xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิศุภนิมิตฯ ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย ร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมปลอดภัย ประจำปี 2023

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไม่มีความรุนแรงต่อเด็กที่ชอบด้วยเหตุผล และความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบสามารถป้องกันได้” ข้อความดังกล่าวเป็นหลักการขั้นพื้นฐานสำคัญขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยความรุนแรงต่อเด็ก ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้ให้การรับรองและให้สัตยบันต่ออนุสัญญานี้ ในปี 2023 คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็กสากล (The United Nations Committee on the Rights of the Child) ได้ร่วมกันจัด “เอกสารความคิดเห็นทั่วไป ข้อ 26 (General Comment No. 26 – GC26) สิทธิเด็กมีความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กอย่างไร และเพื่อให้ทุกประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นนี้ และได้มีการเปิดตัวเฉลิมฉลองในระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เนื่องจากภัยคุกคามจากสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนและมักถูกละเลยไป เด็กทั่วโลกจำนวน 16,333 คน จาก 121 ประเทศ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิด General Comment หมายเลข 26 ผ่านการแสดงความคิดเห็นร่วมกันในการพัฒนา General Comment หมายเลข 26 โดยเรียกร้องให้เกิดการกระทำในการปกป้องสิทธิของพวกเขาที่จะได้อาศัยอยู่ในโลกที่สะอาด มีความสมบูรณ์ และมีสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ในปี 2564 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 50 จาก 163 ประเทศที่เด็กมีความเสี่ยงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ตามดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศสำหรับเด็กทั่วโลกของ UNICEF รายงานของยูนิเซฟทั่วโลกเรื่องThe Coldest Year of the Rest of their Lives: Protecting Children from the Escalating Impacts of Heatwaves ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นเพิ่มเติมว่ากว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในประเทศไทย (10.3 ล้านคน) เผชิญกับความร้อนสูง ความถี่คลื่นความร้อนในปี 2563 ภายในปี 2593 เด็กเกือบทุกคนในประเทศจะต้องทนทุกข์ทรมานจากคลื่นความร้อนสูงบ่อยขึ้นและนานกว่านั้น เว้นแต่จะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง 
มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่ทำงานพันธกิจด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กแบบองค์รวม ได้เล็งเห็นความสำคัญและเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จึงได้จัดกิจกรรม “Child Safe & Friendly Environment” ยุติความรุนแรงต่อเด็ก – ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย และการเปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลองอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ความเห็นทั่วไปข้อ 26 (GC26) ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อมโดยเน้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในระดับประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน โครงการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ของมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 โดยการร่วมมือกับ เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยูนิเซฟ ประเทศไทย และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ องค์กรแตร์ เด ซอม เยอรมันนี (Terre des Hommes Germany) มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก ประเทศไทย มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิสายเด็ก1387 มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิรักษ์เด็ก เครือข่ายสิทธิเด็กล้านนา ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนสถานที่จัดงานโดย ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ และการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ได้แก่ Thai Yamazaki และ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด รวมถึง คุณชลลดา สิริสันต์ น้องวินนี่และน้องฮีโร่ ดีไซน์เนอร์อายุน้อยที่สุดบนเวทีแฟชั่นระดับโลก และคุณแอนนา เสืองามเอี่ยม มาร่วมเป็นอีกพลังในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ทั้งภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ เครือข่ายภาคประชาสังคมระดับประเทศ รวมถึงเด็กและเยาวชน ได้ผนึกกำลังกันเพื่อการขับเคลื่อนและรณรงค์ร่วมกัน เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถเติบโตในสิ่งแวดล้อมอย่างปลอดภัย และเสมอภาคกัน

