xs
xsm
sm
md
lg

“กรกิจ” ยัน “Goldden Boy” ต้องทวงคืน ติงแนวคิดคลั่งดินแดนของเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรกิจ ดิษฐาน นักเขียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก ออกมาโพสต์ข้อความ ยืนยัน ประติมากรรมพระศิวะ ไทยต้องทวงคืน เซ็งเพื่อนบ้านยังมีแนวคิดคลั่งดินแดนของตัวเองในอดี

จากกรณี กระทรวงวัฒนธรรมแจ้งข่าวดี พิพิธภัณฑ์ฯ สหรัฐอเมริกา เตรียมคืน 2 โบราณวัตถุล้ำค่า กลับคืนสู่ประเทศไทย สำหรับโบราณวัตถุที่จะได้รับกลับคืนครั้งนี้ ประกอบด้วย ประติมากรรมพระศิวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นรูปพระศิวะสวมเครื่องทรงแบบบุคคลชั้นสูง ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ซึ่งพบไม่มากนัก ประติมากรรมนี้สูงถึง 129 เซนติเมตร มีเทคนิคการสร้างแบบพิเศษคือ หล่อด้วยสำริดและกะไหล่ทอง ส่วนประติมากรรมสตรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 เช่นกัน สูง 43 เซนติเมตร อยู่ในท่านั่งชันเข่าและยกมือไหว้เหนือศีรษะ แต่งกายแบบบุคคลชั้นสูง หล่อด้วยสำริดมีร่องรอยการประดับด้วยโลหะเงินและทอง ต่อมามีประเด็นว่าประเทศกัมพูชา เคลมว่า เป็นของประเทศตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ผู้ใช้เฟซบุฟ๊ก “Kornkit Disthan” นักเขียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก ได้ออกมาเคลื่อนไหวโพสต์ข้อความในประเด็นดังกล่าว โดยได้ระบุข้อความว่า

“เรื่องนี้ผมเก็บไว้ในใจมานานแล้ว กรณีที่ The Metropolitan Museum of Art จะคืนประติมากรรมชิ้นนี้ให้ไทย โดยเขาระบุด้วยความสงสัยแบบหาคำตอบไม่ได้ว่าเป็นรูปพระศิวะประทับยืน คือ Standing Shiva หรือเป็นอะไรกันแน่? โดยเรียกกันแบบลำลองว่า Golden Boy หรือเด็กทองคำ

แต่ที่ระบุได้ก็คือได้มาจากไทย

แต่แล้วยังมีคนกัมพูชาบางคนไม่พอใจที่ The Met จะส่งคือของชิ้นนี้กลับมาให้ไทย โดยทวงแบบข้างๆ คูๆ ว่า "แม้ว่ารูปปั้น Golden Boy จะนำมาจากจังหวัดบุรีรัมย์ในอดีต แต่ยังคงเป็นของจักรวรรดิเขมรและเป็นของจิตวิญญาณของชาวเขมรที่ไม่ใช่พวกสยามในประเทศไทย"

ความเห็นแบบนี้แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ผมขอใช้เป็นตัวอย่างแนวคิดแบบ "คลั่งดินแดนของตัวเองในอดีต" หรือ Irredentism ของคนกัมพูชาบางคน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยเลยด้วย

พวก Irredentism คือพวกที่กระสันอยากจะได้ดินแดนที่บรรพบุรุษเคยปกครอง แต่เสียให้กับชาติอื่น แต่ลืมคิดไปว่าดินแดนนั้นเป็นสิ่งของ เปลี่ยนมือได้เรื่อยๆ

และดินแดนพวกนั้นมักเป็นเจ้าเข้าเจ้าของกันในสมัยที่มนุษย์ยังอยู่ในยุคโบราณ ไม่มีกติกาการแบ่งดินแดนที่ชัดเจน ตราบเมื่อมนุษย์เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ แล้วใช้สนธิสัญญาตกลงกำหนดดินแดนกัน มีองค์กรนานาชาติรับรองกติกากัน และเคารพกฎหมายระหว่างประเทศกัน

เหมือนอย่างข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร ไทยยอมใช้วิธีอารยะในการแก้ปัญหา คือ ใช้ศาลโลก แม้จะแพ้แต่ก็มีมนุษยธรรมแบบสมัยใหม่ ถ้าไทยจะใช้วิธีโหดร้ายโดยสวมวิญญาณพวก Irredentism แบบบางประเทศก็ยังได้ นั่นคือยกทัพยึดมันซะเลย แถมยังยกทัพรุกเข้าไปในกัมพูชาได้ด้วยทั้งครึ่งประเทศ

