xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่สีเขียวสร้างได้ด้วยมือเรา สนทนากับ ‘อรยา สูตะบุตร’ แห่ง ‘Big Trees’ มุ่งผลักดันมาตรฐานวิชาชีพรุกขกร, ผนึกกำลังภาคีสานต่ออุดมการณ์รักษ์ต้นไม้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘อรยา สูตะบุตร’ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘Big Trees’ และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่
“…ในความเป็นจริง ธรรมชาติของต้นไม้นั้นไม่มีหรอกที่จะเหมือนกันเป๊ะ เนื่องจากต้นไม้ต้นนึงก็มีสภาพหรือสุขภาพอย่างนึง เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการดูแลและมองให้ออกว่าต้นนี้มีปัญหาหรือเปล่า ต้องมองยังไง ต้องตัดยังไง…เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเยอะ ต้องใช้วิธีทำงานกับระดับนโยบาย …ซึ่งก็ยังดีที่ช่วยกันส่งเสียงจากหลายๆ ทาง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมา เราจึงได้รับความร่วมมือมากขึ้น”

“…สิ่งสำคัญคือ มีอาชีพหลักๆ ที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือในการออกแบบ วางผัง ว่าต้นนี้อยู่บริเวณนี้ มีอะไรแวดล้อม จะต้องจัดการอย่างไร นั่นก็คือ ‘ภูมิสถาปนิก’ หรือ Landscape Architect ตอนนี้เราก็ร่วมกับภูมิสถาปนิกประเทศไทยและสมาคมรุกขกรรมไทยที่เราร่วมก่อตั้ง…จึงดูในหลายๆ มิติไปได้พร้อมๆ กันและสามารถทำข้อเสนอแนะได้อย่างรอบด้าน”

“…เมื่อ Big Trees ได้หารือกับหลายๆ หน่วยงาน และทดลองหลายๆ แบบ ในที่สุดจึงพบว่าปัญหาคืออะไร หลังจากช่วยกันวิเคราะห์แล้วก็มีแนวทางที่จะมาฟื้นฟูต้นไม้ ซึ่งมีทั้งนักพฤกษศาสตร์ ภูมิสถาปนิก และรุกขกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคแมลงช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลังจากใช้มาตรการที่ทุกคนแนะนำ ต้นไม้ก็ฟื้นสภาพ มีการแตกใบใหม่…”

“…แนวทางสำหรับอนาคต เราก็ยิ่งต้องผสานกำลังข้ามหน่วยงาน ข้ามสาขาและวิชาชีพ เพื่อให้สามารถจัดการและเข้าใจปัญหาได้อย่างรอบด้าน”


คือคำบอกเล่าบางส่วนที่สะท้อนวิสัยทัศน์ของเธอ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘Big Trees’ ซึ่งมีอุดมการณ์ จุดยืน แนวทางสำคัญประการหนึ่งคือการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่และพื้นที่สีเขียวภายในเมือง รวมทั้งผลักดันให้เกิดมาตรฐานในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการดูแลต้นไม้ผ่านการทำงานอย่างบูรณาการกับหลายหน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคประชาชน และเอกชน

‘อรยา สูตะบุตร’ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘Big Trees’ และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘อรยา สูตะบุตร’ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘Big Trees’ และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่
ในวาระที่ Big Trees ก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 ผ่านบทสนทนาหลากหลายประเด็น

ไม่ว่าภารกิจสำคัญในจังหวะก้าวย่างสู่ทศวรรษที่ 2, การย้อนกลับไปยังจุดริเริ่มก่อตั้ง Big Trees, อุปสรรคในการทำงานและวิธีแก้ปัญหา, บทบาทในการเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วิชาชีพ ‘รุกขกร’ เป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้น, การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อขยายและเผยแพร่องค์ความรู้ของงานรุกขกร, การขับเคลื่อนรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว, ความพยายามในการพัฒนา Online Platform เพื่อจัดการข้อมูลรุกขกรอย่างเป็นระบบ, แง่คิดที่ฝากถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

ทั้งหลายทั้งปวง ถ่ายทอดผ่านถ้อยความนับจากนี้


‘อรยา สูตะบุตร’ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ‘Big Trees’ และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่
ประเด็นขับเคลื่อนในทศวรรษที่สอง

ถามว่าในวาระที่ Big Trees ก้าวสู่ทศวรรษที่สอง มีประเด็นใดที่อยากขับเคลื่อนหรือผลักดันอีกบ้าง

อรยาตอบว่า “ Big Trees ก้าวเข้าปีที่ 14 แล้ว รู้สึกว่าเราผลักดันรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน สิ่งที่เป็นเป้าหมาย หรือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการที่เราจะผลักดันให้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการต้นไม้ใหญ่ในเมืองที่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 

"คือการกำหนดว่าต้นไม้ใหญ่ควรจะตัดแต่งยังไง แล้วเวลาที่มีสิ่งก่อสร้างหรือมีการพัฒนาพื้นที่ จะดูแลต้นไม้ยังไง สิ่งที่ยากกว่าที่เราเคยทำมาก็คือว่าเมื่อมีพื้นที่จำกัดและต้องเกี่ยวข้องกับหน่วยงานจำนวนมากที่ยังมีความเข้าใจเรื่องต้นไม้ หรือให้คุณค่ากับต้นไม้ค่อนข้างน้อย ตอนนี้เราก็พยายามอย่างยิ่งที่จะให้หน่วยงานเหล่านี้เปลี่ยนทัศนคติและวิธีการทำงาน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานเหล่านี้ก็ได้เริ่มก้าวแรกไปแล้ว อย่างเช่น กรมทางหลวง, กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร”

