…ราวกับก้าวเข้าไปในดินแดน Exotic ที่อยู่พ้นกาลเวลา
บุรุษตาน้ำข้าวหัวใจไทย ผู้เปรียบเสมือน ‘เจ้าบ้าน’ รับหน้าที่พาเราเดินชมชิ้นงานหลากหลายชิ้น ซึ่งโดดเด่นราวกับงานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตบรรจง…
เขาคือ ‘NICKI VON BUEREN’ หรือ ‘นิกกี้ วอน บูเรน’บุตรชายคนเล็กของ ‘รอล์ฟ’ และ ‘เฮเลน วอน บูเรน’
ปัจจุบัน เขาคือทายาทรุ่นที่ 2 และประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO แห่ง Lotus Arts de Vivre (LAdV)
‘โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์’ แบรนด์เครื่องประดับและของแต่งบ้านชั้นสูงของไทยที่มีอายุยืนหยัดมายาวนานกว่า 40 ปี ด้วยกลุ่มลูกค้าที่มีทั้งราชวงศ์จากหลากหลายประเทศ นักธุรกิจชั้นนำ และเหล่าผู้หลงใหลในงานหัตถศิลป์
เขายังคงรักษาและสืบต่อสิ่งที่ ‘รอล์ฟ’ และ ‘เฮเลน วอน บูเรน’ ก่อร่างสร้างไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ด้วยการคงอัตลักษณ์ และจิตวิญญาณของแบรนด์เอาไว้ได้อย่างเข้มข้นในท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘นิกกี้ วอน บูเรน’ CEO แห่ง Lotus Arts de Vivre (LAdV)
ผู้นำพาความเป็น ‘ตำนาน’ ของแบรนด์ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ด้วยวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ ทั้งพูดคุยถึงกระบวนการรังสรรค์งานอันประณีต, การปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างล้วนแตกต่างจาก 40 ปีก่อน รวมถึงการนำชมงานหัตถศิลป์ชิ้นโดดเด่นของปีนี้ ณ ‘Lotus Arts de Vivre (LAdV)’ แห่งแรกซึ่งปักหมุดขึ้นที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
เขาบอกเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างเพลิดเพลิน ท่ามกลางชิ้นงานอันสวยงาม เปี่ยมอัตลักษณ์ สมคุณค่าแห่งความเป็นตำนานที่ยังมีชีวิตและพร้อมก้าวไปกับโลกยุคใหม่
‘ดีไซน์’ อันเปี่ยมอัตลักษณ์
ถามว่าในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 และประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO แห่ง Lotus Arts de Vivre (LAdV)
‘โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์’ แบรนด์เครื่องประดับและของแต่งบ้านชั้นสูง คุณให้นิยาม โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ ในมุมมองของคุณว่าอย่างไร มีอะไรที่แตกต่าง คงเดิมหรือปรับเปลี่ยนไปจาก 40 ปีที่ผ่านมาบ้าง
NICKI VON BUERENหรือ ‘นิกกี้’ ตอบว่า “สิ่งที่ผมได้พบเจอในเวลาเดินทางไปงานที่ต่างประเทศแล้วได้พูดคุยกับเพื่อนๆ หรือพูดคุยกับลูกค้ามา ทำให้ทราบว่า จุดเด่นของแบรนด์เราก็จะอยู่ที่ ‘ดีไซน์’ เวลาแสดงของที่อเมริกา หรือทั่วโลกเลย ผมจะเจอหลายคนเลยที่บอกวา ‘เอ๊ะ เคยเห็นชิ้นนี้ ดีไซน์นี้ คุณมาจากเมืองไทยใช่ไหม’ ผมจึงคิดว่าดีไซน์สำคัญที่สุดครับ”
CEO แห่ง Lotus Arts de Vivre (LAdV) ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
เมื่อ Lotus Arts de Vivre เป็นบริษัทรีเทล ขายสินค้า Jewelry และของแต่งบ้าน สิ่งสำคัญที่สุดก็ต้องเป็น ‘สินค้า’ ว่าเราขายอะไร ซึ่งเราขายดีไซน์ เมื่อคนซื้อสินค้าของเรา เขาก็จะเห็นแล้วก็จะซื้อ ‘ดีไซน์’