ศ.ดร.บุญชัย หงส์จารุ ประธานอํานวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ด้านความรุนแรงต่อเด็ก และวิกฤตสิทธิเด็กอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “นับเป็นเวลากว่า 34 ปีแล้วที่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานว่า เด็กทุกคนจะได้รับการคุ้มครองจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างประเทศไทยเอง ก็ได้ให้การรับรองและให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ เมื่อต้นปี 2023 มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ได้มีการสํารวจในประเด็นเด็กเปราะบางยากไร้ในประเทศไทย (รายการตรวจสอบการระบุกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบางที่สุด) พบว่า 48.6% ของเด็กต้องเผชิญกับ ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การได้รับความรุนแรงทางด้านวินัยจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง การถูกละเลย ทางร่างกายและอารมณ์ ข้อมูลเหล่านี้ยืนยันถึงจำนวนความรุนแรงต่อเด็กที่เกิดขึ้นในครอบครัวที่ต้องเร่งแก้ไข ขณะเดียวกันการสํารวจยังค้นพบปัจจัยสำคัญที่มีผลโดยตรงต่อการกระทำด้วยความรุนแรงต่อเด็ก คือ 58.3% ของเด็กอาศัยอยู่กับครัวเรือนที่ยากจนมาก เด็กขาดแคลนอาหาร ผู้ปกครองเจ็บป่วยเรื้อรัง และที่อยู่อาศัยไม่ปลอดภัย และ 22.4% ของเด็ก ครอบครัวเด็กอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรง และตอนนี้ทั่วโลกมีเด็กกว่า 1.7 ล้านคนเสียชีวิตในทุก ๆ ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้จะเป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ในการจุดประกายให้พวกเราทุกคนตระหนัก มองเห็นความเชื่อมโยงกันของวิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิทธิเด็กและความรุนแรงต่อเด็ก และเราต้องเริ่มลงมือทำทันที ในการร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย เพื่อให้เด็กเติบโต มีคุณภาพชีวิต และมีความอยู่ดีมีสุข เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเป็นอนาคตของพวกเราต่อไป” 
นายอนุกูล ปิ่นแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานการจัดงาน ‘Child Safe & Friendly Environment ยุติความรุนแรงต่อเด็ก - ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย’ ได้กล่าวว่า  “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักและร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมขับเคลื่อนกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ได้กำหนดประเด็น Climate Change เป็นนโยบายขับเคลื่อนงานของกระทรวง ซึ่งมุ่งเน้นการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ โดยมีการจัดทำแผนการปฏิบัติการในการเตรียมความพร้อมและการปรับตัวของประชากรกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้ สำหรับเด็กและเยาวชน ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านกลไกสภาเด็กและเยาวชนในทุกระดับ เพื่อสร้างบทบาทในการร่วมขับเคลื่อน สะท้อน สื่อสาร ให้ทุกกลุ่มเป้าหมายในสังคมได้ตระหนัก และพร้อมการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวในงานครั้งนี้ว่า “กิจกรรม ยุติความรุนแรงต่อเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัย” ในปี 2023 นี้ เรามุ่งเน้นขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการยุติความรุนแรงต่อเด็ก ภายใต้แนวคิด “ละเลย เลยรุนแรง” โดยเน้นด้านสิ่งแวดล้อมความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งได้ร่วมกับน้อง ๆ เยาวชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชน โดยเน้นให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงศักยภาพ ความคิดเห็น และแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักแก่สาธารณชน เแสดงเจตนารมณ์และความร่วมมือ ต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กความเห็นทั่วไปข้อ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในประดับประเทศ รวมทั้งสะท้อนปัญหา สภาพแวดล้อมในชุมชนไม่ปลอดภัย ไร้พื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก และมีแหล่งมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนในชุมชน ดังนั้น มูลนิธิศุภนิมิตฯ จึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อม ในชื่อกิจกรรม Child Safe & Friendly Environment ครั้งนี้ขึ้นมา เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดความตระหนัก (Awareness) ผลกระทบต่อสังคม (Impact) เสริมสร้างพลังเชิงบวก (Influence) และได้รับการสนับสนุน (Income) จากภาคีเครือข่ายและภาคประชาสังคมต่อไป แล้วถึงประชาชนทุกคนที่เล็งเห็นปัญหาและมาร่วมช่วยกันแก้ไขและทำให้สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยที่มีต่อเด็กนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อไป” 
คุณคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่าถึงความสำคัญของความคิดเห็นทั่วไป ฉบับที่ 26 นี้ว่า “ความคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 26 ว่าด้วยสิทธิเด็กและสิ่งแวดล้อมนี้มีความสำคัญมาก เพราะชี้ให้เห็นว่าความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นกระทบต่อสิทธิของเด็กอย่างไร และรัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องทำอย่างไรในการปกป้องสิทธิของเด็ก เพื่อให้พวกเขาเติบโตขึ้นในโลกที่ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งนี้ การออกแบบนโยบายและการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องไม่ลืมเด็กและต้องคำนึงถึงหลักการเรื่องสิทธิเด็กเป็นสำคัญ”


“เด็กมีสิทธิในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขอนามัย และยั่งยืน รัฐต้องรับผิดชอบ ไม่เพียงแต่การปกป้องสิทธิเด็กจากอันตรายที่เกิดขึ้นในทันที แต่ยังรวมถึงการละเมิดสิทธิเด็กที่มีความเสี่ยงต่อเด็กและเยาวชนในอนาคตด้วย ซึ่งอาจเกิดจากการกระทำหรือการละเลยของทุกภาคส่วน ผมขอให้ทุกคนได้ผลักดันสิทธิเด็กและปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นภาระสำคัญเร่งด่วนที่สุด รวมถึงการให้เด็กและเยาชนมีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และการเสนอแนะในเชิงนโบบาย เพื่อให้เด็กทุก ๆ คนได้เติบโตในโลกที่สวยงาม” ส่วนหนึ่งของการกล่าวรายงานโดย นายศักดิ์นฤน ขามธาตุ อดีตเด็กในความอุปการะ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ในฐานะตัวแทนเยาวชน

ทั้งนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการขจัดความรุนแรง และดำเนินงานเพื่อขจัดความรุนแรงในเด็กมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่าเป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และที่สำคัญคือเยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่จะมาช่วยกันยกระดับสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพิ่มพื้นที่ที่สร้างสรรค์ให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เด็กทุกคน ได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคกัน














กำลังโหลดความคิดเห็น