อรยากล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ต้องมองว่า ต้นไม้หนึ่งต้นมีการใช้งานอยู่รอบๆ อย่างไร
ที่ผ่านมา Big Trees พยายามชักชวน นำเสนอแนวทาง และสาธิตต้นแบบกับหน่วยงานที่กำกับดูแลต้นไม้ตามถนนหนทางเช่น ทางหลวง, ทางเท้าในกรุงเทพ และตามสวน รวมไปถึงอาคาร โครงการอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจต้นไม้ที่ดีขึ้นและสามารถจัดการได้ตามมาตรฐาน ก็จะทำให้ต้นไม้นั้นๆ ปลอดภัยและแข็งแรง การดูแลก็จะน้อยกว่าต้นไม้ที่ถูกปล่อยตามยถากรรมหรือไม่ได้ใช้ความรู้ในการจัดการ

“เหล่านี้เป็น Step ต่อไป ที่แม้ว่ามันจะยากกว่าเดิม เพราะเดิมที เราอาจจะแค่พูดกับไม่กี่หน่วยงาน เช่น สำนักงานสาธารณะฯ ของ กทม. ( หมายเหตุ : สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ) หรือแค่กับคนที่ชอบต้นไม้ หรือกับคนที่มาร่วมวงการหรือทำอาชีรพรุกขกร หรือแม้แต่คนที่ไมสนใจต้นไม้เลย ก็คือคนที่ทำงานด้านก่อสร้าง ทำถนน เหล่านี้ก็เริ่มมีความคืบหน้าไปนิดๆ ค่ะ” อรยาระบุ

ถามว่านับเป็นประเด็นละเอียดอ่อน เพราะบางพื้นที่ก็มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบร่วมกัน หรือทับซ้อนกันอยู่ใช่หรือไม่

อรยาตอบว่า “ใช่ค่ะ วิธีการหรือข้อจำกัด อุปสรรคต่างๆ ไม่เหมือนกันเลย เพราะในความเป็นจริง ธรรมชาติของต้นไม้นั้น ไม่มีหรอกที่จะเหมือนกันเป๊ะ เนื่องจากต้นไม้ต้นนึงก็มีสภาพหรือสุขภาพอย่างนึง เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนดูแล ในการที่จะมองให้ออกว่าต้นนี้มีปัญหาหรือเปล่า ต้องมองยังไง ต้องตัดยังไง แต่ทุกวันนี้ เมื่อต้นไม้ไปอยู่ในที่ที่คนไม่อยากให้อยู่ เช่น ทางเท้าแคบๆ คนก็อาจจะบอกว่า ‘ต้นไม้ขวาง ต้องตัดต้นไม้ทิ้ง’ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจเยอะ ซึ่งตอนนี้ต้องใช้วิธีทำงานกับระดับนโยบาย ถ้าเราเข้าถึงระดับอธิบดี หรือระดับผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ซึ่งก็ยังดีที่ช่วยๆ กันส่งเสียงจากหลายๆ ทาง เป็นระยะเวลาต่อเนื่องมา เราจึงได้รับความร่วมมือมากขึ้นค่ะ”


ผนึกกำลังกับ ‘ภูมิสถาปนิก’

อรยาเล่าว่าสิ่งสำคัญในกระบวนการทำงานคือ มีอาชีพหลักๆ ที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการออกแบบ วางผัง ว่าต้นนี้อยู่บริเวณนี้ มีอะไรแวดล้อม จะต้องจัดการอย่างไร นั่นก็คือภูมิสถาปนิก หรือ Landscape Architect

“ตอนนี้เราก็ร่วมกับภูมิสถาปนิกประเทศไทยและสมาคมรุกขกรรมไทยที่เราร่วมก่อตั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อเราบอกว่า ต้นไม้ต้นนี้ต้องทำอย่างนั้น จึงสามารถจะดูในหลายๆ มิติไปได้พร้อมๆ กันและสามารถที่จะทำข้อเสนอแนะได้อย่างรอบด้าน” อรยาระบุ
ทั้งยกตัวอย่าง ต้นจามจุรีที่สวนเบญจกิติ ซึ่งเมื่อราวปีก่อน มีอาการร่อแร่ ทิ้งใบจะหมดต้นเหมือนจะตาย

กระทั่ง เมื่อ Big Trees ได้หารือกับหลายๆ หน่วยงาน และทดลองหลายๆ แบบ ในที่สุดจึงพบว่าปัญหาคืออะไร หลังจากช่วยกันวิเคราะห์แล้วก็มีแนวทางที่จะมาฟื้นฟูต้นไม้ ซึ่งมีทั้งนักพฤกษศาสตร์ ภูมิสถาปนิก และรุกขกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคแมลงช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดกับต้นจามจุรีนี้ หลังจากใช้มาตรการที่ทุกคนแนะนำ ต้นไม้ก็ฟื้นสภาพขึ้น มีการแตกใบใหม่ และบริเวณโคนต้นที่มีดินเสื่อมสภาพและแน่นเกินไป ทำให้รากไม่ได้อากาศและน้ำ ก็ฟื้นขึ้นมาเช่นกัน