“ผมว่านี่เป็นสิ่งดีดีของแบรนด์เรา เป็นจุดเด่นที่สุดครับ” นิกกี้เน้นย้ำและกล่าวเพิ่มเติมว่า จริงอยู่ ว่าย่อมจะมีปัจจัยอื่นๆ ด้วย นอกเหนือไปจากงานดีไซน์ เช่น ช่วงเวลาของการจัดอีเวนท์ คนก็ชอบ และอย่างอื่นๆ ก็ล้วนสำคัญเช่นการบริการ รวมถึง Quality ของงานทุกอย่าง แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็อยู่ที่ดีไซน์นั่นเอง
“ผมคิดว่า ‘ดีไซน์’ เป็นจุดหลักของเราที่เราสร้างมาในตลอด 40 ปีที่ผ่านมา แล้วผมก็ได้ยินจากหลายๆ คนว่าเมื่อไปโชว์ในต่างประเทศ เมื่อคนได้เห็นก็จะรู้เลยว่า งานชิ้นนี้มาจาก Lotus Arts de Vivre”
‘Fine Jewelry’…ความผสมผสานอันเลอค่า
หากถามว่า อะไร ทำให้ ‘ดีไซน์’ ของ Lotus Arts de Vivre (LAdV) โดดเด่น
CEO แห่ง แบรนด์ Luxury นี้ กล่าวว่า คือการใช้วัตถุดิบและฝีมือของคนที่เป็นช่างฝีมือคุณภาพ รวมถึงจินตนาการและไอเดียของคนออกแบบ
“ผมมองว่า เราน่าจะเป็นแบรนด์แรกในวงการ Jewelry ที่ผสม ‘ไม้’ กับ ‘เพชร’ เมื่อก่อนไม่มีใครทำอย่างนี้ เราเป็น ‘Fine Jewelry’ ที่สามารถผสมวัตถุดิบได้ แต่ภาพรวมจะเป็น Lotus Arts de Vivre ถ้าคุณดูในร้าน คุณจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปีกแมลงทับ หรือการวาดบนกระเป๋า หรือแม้แต่หยกของเราที่มีความโดดเด่น เพราะเราใช้วัตถุดิบจากหลายประเทศผสมกันเพื่อให้สุดท้ายแล้ว ในภาพรวม เมื่อใครได้เห็นก็จะรู้ว่าเป็นของ Lotus Arts de Vivre ไม่ว่าจะเป็น Jewelry หรือของแต่งบ้าน
“ตัวอย่างเช่น ในส่วนของ Jewelry เราทำงานกับบริษัทที่ญี่ปุ่นมา 20 ปี รวมถึงอีกหลายแห่งทั่วโลกที่ไม่มีใครอื่นทำเหมือนเรา ที่มีเพียงชิ้นเดียว หรือมีน้อยชิ้น เหตุหนึ่งที่เราโดดเด่นเพราะความมีน้อยชิ้นด้วยครับ”
นิกกี้บอกเล่า และอธิบายว่า อีกสาเหตุที่ทำให้มีคนชอบในงานของ Lotus Arts de Vivre ก็คือเขารู้ว่างานทุกชิ้นทุกอย่าง ทำขึ้นในเมืองไทย เริ่มขึ้นและจบที่เมืองไทย
“จริงอยู่ว่าเราอาจจะใช้ฝีมือของศิลปินที่ญี่ปุ่นหรือจากทั่วโลก แต่ทุกอย่าง ไอเดียจะเริ่มที่เมืองไทยแล้วก็จบที่เมืองไทย ประกอบในเมืองไทย ทำให้งานมีเอกลักษณ์ที่คนเห็นแล้วก็จะรู้ว่าเป็นแบรนด์เรา” CEO Lotus Arts de Vivre ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่าช่วงนี้ ปัญหาประการหนึ่งที่ได้พบในตลาดก็คือ พบว่ามีหลายราย Copy งานของ Lotus Arts de Vivre คือทำคล้ายๆ ของเรา แต่ส่วนใหญ่หรือเกือบทุกคนที่เห็นเขาก็จะบอกว่า ดูออกว่าไม่เหมือนของเรา รายละเอียดเวลาที่ได้จับหรือว่าได้ใช้ ได้วาง มันจะไม่เหมือนกัน คุณภาพต่างกัน ดังนั้น ‘คุณภาพ’ จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก เมื่อเราพูดถึง Jewelry และทุกๆ อย่าง การประกอบ การใช้งาน ต้องมีคุณภาพ”
คือ ‘DNA’…ที่เข้มแข็ง
ถามว่า ชิ้นงานที่รังสรรรค์โดย Lotus Arts de Vivre (LAdV) เรียกได้ไหมว่า มีชิ้นเดียวในโลก
