xs
xsm
sm
md
lg

ขวาจัดกำลังมา จักรวรรดิอเมริกากำลังไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระแสขวาจัดกำลังมา “ฮาเวียร์ มิเล” นักการเมืองจอมเพี้ยนผู้มี “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นไอดอล ชนะเลือกตั้งในอาร์เจนติน่ากำลังขึ้นเป็น ปธน. ส่วนในยุโรป “เกียร์ต วิลเดอร์ส” เจ้าของฉายา “ทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์” ก็นำพรรค PVV คว้าเก้าอี้ สส.มา่เป็นอันดับ 1 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแดนกังหันลม ด้วยนโนยายต่อต้านสหภาพยุโรป และอาจจะนำประเทศออกจากอียู เลิกอยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐฯ และอาจนำมาซึ่งจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิอเมริกา



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงผลการเลือกตั้งผู้นำประเทศอาร์เจนตินาและเนเธอแลนด์ ที่ปรากฏว่าผู้สมัครที่มีแนวทางขวาจัดได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งบ่งบอกและสะท้อนให้เห็นถึงทัศนะของประชาชนในประเทศต่าง ๆ และแนวโน้มทางการเมืองที่กำลังจะแพร่กระจายไปยังทั่วโลกด้วย

“ฮาเวียร์ มิเล” ว่าที่ผู้นำจอมเพี้ยนแห่งอาร์เจนตินา

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา รอบสองถูกจัดขึ้นเมื่อ วันที่ 19พฤศจิกายน 2566ที่ผ่านมา โดยนายฮาเวียร์ มิเล (Javier Milei) นักเศรษฐศาสตร์จอมเพี้ยนวัย 53 จากพรรคเสรีนิยม Partido Libertario (PL) กลุ่มขวาจัด ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน เสียงสูงถึง 56% ทำให้เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอาร์เจนตินา ต่อจาก นายอัลเบร์โต เฟร์นันเดซ ที่กำลังจะหมดวาระลง โดย ฮาเวียร์ มิเลจะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำคนใหม่อย่างเป็นทางการในวันที่ 10 ธันวาคม 2566 นี้


หลังได้รับชัยชนะนายมิเลได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้สนับสนุนในกรุงบัวโนสไอเรสว่า
“วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นการสิ้นสุดความเสื่อมโทรมของอาร์เจนตินาเราจะเริ่มทำในสิ่งที่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่าใช้ได้ผล และภายใน 35 ปี เราจะกลับมาเป็นมหาอำนาจโลก”

ฟังดูแล้วก็แปลก ๆ ประเทศอาร์เจนตินาซึ่งกำลังประสบปัญหาวิกฤตเงินเฟ้ออย่างรุนแรงถึง 143% และในปีนี้อาจพุ่งสูงไปถึง 180% แต่ผู้นำบอกว่าตัวเองจะทำให้ประเทศอย่างอาร์เจนตินากลายเป็นมหาอำนาจของโลก !?!

ภาพเจ้าของซูเปอร์มาร์เกตในบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา เขียนและเปลี่ยนป้ายราคาสินค้ารายวัน เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง
ถ้าบอกว่ามหาอำนาจทางกีฬาฟุตบอล คงไม่มีใครเถียง เพราะ อาร์เจนตินามีนักบอลอย่าง ลีโอเนล เมสซี และเพิ่งได้แชมป์ฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด แต่อาร์เจนตินาดูไม่มีวี่แววว่าจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหรือการเมืองโลกอย่างไรได้เลย

แต่ด้วยจุดขายและความบ้าบิ่นของของ นายฮาเวียร์ มิเลอยู่ที่แตะโดนจุดที่เป็นวิกฤตของอาร์เจนตินาได้ตรงใจชาวบ้านคือ คืออัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง ประกอบกับความสิ้นหวังของประชาชนอาร์เจนตินาที่ต้องต่อสู้กับวงจรของวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่สิ้นสุด ที่เกิดจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงเกินกว่าเท่าตัวในห้วงระยะเพียงปีเดียว จากเดือนพฤศจิกายน 2565 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 165 เปโซอาร์เจนตินา เดือนพฤศจิกายน 2566 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 360 เปโซอาร์เจนตินา

อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ ค่าเงินเปโซ อาร์เจนตินา ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
หากวิกฤตเศรษฐกิจของอาร์เจนตินานะวันนี้กับวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยเมื่อช่วงปี 2540 ถือว่ามีความรุนแรงยิ่งกว่าหลายเท่าตัว

นอกจากนี้ เงินทุนสำรองของอาร์เจนตินาติดลบมาก อัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่าสามทศวรรษ ทำให้คนอาร์เจนตินาต้องหอบเงินถึง 2,000 เปโซเพื่อซื้อบิ๊กแมคฟาสต์ฟู้ดเพียงชิ้นเดียว

จากหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่มีประชากร 40% อาศัยอยู่อย่างยากจน มีหนี้ต่างประเทศอีก 22,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 775,000 ล้านบาท ที่ต้องชำระภายในปีหน้า 2567 โดยแม้แต่ IMF ซึ่งเป็นเจ้าหนี้หลักของอาร์เจนตินาก็ออกมาแสดงความกังวลแล้วว่ายากที่อาร์เจนตินาจะชำระคืนได้


จากวิกฤตที่รุมเร้าอาร์เจนตินาเหล่านี้ทำให้ นายมิเล ได้คะแนนเสียงถล่มทลายเหนือ นายเซอร์จิโอ มาสซา อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลก่อน คว้าตำแหน่งประธานาธิบดีแบบขาดลอย 56% ต่อ 44%

นายมิเล ชนะการเลือกตั้งด้วยแผนการหาเสียงแบบสุดโต่งชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินและรุนแรงสะใจ เช่น ในรายการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ เขาปิดตาใช้ไม้ฟาดกล่องที่เขียนว่า “ธนาคารกลาง” จนแตกกระจุย


เอาหน้าของตัวเองไปบนป้ายหาเสียงที่ทำเป็นธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐและสัญญาว่าจะพลิกฟื้นรัฐบาลที่พังทลายซึ่งบริหารเศรษฐกิจที่พังทลาย แคมเปญนี้โดนใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่สะใจกับนโยบายปิดธนาคารกลางที่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจเงินเฟ้อรุนแรงจากการพิมพ์เงินให้รัฐใช้จ่ายเกินควร


เขาบอกว่าจะยกเลิกเงินเปโซของอาร์เจนตินาแล้วหันมาใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯแทนเพื่อเพิ่มเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจอาร์เจนตินา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ “นายมิเล” ใช้หาเสียงนั้นพูดง่ายแต่ทำยากเพราะการปรับใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการจะต้องใช้เงินกู้จำนวนมาก รวมทั้งตัดงบยุบหน่วยงานรัฐบาล 8 กระทรวง ลดสวัสดิการ ลดเงินอุดหนุนและตัดงบการใช้จ่ายของรัฐกับแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และยกเลิกกฏหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงแต่นโยบายเศรษฐกิจที่สุดโต่งของนายมิเล แต่แนวคิดทางการเมืองของ นายมิเล ก็ยังมีความเอนเอียงไปทางลัทธิทุนนิยมแบบอนาธิปไตยและเสรีนิยมขวาจัด และแสดงจุดยืนในการเป็นผู้ต่อต้านฝ่ายซ้ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์สุดโต่ง


นายมิเล เรียกประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร แห่งเวเนซุเอลาแบบเต็มปากว่า"เผด็จการ"รวมไปถึงรัฐบาลของประเทศนิการากัว คิวบา เกาหลีเหนือ จีน และรัสเซีย ว่าเป็นเผด็จการด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน นายมิเล ก็แสดงจุดยืนสนับสนุน อิสราเอลในสงครามฉนวนกาซา ถึงกับจะย้ายสถานทูตอาร์เจนตินาไปยังกรุงเยรูซาเล็ม ด้วย

