สรุป 10 ประเด็นสำคัญที่ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ “ปานเทพ” เบิกความ คดีการชุมนุมพันธมิตรฯ ที่สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิปี 51 ย้ำใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ปกป้องชาติฯ ขับไล่รัฐบาลทุจริต ส่อเจตนาจะแก้กฎหมายล้างผิดให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่มีคำตัดสินของศาลยืนยันในเวลาต่อมาว่ากระทำผิดจริง พันธมิตรฯ ชุมนุมดดยสงบปราศจากอาวุธแต่ถูกกลั่นแกล้งทำร้ายจนมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ มวลชนจึงย้ายออกจากทำเนียบรัฐบาลไปสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิโดยไม่ได้รบกวนการบินแต่อย่างใด
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้สรุป 10 ประเด็นสำคัญในคดีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 ตามคำเบิกความของนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จำเลยที่ 18 ในคดีนี้ ต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566
ทั้งนี้ นายปานเทพได้เบิกความในฐานะพยานจำเลยปากสุดท้าย เป็นคำเบิกความที่ยาวที่สุดในบรรดาจำเลยและพยานจำเลยทั้งหมด เป็นบันทึกเบิกคำให้การ 118 หน้าในแบบฟอร์มของศาล ซึ่ง มีประเด็นทั้งข้อกฎหมาย หลักฐานมากกว่า 150 ชิ้น และยังมีการเรียบเรียงเป็นระบบ และเราคงไม่สามารถมานำเสนอในรายการนี้ให้ครบได้
โดยศาลอาญาได้นัดฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมสนามบิน ชุดที่ 1 ในวันที่ 18 ธันวาคม 2566 มีจำเลย 36 คนในจำนวนนี้มีทั้ง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสนธิ ลิ้มทองกุลรวมอยู่ด้วย
ส่วน ชุดที่ 2 มีจำเลย 67 คน รวมทั้งนายปานเทพ ศาลอาญานัดหมายจำเลยทุกคนใน วันที่ 20 ธันวาคม 2566 เพื่อแจ้งจำเลยนัดวันอ่านคำพิพาษา ซึ่งคาดว่าน่าจะประมาณเดือนมีนาคม 2567
เนื้อหาการต่อสู้ทางวิชาการที่นายปานเทพนำมาเบิกความนั้นมีความน่าสนใจสำหรับประชาชน และเป็นประโยชน์ต่อสื่อมวลชนที่จะติดตามคดีประวัติศาสตร์นี้ จึงสรุปสาระสำคัญ 10 ประเด็นของเหตุการณ์การชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551 ดังนี้
ประเด็นแรก การต่อต้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องจริงและมีคำพิพากษาให้ลงโทษตามกฎหมายเป็นที่ยุติเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วถึง 12 คดี เช่น คดีซื้อขายที่ดินรัชดา, คดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท, คดีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป, คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป, คดีเลื่องภาษีหุ้นชินคอร์ป ฯลฯ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราชกิจจานุเบกษาพระราชทานอภัยโทษให้ นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร นั้นชัดเจนว่า นักโทษชายทักษิณได้นำความกราบบังคมทูลว่าได้เคารพในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยอมรับในการกระทำผิดแล้ว และมีความสำนักในความผิดแล้ว
การที่คดีการทุจริตคอร์รัปชัน 12 คดีที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และพวกได้ดำเนินการมาจนมีคำพิพากษานำผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ องค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จก็เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุด
ดังนั้นการชุมนุมต่อต้านพรรคพลังประชาชนอย่างต่อเนื่อง มิให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 309 เพื่อมิให้ล้มล้างผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นอกจากจะเป็นการดำเนินการเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 69 แล้ว ยังเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติอันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามที่ได้บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 71 ของรัฐธรรมนูญอีกด้วย
มาตรา 71 บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย
ประเด็นที่สอง การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านรัฐบาลซึ่งได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจริง และมีคำพิพากษาลงโทษพรรคการเมืองเป็นที่ยุติแล้ว 2 คดี
คดีที่ 1 คดีที่พรรคไทยรักไทยที่จ้างพรรคการเมืองอื่นมาเชิดเป็นคู่แข่งเทียมในเขตเลือกตั้งปรากฏตามตามคําวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 วันที่ 30 พฤษภาคม 2550
คดีที่ 2 พรรคพลังประชาชนได้มีกรรมการบริหารพรรคกระทำการซื้อเสียงทุจริตการเลือกตั้ง จึงเท่ากับพรรคพลังประชาชนได้อำนาจมาด้วยการโกงการเลือกตั้งปรากฏตามคําวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2551 ฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551
ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุเอาไว้ในมาตรา 68 ข้อความตอนท้ายว่า
“บุคคลใดจะใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้”
ดังนั้นเมื่อพรรคพลังประชาชนได้อำนาจมาโดยมิชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพราะโกงการเลือกตั้งมา พันธมิตรฯจึงย่อมมีสิทธิต่อต้านการได้อำนาจมาโดยมิชอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 69 ที่ว่า
“มาตรา 69 บุคคลมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งกระทำการใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”
ดังนั้น การคัดค้านและต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนนอกจากจะเป็นการต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 69 แล้ว ยังคัดค้านไม่ให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 237 เพื่อยกเลิกความผิดคดียุบพรรคหลังการโกงการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนสำเร็จไปแล้วอีกด้วย
ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงได้ทำหน้าที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 70 อีกด้วยที่ว่า
“มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้”
ประเด็นที่สาม พันธมิตรฯ ต่อต้านรัฐบาลเป็นไปโดยสุจริตและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปรากฏเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาคดีหมิ่นประมาทยกฟ้องแกนนำพันธมิตร 2 คดี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13699/2557 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่15927/2557 เป็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดพันธมิตรชนะฟ้องคดีตำรวจสลายการชุมนุม 7 ตุลา 2551 1 คดี ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ.1442/2560 และชนะยกฟ้องในชั้นศาลอุทธรณ์คดีที่อัยการฟ้องการชุมนุมหน้ารัฐสภา 7 ตุลา 2551 อีก 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อ.4924/2555
แสดงให้เห็นว่าเนื้อหาและเหตุผลของการชุมนุมเป็นความจริง พรรคพลังประชาชนพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเองเป็นเรื่องจริง การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเรื่องจริง การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของพันธมิตรฯเป็นสิทธิหน้าที่ และเสรีภาพที่กำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย
ประเด็นที่สี่ พันธมิตรฯ เป็นผู้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นอกจากจะยืนยันด้วยเจตนารมณ์ในแถลงการณ์ทุกฉบับแล้ว ยังมีผลลัพธ์ต่อมารวมถึงการคัดค้านแถลงการณ์ร่วมไทยกัมพูชา เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ปรากเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 การลงนามแถลงการณ์ร่วมของไทยต่อรัฐบาลกัมพูชา ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอาณาเขต จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190
จากหลักฐานข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นลักษณะ “การทำหน้าที่” พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและความปลอดภัยของรัฐธรรมนูญ 2550
ประการที่ห้า เมื่อพันธมิตรฯ ได้ “ทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทย” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 และ 71 การ “ใช้สิทธิ” พิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 69 เพื่อต่อต้านการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ และเลือกวิธีการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 63
โดยเวลานั้น พันมิตรฯ ได้เลือกวิธีการหลายวิธี คือ แถลงการณ์ไปแล้ว 9 ฉบับ จัดสัมมนาหลายครั้ง ยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุด เข้าชื่อถอดอถอน ส.ส. แต่รัฐบาลไม่ฟังเสียงประชาชนยังคงเดินหน้าที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 และ 237 เพื่อฟอกความผิดให้คดีทุจริตเลือกตั้ง และทุจริตเลือกตั้ง จึงต้องอาศัยวิธีการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็น “เสรีภาพ” ที่ได้ถูกรับรองเอาไวในรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 63 ความว่า
“มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ”
มาตรา 63 วรรคสองเขียนต่อด้วยว่า
“การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ”
หมายความว่าเสรีภพการชุมนุมจะถูกจำกัดไม่ได้ ตราบใดที่ดำเนินไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ จนกว่าจะมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หรือมีกฎหมายอื่นใดว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ
ดังนั้น จะอาศัยกฎหมายอาญาฉบับอื่นมาลงโทษผู้ชุมนุมสาธารณะย่อมกระทำมิได้
ซึ่งในปี 2551 ประเทศไทยยังไม่มี กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ เป็นการเฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ยิ่งไปกว่านั้นการไม่มีกฎหมายเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับข้อห้ามใน “เสรีภาพ” การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะกรณีการใช้ “สิทธิ”และ “ทำหน้าที่” ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้ การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมจึงยิ่งจะกระทำมิได้
พันธมิตรฯ จึงเป็นผู้ที่ควรได้รับการคุ้มครองในการใช้สิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการใช้สิทธิและการทำหน้าที่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปโดยเจตนาสุจริตเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติและอันตรายร้ายแรงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจริงและได้รับการพิสูจน์ต่อมาด้วยคำพิพากษาจำนวนมาก
ประการที่หก พฤติการณ์ของพรรคพลังประชาชนที่ได้อำนาจมาโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นรากฐานทำให้เกิดบิดเบือนและแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก ทำให้เป็นเหตุอันสำคัญที่ทำให้ต้องมีการชุมนุมสาธารณะเพื่อเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะกดดันต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของพรรคพลังประชาชนนั้น ได้รวมถึง
- การโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
- โยกย้ายข้าราชการตำรวจ
- เข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อล้างความผิดให้กับตัวเองและพวกพ้องทั้งคดีการทุจริตคอร์รัปชันและคดีการยุบพรรคจากคดีทุจริตการเลือกตั้ง
- การละเมิดอำนาจศาลโดยนำเงิน 2 ล้านบาทใส่ถุงขนมให้กับสำนักงานศาลยุติธรรมตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 4599/2551
- คดีการปลอมแปลงเอกสารในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อช่วยเหลือคดีการทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน
นอกจากนั้น ยังมีขบวนการบ่อนทำลายภาคประชาชนด้วยการดำเนินคดีต่อแกนนำและแนวร่วมของพันธมิตรฯ จำนวนมาก เพื่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือเกิดอุปสรรคในการชุมนุมซึ่งรวมถึงคดีหมิ่นประมาท และคดีการชุมนุมในคดีนี้ด้วย
โดยภายหลังจากการที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ยุติบทบาทไปเนื่องด้วยมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขประกันตัวของศาลในคดีการชุมนุม ในปี 2556
ยิ่งทำให้เห็นว่าขบวนการนิรโทษกรรมล้างความผิดด้วยการลุแก่อำนาจมากขึ้น
เพราะต่อมารัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้พยายามในการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การได้มาของวุฒิสภาทำลายลักษณะสาระสำคัญของระบบสองสภา ปราฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556
รวมถึงต่อมาคือ ส.ส.พรรคเพื่อไทยผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย เพื่อช่วยเหลือคดีที่มีการทุจริตทั้งหมดให้กับนายทักษิณ ชินวัตร จนเกิด กปปส. และการรัฐประหารต่อมา
แม้ในเหตุการณ์ปัจจุบันนักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร ก็ได้อภิสิทธิ์เหนือนักโทษทั่วไป ด้วยเพราะไม่ได้อยู่ในเรือนจำเลยแม้แต่วันเดียวจนเกือบ 3 เดือนแล้วทำให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนจนได้ถูกเรียกว่าเป็นนักโทษเทวดา
การต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมด้วยวิธีการต่างๆ ที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องที่สมควรแก่เหตุในปัญหาที่สลับซับซ้อนและมีเครือข่ายมาก
เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่ร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เพื่อต่อสู้กับปัญหาภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ
เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เกิดจากขบวนการทำลายหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้นการตรวจสอบและการต่อต้านของภาคประชาชนด้วยการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครองในทุกยุคทุกสมัย เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่ได้อำนาจในแต่ละยุคสมัยใช้อำนาจไปในทางมิชอบเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ในเวลานั้น