นิกกี้ตอบทันทีว่า “งานของเราหลายชิ้นเลยครับ ที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรา นอกจากงานดีไซน์ก็คือเราผลิตชิ้นน้อย โดยเฉพาะหากเป็น Jewelry นี่ยิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าคนเราใส่ Jewelry ก็คงไม่อยากเห็นใครใส่ซ้ำกับเราใช่ไหมครับ ดังนั้น Jewelry แต่ละชิ้นของเรา ก็เล่า Story ด้วย เพราะ Inspiration ของแต่ละชิ้นมาจากเทคนิคของแต่ละประเทศ หรือมาจากฝีมือของศิลปินแต่ละคนที่อยู่คนละประเทศ ไม่ว่าจากไทย อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น จีน ดังนั้น Jewelry ของเราทุกชิ้นมี Story และโดยส่วนใหญ่ ลูกค้าหลายคนก็เป็นเพื่อนของเราด้วย ดังนั้น หมายความว่าเราเอง เมื่อไปขายในต่างประเทศแล้วก็ได้พบเจอ ได้สื่อสารกันกับลูกค้าของเรา งานเราจึงมี Storytelling มาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วแล้วครับ งานทุกชิ้นเลย” นิกกี้บอกเล่าอย่างเห็นภาพ
และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุกวันนี้ ผมก็ยังเจอคนที่บอกว่า ‘ผมเคยเจอคุณ ผมเคยซื้อของคุณ’ เพราะจริงๆ แล้ว เราก็เป็นวงการเล็กๆ ดังนั้น ในจุดสุดท้าย สิ่งเหล่านี้มีทั้งแง่บวกแง่ลบ เพราะถ้าดูแบรนด์อื่นๆ เช่น Cartier หรือ BVLGARI เขาก็เริ่มเหมือนเรา แต่เขาก็ขยายใหญ่ ทั้งในเมืองไทย ในเอเชียมีตั้งกี่แห่ง แต่ก็เนื่องจากเพราะ Products ของเขาต้องผลิตหลายชิ้นด้วย ส่วนของเราเองเราถือว่ายังมีโอกาสเรียนรู้จากเขา แล้วอาจตัดสินใจอีกทีว่าปีต่อๆ ไป เราจะทำยังไง จะผลิตมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่ยังตัดสินใจกันอยู่ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ Products ของเราก็ต้องเก็บ ‘DNA’ ของ Lotus Arts de Vivre ไว้” นิกกี้ระบุ
จิตวิญญาณของ ‘Lotus Arts de Vivre (LAdV)’
ถามว่า จิตวิญญาณของ ‘โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์’ ที่พ่อของคุณสร้างขึ้น กับจิตวิญญาณ โลตัส อาร์ต เดอร์ วีฟว์ ในวันที่คุณเข้ามาบริหารเต็มตัว เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
นิกกี้ตอบอย่างชัดเจนว่า “ Products ต้องเหมือนกัน อาจจะปรับเปลี่ยนเล็กน้อย แต่โดยหลักเราจะไม่เปลี่ยนเรื่อง Products และคิดทุกสิ่งอย่างรอบคอบ เช่น คิดว่างานอันนี้อาจจะต้องมาปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพราะว่าตลาดเปลี่ยน คู่แข่งเยอะขึ้น วิธีซื้อก็เปลี่ยน ฐานลูกค้าตอนนี้ก็เปลี่ยนไปด้วย
“เมื่อครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ผมเริ่มแบรนด์นี้เมื่อ 40 ปีก่อน โลกเรายังไม่มี Instagram เหมือนคนละโลก ใช่ไหมครับ ดังนั้นวิธีการทำโปรโมชั่น วิธีการขาย รวมถึงกลุ่มคนที่ซื้อสินค้าเราก็มีความเปลี่ยนแปลงไป
แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องไม่เปลี่ยนหลักการเดิม แต่เปลี่ยนวิธีการนำเสนอ เช่นในเรื่องของ Marketing , Presentation แล้วเราก็ทราบว่าตอนนี้หลายๆ อย่างต่างก็ปรากฏอยู่ในโลก Social Media ซึ่งต้องมีการ Up ที่รวดเร็ว
“สิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่ผมคิดว่าเราต้องมาปรับเปลี่ยนใหม่ ขยายฐานให้ใหญ่ขึ้น เพราะตอนเราเปิดร้านที่นี่ ที่โรงแรมอนันตรานี้ ในช่วงนั้น เมืองไทยมีห้างฯ อยู่น้อยมาก แต่วันนี้ มีหลายแห่งที่ผู้คนสามารถไปซื้อได้ ต่างจากเมื่อก่อน ที่การหา Luxury Products ในกรุงเทพฯ ยังมีอยู่น้อยแห่ง เช่น อาจต้องหาตามโรงแรม ซึ่งเมื่อก่อนโรงแรมก็มีไม่มาก แต่ในวันนี้ ทุกๆ อย่างมีมากขึ้นแล้ว ดังนั้น วิธีการขายก็ต้องตามให้ทันโลกยุคนี้ด้วยครับ” นิกกี้ระบุ
ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5