“ทรัมป์” แห่งอาร์เจนตินา


อาจกล่าวด้ว่า นายฮาเวียร์ มิเล ถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์จอมเพี้ยนและเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่แปลกประหลาดมากที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นมา ชีวประวัติของเขาที่คนขนานนามว่า “เอล โลโก คนบ้า” ที่เขียนโดยนักข่าวฮวน หลุยส์ กอนซาเลส เผยให้เห็นถึงความแปลกประหลาด หลายประการของนายมิเล ยกตัวอย่างเช่น

เขาเป็นเจ้าของสุนัขพันธุ์อิงลิช มาสทิฟ 5 ตัว โดย 4 ตัวตั้งชื่อตามนักเศรษฐศาสตร์สายอนุรักษ์นิยมและตั้งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของเขา และทั้งหมดโคลนนิ่งมาจากสุนัขตัวโปรดชื่อโคนันที่เสียชีวิตในปี 2560

มิเลเล่าด้วยว่า เขามีความสามารถในการสื่อสารหลังความตายได้


นอกจากนี้ เขายังอ้างด้วยว่าได้ติดต่อกับ “พระเจ้า” ซึ่งมอบหมายให้เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอาร์เจนตินา


นี่คือตัวอย่างความบ้าของนายมิเล ว่าที่ผู้นำอาร์เจนตินา หากจะถามว่า“ ไอดอล” ของนายฮาเวียร์ มิเลนั้นคือใคร?

คำตอบ ก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะลงชิงชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนายโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งปีหน้า ปี 2567 นี้อีกครั้งด้วย


หลังที่นายมิเลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาทวีตว่า “คนทั้งโลกจับตาดูคุณอยู่! ผมภูมิใจในตัวคุณมาก คุณจะพลิกประเทศของคุณและทำให้อาร์เจนตินายิ่งใหญ่อีกครั้งอย่างแท้จริง! (Make Argentina Great Again!)”

ผู้นำพรรคขวาจัดชนะเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์

ไม่เพียงแต่ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศอาร์เจนตินาซึ่งนักการเมืองฝ่ายขวาจัด ที่มีต้นแบบคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับชัยชนะในการเลือตกั้ง แต่ในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ในทวีปยุโรป ประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็มีนักการเมืองขวาสุดขั้วคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเช่นกัน


ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 นายเกียร์ต วิลเดอร์ส (Geert Wilders) เจ้าของฉายา“ทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์”จากพรรค PVV หรือ Party for Freedom โดยชัยชนะของผู้นำพรรค PVV นำมาซึ่งความวิตกกังวลโดยเฉพาะต่อทั่วยุโรป เนื่องจากพรรคนี้ชูนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ต่อต้านความเป็นอิสลาม ต่อต้านสหภาพยุโรป

ล่าสุดวิลเดอร์สได้ประกาศตั้งเป้าว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ และพรรคของตนจะเริ่มกระบวนการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจาก พรรค PVV ของเขา สามารถกวาดที่นั่งในรัฐสภาไปได้ทั้งหมด37 ที่นั่งจากทั้งหมด 150 ที่นั่งมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมดที่ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ และเป็นจำนวนที่นั่งที่พรรคได้รับมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2564 เกินหนึ่งเท่าตัว

เฉือนชนะพันธมิตรพรรคกรีน-พรรคซ้ายแรงงานซึ่งนำโดย ฟรานส์ ทิมเมอร์มันส์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปแห่งสหภาพยุโรป โดยได้รับที่นั่งในสภาไปทั้งหมด 25 ที่นั่ง มากเป็นอันดับสอง

ส่วนพรรค VVDหรือParty for Freedom and Democracy พรรคอนุรักษ์นิยมขวากลางซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในปัจจุบันสามารถคว้าที่นั่งในสภาไปได้เพียง 24 ที่นั่ง


เพราะฉะนั้น พรรค PVV จึงสามารถมีบทบาทนำในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ โดยหากจะตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากได้สำเร็จ พรรคต้องเจรจาเพื่อหาพรรคร่วมรัฐบาลจนมีที่นั่งในสภารวมกันทั้งหมดเกิน 76 ที่นั่งจากทั้งหมด 150 ที่นั่ง หรือก็คือเกินครึ่งหนึ่งของที่นั่งในสภาทั้งหมด