“เพราะฉะนั้น แนวทางสำหรับอนาคต เราก็ยิ่งต้องผสานกำลังข้ามหน่วยงาน ข้ามสาขาและวิชาชีพ เพื่อให้สามารถจัดการแล้วก็เข้าใจปัญหาได้อย่างรอบด้าน” อรยาเน้นย้ำอย่างแน่วแน่


ณ จุดกำเนิด Big Trees

เมื่อขอให้เล่าย้อนกลับไปยังจุดริเริ่มก่อตั้ง Big Trees Project เมื่อ10 กว่าปีก่อน
อยากให้เล่าว่าคุณและเพื่อนๆ ผู้ร่วมก่อตั้ง Big Trees มารวมตัวกันได้อย่างไร

อรยาตอบว่า เมื่อ 13 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์ที่จะมีการตัดต้นไม้ใหญ่ย่านสุขุมวิท แล้วในช่วงนั้น บางคนที่รู้จัก สนิทกัน หรืออาจจะรู้จักกันไม่นานก็ตาม แต่ต่างคนต่างก็ได้ข่าวเหตุการณ์ดังกล่าว จึงรวมตัวกันและเปิดเป็นเพจเฟซบุ๊ค เพื่อสื่อสารเรียกร้องและมีการกดดันเล็กน้อยว่า ‘จำเป็นไหมที่ต้องแลก ระหว่างอาคารกับต้นไม้’ มีวิธีการจัดการใดหรือไม่ ที่ช่วยให้อาคารหรือโครงการพัฒนาอยู่ร่วมกับต้นไม้เดิมได้

“ปรากฏว่าครั้งนั้นก็เรียกร้องไม่สำเร็จ แต่เรามีจุดยืนร่วมหรืออุดมการณ์ร่วมกันขึ้นมาแล้ว จึงมีการตัดสินใจกันว่าเพจก็เปิดแล้ว กลุ่มเราก็รวมตัวกันแล้ว ดังนั้น เราน่าจะทำงานกันต่อ เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งที่ Fail ครั้งเดียวแล้วเราก็แยกย้ายกันไป ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Big Trees แล้วก็ค่อยๆ เติบโตมา ซึ่งตอนนี้เป็นมูลนิธิ แล้วก็ตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อทำงานด้านการรณรงค์ ให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป อีกส่วนหนึ่งเป็นการให้บริการดูแลตัดแต่งต้นไม้ หรือวิเคราะห์ปัญหา โดยมีการเก็บค่าบริการ เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ส่วนนี้ก็ทำงานมา 7 ปีแล้ว จะเข้าปีที่ 8 ค่ะ” อรยาระบุ


เติบโตและแผ่กิ่งก้าน เชื่อมภาคีนานาชาติ

อรยาสะท้อนว่าจากเดิมทีที่รวมตัวกันเพื่อประท้วงการตัดต้นไม้ Big Trees ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาแบบผสมผสาน ทั้งการให้ความรู้ เสนอทางเลือก ทางออก ที่ไม่จำเป็นต้องแลกต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียวกับการพัฒนาหรือสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เดิมทีอาจคิดกันว่า ‘เอาต้นไม้ออกไปเถอะ แล้วค่อยปลูกใหม่’

อรยายกตัวอย่างการดูแลต้นไม้ในต่างประเทศ เช่น รุกขกรจากสิงคโปร์ เคยเล่าว่า ในประเทศของเขา หากมีต้นไม้ในบ้านหรือที่สาธารณะ หรือต้นไม้เอกชนก็ตาม ล้วนต้องส่งรายงานให้รัฐบาลว่าในพื้นที่ของคุณมีต้นไม้กี่ต้น แล้วคุณวิเคราะห์หรือยังว่าแต่ละต้นมีสุขภาพอย่างไร เป็นยังไง แล้วคุณต้องนำข้อมูลต้นไม้นี้ ทาบกับแบบการก่อสร้างของคุณว่าแบบที่จะสร้างมีต้นไม้อยู่ตรงไหน ถนนอยู่ตรงไหน แล้วคุณเว้นที่ให้ต้นไม้อยู่หรือไม่และถ้าหากคุณจะเอาต้นไม้ออกก็ต้องมีเหตุผลชัดเจนว่าทำไมถึงต้องเอาออก

“เพราะฉะนั้น ในสิงคโปร์ ทั้งอาชีพรุกขกร ภูมิสถาปนิก และวิศวกร จะทำงานร่วมกันตั้งแต่ยังไม่มีแบบ คือช่วยกันพัฒนาจนกระทั่งเมื่อจะสร้างก็ต้องมีแผนต้นไม้แนบไปด้วยกันเลยกับแบบก่อสร้างเชิงสถาปัตย์