อดถามไม่ได้ว่า ยังมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ใด ของ Lotus Arts de Vivre (LAdV) อีกบ้างที่คุณอยากบอกเล่า หลังจากก่อตั้งมา 40 ปีและกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 5
นิกกี้ตอบว่า “เราเป็นแบรนด์ที่ภูมิใจในวิธีการที่เราผลิต เรายังใช้คน ใช้วัสดุธรรมชาติ เรานำเอาไม้ที่คนทิ้ง กลับมาทำให้มีคุณค่า สิ่งเหล่านี้ Sustainable แล้ว
“ดังนั้น ตอนนี้ เราเพียงอยากอธิบายให้ทุกคนทราบว่า แม้ปัจจุบันเราอยู่ในโลกของ ‘Fast Fashion’
แต่งานของเรา ทุกชิ้นใช้เวลา เพราะทำด้วยมือ แม้ทุกอย่างในตอนนนี้ไวหมด มี Social Media
โลกของเราไวหมด แล้วเรา Lotus Arts de Vivre ยังอยู่ในโลกค่อนข้างช้า ไม่ว่าการผลิต ทุกอย่างใช้เวลา เรื่องงาน Craft ทุกอย่างใช้มือทำทั้งสิ้น เมื่อเราทำในหลักการแบบนี้ ดังนั้น งานทุกอย่าง ทุกชิ้นจึงมี Story ลูกค้าทุกคนก็ชอบ ทุกคนต้องเข้าใจว่าถ้าต้องการ Story ในงาน 1 ชิ้น จึงต้องใช้เวลา”
ถามว่า นอกจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างล้วนรวดเร็วขึ้น แต่ Lotus Arts de Vivre (LAdV) ยังคงให้คุณค่ากับ ‘เวลา’ อย่างละเมียดละไมในการทำงานแต่ละชิ้น ยังมีอะไรอีกบ้างไหม ที่นับเป็นความท้าทายอื่นๆ ในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 5
นิกกี้ยืนยันว่า สิ่งสำคัญคือ วิธีการผลิตจะไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงผลิตช้า มีน้อยชิ้น และทุกชิ้นมี Story โดยทางแบรนด์จะช่วยสร้างกระแสข่าวเรื่อง Story และอยากให้ลูกค้ารับรู้ว่ามีความเป็น ‘ครอบครัว’ เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในกระบวนการนั้นด้วย ขณะที่บางแบรนด์ใหญ่ๆ คุณอาจไม่รู้จักใครแล้ว นอกจาก Sales ขณะที่ ‘Lotus Arts de Vivre (LAdV)’ ยังคงลงลึกใน Story รวมไปถึงการได้พบเจอเจ้าของ ได้พบเจอคนออกแบบ งานของเราจะผลิตกับมือจริงๆ เราเป็นแบรนด์ที่มี Storytelling มี ‘Heart’ จริงๆ”
“ที่สำคัญคือ เราเป็นแบรนด์ไทยด้วย นี่เป็นจุดสำคัญที่ครอบครัวเราอยู่เมืองไทย คือผมเกิดเมืองไทย ลูกผมก็เกิดเมืองไทย ถ้าเราไม่ได้อยู่เมืองไทย ผมว่าเราทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีช่างฝีมือหรือมีคนที่สามารถคิดและสร้างสรรค์ในแต่ละส่วน ไม่ว่า ในส่วนของการออกแบบ หรือปั้น หรืออย่างเช่นช่างทอง หรือคนที่ทำปีกแมลงทับ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เราล้วนทำในเมืองไทย จริงอยู่ เวลาไปที่ประเทศอื่น เราอาจปรับเปลี่ยน แต่เราก็ต้องยอมรับว่า ‘ความเป็นไทย’ คือแบรนด์ของเรา เราจะเก็บสิ่งนี้ไว้ตลอด
ในช่วง 25-30 ปีที่ผ่านมา เมื่อผมไป Exhibition ที่ไหนก็ตามในโลก ผมจะนำเอาตู้ไทยไปด้วย อันนี้เป็นสัญลักษณ์ของเรา ที่เราไม่เปลี่ยน แต่เราอาจจะมาปรับเล็กน้อย เพราะว่าลูกค้าฐานใหม่ ไม่เหมือนฐานเก่า”
“ในทุกๆ Products และหลายชิ้นเราก็ผลิตให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าสั่งด้วย
เป็น customer order โดยลูกค้าให้ไอเดีย ให้คอนเซ็ปต์เรามา แล้วเราผลิตให้เขา เขาก็ชอบ อาจจะมีทั้งชิ้นเล็กๆ ก็ได้ เช่น ช่วงนี้ ผมก็เตรียมจะผลิตไม้เท้าให้เพื่อนคนนึง ที่คุณพ่อของเขาจะมีอายุ 80 ปีแล้ว พ่อเขาเกิดปีหนู เขาก็ขอให้ผมทำไม้เท้าให้เขา เป็นของชิ้นเล็กและเราทำชิ้นเดียว แต่พิเศษ แบบนี้ก็มีครับ เพราะลูกค้าทุกคนพิเศษสำหรับเรา เราต้องคิดแบบนั้นครับ”