ซึ่งนั่นก็เลยมีปัจจัยความไม่แน่นอนว่า นายเกียร์ต วิลเดอร์ส เจ้าของฉายา“ทรัมป์แห่งเนเธอร์แลนด์”และพรรค PVV หรือ Party for Freedom ของเขาแม้จะเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับที่หนึ่ง แต่ก็อาจจะ ไม่สามารถรวบรวมเสียงในสภาให้เกิน 76 จาก 150 ที่นั่ง ได้คล้ายคลึงกับกรณีของไทยคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียง ส.ส. ในการเลือกตั้งมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เพราะไม่สามารถเจรจากับพรรคร่วมเพื่อหาจุดลงตัวได้ในที่สุด

ทั้งนี้ที่สำคัญกว่าหลังการหาเสียงนั่นคือ การเจรจาทางการเมือง และการผลักดันนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ให้เป็นจริงได้นั่นเอง

หาเสียงได้ แต่ทำจริงไม่ง่าย

ย้อนกลับไปที่อารืเจนตินา แม้ว่าการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของมิเลจะส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการเมืองอาร์เจนตินา และเจตจำนงในการเปลี่ยนแปลงของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอาร์เจนตินาที่มีจำนวน 45 ล้านคน


แต่ การดำเนินนโยบายสุดโต่งและบ้าบิ่นอย่างที่หาเสียงเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกธนาคารกลาง, ยกเลิกเงินเปโซ หันไปใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ อาจต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากฝ่ายบริหารไม่สามารถควบคุมสภานิติบัญญัติได้

โดย ก่อนหน้าที่ฮาเวียร์ มิเล จะชนะการเลือกตั้ง อาร์เจนตินาเป็น 1 ใน 6 ของประเทศที่ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกใหม่ของ BRICS กลุ่มมหาอำนาจขั้วโลกใหม่ที่นำโดยบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีนและแอฟริกาใต้


แต่หลังจากชนะเลือกตั้ง นายฮาเวียร์ มิเล ประกาศว่าจะยุติความสัมพันธ์กับจีน และจะดึงอาร์เจนตินาที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของอเมริกาใต้ ออกจากกลุ่มการค้า MERCOSUR ซึ่งเป็นกลุ่มการค้าระดับภูมิภาคละตินอเมริกาที่ประกอบด้วยอาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย โดยมีโบลิเวียเป็นสมาชิกเฉพาะกิจก่อตั้งมานานสามทศวรรษ และจีนกลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของ MERCOSUR ในขณะที่สหภาพยุโรปสูญเสียความสำคัญในภูมิภาคนี้ การส่งออกของกลุ่มการค้า MERCOSUR ไปยังประเทศจีนส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินค้าเกษตร (เช่น ถั่วเหลือง) และแร่ธาตุ

นางไดอานา มอนดิโน ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งเป็น รมว.ต่างประเทศคนใหม่ของอาร์เจนตินา
ขณะที่ นางไดอานา มอนดิโน (Diana Mondino) รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ย้ำจุดยืนว่า อาร์เจนตินาจะไม่เข้าร่วมสังฆกรรมกับกลุ่ม BRICS และขอยุติการมีปฏิสัมพันธ์กับทางการจีนและบราซิล


“เราไม่เข้าใจว่าการเข้าร่วม BRICS จะเป็นประโยชน์ต่ออาร์เจนตินาในตอนนี้อย่างไร แต่ถ้าภายหลังพบว่ามีประโยชน์ เราก็จะพิจารณาอีกครั้ง” เธอกล่าว


เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ถึงกับต้องออกมาแถลงข่าวเตือน ถึงแนวทางตัดสัมพันธ์ของนายมิเล ประธานาธิบดีคนใหม่ของอาร์เจนตินา เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า