ประการที่เจ็ด พันธมิตรฯ ยึดถือแนวทางการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธมาโดยตลอด มีการเปิดเผยการเคลื่อนไหวต่อสาธารณชนและสื่อมวลชนด้วยแถลงการณ์ทั้ง 29 ฉบับ โดยเฉพาะแม้ว่าจะถูกยั่วยุเพียงใด แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะใช้วิธีแถลงการณ์เพื่อยืนยันการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเช่นเดิม และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างเคร่งครัดในทุกกรณี ปรากฏตัวอย่างแถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกแถลงการณ์ฉบับที่ 14/2551
ประการที่แปด นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนมีผู้เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ และบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งพันธมิตรฯชนะคดี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.1442/2560
หลังจากนั้นเป็นต้นมาได้เกิดเหตุที่มีผู้ยิงอาวุธสงครามเป็นระเบิดและปืนใส่ผู้ชุมนุมและสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV อย่างต่อเนื่อง จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกจำนวนมากโดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐมารักษาความปลอดภัย หรือจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้เลยแม้แต่คนเดียว
ทั้ง ๆ ที่เป็นการใช้อาวุธสงครามยิงเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลใจกลางพระนครอย่างต่อเนื่อง อันจะถือได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้นจงใจปล่อยปละละเลย รู้เห็นเป็นใจสมรู้ร่วมคิด หรืออาจจะเจตนาร่วมมือหรือกระทำการเองด้วย จึงจะสามารถทำความรุนแรงเช่นนี้ได้
โดยผู้ชุมนุมถูกกระทำด้วยความรุนแรงด้วยอาวุธสงครามร้ายแรงจาก เดือนตุลาคม 2551 เฉลี่ยความถี่ทุก ๆ 6.2 วันจะเกิดขึ้น 1 ครั้ง
แต่ ในช่วง 23 วันแรกของเดือนพฤศจิกายนเกิดเหตุความรุนแรง ยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุมถึง 7 ครั้ง คิดเป็นความถี่เพิ่มขึ้นทุกๆ 3.3 วัน จะเกิดขึ้น 1 ครั้ง
รวมเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงด้วยอาวุธสงครามมีความถี่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 2 เท่าตัว
และ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551รวมกันมากถึง 11 ครั้ง รวมผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมากหลายร้อยคน
และนี่คือเหตุผลที่พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 24/2551 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ให้ระดมประชาชนมาให้มากที่สุดในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 โดยยืนยันว่าไม่สามารถที่จะให้ประชาชนอยู่ในที่ตั้งได้อย่างปลอดภัยจากการถูกทำร้าย เพื่อขับไล่รัฐบาลให้เร็วที่สุด เพราะรัฐบาลไม่รับผิดชอบต่อการล้มตายของประชาชนจำนวนมาก แต่เมื่อประชาชนมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 แล้วซึ่งเป็นวันที่มีมวลชนมากแล้ว แกนนำพันธมิตรฯ ก็ยังคงอยู่ที่เดิม และยังไม่มติใดๆ เพิ่ม
แต่ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ได้มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มตัดสินใจเดินทางไปที่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยปราศจากมติแกนนำพันธมิตรฯ เพราะดอนเมืองเป็นที่ตั้งที่ทำการชั่วคราว ของทำเนียบรัฐบาล ซึ่งพื้นที่จราจรหน้าอาคารชั่วคราวทำเนียบรัฐบาลไม่สามารถเป็นเหตุในการปิดสนามบินได้เลย ซึ่งผมไม่ได้เดินทางไปด้วย
จนถึง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2551 ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มเดินทางไปที่เส้นทางจราจรหน้าอาคารผู้โดยสารขาออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งผมก็ไม่ได้เดินทางไปด้วยเช่นกัน
โดยการชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ไม่ได้มีแถลงการณ์ว่าเป็นมติของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
โดยในช่วงเวลาตั้งแต่ วันที่ 24 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 รวมเวลา 9 วันมีเหตุการณ์ความรุนแรงด้วยอาวุธสงครามทั้งระเบิดและปืนอาก้ายิงใส่ผู้ชุมนุมและสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV รวมกันมากถึง 9 ครั้ง หรือเฉลี่ยคือเพิ่มขึ้นเป็นการทำร้ายผู้ชุมนุมทุกวัน
สำหรับประเด็นนี้พิสูจน์ว่า ผู้ชุมนุมบางกลุ่มไม่สามารถอยู่ในที่ตั้งได้ เพราะรัฐบาลไม่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ
ประการที่เก้า ประเด็นการชุมนุมทำให้เป็นเหตุในการปิดท่าอากาศยานได้จริงหรือไม่