นิกกี้เน้นย้ำในเอกลักษณ์ของแบรนด์
ภาคภูมิใจใน ‘เมดอินไทยแลนด์’
ถามว่า คุณมักจะเน้นถึงคำว่า ‘ความเป็นไทย’ แล้วความเป็นไทยในความหมายของคุณ คืออะไร
CEO ‘Lotus Arts de Vivre (LAdV)’ ตอบว่า “ความเป็นไทยนั้น ผมอธิบายได้แบบนี้ครับ เช่น เมื่อผมเริ่มไปอเมริกา แล้วบอกว่ามาจากเมืองไทย สินค้าเรา ‘เมดอินไทยแลนด์’ เขาจะบอกว่า ‘อ้าว!ทำไมของคุณแพงจังเลย!’ ผมก็ตอบเขาว่า ‘ของมาจากเมืองไทยทำไมต้องราคาถูก’ นั่นเพราะผมอยากให้เราเป็นบริษัท International แต่ ‘เมดอินไทยแลนด์’
“ในวงการของเรา ‘เมดอินไทยแลนด์’ น่าจะเทียบเท่ากับ ‘เมดอินปารีส’ หรือ ‘เมดอินฝรั่งเศส’ ผมไม่เคยเห็นว่า ‘เมดอินไทยแลนด์’ต้องราคาถูก ไม่จำเป็นเลย แพงกว่าเมืองนอกก็ยังได้ เพราะตอนนี้ ไม่มีคนที่ทำแบบนี้ได้ นี่คือประเด็นแรกครับ Branding จริงๆ คือเราอยากให้ ‘เมดอินไทยแลนด์’ ครับ”
นิกกี้กล่าวว่า ประเด็นที่สองคือ อยากให้เมืองไทยมี Luxury Brand หากถามว่าในช่วงนั้น มีแบรนด์ใดบ้าง ที่คนรู้จักก็อาจจะมี จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) หรืออาจจะมีสิงห์ มี Red Bull แต่ยังไม่มี Luxury Jewelry และของแต่งบ้าน นิกกี้จึงอยากให้ Lotus Arts de Vivre (LAdV) อยู่ในระดับโลก
“ก่อนที่ผมจะเริ่มเดินทางไปอเมริกา ตอนนั้นคนยังไม่รู้จัก Lotus Arts de Vivre หรือ LAdV
แต่แน่นอนว่าตอนนี้ทุกคนในโลกรู้จักเมืองไทยแล้ว และมีลูกค้าที่รู้จัก LAdV แต่เมื่อก่อน เมื่อพูดถึงเมืองไทย คนยังงงอยู่ คิดว่า เอ๊ะ!ไต้หวันหรือเปล่า”
เมื่อขอให้เล่าย้อนไปนับแต่แรกเริ่มว่า ลูกค้าของ ให้ Lotus Arts de Vivre นับแต่แรกเริ่ม เป็นใครบ้าง
นิกกี้ตอบว่า ในช่วงเริ่มต้น สาเหตุที่พ่อกับแม่ของเขาเปิดร้านที่โรงแรม เพราะว่าในช่วงเวลานั้น เมืองไทยกำลังเริ่มโตขึ้น ขยายขึ้น
“ตอนนั้นเมืองไทย Exotic สำหรับฝรั่ง ทุกคนก็มาเมืองไทยหมด เหตุที่ Shop เราอยู่ในโรงแรม เพราะตอนนั้น ห้างฯ ก็ไม่ค่อยใหญ่ ไม่อลังการเหมือนวันนี้ พ่อแม่ผมตัดสินใจเปิดร้านในโรงแรม เพราะว่าลูกค้าไทยกับลูกค้าต่างชาติมักจะแวะมา เราจึงเปิดที่นี่ และเปิดที่โรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งเราเปิดที่โอเรียนเต็ล มา 25 ปีแล้ว
เราเปิดที่สิงคโปร์ 25 ปีเช่นกัน และมีเปิดที่เสียมเรียบ กัมพูชา ด้วยครับ”
นิกกี้ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงนั้น ฐานลูกค้าชาวไทยของ Lotus Arts de Vivre (LAdV) ยังเล็ก เพราะเมืองไทยกำลังเติบโต แล้วคนไทยชอบแบรนด์จากยุโรปมากกว่า จึงมักไปซื้อของที่ยุโรป
ช่วงเวลาดังกล่าว Lotus Arts de Vivre (LAdV) อาจจะขายให้ต่างชาติ 70% แล้วขายอีก 30% ให้คนไทย
แต่ในวันนี้ ขายประมาณ 60% ให้คนไทย และอีก 40% ให้ต่างชาติ
นิกกี้สะท้อนมุมมมองว่า ณ วันนี้ เมืองไทยอาจไม่ Exotic แล้ว ต่างชาติก็น้อยลง ไม่ค่อยมากรุงเทพฯ แล้ว ส่วนคนไทยก็เดินทางไปทั่วโลกแล้ว แต่เมื่อกลับมาก็พบว่าเมืองไทยก็มีของสวยๆ จาก Lotus Arts de Vivre (LAdV) ด้วย โดยไม่ต้องซื้อจากแบรนด์ใหญ่ๆ ของต่างชาติก็ได้