“จากนั้น รัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ ไม่ยอมให้เอาต้นไม้ออกด้วย เป็นแนวทางที่ดีมากเลย ซึ่งประเทศไทยเราอยู่ไกลจากจุดนั้นมาก แต่ก็มีข้อดีคือ อย่างน้อยเรามีคนที่ทำเรื่องแบบนี้ มีความรู้ ทำเป็น ทำได้ แล้วก็เริ่มที่จะนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว คือที่ถนนสีลมและถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเราแท็กทีมเข้าไปทำงานและคุยกับทางกทม. ว่าไหนๆ จะทำทางเท้าใหม่ให้มันดีแล้ว ต้นไม้เดิมก็มีส่วนที่เก็บไว้ได้โดยไม่ต้องตัดออก ไม่ต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งโชคดีว่าเมื่อไปกันหลายๆ วิชาชีพก็มีภาพให้ดู มีรายงานต้นไม้ให้ดูด้วยและมีการเสนอนวัตกรรมในการจัดการต้นไม้ โดยเฉพาะตัวอย่างในสิงคโปร์นั้น ทำให้เห็นว่าบางอย่างไม่ได้ซับซ้อน ไม่ได้ใช้งบประมาณอะไรมากมาย ถ้านำแนวทางดังกล่าวมาใช้จะทำให้มีความสวยงามร่มรื่นของต้นไม้

“ดังนั้น ถ้าใครถามว่าผลงานรูปธรรมที่ผ่านมาคืออะไร ก็สามารถไปชมได้ที่ถนนสองเส้นนี้ค่ะ ที่เป็นการทำงานแบบบูรณาการจากหลายๆ หน่วยงาน” อรยาระบุและกล่าวถึงสิ่งที่จะต้องผลักดันต่อไปในปี 2567 และปีต่อๆ ไป ที่จะต้องให้เข้าไปอยู่ในระเบียบ ใน TOR หรือแบบมาตรฐานของกทม. ว่าเวลาที่จะพัฒนา ปรับปรุงทางเท้า การก่อสร้างต้องไม่กระทบกับต้นไม้ ต้องมีการวางแผน ออกแบบบริเวณ เพื่อไม่ให้ต้นไม้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง จะต้องดูแลจัดการต้นไม้ไปพร้อมๆ กัน

ตึก Park Silom กับพื้นที่เปิดหน้าอาคาร และภูมิทัศน์ทางเท้าสีลมปรับปรุงใหม่ โดยความร่วมมือของสมาคมเรารักสีลมดูแลงบฯค่าออกแบบ



ตึก Park Silom กับพื้นที่เปิดหน้าอาคาร และภูมิทัศน์ทางเท้าสีลมปรับปรุงใหม่ โดยความร่วมมือของสมาคมเรารักสีลมดูแลงบฯค่าออกแบบ
พื้นที่ตัวอย่างกับการพัฒนาที่ไม่ละเลย ‘ต้นไม้’

อรยาเล่าว่าถนนสีลมที่เธอเอ่ยถึง ได้ยกระดับไปไกลอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือ แทนที่จะให้ต้นไม้อยู่ในหลุมแค่ เมตร X เมตร
หรือ 1.50 เมตร X 1.50 เมตร แต่การปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าว ได้ทำให้ต้นไม้อยู่ตามแนวเดียวต่อเนื่องไปเป็นแนวยาว ต้นไม้ไม่ได้อยู่หลุมใครหลุมมัน

“ที่สีลมมีการเปิดหลุมต้นไม้ต่อกันเลยค่ะ โดยภาคเอกชนสนับสนุนค่าจ้างออกแบบ เพราะถ้าเป็นแบบธรรมดาของวิศวโยธา ก็จะเหมือนกันทุกที่และมีพื้นที่ต้นไม้น้อย เหมือนที่เราเห็นทั่วไป แต่ที่สีลม มี ‘สมาคมเรารักสีลม’ ( หมายเหตุ : ‘สมาคมเรารักสีลม’ เป็นความร่วมมือของผู้ประกอบการชั้นนำ ผู้ดำเนินธุรกิจในสีลม เพื่อผลักดันแนวคิดการพัฒนาชุมชนเมืองย่านสีลมอย่างยั่งยืน มี ‘โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีลม’ เป็นหนึ่งในความตั้งใจของสมาคมฯ ) ที่เขาลงขันกันจ้างภูมิสถาปนิกอาชีพและจ้างรุกขกรด้วยเพื่อการบริหารจัดการต้นไม้อย่างมีมาตรฐาน ส่วนงบก่อสร้างที่เป็นงบประมาณเยอะที่สุด เป็นงบของ กทม. เพราะเขาจะปรับปรุงอยู่แล้ว เพียงแต่เราก็มีข้อเสนอที่เขาปฏิเสธได้ยาก เพราะงบก่อสร้างคุณก็เท่าเดิม เพียงแต่เอกชนสมทบทุนขึ้นมาเพื่อให้ได้แบบที่สวยงามยั่งยืนและมีการพิจารณาทุกแง่มุม”

อรยาเล่าเพิ่มเติมว่า กว่าจะสำเร็จลุล่วงได้ ต้องผ่านการเจรจาต่อรองกันอีกมาก เนื่องจากช่วงแรกๆ ฝั่งวิศวกรโยธา เขามีแผนการดำเนินงานคือเอาต้นไม้ออกหมดเลยแล้วค่อยปลูกใหม่ จึงเป็นช่องทางที่ Big Trees และสมาคมเรารักสีลม ร่วมกันเสนอกับ กทม. ว่าจะขอช่วยสำรวจและจัดกลุ่มต้นไม้ออกมาเป็นแต่ละประเภท ว่ากลุ่มไหนอยู่ที่เดิมได้ ต้นไหนทรุดโทรมมาก ต้องตัดทิ้งไปเลยแล้วปลูกใหม่ หรือต้นไหนใหญ่มากแล้วมันเอนก็ล้อมไปลงไว้ที่อื่น

