน จึงเป็นที่มาของ ฉายา “บิ๊กอรรถกัดไม่ปล่อย”
พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ได้ฉายา “เชอร์ล็อคนพ” เนื่องจาก พล.ต.ต.นพศิลป์ มีผลงานเป็นที่ยอมรับมากมาย ด้วยประสบการณ์ที่สะสมบนเส้นทางนักสืบได้ถ่ายทอดวิชาแก่นักสืบรุ่นหลัง และบ่อยครั้งมักจะถูกดึงตัวมาอยู่ในชุดทีมคลี่คลายคดีสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลายยุคหลายสมัย ล่าสุดกับผลงานการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” ถือว่าเป็น “ตัวจักร” สำคัญ และเป็นบทพิสูจน์ชุดคลี่คลายคดี หลังศาลชั้นต้นสั่งจำคุกนายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” 20 ปี จน ผบ.ตร.ชื่นชม ยกเป็นโมเดลให้นักสืบรุ่นใหม่ และด้วยฝีไม้ลายมือเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ชื่อของรองนพศิลป์ ติดทำเนียบเป็นนักสืบชั้นครูของวงการตำรวจไทย เทียบคล้ายกับนักสืบดังในภาพยนตร์ “เชอร์ล็อคโฮล์ม” และในอดีตมีนักสืบชั้นครูอย่าง “เชอร์ล็อคนู” พล.ต.ท.ธนู หอมหวล จึงเป็นที่มาของ ฉายา “เชอร์ล็อคนพ”
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้ฉายา “มือปราบกังฉิน” เนื่องจาก พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ถือว่าเป็นมือปราบที่ไม่เคยเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ และผ่านคดีดังมากมายที่เกี่ยวข้องกับการจับข้าราชการระดับสูงที่ทุจริตเรียกรับสินบน ล่าสุดเป็นผู้นำทีมเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมนายกเทศบาลตลุกดู่ จังหวัดอุทัยธานี ลูกเขยของ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยจับกุมตามหมายจับ ข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยมิชอบ และร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงเป็นที่มาของ ฉายา “มือปราบกังฉิน”