“แม้ตลาดจะเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่ในระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ผมมองว่าส่วนหนึ่ง ฐานลูกค้าเราก็ยังเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่ยังชอบงาน Craft เข้าใจงานศิลปะ และชอบงานดีไซน์ครับ ฐานลูกค้าเราโดยส่วนใหญ่เหมือนเดิมมาตลอด มีไลฟ์สไตล์เป็นคนที่ชอบเดินทาง เป็นนักธุรกิจ เห็นสินค้าของเราแล้วชอบดีไซน์” นิกกี้ระบุและขยายความเพิ่มเติมถึงกลุ่มลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มของ Lotus Arts de Vivre (LAdV) คือกลุ่มที่ซื้อ Jewelry และของแต่งบ้าน
โดยกล่าวว่า Lotus Arts de Vivre (LAdV) เริ่มต้นธุรกิจด้วย Jewelry กลุ่มลูกค้าจึงเป็นคนละตลาดกับของแต่งบ้าน กลุ่มที่มักซื้อของแต่งบ้านกับ Lotus Arts de Vivre (LAdV) เป็นคนที่เขาชอบของแต่งบ้านอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่ได้ไปต่างประเทศ ก็มักจะมาซื้อที่ Lotus Arts de Vivre (LAdV) เพราะเห็นว่าเป็นแบรนด์ไทยที่ดีไซน์ดี และฝรั่งก็ชอบ
ส่วน Jewelry นั้น นิกกี้มองว่าอาจจะต้องปรับเปลี่ยนเล็กน้อย เพราะทั่วโลกก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งจากเหตุสงครามในยูเครนรวมถึงสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นหลายแห่งมีแนวโน้มที่ไม่ดีนัก
“อยู่เมืองนอกตอนนี้ ขาย Jewelry ไม่ค่อยได้แล้ว เพราะมีปัญหาเรื่อง Security เดินทางกับ Jewelry ไม่ค่อยได้แล้ว เพราะขนาดอยู่โรงแรมก็ยังโดนขโมยอยู่ ตลาด Jewelry ทั่วโลกเปลี่ยน”
ปรับ ‘Branding’ พร้อมรับความท้าทาย
นิกกี้กล่าวว่า ตอนนี้ Lotus Arts de Vivre (LAdV) อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน Branding ให้ชัด ง่าย อธิบายให้คนเข้าใจว่า Lotus Arts de Vivre หรือ LAdV คือใคร
“ร้านที่เรานั่งคุยกันที่นี่ ที่โรงแรมอนันตราฯ นี้ ลูกค้าที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าแท้ๆ เลยครับ ที่ชอบมา Lotus Arts de Vivre (LAdV) แต่ละร้านของเราจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่ฐานลูกค้า ซึ่งสำหรับร้านนี้ จะมีดีไซน์ที่ลูกค้าค่อนข้างเข้าใจในความเป็นเรา ลูกค้าที่อยู่กับเรามาตั้งแต่แรกเริ่มเขาจะมาร้านนี้ เรารู้ เพราะเราเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ทุกอย่าง เราดูทุกวันว่ามีใครเข้ามาบ้าง มีใครมาคุยกับเซลล์
“สินค้าของเราอาจจะทำกับมือ แต่เบื้องหลังเราก็ต้องใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล เพราะข้อมูลจะบอกเราว่า คุณขายอะไร ให้ใคร คุณควรจะจัดร้านอย่างไร
เราโชคดีที่เรามีแฟนของเรา ที่แม้เมื่อมาเมืองไทย เขาอาจไม่ได้มาพักที่นี่ แต่เขาก็ยังมาที่ร้านเรา
ซึ่งร้านเราจะมีการปรับเปลี่ยนตลอดครับ” นิกกี้บอกเล่าอย่างเห็นภาพและกล่าวด้วยว่า ยังมีกลุ่มราชวงศ์ในหลายประเทศที่เป็นลูกค้า เนื่องจากเขาชอบในดีไซน์ของ Lotus Arts de Vivre (LAdV)
“เพราะในวังของเขาเองก็มีของที่มีดีไซน์เยอะ เราโชคดีที่ได้พบเจอ แล้วพ่อแม่ของผมก็เป็นคนเดินทางบ่อย เดี๋ยวไปจีน ไปยุโรป ทุกวันนี้ก็ยังเดินทาง โชคดีที่ได้เจอลูกค้าหลายคน และตอนที่เปิดร้านนี้ ตอนนั้นกรุงเทพฯ Hot มาก เพื่อนทุกคนมากรุงเทพฯหมดเลย แต่ตอนนี้ คนที่มาเที่ยวเมืองไทย ก็ไม่ค่อยมากรุงเทพฯแล้ว เพราะรถติด หลายคนมาแล้วไปภูเก็ตเลย ไปเชียงใหม่เลย