เหล่านี้จึงนับเป็นมิติใหม่ของการทำงานของรุกขกรและเครือข่ายภาคประชาชน เอกชน ที่ได้ทำงานร่วมกับวิศวกรโยธาของกทม. ซึ่งเขารับฟัง เมื่อเขาได้เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้จริงและผู้คนก็ชื่นชม จึงเป็นเรื่องที่เขารู้สึกว่ามันทำได้ เขาจึงไม่ต่อต้านเท่าที่ผ่านมา


เรียนรู้และก้าวข้ามอุปสรรค พร้อมผลักดันวิชาชีพ ‘รุกขกร’

ถามว่าที่ผ่านมามีอุปสรรคใดบ้างในการทำงานของ Big Trees แก้ปัญหาหรือก้าวข้ามอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างไร
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees ตอบว่า อุปสรรคใหญ่อย่างหนึ่งคือคนมักจะมองว่าการจัดการต้นไม้ที่ได้มาตรฐาน มีราคาแพง

“คนมักมีคำถามว่าทำไมต้องราคาแพงขนาดนี้ เราจึงต้องใช้เวลายาวนานในการทำให้สังคมเข้าใจรุกขกร ว่ากว่าเขาจะมาทำงานบนที่สูง บนต้นไม้ และทำงานได้อย่างปลอดภัย ทั้งหมดต้องมาจากการที่เขาไปเรียน ไปอบรม ต้องฝึกปรือตัวเองอีกอย่างน้อยปีหรือสองปี รวมทั้งค่าอุปกรณ์ เพราะการที่เขาจะขึ้นต้นไม้ได้อย่างปลอดภัยแล้วก็เคลื่อนที่ไปตามกิ่งต่างๆ เขาต้องใช้อุปกรณ์ที่คล้ายๆ กับการปีนเขา เพื่อป้องกันไม่ให้ตก และอุปกรณ์ที่จะใช้ได้นานและปลอดภัยมันก็มีราคาสูง ชุดหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40,000 ถึง 50,000 บาท เป็นอุปกรณ์ที่ครบถ้วนทั้งการตัด การปีน อุปกรณ์เคลื่อนที่บนต้นไม้

“ดังนั้น เมื่อมีค่าอุปกรณ์อย่างนี้ รุกขกรจึงไม่สามารถจะรับทำงานแบบราคาถูกๆ ได้
ประเด็นนี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ แต่ก็โชคดีที่มีคนเข้ามาเป็นรุกขกรมากขึ้น แล้วก็ช่วยกันออกไปทำงาน ช่วยกันสร้างผลงาน มีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากทั้งหน่วยงานของรัฐและเอกชน

“ส่วนอุปสรรคด้านอื่นๆ ก็มีอย่างเช่น อาจจะมีภาพว่า กลุ่มอย่าง Big Trees ดราม่าไปหรือเปล่า โลกสวย จะรักษาไว้แต่ต้นไม้อย่างเดียว ซึ่งเราเริ่มที่จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้ได้มากขึ้น เพราะเราได้ร่วมงานกับหน่วยงานที่หลากหลาย แล้วก็มีผลงานที่เป็นรูปธรรมคือเมื่อมีมืออาชีพมาช่วยกันแล้วเป็นการจ้างด้วย ไม่ใช่งานจิตอาสา ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้น สามารถใช้งานได้ในระยะยาวและตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ซึ่งมันก็คุ้มกับการที่จะลงแรงตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บข้อมูล ออกแบบจากพื้นฐานความต้องการใช้งาน แล้วยังใช้ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ประกอบกัน

“จริงอยู่ อาจจะใช้เวลานานตอนพัฒนาออกมาเป็นแบบและกว่าจะก่อสร้างเสร็จ แต่ผลที่ออกมาก็จะอยู่ไปได้อีกนาน การซ่อมบำรุงหรือความเสียหายรวมทั้งอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นภายหลังนั้น ก็มีน้อยกว่าการทำแบบส่งเดช เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ กรมทางหลวงกับสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เขาบอกเองว่าคุณภาพงานก่อสร้างของเขาก็ดีขึ้นด้วย หลุมปลูกต้นไม้ก็ใหญ่ขึ้นด้วย เราได้ฟังแล้วเราก็รู้สึกว่าเป็นความคืบหน้าที่มันชัดเจนเป็นรูปธรรม”

