เมื่แวันที่ 27 ธ.ค. นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง พร้อมด้วย นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมโครงการของขวัญปีใหม่ของกระทรวงมหาดไทย “มหานครสดใส ชาร์จไฟ กับ กฟน.” ระหว่าง MEA กับ กปน. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 อาคารสุทธิอุทกากร กปน. สำนักงานใหญ่
ผู้ว่าการ กปน.กล่าวว่า กปน.เล็งเห็นถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากภาคขนส่ง และฝุ่นละออง PM 2.5 ที่มาจากไอเสียรถยนต์ ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงมหาดไทย สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ส่วนราชการที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร พิจารณานำร่องการเปลี่ยนผ่านการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในราชการตามมติคณะรัฐมนตรี
การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จึงเป็นการบูรณาการความร่วมมือกับ MEA ซึ่งถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ดูแลระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ โดยจะนำร่องติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า จำนวน 5 สถานี ประกอบด้วย สำนักงานใหญ่ 4 จุด สำนักงานประปาสาขาบางบัวทอง 2 จุด สำนักงานประปาสาขาภาษีเจริญ 2 จุด สำนักงานประปาสาขามีนบุรี 2 จุด และสำนักงานประปาสาขาสุวรรณภูมิ 2 จุด โดยหากการติดตั้งเสร็จสิ้นจะทำให้สถานีบริการอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนทั่วไป พนักงาน และผู้ปฏิบัติงานของ กปน. เพิ่มขึ้น
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ได้ร่วมขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร รวมถึงการเตรียมพร้อมรองรับการใช้งาน EV ในพื้นที่ของ MEA ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายในปี 2580 จำนวนมากกว่า 6.6 ล้านคัน การบูรณาการความร่วมมือกับ กปน. ครั้งนี้เป็นการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ในพื้นที่สำนักงานของ กปน. และถือเป็นการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชนให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเมื่อแผนงานติดตั้งในโครงการครั้งนี้แล้วเสร็จ MEA จะมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 168 หัวชาร์จ และมีแผนที่จะขยายจำนวนหัวชาร์จไปจนถึงปี 2570 รวมทั้งสิ้น 600 หัวชาร์จ เพื่อรองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
ในด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ EV นั้น MEA ยังได้นำระบบบริหารจัดการอัดประจุไฟฟ้า หรือ “Smart Charging” ควบคู่กับเทคโนโลยีบริหารจัดการใช้งานหม้อแปลงจำหน่าย (TLM) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี Smart Grid มาใช้ลดปัญหาการเกิด Overload ช่วยให้บริหารจัดการระบบจำหน่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาด้าน IT เช่น การจัดทำ MEA EV Application สำหรับการใช้งาน Charging Station ครอบคลุมทั้งฟังก์ชันการค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการจ่ายค่าบริการ อีกทั้งยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามเครือข่าย หรือ “EV Data Roaming” กับผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างๆ ทำให้สามารถชาร์จข้ามเครือข่ายได้ในอนาคต เพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนผู้ใช้งานยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน MEA ยังตระหนักถึงประเด็นด้านความปลอดภัยในการใช้งานสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า จึงให้บริการทดสอบด้านความปลอดภัย เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่ใช้งาน EV Charging Station ทำให้การใช้งาน EV มีการขยายตัวได้อย่างยั่งยืน