“ไม่มีประเทศไหนที่สามารถล้มความสัมพันธ์ทางการทูตไปแล้ว และจะยังมีส่วนร่วมทางการค้า เศรษฐกิจ และความร่วมมือได้เหมือนเดิม และมันอาจจะกลายเป็นความผิดพลาดด้านนโยบายต่างประเทศครั้งใหญ่สำหรับอาร์เจนตินา หากจะตัดความสัมพันธ์กับ 2 ประเทศสำคัญอย่างจีนหรือบราซิล” โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยังย้ำว่า“จีนยินดีจะเดินหน้าทำงานร่วมกันกับอาร์เจนตินาเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความสัมพันธ์ทวิภาคีในระยะยาวต่อไป”

ทั้งนี้ทั้งนั้นบราซิล และจีน สองสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่ม BRICS ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และอันดับ 2 ของอาร์เจนตินา(ส่วนอันดับที่ 3 นั้นคือ สหรัฐอเมริกา)


จีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับที่สองของการส่งออกสินค้าเกษตรของอาร์เจนตินาซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ถามว่าอาร์เจนตินาภายใต้การนำของนายมิเล จะยุติความสัมพันธ์ทางการค้ากับบราซิลหรือจีนได้อย่างไร โดยไม่กระทบกับสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตและเศรษฐกิจชาวอาร์เจนตินาเอง แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Global Times สื่อทางการของจีนได้เผยแพร่ทัศนะในเรื่องนี้ เขียนโดยคอลัมนิสต์ที่ชื่อ ปีเตอร์ วอล์กเกอร์ หัวข้อระบุว่า "ชาวอาร์เจนตินาต้องการการเปลี่ยนแปลง แล้วมันมีความหมายต่อจีนและสหรัฐอเมริกาอย่างไร? (The Argentinean people want change – what does this mean for China and the US?)"


ตอนหนึ่งของบทความชิ้นดังกล่าวระบุว่า“ในฐานะประเทศเกษตรกรรม อาร์เจนตินาเพิ่งจะพ้นจากภัยแล้งนานสามปี เศรษฐกิจของประเทศมีความเสี่ยงมากกว่าเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาพลังงานหรือฐานอุตสาหกรรมที่มั่นคง อาร์เจนตินากำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากทางการเงิน ในปีนี้ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ 116% ขณะที่ประชากร 2 ใน 5 คนในอาร์เจนตินาดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจน

“อาร์เจนตินาอยู่ภายใต้การบริหารของพรรค Justicialist ซึ่งอยู่ในอำนาจมานานหลายทศวรรษ เมื่อเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจอันมหาศาล ชาวอาร์เจนตินาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

“การเปลี่ยนแปลงนี้มีความหมายต่อจีนและสหรัฐอเมริกาอย่างไร

“อาร์เจนตินาเป็นประเทศที่สำคัญในฐานะสมาชิกของกลุ่ม G20 เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอเมริกาใต้ ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากสำหรับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ...”



ทั้งนี้ บทความของโกลบอล ไทมส์กำลังบอกว่า แม้ผู้นำคนใหม่ของอาร์เจนตินา พยายามจะบอกว่าจะพยายามถอยห่างจากจีน และ กลุ่ม BRICS แต่ที่ผ่านมา จีน ได้นำเสนอทางเลือกในการพัฒนาที่ดีกว่าผ่านโครงการ BRI และกลุ่ม BRICS โดยไม่ได้บีบบังคับให้ประเทศใด ๆ ที่เข้าร่วมต้องปฏิบัติตาม หรือเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมการณ์ อย่างเช่นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย


“ปัจจุบันหลายประเทศในโลกต่างก็มีประสบการณ์เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยเป็นของตัวเอง ประเทศเหล่านี้มีมุมมองของตนเองว่าประชาธิปไตยใช้ได้ผลหรือไม่ และทั่วโลกมีประสิทธิภาพเพียงใด

“ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเชิงปฏิบัติมากกว่ามาก ไม่ใช่อยู่ที่อุดมการณ์ แต่อยู่ที่ประเด็นเชิงปฏิบัติว่าพวกเขาเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจของตนอย่างไร

“ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องนำเสนอคุณค่าที่นอกเหนือไปจากอุดมการณ์และช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง ฉันคิดว่าจีนกำลังพยายามทำเช่นนั้น และหลายๆ คนคงบอกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จพอสมควรในการทำเช่นนั้น

“สหรัฐฯ มีทรัพยากรทางการเงินและเจตจำนงในยุคที่ผู้คนรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าสหรัฐฯ กำลังคุกคามที่จะกลายเป็นผู้โดดเดี่ยวมากขึ้นหรือไม่? แน่นอนว่าภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นอย่างนั้น และหากทรัมป์ได้รับเลือกอีกครั้ง ก็คงเป็นเช่นนั้นอีกครั้ง

“ดังนั้นผมคิดว่านั่นคือความท้าทายที่แท้จริงในอนาคต ในขณะที่จีนยังคงทำสิ่งเดียวกันนี้กับ BRI มากขึ้น สหรัฐฯ จะต้องคิดใหม่ว่าคุณค่าที่นำเสนอสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น อาร์เจนตินา คืออะไร

“ดังนั้นในอนาคตข้างหน้า มันจะปลอดภัยสำหรับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาที่จะสรรหาแนวทางเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของอาร์เจนตินา และค้นหาวิธีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ...”


ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งในอาร์เจนตินา นั้นแสดงให้เห็นถึง สภาพภูมิรัฐศาสตร์การเมืองแถบละตินอเมริกาที่เปลี่ยนไปตามผู้นำคนใหม่ ซึ่งก็ต้องจับตาว่านายฮาเวียร์ มิเล ที่ประกาศนำเข้าระบบทุนนิยมเสรีนิยมขวาจัดจากสหรัฐอเมริกา แบบเดียวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์จะนำพาอาร์เจนตินารอดพ้น หรือ ประสบกับหายนะอย่างไม่มีที่สิ้นสุดกันแน่?


ยุโรปกำลังล่มสลาย

ส่วนกระแสความเปลี่ยนแปลงในเนเธอร์แลนด์ ที่ นายเกียร์ต วิลเดอร์ส ได้รับชัยชนะนั้น นักวิเคราะห์ทั้งหลายชี้ให้เห็นว่า เป็น“การส่งสัญญาณ”อย่างชัดเจนถึง“การเปลี่ยนแปลง”ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบรรดาประเทศในทวีปยุโรปทั้งทวีป

จากเดิม ซึ่งเคยอยู่ภายใต้บทบาท อำนาจของพวก “เสรีนิยม” ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐอเมริกามาตลอด จนทำให้เกิดวิกฤตแห่งระบบ ที่บรรดาประเทศยุโรปกำลังต้องเจอกับประสบการณ์อันเลวร้ายที่นับวันมีแต่จะเลวลง ๆ ยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากประชาชนในโลกตะวันตกต่างกำลังไม่พอใจต่อ “การตัดสินใจ และวิธีการจัดการ” ที่ผู้นำทางการเมืองในยุโรปใช้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 , สงครามยูเครน-รัสเซีย อันนำมาสู่ ภาวะข้าวยากหมากแพง และปัญหาความเลวร้ายทางเศรษฐกิจ

โดยสภาวะความเลวร้ายทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ครั้ง Covid-19 เป็นต้นมา จนถึงการยอมศิโรราบ ยอมเป็น “พรมเช็ดเท้า” ให้กับคุณพ่ออเมริกา ด้วยการต่อต้าน ปฏิเสธ หรือการ “แซงก์ชั่นรัสเซีย” ทั้งที่ต่างก็เคย “พึ่งพา” สินค้าเกษตร และพลังงานราคาถูกจากประเทศนี้มาโดยตลอด ฯลฯ อันทำให้ถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยภาวะเงินเฟ้อ ข้าว-ของแพง ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนยากลำบากชนิดถึงขั้น “อดมื้อ-กินมื้อ” เอาเลยก็ยังมี แถมยังไม่มีแนวโน้มที่จะเงยหน้า-อ้าปากได้เลยแม้แต่น้อย ถึงขั้นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ อย่างหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์จาก Hamburg Commercial Bank ของเยอรมนี กล้าออกมาฟันธงกับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่ามีสัญญาณค่อนข้างชัดเจนว่า “เศรษฐกิจอียูทั้งอียู” กำลังเข้าสู่ “ภาวะถดถอย” ภายในสิ้นปีนี้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงและปฏิเสธได้