อรยากล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมที อาจมีคนมองว่าต้นไม้เป็นสิ่งเกะกะ เอาออกไปก่อนเลย แต่จริงๆ แล้วยังมีการออกแบบที่เราใช้ความรู้ในการจัดการได้ แต่แน่นอนว่า ไม่ได้ราบรื่นไปโดยตลอด ยังมีปัญหาให้พบเจอ เช่นในบางกรณี อธิบดีกรมทางหลวงอาจจะเห็นดีกับเราแล้ว แต่ลูกน้องก็อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะยังขาดเรื่องของการใส่เข้าไปในกฎหมายหรือระเบียบในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เขาจัดการต้นไม้ได้ดี เขาจะใส่ลงไปในระเบียบเลยว่าต้นไม้ต้องจัดการอย่างไร ไม่ใช่รอจัดการต้นไม้หลังสุดแล้วจะจัดการยังไงก็ได้ แต่เขาจะดูแลจัดการต้นไม้ไปพร้อมกันเลยตั้งแต่แรกในระหว่างที่พัฒนาโปรเจ็กต์ต่างๆ ขึ้นมา


‘รุกขกรไทย’ ต้องได้รับการยอมรับ

อดถามไม่ได้ว่า Big Trees มีส่วนอย่างมากในการทำให้วิชาชีพ ‘รุกขกร’ เป็นที่รู้จักในวงกว้าง อยากให้คุณช่วยเล่าการทำงานของ Big Trees ผ่านการผลักดันองค์ความรู้ของงานรุกขกร ว่ามีที่มาอย่างไรและสร้างรุกขกรขึ้นมาในสังคมได้มากน้อยเพียงใดและทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายใดอีกบ้าง เพื่อขยายและเผยแพร่องค์ความรู้ของงานรุกขกรให้กว้างขึ้น

อรยาตอบว่า คำว่า ‘รุกขกร’ จริงๆ แล้ว ‘อาจารย์เดชา บุญค้ำ’ เป็นผู้ที่บัญญัติคำว่า ‘รุกขกร’ ขึ้นมา
( หมายเหตุ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำ เป็นราชบัณฑิต เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม ประจำปี 2549 และได้รับการยอมรับว่ามีส่วนอย่างสำคัญต่อการผลักดันวงการภูมิสถาปนิกไทยอีกทั้งเป็นผู้ขับเคลื่อนงานรุกขกร อาจารย์เดชายังเป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2520 )

“อาจารย์เดชาบัญญัติคำว่า ‘รุกขกร’ ไว้ 30 ปีมาแล้วค่ะ และเขียนตำราด้านนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ในยุคนั้นอาจารย์ต้องไปหาซื้อหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับด้านนี้ ต้องสั่งซื้อทางไปรษณีย์นะคะ แล้วเมื่อได้ชื่อคนเขียนแล้ว อาจารย์ก็ต้องเขียนจดหมายไปหาเขา ว่าต้องการเล่มนั้นเล่มนี้เพิ่ม เขาก็เขียนจดหมายกลับมา แล้วก็ส่งไปรษณีย์มาให้

“แต่ว่าสิ่งที่อาจารย์ทำนั้น ยังเป็นที่รู้จักอยู่เพียงในแวดวงวิชาการ ไม่ได้ออกมาสู่สาธารณะมากนัก กระทั่งเมื่อเราขับเคลื่อนเรื่องต้นไม้ไปสักระยะหนึ่ง แล้วได้เจออาจารย์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว อาจารย์ก็บอกว่า ‘ช่วยทำหน่อยเถอะ ผมคิดไว้หมดแล้ว ทั้งกติกา เรื่องวิธีการ เรื่องภาพประกอบ’ ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับรุกขกรเลยนะคะ แม้แต่การกำหนดอัตราค่าจ้างด้วย อาจารย์ทำไว้หมดทุกอย่างเลย แต่ว่าอยู่บนหิ้ง ไม่มีใครเอามาใช้

“ดังนั้น จึงเหมือนเราได้รับการบ้านมาจากอาจารย์เดชาว่าช่วยทำให้สังคมรับรู้เรื่องนี้กันเถิด สิ่งที่เราทำก็อาจกล่าวได้ว่าทำเป็นตัวอย่างให้หน่วยงานที่สนใจหรือเกี่ยวข้องได้เห็น เราไม่ได้สนใจว่าใครมีงบประมาณหรือไม่ ใครลุกขึ้นมาทำเองได้ก็ทำไปเลย เราใช้วิธีว่าเราทำให้ดูก่อน ไม่ว่าการไปสาธิตที่ต้นไม้ใหญ่โดยทำให้ดูเลย ไม่ว่ามีเครื่องมือใหม่ๆ อะไรมา เราก็จะชวนกทม.ให้มาลองใช้อุปกรณ์นี้ ลองใช้เทคนิคอันนี้กัน ทำให้มีการรับรู้มากขึ้นกับหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับต้นไม้
“แต่แน่นอนว่ามันอาจจะยังไม่ได้ดังขนาดที่มีดารามาช่วยโปรโมต ยังไม่ถึงขนาดนั้น ส่วนเรื่องการฝึกอบรมเราก็ทำต่อเนื่อง มีทั้งที่จัดภายในหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้งเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาอบรม”

อรยากล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีหน้า สมาคมรุกขกรรมไทย ที่ทำงานร่วมกับ Big Trees อย่างใกล้ชิดจะเปิดการฝึกอบรมให้มีความหลากหลายมากขึ้น ต่างระดับมากขึ้น และจะกระจายการอบรมไปตามจังหวัดต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้มีรุกขกรอาชีพ กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ และจังหวัดต่างๆ