ทำแบบนั้น คือการฆ่าคนเบียดเบียนมนุษย์แท้ๆ เพียงเพราะต้องการสิ่งที่ตัวเองไม่ใช่เจ้าของ ณ ปัจจุบัน แต่อ้างอดีตที่จบสิ้นไปแล้ว

เพราะถ้าจะให้ไทยเป็นพวกกระสันอยากได้ดินแดนบรรพบุรุษจริงๆ แบบพวก Irredentism ดินแดนเขมรครึ่งหนึ่งเคยเป็นของไทยนะครับจนสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนที่เหลือของเขมรไทยถือเป็นประเทศราชด้วยซ้ำ

ขนาดนั่นคือยุคที่โลกเป็นโมเดิร์นแล้ว มีการกำหนดแผนที่ชัดเจนแล้ว เรายังเสียแผ่นดินไป เพราะ "อำนาจทางการเมือง" ไม่ใช่ยุคโบราณที่ประวัติศาสตร์กระพร่องกระแพร่ง และใช้วิถีการยึดครองที่โหดร้ายกว่า

แต่เดี๋ยวนี้คนไทยไม่คลั่งดินแดนบรรบุรุษ หรือเป็นพวก Irredentism แล้ว เพราะเรามีความเป็นพลเมืองโลกสมัยใหม่มากขึ้น มีเท่าไรก็รักษาเท่านั้น ของที่มาจากแผ่นดินที่เราเป็นเจ้าของโดยชอบธรรม ก็ควรกลับมาสู่แผ่นดินของเราโดยชอบธรรมเช่นกัน เพราะเราไม่ได้ไปเรียกร้องเกินตัวจากแผ่นดินใคร

แต่พลเมืองประเทศเพื่อนบ้าน (บางคน) ไม่เพียงไม่เลิกเป็น Irredentism แต่ยังคลั่งอย่างเลวร้ายมาก จนกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ที่ดี

เอาจริงๆ นะครับ ผมสงสัยมาตลอดว่าสิ่งที่เรียกว่า "จักรวรรดิเขมร" (Khmer Empire) มันมีจริงหรือเปล่า? เพราะแนวคิดเรื่อง Empire ของตะวันตกและของจีนมันไม่น่าจะใช้ได้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่มีระบบการปกครองส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพแบบ Empire แท้ๆ

กระทั่ง Ayutthaya Empire ที่เริ่มกลืนแผ่นดินเขมรแล้ว ผมก็ไม่อยากให้เรียกแบบนั้น เพราะมันไม่มีระบบการจัดการที่เป็นแบบ Empire จริงๆ ประสาอะไรกับอาณาจักรแถบบ้านเราที่โบราณกว่านั้น

แต่ Siamese Empire คือสมัยกรุงเทพฯ มีความใกล้เคียงกว่า ด้วยระบบการจัดการปกครองที่ชัดเจนกว่าในลักษณะจักรวรรดิยุคใหม่ อีกทั้งศิลปวัฒนธรรมเขมรยุคนี้ ไปจนถึงเครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ล้วนแต่มาจากจักรวรรดิสยาม เพราะเป็นส่วนกลางการปกครอง ถามว่าจะให้สยามทวงคืนไหมครับ?

แต่เราจะไม่ทำแบบนั้นเพราะเราเป็นพลเมืองโลก

แต่เราจะเรียกร้องในสิ่งที่เราเป็นเจ้าของที่แท้จริง ของสิ่งนั้นถูกนำออกไปจากแผ่นดินของเรา ณ ยุคสมัยนี้ แม้ว่าในใจของผมจะสงสัยมาตลอดว่า ในช่วงระยะปีสองปีที่มีการคืนศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติให้กับกัมพูชา ของบางอย่างได้มีการยืนยันอย่างถึงที่สุดหรือไม่ว่า ไม่ได้มาจากไทย?

แต่ผมขอเก็บความสงสัยเอาไว้คนเดียว เอาเฉพาะที่เรายืนยันได้ว่ามาจากแผ่นดินของเราก็พอ

หากเราไม่ทวงคืน ถือเป็นความบกพร่องต่อเราในฐานะพลเมืองของประเทศ และหากผู้ที่นำไปไม่คืนให้ก็บกพร่องในฐานะพลเมืองโลกที่ใช้กติการ่วมกัน - หากไม่ยึดกติกา คือกฎหมายระหว่างประเทศ เราจะเรียกว่าเป็นอารยะได้อย่างไรใช่ไหม? และพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ต่างอะไรกับคลังสมบัติของโจรเท่านั้นเอง

การจะทวงของที่ไม่ใช่ของตัวเองนั้นเรียกว่าโจรหรือไม่ ฝากให้คิดดู”
กำลังโหลดความคิดเห็น