ด้วยเหตุนี้ ชัยชนะของฝ่ายขวาสุดโต่งในการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์ จึงไม่เพียงจะนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามยูเครน-รัสเซีย ในแนวรบยุโรปตะวันออกเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่ “การเปลี่ยนโลกทั้งโลก” หรือจากโลกที่เคยตกอยู่ภายใต้อำนาจ อิทธิพลของตะวันตกมาตลอดนับศตวรรษ ให้กลายเป็นโลกที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

และสถานการณ์เช่นนี้จะนำไปสู่สภาวะใหม่ของโลก ที่บรรดา “ขั้วอำนาจ” ต่างๆ ที่มีอธิปไตยของตัวเองต่างเป็นอิสระต่อกันและกัน ไม่มีใครต้องตกอยู่ในสภาพ “ลูกไล่ หรือ พรมเช็ดเท้า” ของประเทศหนึ่ง-ประเทศใด อันเป็นความอิสระภายใต้พื้นฐานแห่งความเท่าเทียมของบรรดาประเทศต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ไม่ว่ารวยหรือจน ไม่ว่าโลกเหนือหรือโลกใต้ ฯลฯ หรือโลกที่ประกอบไปด้วย “หลายขั้วอำนาจ” ไม่ใช่โลก “ขั้วอำนาจเดียว” อีกต่อไป

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด เราไม่ค่อยได้สังเกต แต่ผมเป็นคนช่างสังเกต เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในขณะนี้ ในกลุ่มประเทศอียูในขณะนี้ เริ่มมีคนแตกแถวกันออกมา ฮังการีเป็นคนแตกแถวในอียู ไม่ยอมแซงก์ชันรัสเซีย และดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับรัสเซีย

“เนเธอร์แลนด์ ถ้าได้รับการเลือกตั้งแล้วถ้าได้รับการจัดตั้งรัฐบาลในแนวทางของผู้ชนะการเลือกตั้ง โอกาสที่เนเธอร์แลนด์จะออกจากอียูก็สูง ออสเตรียในขณะนี้เริ่มถอยออกมาจากจุดยืนของกลุ่มอียูที่เดินตามรอยเท้าสหรัฐอเมริกา เพราะว่าออสเตรียนั้นต้องการที่จะเอาตัวรอด และไม่ต้องการที่จะทะเลาะเบาะแว้งกับรัสเซีย ยังต้องการพึ่งพาพลังงานราคาถูกจากรัสเซียต่อไป

“เยอรมนีนั้น เศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างมากมาย และก็เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจถดถอยหรือที่เขาเรียกว่า resession ภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้นปีหน้ายุโรปทั้งยุโรปกำลังจะล้มละลายในทางเศรษฐกิจกันแทบจะทุกประเทศ ตั้งแต่เยอรมนี ฝรั่งเศส ก็เป๋ไปเป๋มาทุกวันนี้ เนเธอร์แลนด์ฉีกแนวออกไปเรียบร้อยแล้ว ออสเตรียไม่เข้ากับใคร

“เพราะฉะนั้นแล้วสงครามในยูเครนนั้น จริงๆ แล้วถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในยุโรป มันก็จบลงแล้วด้วยชัยชนะของรัสเซียอย่างเด็ดขาด แต่การล่มสลายของยุโรปก็จะทำให้โลกขั้วเดียวเริ่มเปลี่ยนไปทันทีเลย แล้วตอนนั้นความวุ่นวายทั้งหมด การพยายามที่จะดิ้นรนเพื่อรักษาอำนาจในฐานะโลกขั้วเดียวของอเมริกาก็อาจจะรุนแรงขึ้น มากขึ้นๆ และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสที่จะเกิดสงครามนั้นมีสูงมาก เพราะว่าการเกิดสงครามนั้นถูกใช้มาเป็นวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจครับ”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น