“เราอยากให้สังคมรับรู้ว่าอาชีพนี้มีความสำคัญ เพื่อให้รับรู้ว่าเขาทำยังไง หรือใครอยากจะเข้าวงการ ต้องทำยังไงบ้าง แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้มีบริษัทพีอาร์มาช่วย ไม่มีงบประชาสัมพันธ์ ไม่มีงบซื้อสื่อ ก็ต้องอาศัยสื่อที่สนใจและบอกต่อ

“เราคิดว่าแรงจูงใจสำคัญของคนที่ชอบหรืออยากจะเป็นรุกขกร เมื่อเขาได้งาน มีรายได้ แล้วเขาอยู่ได้และเราช่วยเผยแพร่ว่านี่ไง เขาเป็น ‘รุกขกรอาชีพ’ ที่ทำงานด้านต้นไม้โดยตรงไปเลย ไม่จำเป็นต้องไปหาอาชีพอื่นโดยมองว่ารุกขกรเป็นแค่อาชีพเสริม”

กิจกรรมปีนต้นไม้ Kids climbing ที่สวนเบญจกิติ ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

กิจกรรมปีนต้นไม้ Kids climbing ที่สวนเบญจกิติ ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา



กิจกรรมปีนต้นไม้ Kids climbing ที่สวนเบญจกิติ ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา


อรยามองว่า หากองค์ความรู้ด้านงานรุกขกรแพร่หลาย และมีผู้สนใจทำงานรุกขกรอาชีพมากขึ้น ก็น่าจะช่วยเพิ่มได้ทั้ง Demand และ Supply
เธอจึงเชื่อว่าในระยะยาว คนก็จะเข้าใจว่าทำไมรุกขกรจึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและเป็นอาชีพที่อยู่ได้จริงในประเทศไทย


มุ่งพัฒนา ‘Online Platform’

นอกจากนี้ Big Trees ยังจับมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. (เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรี) เพื่อร่วมกันผลักดันรุกขกรอาชีพให้ได้รับการยอมรับ

“สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ขึ้นทะเบียนมาตรฐานวิชาชีพประมาณ 2,000 อาชีพแล้ว แม้แต่ขายของหาบเร่ยังมีเลยค่ะ แต่ปรากฏว่าอาชีพด้านเกษตรหรือป่าไม้ยังไม่มีเลย ดังนั้น อาชีพรุกขกรจึงเป็นอาชีพทางด้านนี้อาชีพแรกที่ขึ้นทะเบียนกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ เราเชื่อว่าในปี 2567 จะมีการจัดอบรมและมีการสอบด้วย

“ดังนั้น รุกขกรก็จะมีใบประกอบวิชาชีพเหมือนใบประกอบโรคศิลป์ หรือใบรับรองเหมือนกับวิชาชีพอื่นๆ จากนี้หากประชาชนจะเรียกใช้บริการ ต่อไปก็ไม่ต้องกังวลแล้วว่าจะใช้บริการรุกขกรของใคร มีใครแนะนำไหม เพราะเราจะทำเป็นลิสต์ขึ้นมาเลยว่าคนที่ขึ้นทะเบียนอาชีพ เขาอยู่ที่ไหน จะติดต่อได้ยังไง ถ้าสมมติเราไปเจอใครแล้วเราอยากรู้ว่าคนนี้เหมาะที่จะมาตัดต้นไม้ที่บ้านเราไหมก็ขอดูใบรับรอง ทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าจะใช้บริการใครระหว่างคนที่มีใบรับรองกับคนที่ไม่มีใบรับรอง ซึ่งรุกขกรที่มีใบรับรองก็จะทำให้มั่นใจมากกว่าว่าเขาสามารถทำงานดูแลตัดแต่งต้นไม้ได้อย่างมีมาตรฐาน ไม่ใช่มามีปัญหาทีหลัง” อรยาระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงอย่างไร ประเด็นเรื่องรุกขกรอาชีพยังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันอีกเยอะ แต่เชื่อว่าหากหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานวิชาการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้มากขึ้นก็ย่อมเป็นรูปธรรมได้ไม่ยาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น งานด้านการทำความเข้าใจกับสังคมของ Big Trees ก็น่าจะง่ายขึ้นกว่าเดิม

อรยาเล่าว่า ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างพยายามพัฒนา Online Platform ที่ผู้ใช้สามารถกรอกข้อมูลว่ามีต้นไม้ต้นอะไร อยู่ที่ไหน ที่ต้องการให้รุกขกรเข้าไปดูแลจัดการ โดยจะมีลิสต์ของมืออาชีพรวมทั้ง Portfolio ของแต่ละทีม ที่สามารถเข้าไปดูได้เลยว่าผลงานที่ผ่านมาของรุกขกรและทีมงานนั้นๆ ปรากฏอยู่ที่ใดบ้าง

“ต่อไปเราก็คิดไว้ว่าอยากจะทำให้มีรีวิวเหมือน Grab หรือ Wongnai ที่สามารถเขียนรีวิวได้เหมือนรีสอร์ต ที่พัก อีกหน่อยเราก็อยากให้มีการติดดาว เพื่อที่ว่าเมื่อเราเข้าไปดูเราก็จะเห็นว่าบริษัทนี้เขาได้กี่ดาว เขาเชี่ยวชาญด้านไหนเป็นพิเศษ ต่อไปการตามหาคนมาดูแลต้นไม้บ้านเราก็จะง่ายขึ้นด้วยค่ะ” อรยาบอกเล่าอย่างเห็นภาพ