“ตอนนี้กรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่ ไม่ Exotic แล้ว แต่ตอนนั้น เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในความทรงจำตอนที่ผมยังเด็กอยู่ ใครๆ ก็มากรุงเทพฯครับ” นิกกี้สะท้อนความเห็น
ภาพรวมการผลิตในแต่ละปี
ถามว่าในแต่ละปี Lotus Arts de Vivre ผลิตสินค้าออกมาเท่าไหร่
นิกกี้ตอบว่า “ในส่วนของ Jewelry รวมทั้งกระเป๋า สร้อยคอ เราอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 800-900 ชิ้น
อาจมองว่าจำนวนน้อยนะครับ แต่เราอาจจะเก่งที่สุด ขยันที่สุด ในการผลิตชิ้นงานนั้นๆ ขึ้นมาได้เพียงชิ้นเดียวในโลก ที่ไม่มีใครสามารถผลิตขึ้นมาได้อีก
เราก็พยายามทำกำไลบ้าง พยายามปรับเปลี่ยน Products เรื่อยๆ ให้ตลาด แต่เราโชคดีที่เราอยู่เมืองไทย เราหาช่างได้เรื่อยๆ เวลาคุยกับเพื่อนๆ ที่เมืองนอก เขามักจะบอกผมว่า หาช่างไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีใครอยากมาทำงานแบบนี้ แต่เราก็โชคดีที่ในเมืองไทย ยังมีฐานตรงนี้ เพราะเมืองไทยก็เป็นแหล่งผลิต Jewelry ที่สำคัญ”
สำหรับ Jewelry กับของแต่งบ้าน นิกกี้มองว่า หากมีถึง 100 ชิ้น นั่นหมายความว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก สำหรับ Lotus Arts de Vivre (LAdV) เพราะโดยส่วนใหญ่บางชิ้นอาจมีเพียง 10 รายการ หรือกระเป๋าอาจมี 20 รายการ โดยส่วนใหญ่ไม่มีอะไรเกิน 20 รายการ
“ดังนั้น คนที่มีสิ่งเหล่านี้ 20 คนในโลก จึงถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก ยกตัวอย่าง แบรนด์ใหญ่ อาจมีแบบนี้ 300 ชิ้น แต่เรามีเพียง 15 ชิ้น ซึ่งผมก็ไม่คิดจะขยายให้มากขนาดนั้น เพราะไม่เช่นนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ทั้งหมดเลย ซึ่งผมไม่อยากทำแบบนั้น แต่ถ้าจะขยายร้าน ผมก็คิดไว้ว่าอยากขยายไปที่ลอนดอน นิวยอร์ค และอีกหลายแห่งในเมือง แต่ในส่วนของ ‘ของแต่งบ้าน’ ผมมองว่าอาจจะเยอะ เพราะของแต่งบ้าน อย่างเช่น ‘Stool Chair’ เราผลิตเยอะ ในโรงงานของเรา อาจผลิตทั้งหมดประมาณ 1,500-2,000 ชิ้นต่อปี
“ในส่วนของช่าง เรามีประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งต้องทำทุกอย่าง ไม่ว่าเครื่องหนัง ทอง เงิน ปีกแมลงทับ เพชร พลอย ทุกอย่าง โรงงานของเราอยู่ที่พระราม 3 ซึ่งเป็นทั้งโรงงานที่ผลิตของแต่งบ้านและ Jewelry” นิกกี้ บอกเล่าอย่างเห็นภาพ
กระบวนการอันประณีต…กับบางตัวอย่าง ‘Rare item’ แห่งปี
เมื่อขอให้ยกตัวอย่างกระบวนการผลิตสินค้าแต่ละชิ้นว่า ละเอียดลอออย่างไรบ้าง
นิกกี้รีบพาเราเดินชมงานชิ้นโดดเด่นในร้านอย่างอารมณ์ดี
‘พระพิฆเนศไม้’
“ยกตัวอย่างชิ้นนี้ครับ แต่จริงๆ แล้ว ผมชอบทุกชิ้นนะ (หัวเราะ) แต่ผมถือว่าชิ้นนี้เป็นมาสเตอร์พีซ คือ ‘พระพิฆเนศไม้’ ครับ
( หมายเหตุ : ทำจากไม้และสิ่งมีค่า ) กระบวนการคือ เริ่มต้นด้วยการที่วัสดุของเราจะผสมผสานกับธรรมชาติอยู่เสมอ ซึ่งที่โรงงานเราจะมี Stock ของไม้ค่อนข้างเยอะ เมื่อเรามองไม้อะไร เราก็จะเริ่มเห็นภาพว่าจะใช้ทำอะไร เช่น อันนี้เป็นไม้ดำชนิดหนึ่ง แล้วเราก็เริ่มออกแบบ โดยปั้นจากดินน้ำมันก่อน เพราะเป็นวิธีที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายและไวที่สุด จากนั้นการออกแบบก็อาจใช้เวลา 3 เดือน ก่อนจะไปทำเงินประกอบ ทำสี ทำรายละเอียด รวมแล้วก็อาจจะใช้วลา 6-8 เดือน สำหรับชิ้นนี้ครับ เพราะด้วยขนาดก็ไม่ง่าย และมีการผสมผสานองค์ประกอบเยอะ”
