xs
xsm
sm
md
lg

วปท.จัดงาน FIDIC Asia Pacific Conference 2023 ระดมสมองลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วปท.จัดงาน FIDIC Asia Pacific Conference 2023 “Engineering towards Net Zero” มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2065

สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) ร่วมกับสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ (FIDIC) จัดงานสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ระดับนานาชาติ ที่มีชื่อว่า FIDIC Asia Pacific Conference 2023 ในหัวข้อ “Engineering towards Net Zero” ระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายนนี้ ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ตัวแทนภาครัฐ รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อม มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ความรู้ และมุมมองเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย และความสำเร็จในการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะนำความรู้ที่ได้ไปร่วมกันผลิตผลงาน เพื่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2065 มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน จาก 20 ประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน ฯลฯ


งานแถลงข่าวเปิดงานสัมมนาอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 มีตัวแทนภาครัฐของไทยเข้าร่วมมากมาย ได้แก่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นก็ยังมี นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย Mr. Sudhir Dhawan President, FIDIC Asia – Pacific, India ดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง ที่ปรึกษา สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย นายนิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์ ประธานการจัดงาน FIDIC ASIA PACIFIC 2023 เป็นต้น

นายนิวัฒน์ ธัญปิตินันทน์ ประธานการจัดงานฯ เผยว่า “สมาชิกของ FIDIC ASIA PACIFIC หรือสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กว่า 20 ประเทศ มอบหมายให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ เราเลือกหัวข้อที่เป็นที่สนใจของโลกคือ Net Zero Carbon Emissions เพราะใช้ความร่วมมือจากหลายๆ ส่วน อยากให้เห็นว่าไทยตื่นตัวเรื่องนี้ บทบาทหลักของสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการออกแบบ ควบคุมงานและบริหารโครงการฯ จึงต้องสร้างการรับรู้ให้เจ้าของโครงการต่างๆ ว่าการสร้างอาคารเขียวหรืออาคารรักษ์โลกเป็นสิ่งที่ควรทำ ดีต่อโครงการฯ และดีต่อโลกโดยรวม”

นายชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ก๊าซเรือนกระจก คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทนและไนตรัสออกไซด์ ที่มักเรียกรวมๆ กันในชื่อ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกนี้ ล้วนแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทั้งนั้น ซึ่งเมื่อปล่อยแล้วจะคงอยู่ในบรรยากาศ เป็นเวลา 200 – 450 ปี ปัจจุบันพบว่า ในชั้นบรรยากาศมีก๊าซเรือนกระจกสะสมอยู่แล้วถึง 411 ส่วนในล้านส่วน (PPM) หากสูงขึ้นถึง 475 ส่วนในล้านส่วน จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างรุนแรง จากการวิเคราะห์ของสหประชาชาติ หากเรายังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 27 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้น 70 เซนติเมตร มีความเสี่ยงที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ

วิศวกรรมถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดคาร์บอนได้ เพราะเป็นต้นทางของการก่อสร้าง ในการรณรงค์ Energy Saving ควรเริ่มจากงานออกแบบ ตั้งแต่เลือกใช้วัสดุที่ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด ในระหว่างการก่อสร้างก็ต้องคำนึงถึงขนาดที่เหมาะสม ตัดแต่งให้น้อยที่สุด เพราะกระบวนการตัดแต่งก็ใช้ไฟฟ้ามาก ถ้าเหลือเศษก็ก่อให้เกิดขยะมาก แล้วเวลาตัดแต่งเสร็จฝุ่นก็เยอะด้วย”


ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นว่า “ทำอย่างไรที่เราจะไม่ใช้ทรัพยากรของคนรุ่นใหม่ในอนาคตเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน ทำอย่างไรไม่ให้ Net Zero เป็นแค่สโลแกน แผนอีก 30 ปี การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อาจไกลเกินไป ต้องตั้งเป้าหมายให้สั้นลง เช่น กทม.ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 3% ต่อปี งานวิศวกรรม ถือเป็นต้นเหตุในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นวิศวกรรมจึงต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่อยากให้มองเป็นต้นทุน แต่นี่คือโอกาสทางธุรกิจมากกว่า งานสัมมนาครั้งนี้เราจะได้เรียนรู้จากคนอื่น ซึ่งมีปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ลดระยะเวลาในการแก้ปัญหา กทม.ก็มีการรณรงค์เรื่องลดการใช้พลังงานในอาคารของกทม.ก่อน เช่นภายในโรงเรียนสังกัดกทม. มีการให้ความรู้พื้นฐานแก่เด็กนักเรียนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ เป็นต้น”

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยตอนนี้เรามีเป้าหมายชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Net Zero ในปี 2065 หรือ Carbon Neutrality ในปี 2050 เรายังมีเป้าระยะสั้น ในปี 2030 ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30-40% ซึ่งเมืองใหญ่ก็คือแรงขับเคลื่อนหลัก ไม่ใช่แค่ในกทม. ภาครัฐเน้นเรื่องการใช้พลังงานทดแทน การใช้รถไฟฟ้าทั้งในเมืองและระหว่างเมือง สนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะระบบราง ภาคการเกษตรก็เปลี่ยนรูปแบบการทำนาที่ใช้น้ำน้อย ปล่อยก๊าซมีเทนต่ำ การประชุมสัมมนาครั้งนี้น่าจะมีบทเรียนหรือความสำเร็จที่น่าสนใจจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทย”​


การสัมมนามี 5 หมวด ได้แก่ 1. กลุ่มอาคาร เกี่ยวกับอาคารที่ใช้คาร์บอนต่ำ 2. กลุ่มพลังงาน 3. กลุ่ม Transportation และ Logistics การขนส่งคาร์บอนต่ำ 4. กลุ่มการพัฒนาเมืองและการพัฒนาชนบท ด้านผังเมือง ชุมชน 5. กลุ่มสาธารณสุขและน้ำประปา และหมวดพิเศษ FFL กลุ่มวิศวกรรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (FIDIC Future Leaders)
หัวข้อการสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมเพื่ออาคารสีเขียวสู่ Net Zero โดย บริษัท SCG ประเทศไทย , การบำบัดน้ำเสียหนทางสู่ Net Zero โดยบริษัท ธรรมสรณ์ จัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม จำกัด ประเทศไทย, EV คือตัวช่วยให้ไทยสู่ Net Zero จริงหรือไม่ โดย บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ประเทศไทย รวมไปถึงหัวข้อจากประเทศอื่นๆ เช่น การถอดบทเรียนของเมืองซูวอน เกาหลีใต้ ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นกลางได้สำเร็จจากความร่วมมือของชุมชน อาคาร Net Zero ในมาเลเซีย เวียดนามกับแนวทางลดคาร์บอนในอาคาร อินโดนีเซียกับการสร้างอาคารที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ อินเดียกับพลังงานน้ำ ฟิลิปปินส์กับเรื่องพลังงานทดแทน เทคโนโลยีในแบบของชนพื้นเมืองศรีลังกา การจัดการ Net Zero แบบเนปาล มาตรฐานเรื่อง Net Zero ในสิงคโปร์ เป็นต้น


นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม Business Matching แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านธุรกิจ รวมไปถึงพูดคุยถึงอนาคตและความท้าทายในการทำงานของ FIDIC หรือสหพันธ์วิศวกรที่ปรึกษานานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนระดับโลกสำหรับสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาระดับชาติ และเป็นตัวแทนของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมากกว่าหนึ่งล้านคนและบริษัท 40,000 แห่งในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ที่จะต้องพาสมาชิกไปสู่เป้าหมาย Net Zero ให้ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น