กิจกรรม Workshop ตรวจสุขภาพต้นไม้

กิจกรรม Workshop ตรวจสุขภาพต้นไม้
ขยายเครือข่าย

ถามว่านับแต่แรกก่อตั้ง กระทั่งวันนี้ Big Trees มีภาคีเครือข่ายคือใคร องค์กรใดบ้าง

อรยาตอบว่า กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือผู้ที่อยู่ในสายงานด้านนิเวศวิทยาที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับต้นไม้และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รวมถึงกลุ่มภูมิสถาปนิกและหน่วยงานของรัฐที่ขานรับการทำงานของ Big Trees ซึ่งแม้อาจจะไม่ได้ร่วมงานกันตั้งแต่แรก แต่ในปัจจุบัน ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี คือกรุงเทพมหานครและกรมป่าไม้ที่ทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด

“ต้องพูดตรงๆ ว่า ภาคเอกชนเราผลักดันเรื่องรุกขกรก่อน โดยนำเอาแนวทางที่อาจารย์เดชาได้ออกแบบไว้ทั้งหมด มาทำเป็นรูปธรรม จึงเกิดรุกขกร กทม.ขึ้น เกิดรุกขกรกรมป่าไม้ขึ้น
อีก Partner ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ คือสมาคมรุกขกรรมนานาชาติ (The International Society Of Arboriculture) ซึ่งมีชาติสมาชิกมากกว่า 100 ประเทศที่เป็นสมาชิกของเขา เราก็เป็นสมาชิกด้วย และตอนนี้เราขยายเครือข่ายไปยังรุกขกรที่สิงคโปร์ รุกขกรที่มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ด้วยค่ะ” อรยาระบุ


พื้นที่สีเขียว…สร้างได้ด้วยมือเรา

การสนทนาเดินทางมาถึงบทสรุป ถามว่ามีอะไรเกี่ยวกับ Big Trees อีกบ้างที่อยากบอกเล่าหรือฝากถึงคนในสังคมรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

อรยาตอบว่า “อยากบอกว่าคุณภาพชีวิตของคนในเมืองเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญมากๆ กับการมีพื้นที่สีเขียวในเมือง และไม่ใช่การมีสวนใหญ่ๆ อยู่เพียงจำนวนหนึ่ง แต่เราต้องเดินทางไกลมากเพื่อจะไปที่นั่น แล้วเราไปไม่ถึง เช่น เราอยู่มีนบุรีไม่มีสวนเลย แล้วจะให้เราไปที่สวนลุมฯ หรือสวนเบญจกิติเลย เราก็คงไม่ไป”

อรยาเล่าว่า เครือข่ายของ Big Trees พยายามผลักดันให้เกิดสวนขนาดเล็กหรือสวนหย่อม รวมทั้งพื้นที่สีเขียวตามถนนหนทาง เพื่อให้มีสีเขียวของต้นไม้กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีบริเวณใหญ่โตเสมอไปก็ได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานรัฐหรือคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนเลย เช่น ในย่านบ้านพักของเรา ถ้าทุกบ้านมีต้นไม้อย่างน้อย 2-3 ต้น หรือตามโรงเรียน โรงพยาบาล สำนักงาน หรือบ้านใกล้เรือนเคียง ถ้ามีต้นไม้คนละต้นสองต้นก็นับว่าช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยสร้างความร่มรื่นได้

ทั้งยกตัวอย่าง ‘พาร์ค สีลม’ ( Park Silom ) ซึ่งเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปรับปรุงทางเท้าที่สีลม และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ‘เรารักสีลม’

“สำหรับ Park Silom นั้น จริงๆ แล้วเขาเช่าตึกเก่าคือตึกศรีบุญเรือง อยู่บริเวณหัวมุมถนนคอนแวนต์ ตึกเก่าก็มีลักษณะเป็นห้องแถวสี่เหลี่ยม ธรรมดาๆ แล้วก็ชิดกับทางเท้า แต่โครงการ Park Silom เขาทุบ แล้วเขาถอยออกไปไกลมากเลย โดยทำด้านหน้าเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ปลูกต้นไม้ ทำเป็นสวน แล้วมีเก้าอี้ยาวให้นั่งเยอะแยะ ถ้าไปตอนเย็นๆ จะเห็นคนมานั่งที่นี่เยอะเลยค่ะ มีกิจกรรมตอนเย็นๆ ด้วย

“เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะมีพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แล้วเราอยู่ในเมือง เราดูแลในส่วนที่เราดูแลได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ข้อสำคัญคือแม้จะเป็นเพียงต้นไม้ต้นเล็กๆ แต่ถ้าเราได้มองเห็นสีเขียวๆ ในบ้านเรา หรือมองออกนอกหน้าต่างไปเห็นต้นไม้สักต้นสองต้นก็ยังดี

“อยู่ในมือของเราทุกคนที่จะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นด้วยพื้นที่สีเขียว อยากให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือค่ะ”

……….
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : อรยา สูตะบุตร, Facebook Oraya Sutabutr, Facebook Fanpage BIG Trees