“พระพิฆเนศไม้นี่ผมก็ถือว่าเป็นอะไรที่พิเศษ นานๆ ทีเราจะผลิตอะไรแบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ผลิตงานจะได้อะไรดีๆ มา และอยู่ที่ว่าคนที่สร้างสรรค์งานเขาคิดไอเดียอะไรได้”
CEO Lotus Arts de Vivre ( LAdV ) ยังคงพาเราเดินชมงานชิ้นที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น
ที่เขี่ยบุหรี่ ถ้วยแก้วจากบาหลีโดยศิลปินชาวญี่ปุ่น
“ชิ้นนี้ เราเรียกเป็นที่เขี่ยบุหรี่หรือที่เขี่ยซิการ์ แต่ที่อเมริกา เราขายเพื่อให้วางของหวาน ตัวถ้วยแก้วมาจากบาหลี แก้วทุกชิ้นของงานชุดนี้ไม่เหมือนกัน
“ความพิเศษของแก้วนี้ ทำโดยศิลปินเป่าแก้วชาวญี่ปุ่นที่เขาอยู่ที่บาหลี เขาทำให้เรา งานนี้ก็ทำจากมือ ทุกอย่างของเราต้องทำจากมือ ทำด้วยเครื่องจักรเราไม่ชอบ ซึ่งนี่เป็นสัญลักษณ์ของเราว่าต้องทำด้วยมือและมีน้อยชิ้น”
แก้วไวน์คริสตัล ลงยาจากจีน สลักลายเมฆ
“สำหรับตัวอย่างแก้วไวน์อันนี้ เราออกแบบที่เมืองไทย แล้วส่งไปลงยาที่จีน แล้วส่งกลับมา เราก็มาใส่คริสตัลที่แกะสลักจากลายเมฆ อันนี้เป็นของแต่งบ้าน"
กระเป๋าหวายสุดหรู
“กระเป๋าใบนี้ เป็นหวายที่มี Process แบบของฝรั่งเศสที่เขาใช้ทำของแต่งบ้าน แต่เราเอามาทำเป็นกระเป๋า และมีคริสตัลที่มาจากอินเดีย ส่วนด้ามเป็นไม้ไผ่ และเราชอบปีกแมลงทับ เมื่อใช้ปีกแล้วเราก็ใช้ตัวด้วย”
กระเป๋าผลงานศิลปินบาหลี
“กระเป๋าลายนก ชิ้นนี้เป็นศิลปินที่บาหลีเขาทาสีเอง ดังนั้น กระเป๋าแต่ละใบจะมีลายไม่เหมือนกัน ลายต่างกัน เพราะเป็นลายจากศิลปิน จึงมีไอเดียที่หลากหลาย แต่จะมีเอกลักษณ์ที่คนเห็นแล้วจะรู้ว่า นี่คือ Lotus Arts de Vivre แน่นอน นี่คือจุดเด่นของเรา”
ยลโฉม ‘Transformers Optimus Prime’ เด็ดที่สุดของปีนี้
คำถามสุดท้ายก่อนจากลา มีงานชิ้นไหนในปีนี้ที่คิดว่าเด็ดที่สุด
นิกกี้ตอบอย่างกระตือรือร้นว่า “ก็ที่ตั้งโชว์อยู่นอกร้านนี่ครับ เดี๋ยวพาไปดูเลย”
“งานนี้เป็นไม้ชิ้นเดียว ที่นำมาทำเป็น Transformers เนื่องจากเราได้ไปเจอคนไทยที่เขาทำเหล็กแบบนี้ แล้วเราก็เจอไม้ชิ้นนึงที่มีลักษณะเหมือนเป็นหุ่นเลย เราจึงนำมาทำเป็น ‘Optimus Prime’ ก็สนุกดีครับ”
CEO แห่ง Lotus Arts de Vivre ( LAdV ) หัวเราะอย่างอารมณ์ดี
ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าเขาสนุกและมีความสุขกับทุกผลงานสร้างสรรค์ของแบรนด์ที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าจริงๆ
ทั้งสะท้อนว่า Lotus Arts de Vivre ( LAdV ) ในก้าวย่างสู่ทศวรรษที่ 5 นั้น ยังคงเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณอันเป็นตำนาน ขณะเดียวกัน ก็พร้อมสร้างสรรค์สร้างไอเดียใหม่ๆ ให้กับแต่ละชิ้นงานอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง พร้อมก้าวไปกับโลกยุคใหม่ด้วยดีไซน์อันประณีตและอยู่พ้นกาลเวลามิเปลี่ยนแปลง
………
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : Lotus Arts de Vivre (LAdV), ภาพบางส่วนโดย รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล