xs
xsm
sm
md
lg

กรรมสนอง! ประชาธิปัตย์ ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะลึกเหตุแห่งความเสื่อม “ประชาธิปัตย์” พรรคเก่าแก่ 77 ปี หลงตัวว่าเป็นสถาบันทางการเมือง แต่ภายในแย่งชิงอำนาจกันยิ่งกว่าละครน้ำเน่ามาตลอด ไม่มีอุดมการณ์ที่แน่นอน ยุค “อภิสิทธิ์” ก็ทำลายภาคประชาชน ได้เป็นรัฐบาลเพราะพันธมิตรฯ ชุมนุม แต่กลับยัดข้อหาก่อการร้าย ให้แม่ยก-พ่อยกปล่อยข่าวทำลาย ยิ่งมาถึงยุค “เฉลิมชัย” ยอมกลืนน้ำลายตัวเอง หวังจะร่วมรัฐบาลอย่างเดียว เผยสกัด “มาดามเดียร์” เพราะรู้ว่าถูก “เจ้าสัว” ส่งมายึดพรรค ส่งสัญญาณบอก ต่อไปนี้ให้มาดีลโดยตรง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงสถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเกิดความแตกร้าวอย่างหนักและแสดงออกมาให้เห็นในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภายในพรรคประชาธิปัตย์มีการแบ่งเป็น 2 ขั้ว แก่งแย่งชิงอำนาจ ชิงดีชิงเด่นกันเองมาอย่างยาวนาน

นายชวน หลีกภัย
ขั้วแรก เป็นคนรุ่นเก่าที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มานาน นำโดย นายชวน หลีกภัย อายุ 85 ปี ซึ่งเป็นผู้อาวุโสสูงสุดในพรรค ร่วมด้วย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายนิพนธ์ บุญญามณี, นายสาธิต ปิตุเตชะ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรค ที่ลาออกจาก ส.ส.เมื่อปี 2562 เพราะไม่เห็นด้วยที่พรรคจะไปร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายนิพนธ์ บุญญามณี, นายสาธิต ปิตุเตชะ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
อีกขั้วหนึ่ง เป็นคนรุ่นหลัง ที่ไม่น่าจะเรียกว่าคนรุ่นใหม่เพราะอายุก็ไม่น้อย นำโดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค และ รมว.เกษตรฯ , นายนราพัฒน์ แก้วทอง คุมพื้นที่ภาคเหนือ และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เจ้าของพื้นที่สงขลา โดยมีสมาชิกจาก ส.ส.จังหวัดภาคใต้ เช่น นายชัยชนะ เดชเดโช, นายพิทักษ์เดช เดชเดโช จากนครศรีธรรมราช, นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง, นายสมยศ พลายด้วง, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ จากสงขลา และนางสุพัชรี ธรรมเพชร จากพัทลุง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

ายนราพัฒน์ แก้วทอง และนายเดชอิศม์ ขาวทอง
หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เพียงแค่ 25 ที่นั่งประกอบด้วย แบบแบ่งเขต 22 ที่นั่ง และแบบบัญชีรายชื่อ 3 ที่นั่ง

ทำให้ใน วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้ง มีผลทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 32 คน ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ส่วนนายเฉลิมชัย อดีตเลขาฯ พรรคนั้นยิ่งแล้วไปใหญ่ เพราะเคยพูดเอาไว้ตั้งแต่ปี 2565 ก่อนเลือกตั้ง ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงต่ำกว่า 52 เสียงจะเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต

นายเฉลิมชัยเคยพูดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2565 ว่า “ผมไม่บอกว่าจะได้กี่เขต แต่วันที่พรรคมีวิกฤติ ผมประกาศไว้ชัดเจนแล้ว รอบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่ ผมเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เลิกเล่นนะ ไม่ใช่หยุดเล่น เลิกคือหันหลังเดินออกไปเลย...”


อย่างไรก็ตาม นายจุรินทร์ ยังคงรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ระหว่างนั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ปรากฏว่าองค์ประชุมล่มไป 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อ วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 มีแคนดิเดตหัวหน้าพรรค 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากฝั่งนายชวน หลีกภัย และนายนราพัฒน์ แก้วทอง จากฝั่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ประชุมถกเถียงกันประเด็นที่ฝั่งนายชวนของดเว้นข้อบังคับการประชุม ที่กำหนดน้ำหนักในการลงคะแนน โดย ส.ส.ปัจจุบัน 70% อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค 30% แต่ไม่เป็นผล หลังจากพักรับประทานอาหาร กลับมาประชุมอีกครั้งปรากฏว่า องค์ประชุมไม่ครบ ต้องสั่งยุติการประชุม


ครั้งที่สอง ในอีก 1 เดือนต่อมา เมื่อ วันที่ 6 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบตั้งแต่เช้า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นำ ส.ส. 21 คนที่มีในมือ โจมตีอีกฝ่ายว่าสร้างความเสียหายให้แก่พรรค และไม่ได้เกิดโดยธรรมชาติ แต่เกิดโดยพฤติกรรมของกลุ่มคนบางกลุ่มในพรรคประชาธิปัตย์ มีการให้ไปเที่ยวประเทศลาวเพื่อไม่ต้องมาประชุม

ดีลลับ “แม้ว” ที่ฮ่องกง

ขณะที่การเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ยังไม่ลงตัว และเป็นช่วงของการเคลื่อนไหวจัดตั้งรัฐบาลนั้น ก็มีข่าวว่ากลุ่มของนายเฉลิมชัยแอบมีดีลลับที่ฮ่องกงกับนายทักษิณ ชินวัตร เจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง โดยมีกระแสข่าวว่า นายเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา เดินทางไปพบนายทักษิณ

ทีแรก นายเดชอิศม์ กล่าวเมื่อ วันที่ 3 สิงหาคม 2566 ว่า เดินทางไปหลายประเทศ ไปแก้บนให้ภรรยาที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2566 นายเดชอิศม์ไปออกทีวีช่องพีพีทีวี ยอมรับว่าไปพบกับนายทักษิณจริง และอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะอยากแก้ปัญหาให้ประชาชน

นายเดชอิศม์ ขาวทอง - นายทักษิณ ชินวัตร
ที่น่าสนใจก็คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย ได้รับการเสนอชื่อเพียงคนเดียว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่าส.ส.ประชาธิปัตย์ 16 คนซึ่งเป็นกลุ่มของนายเฉลิมชัยโหวตเห็นชอบให้นายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี ถึงกระนั้น ส.ส.ที่อยู่ในขั้วของนายเฉลิมชัยมี 21 คน ตอนนั้นยังประสานงานกับพรรคเพื่อไทยไม่เสร็จ เพิ่งมาสรุปได้ในวินาทีสุดท้ายก่อนปิดโหวต

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่านายเศรษฐาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในการแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี ปรากฏว่าความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ยังคงยืดเยื้อ เมื่อไม่มีหัวหน้าพรรคตัวจริง ทำให้ไม่มีใครเข็นให้ได้เข้าร่วมรัฐบาล แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลเศรษฐายังคงมีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างอยู่ 2 ที่นั่ง จากทั้งหมด 36 ที่นั่ง ได้แก่

1.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เดิมทีพรรคเพื่อไทย วางไว้ให้ นายพิชิต ชื่นบาน ทนายถุงขนมผู้ใกล้ชิดนายทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวขินวัตร

2.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดิมนายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ จะต้องได้ไป แต่ถูกถอนชื่อออกมา

เป็นการเก็บเก้าอี้ไว้ 2 ตำแหน่ง เผื่อพรรคประชาชาติที่มี 9 เสียง หากคุยไม่รู้เรื่องก็อาจปรับ ครม.แล้วดึงพรรคประชาธิปัตย์เสียบเข้าไปได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ 100%

ประชุมครั้งที่ 3 “เฉลิมชัย” กลืนน้ำลาย ผงาดหัวหน้าพรรค “มาดามเดียร์” ฝันสลาย

หลังผ่านไป 4 เดือน มาถึงการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 3 เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ในวันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566 ซึ่งก่อนหน้านั้น “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง และเป็นภรรยานายฉาย บุนนาค เจ้าของสื่อเครือเนชั่น เปิดตัวเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรคขอโอกาสฟื้นฟูพรรค เลิกระบบอุปถัมภ์

มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา บุนนาค
ส่วนฝั่ง นายเฉลิมชัย ทีแรกวางตัวนายนราพัฒน์ แก้วทอง เป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค แต่ตอนหลัง ส.ส.กลุ่มนายเฉลิมชัย 21 คน มีมติสนับสนุนให้นายเฉลิมชัยลงชิงตำแหน่งเอง

เมื่อถึงการประชุม ปรากฏว่า นายชวน เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้าพรรค แต่ต้องมีการพักการประชุม 10 นาที เพื่อให้นายอภิสิทธิ์คุยเคลียร์ใจกับนายเฉลิมชัย และท้ายนที่สุดนายอภิสิทธิ์ได้ขอขอถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อเป็นหัวหน้าพรรค และขอลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยยืนยันว่าจะไม่ไปพรรคอื่น และยังพร้อมช่วยงานพรรค


การประชุมเดินหน้าต่อไป โดยมีการเสนอชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค แต่ติดปัญหาตรงที่เป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 5 ปี ถ้าจะลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ประชุมต้องมีมติยกเว้นข้อบังคับพรรค โดยต้องใช้เสียงในที่ประชุม 3 ใน 4 แต่ปรากฏว่าเสียงโหวตไม่ถึง จึงหมดสิทธิชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

จากนั้นเข้าสู่วาระการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคปรากฏว่านายเฉลิมชัย ซึ่งถูกเสนอชื่อเพียงคนเดียว ได้คะแนน 88.5% ถือว่าได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 9 ต่อจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

ส่วนเลขาธิการพรรค นายเฉลิมชัยเสนอชื่อนายเดชอิศม์ มาดำรงตำแหน่ง โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ล้วนเป็นคนของนายเฉลิมชัยและนายเดชอิศม์ทั้งหมด ไม่มีตัวแทนฝ่ายนายชวนหรือนายบัญญัติแม้แต่คนเดียว


“มาดามเดียร์” พลาดเก้าอี้หัวหน้าพรรค คนผิดหวังคือ “เจ้าสัว”

การที่ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค พลา่ดจากการชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่แพ้อย่างแท้จริง ก็คือนายทุนที่เป็นแบ็กหนุนหลัง ซึ่งคนทั่วไปอาจเห็นเพียงภาพทุนสื่อ ที่นายฉาย บุนนาค สามีมาดามเดียร์ เป็นประธานกรรมการบริหารอยู่ แต่ความจริงยังมีทุนใหญ่ระดับ “เจ้าสัว” ที่ต้องการยึดพรรคประชาธิปัตย์ อยู่เบื้องหลังอีกทีหนึ่ง

“เจ้าสัว” ที่กล่าวถึงนี้เป็นเจ้าสัวคนเดียวกับที่ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง “พรรคประชาชาติ”

เมื่อ “มาดามเดียร์” ไปไม่ถึงเป้าหมายคนที่ผิดหวังคือ “เจ้าสัว” เพราะหากมี 9 เสียง จากพรรคประชาชาติ บวกกับ 25 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะเป็น 34 เสียง ซึ่งถือว่ามีความหมาย มีพลังในการต่อรองทางการเมืองอยู่มากพอสมควร

การที่ “เจ้าสัว” อยู่เบื้องหลังผลักดันให้ “มาดามเดียร์” มายึดพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้ ใช่ว่า “กลุ่มเฉลิมชัย” จะไม่รู้


เมื่อรู้แล้วจึงไม่ปล่อยให้ยึดไปได้ง่ายๆ ปรากฏการณ์เท “มาดามเดียร์” จึงเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า ถ้า“เจ้าสัว” ต้องการจะเปิดดีล ก็สามารถมาเจรจากับนายเฉลิมชัย ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องให้ “มาดามเดียร์”มายึดพรรค ทำแบบนั้นใครจะยอมได้

เชื่อว่าหลังจากนี้ จะมีการเปิดดีลระหว่าง “เจ้าสัว” กับนายเฉลิมชัย ค่อนข้างแน่ จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

คาดว่า หากดีลลงตัว ก็อาจจะได้เห็น “มาดามเดียร์” ลาออกจากพรรคไปอีกคน

แต่ก็ไม่แน่ ถ้า “เจ้าสัว” ยังต้องการให้มาดามเดียร์อยู่เป็นตัวแทนตนเองในพรรค ก็จะเห็นเธออยู่ช่วยงานพรรคต่อไป เพราะถ้าหากเจรจากับนายเฉลิมชัยได้ “มาดามเดียร์” ก็อาจจะมีตำแหน่งในการทำงาน

เหตุแห่งความเสื่อมของประชาธิปัตย์

จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งหลายแทบจะล่มสลายไปหมดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงพรรคเฉพาะกิจอย่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่พยายามสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารที่นำโดย 3 ป.แต่กรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อตั้งมา 77 ปีนั้นเป็น กรณีศึกษาที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดว่า ถึงคราล่มสลายในที่สุด

ล่มสลายเพราะอะไร

ประการแรก สังคมเปลี่ยนไป ประชาชนก็เปลี่ยน แต่ประชาธิปัตย์ไม่เคยเปลี่ยน อ้างตัวเป็นพรรคเก่าแก่ ชอบพูดว่าตัวเองเป็นสถาบันทางการเมืองมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ แล้ว ความขัดแย้งลึก ๆ ในพรรค และการแก่งแย่งชิงดีนั้นไม่ได้ต่างจากละครน้ำเน่าหลังข่าว หรือ อาจจะหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำ

ฝ่ายหนึ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเลยมาจากผู้ใหญ่ในพรรค อย่างนายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐานไม่นับกับพวกผู้ใหญ่ในพรรคที่โดนตะกร้อครอบปากไม่กล้าพูดอะไร พอก้าวมาสู่ยุคใช้เงินเยอะขึ้น ประเภทเลือกตั้งครั้งหนึ่งใช้ ล้านสองล้านหมดไปแล้ว ก็เริ่มมีคนใหม่ ๆ หน้าใหม่ ๆ เข้ามา อย่างเช่น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันหรือ นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

นายเดชอิศม์ ขาวทอง และนายโทนี่ เตียว หรือ เตียว วุยฮวด
ซึ่งหลายคนนั้นมีคอนเนคชันทางธุรกิจท้องถิ่น ธุรกิจสีเทา อยู่เบื้องหลัง เช่น กรณีเมื่อปี 2565 มีการจับกุมนักธุรกิจชาวมาเลเซีย “โทนี่ เตียว” หรือ เตียว วุยฮวด ซึ่งมีหมายจับเกี่ยวกับคดีฉ้อโกงและฟอกเงินในมาเลเซีย รวมถึงในสาธารณรัฐประชาชนจีน จนองค์การตำรวจสากล หรืออินเตอร์โพลออกหมายแดง ซึ่งนายโทนี่ เตียว นี้คนในพื้นที่ก็รู้กันดีว่ามีความสนิทสนมกับ นายเดชอิศม์

ส่วน นายเฉลิมชัย เองก็เช่นกัน ในช่วงที่เป็น รมว.เกษตร สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ท่านผู้ชมต้องทราบว่า กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ นั้นเป็น กระทรวงที่ได้รับงบประมาณเยอะมาก และก็มีข่าวอื้อฉาวมากไม่แพ้กัน อย่างกรณีเรื่องอื้อฉาว“หมูเถื่อน”ที่ติดมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันมา 3-4 ปี ก็มีหน่วยงานราชการภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้อง ร่วม “บูรณาโกง” อย่างน้อย 2 หน่วยงาน คือกรมปศุสัตว์และกรมประมง

แม้นายเฉลิมชัย จะบอกว่าไม่รู้เรื่อง ไม่เกี่ยวข้อง แถมยังมีส่วนในการปราบปราม แต่ในฐานะเจ้ากระทรวงมาตั้งแต่ปี 2562-2566 นายเฉลิมชัยย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงร่ำลือว่า ในช่วง 3-4 ปีที่นั่งอยู่ในตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ นั้นนายเฉลิมชัยนั้นสบายใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส หน้าตามีสง่าราศรี


จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้อยู่ในสมัยที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ มีหน้าที่หาเงินเข้าพรรค ในช่วงปี 2548-2554 ก่อนส่งไม้ต่อให้กับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เพราะนายสุเทพออกเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และก่อตั้ง กปปส. ร่วมกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกจำนวนหนึ่ง

เบื้องหลัง ยุพันธมิตรฯ ออกหน้าก่อน


ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในปี 2556 ก่อนการก่อตั้ง กปปส.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นแกนนำ เรียกชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย โดยเริ่มต้นที่ข้างสถานีรถไฟสามเสน เมื่อ วัน 31 ตุลาคม 2556


“แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้น คือ คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ เคยติดต่อผ่านทางพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนัดให้ อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ กับคนของผมไปทานข้าวที่ห้องอาหารจีน รร.ปรินเซส หลานหลวงเพื่อชักชวนให้กลุ่มพันธมิตรออกมาเป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหว คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอในยุคของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยอ้างว่าทางบุคลากรพรรคประชาธิปัตย์จะให้การสนับสนุนเหมือนกับครั้งออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริต ประพฤติมิชอบของ “ระบอบทักษิณ”


“แต่ในเวลานั้น ทางผม กับ อ.ปานเทพ รู้ทันจึงปฏิเสธไป เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ที่พวกผมออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ นั้นผลลัพธ์ที่ได้คือคดีความ การถูกยึดทรัพย์และล้มละลาย ซึ่งผมได้บอกเล่าความในใจให้ท่านผู้ฟังได้ฟังไปแล้วในหลาย ๆ ตอนที่ผ่านมา” นายสนธิกล่าว

ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตร และแนวร่วม ซึ่งอีกไม่กี่วันนี้จะต้องไปฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมที่สนามบิน เพราะโดนยัดข้อหาว่าเป็น ผู้ก่อการร้าย ซึ่งข้อหาทั้งหมด เกิดขึ้นในยุคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีดูแลตำรวจ และความมั่นคง พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล ก่อตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มีการสลับขั้วดึงฝั่งนายเนวิน ชิดชอบ ออกมาจากฝั่งนายทักษิณได้ ก็จากการเคลื่อนไหวต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” จากหยาดเหงื่อ-เลือดเนื้อ และความเสียสละของพันธมิตรฯ ทั้งหลายในการชุมนุมช่วงปี 2551 ทั้งนั้น


“พวกผมขอถามหน่อยว่า พันธมิตรฯ ชุมนุมเสร็จพวกผมได้ยศ ได้ตำแหน่ง ได้เงินทอง อะไรเหมือน กปปส. หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง บ้างไหม? ได้เป็นรัฐมนตรีเหมือนพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ไหม?ได้เป็นรัฐมนตรีเหมือนกับเต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อหรือได้ตำแหน่งใหญ่โตในรัฐบาลเหมือนกันแกนนำเสื้อแดงคนอื่น ๆ บ้างไหม? ไม่มี มีแต่คดีความ เดินขึ้นโรงขึ้นศาล ถูกยึดทรัพย์ ถูกตัดสิทธิ์เกือบจะทุกอย่าง” นายสนธิกล่าว

ตรงกันข้ามกับ การชุมนุมของ กปปส. ของนายสุเทพที่มีการสมรู้ร่วมคิด รู้กันกับทางฝั่ง 3 ป. ตั้งแต่แรกว่าการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะนำไปสู่การรัฐประหารในที่สุด

เรื่องนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณเปิดเผยเอง หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประมาณ 1 เดือน วันที่ 23 มิถุนายน 2557 หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์บางกอกโพสต์รายงานข่าวเรื่อง “Suthep in talks with Prayuth ‘since 2010’” แปลเป็นไทย คือ “สุเทพคุยกับประยุทธ์มาตั้งแต่ปี 2553” แล้ว


เนื้อหาข่าวของบางกอกโพสต์ระบุว่า ใน ช่วงค่ำวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ระหว่างที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อระดมทุนของกลุ่ม กปปส. ที่ แปซิฟิก คลับ หรือ แปซิฟิก ซิตี้ คลับ คลับวีไอพี บน ถ.สุขุมวิท ซึ่งมีคนดังมาร่วมงานเพียบ โดยคุณสุเทพเปิดเผยต่อ ผู้ร่วมงานเลี้ยงว่า ได้ติดต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อวางแผนล้มระบอบทักษิณมาตั้งแต่ปี 2553 แล้ว

แล้วก็สิ่งที่นายสุเทพได้รับตอบแทนมาจากรัฐบาลทหารก็คือ ได้ส่งคนของตัวเองสอดแทรกเข้าไป เป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไปเป็นรัฐมนตรี

ยกตัวอย่าง อย่างเช่น ในปี 2561-2562 ก่อนการเลือกตั้ง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็ได้รับตำแหน่ง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่ในการเลือกตั้งจะเข้าไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
พอหลังเลือกตั้งปี 2562 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนนายพุทธิพงษ์ ก็ได้รับตำแหน่ง รมว.ดีอีเอส หรือ นายถาวร เสนเนียม ก็ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในโควต้าพรรคประชาธิปัตย์

นอกจากนี้ตั้งแต่ปี 2561 ยังมี นายสกลธี ภัททิยกุล ลูกชายของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีต เลขาฯ คมช. ก็ยังได้รับตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กทม. ปี 2563 น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร (ภิรมย์ภักดี) ก็ได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการตํารวจ

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร (ภิรมย์ภักดี)
ซึ่งเมื่อเทียบกับแกนนำ-แนวร่วมพันธมิตรที่โดนคดีพัวพันมาถึงปัจจุบันแล้ว แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นี่เองที่บอกว่า นายอภิสิทธิ์เป็นคนอำมหิตเพื่ออำนาจและภาพลักษณ์ของตัวเองแล้วยอมสละทุกอย่าง แม้กลุ่มพันธมิตรเคยยื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์เรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องคดี แต่กลับกระทืบพันธมิตรซ้ำเติมไปอีก ด้วยการเปลี่ยนตัวตำรวจที่ดูแลคดีเป็น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง โดยเพิ่มผู้ต้องหาจาก 36 คน เป็น 98 คน พร้อมยัดข้อหาก่อการร้ายเพิ่มเติมให้ไปอีก ไม่ว่าจะพิธีกร แขกรับเชิญ พิธีกรเอเอสทีวี นักดนตรี แม้แต่ป้าที่มาชุมนุมและตีฝาหม้อยังโดนข้อหาก่อการร้าย

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง
นอกจากนี้ระหว่างที่นายอภิสิทธิ์-พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็ทำเรื่องเลวร้ายหลายเรื่อง โดยบางเรื่องก็ปล่อยนายสุเทพทำ ยกตัวอย่างเช่นกรณีน้ำมันปาล์ม กรณีเขาพระวิหารหรือกรณีการลอบยิงนายสนธิ เมื่อ วันที่ 17 เมษายน 2552 สังเกตได้ว่า พอพูดถึงเรื่องนี้นายสุเทพเงียบสนิท หรือ แม้แต่นายอภิสิทธิ์ ที่รู้เรื่องราวทุกอย่าง ตอนหลังจำยอมก็เปลี่ยน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ ที่เป็นหัวหน้าคณะที่ทำคดี ให้เป็นคนอื่น เพราะ พล.ต.อ.ธานี นั้นทำคดีจนสาวเกือบจะไปถึงตัวการใหญ่แล้ว

พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์
ไม่นับรวมกับที่ฝั่งประชาธิปัตย์ เคยใช้คนออกมา ปล่อยข่าวบอกว่านายทักษิณซื้อเอเอสทีวีไปแล้ว อุดมการณ์ของนายสนธิกับชาวพันธมิตรเปลี่ยนไปแล้ว แต่ป่านนี้ค่ายเอเอสทีวี ซึ่งปัจจุบันเป็น NEWS1 รวมถึงนายสนธิที่ติดคุกเกือบ 3 ปี ออกมา ก็ยังทำอยู่เหมือนเดิม ยืนอยู่ที่เดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ตรงกันข้าม วันนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และอดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายต่อหลายคน หายหัวไปไหนหมด?

แม่ยก-พ่อยกประชาธิปัตย์ปล่อยข่าวเท็จ ASTV โดนทักษิณซื้อ

ย้อนไปเดือนสิงหาคม 2554 หลังพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งให้กับพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร จนต้องกลับไปรับบทถนัดคือพรรคฝ่ายค้าน ก็เกิดอาการฟูมฟายตีอกชกตัวดิ้นพล่านทุรนทุราย แถมยังมีลิ่วล้อออกมาปล่อยข่าวว่า “สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี" ถูกทักษิณซื้อไปแล้ว

เพราะตอนนั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ชุมนุมเคลื่อนไหวให้รัฐบาลปกป้องดินแดนจากกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา และยกระดับการชุมนุมเป็นการเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่ทำหน้าที่ปกป้องดินแดนและอธิปไตย โดยช่วงนั้น มีการปล่อยข่าวโจมตีนายสนธิและเอเอสทีวี ต่าง ๆนานา ทั้งตามชุมชนต่างๆ และในสังคมออนไลน์


นายจิตรกร บุษบา นักจัดรายการวิทยุและคนสนิทนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ได้โพสต์ข้อความเท็จผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ไม่ต้องไปบริจาคแล้วล่ะครับ เดือนละ 1,000 น่ะ เพราะข่าววงในบอกมาว่า มิถุนายนปีหน้า ก็เปลี่ยนเจ้าของใหม่แล้ว ไม่มีหรอก “จอดำ” “จอดับ” น่ะ มีแต่หลอกแดก”

ขณะที่ วันนั้น หน้าโปรไฟล์เฟซบุ๊กของ “ติ๊งต่าง” นางกาญจนี วัลยะเสวี ซึ่งเป็นกองเชียร์-แม่ยก ผู้สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ได้ตอบข้อความที่นามแฝง “รำเพย กุลสตรี” โพสต์ข้อความในหน้าวอลล์ของนางกาญจนี ด้วยข้อความ “แป๊ะแฮ๊บไปหมดแล้วค่ะ” ในทำนองกล่าวหาว่านายสนธิขโมยเงินบริจาคไปหมดแล้ว

นางกาญจนี วัลยะเสวี
ที่สำคัญ เมื่อ วันที่ 2 สิงหาคม 2554 ติ๊งต่างโพสต์ข้อความ ระบุว่า “เมื่อเช้าฟัง ASTV พวกนี้คำก็แม่ยก ปชป. สองคำก็แม่ยก ปชป. แม่ยก ปชป.แล้วเป็นยังไง เราภูมิใจเสียอีกที่สนับสนุนคนดี และไม่เป็นทาสนักตบทรัพย์-นักจัดม็อบ-พวกคนบาปในคราบนักบุญ....” ต่างๆ นานา


“ผ่านมา 12 ปีกว่า ถึงวันนี้ ผมก็ยังยืนอยู่ตรงนี้ที่เดิม ASTV ก็ไม่ได้มีใครซื้อไป เป็นเพียงเปลี่ยนชื่อไปเป็น NEWS1 สื่อในเครือทั้งหมดยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบนักการเมืองทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ตามที่เคยทำมาเป็นปกติต่อไป ผมก็ยังเป็นผม ข้อความที่พวกคุณพูดวันนั้นวันนี้มันพิสูจน์แล้วว่ามีแต่ความเท็จ

“แต่กลับกัน วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ "คนดี" ที่คุณติ๊งต่างเชียร์นักเชียร์หนา กลายสภาพเป็นอะไรไปแล้ว แมลงสาปแตกรังไปหมด แม้แต่ตัวคุณก็ยังลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แล้วตั้งแต่ 9 ธันวาคม 2566 ไม่ใช่หรือ”
นายสนธิกล่าว

จุดจบประชาธิปัตย์

นายอภิสิทธิ์ กับ นายเฉลิมชัย ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2554 โดยที่ประชุมเลือก นายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค โดยนายเฉลิมชัย เป็นเลขาธิการพรรค

ย้อนกลับไปปี 2554 เมื่อนายสุเทพออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พรรคก็ไม่มีแม่บ้าน ไม่มีคนหาเงินทองมาเลี้ยงพรรค นายเฉลิมชัยเข้ามาเสียบเป็นเลขาธิการพรรคแทน

มาถึงการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์พ่ายการเลือกตั้ง ก็กลายเป็นข้อผิดพลาดของ ฝั่งนายชวน ที่สนับสนุนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เข้ามา เหตุผลคือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ว่าให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยนอกจากจุรินทร์ได้เป็นรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัยเป็น รมว.เกษตรฯ แล้ว นายชวนก็ต้องเป็นประธานรัฐสภา

เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่สาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์ มาถึงจุดนี้ได้เพราะอะไร เพราะแม้นายชวน ที่ว่าเป็นเสาหลักให้กับพรรค ก็ยังไม่มีหลักการอุดมการณ์ จะไปหวังให้หัวหน้าพรรคคนใหม่อย่าง นายเฉลิมชัย จะมีหรือ?


“ส่วนคุณอภิสิทธิ์ ผมขอให้คุณเลิกเล่นละครได้มั้ย ผมรู้ทันคุณทุกเรื่อง ตอนคุณอภิสิทธิ์มีอำนาจ คุณทำลายภาคประชาชน เพราะกลัวประชาชนจะใหญ่กว่าตัวเอง จนสุดท้ายก็ไม่มีใครเหลียวแลคุณตั้งแต่แพ้เลือกตั้งปี 2554 คุณก็ยังหาทางไปไม่เป็น แม้แต่หลานของคุณ ไอติม พริษฐ์ ก็ต้องกระโดดออกไปเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกล


“ที่น่าเสียใจที่สุด คือ ในยุคคุณอภิสิทธ์คุ ณย้าย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง เข้ามา จัดการคดีของพันธมิตรฯ ซึ่งตอนนั้น คุณสุเทพ ดูแลตำรวจ ตอนหลัง คุณอภิสิทธิ์ ก็มาแก้เกมถามผมว่าจะเอาใครมาดูคดีผม ก็เป็น พล.ต.อ.ธานี แล้วสุดท้ายคุณกลับย้าย พล.ต.อ.ธานีไปเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อคดีใกล้ได้ตัวคนบงการ แสดงว่าคุณอภิสิทธิ์รู้อยู่แก่ใจว่าใครยิงผม


“ดังนั้นหากเชื่อในธรรมของพระพุทธเจ้า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ ณ วันนี้ ชัดเจนว่าเป็นไปตาม หลัก "อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท" กล่าวคือ สิ่งทั้งปวงมีเหตุมีปัจจัย แล้วก็เป็นไปตามอำนาจของเหตุของปัจจัย"


“เพราะฉะนั้น สมควรแล้วที่ วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ แตกแยกออกเป็นเสี่ยง ๆ ก็เพราะกฎแห่งกรรมนั่นเอง” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น