ปรากฏว่าเมื่อ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 พลตรีจำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ยื่นหนังสือถึงนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและรักษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อยืนยันว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ชุมนุมในพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับการขึ้นลงของเครื่องบิน ทั้งในส่วนของลานบิน หลุมจอด หอบังคับการบิน ไม่เคยขวางการบิน จึงขอให้เปิดดำเนินการท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง
นอกจากนั้นยังพบหลักฐาน เป็นข้อเท็จจริงด้วยว่าการชุมนุมของคนกลุ่มอื่นที่บริเวณพื้นที่การจราจรหน้าอาคารผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึง 5 ครั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกับที่มีข่าวการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่กลับไม่เคยมีคำสั่งให้ปิดการให้บริการท่าอากาศยานหรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเลย
นอกจากนั้นตามเอกสารตารางสรุปเที่ยวบินของสนามบินดอนเมือง ซึ่งมีรายละเอียดบ่งชี้ว่าระหว่าง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 มีรายการเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกให้บริการ
จึงทำให้เชื่อได้ว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐสั่งปิดท่าอากาศยานทั้งสองแห่งรวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเป็นการกลั่นแกล้งผู้ชุมนุมของพันธมิตรฯ เพื่อให้เสียหายและให้ได้รับความเดือดร้อน เพราะในเวลานั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นคู่กรณีโดยตรงต่อรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติจากคดีการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551
ประการที่สิบ การดำเนินคดีความต่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คณะพนักงานสืบสวน สอบสวนไม่เคยรวบรวมหลักฐานอย่างรอบด้าน แต่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อกล่าวหาให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความผิดแต่เพียงอย่างเดียว โดยปราศจากการหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาในเวลาเดียวกันด้วย
จึงไม่เคยปรากฏหลักฐานสำคัญอันเป็นข้อเท็จจริงในคดี ในสำนวนการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ไม่ปรากฏแม้กระทั่งแถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้ง 29 ฉบับ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการที่แสดงเจตนาและการกระทำด้วยความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญอันเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งตามกฎหมายอาญาในการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา
ประเด็นที่สำคัญที่สุด คณะพนักงานสอบสวนก็ไม่เคยพิจารณาประเด็นปัญหาการสิ้นผลบังคับใช้ตามกฎหมายของข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง
เพราะข้อกำหนดห้ามชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมืองไม่ได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาตามที่กฎหมายกำหนด
นอกจากนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ไม่ออกข้อกำหนดในเรื่องเดียวกันภายในสี่สิบแปดชั่วโมง ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เรื่องการห้ามชุมนุมทั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยเช่นกัน
แต่กลับนำประเด็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ มาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลง พล.ต.ท.วุฒิ พัวเวส หัวหน้าพนักงานสอบสวนที่ดำเนินคดีต่อพันธมิตรฯ เพราะ พล.ต.ท.วุฒิ เห็นว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้กระทำผิดและเป็นผู้ก่อการดี
การดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมต่อแกนนำและผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เพื่อทำให้ขบวนการภาคประชาชนอ่อนแอลง
ข้อสำคัญคือไม่ต้องการให้พันธมิตรฯ มาเป็นอุปสรรคต่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยต่อมา และเมื่อขบวนการพันธมิตรฯ อ่อนแอลง จึงทำให้ทักษิณ ลุแก่อำนาจ พักอาศัยอยู่ในห้องรอยัลสูท 1401 โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ต้องจำคุกในเรือนจำจริงแม้แต่วันเดียวจนถึงปัจจุบัน
“ซึ่งผมจะรวบรวมประเด็นเหล่านี้เข้าประกอบกันเพื่อเป็นคำแถลงปิดคดีก่อนวันพิพากษาวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ต่อไป
“อย่างน้อยก็เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อการบันทึกประวัติศาสตร์ อุทิศให้กับผู้ที่เสียชีวิต แขนขาขาด ทุพพลภาพ จากการชุมนุมในปี 2551 รวมถึงแกนนำและจำเลยหลายคนที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว
“คำแถลงการณ์นี้ในการปิดคดี เมื่อศาลได้รับเข้าสู่สำนวนแล้ว จะเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จะแก้ไขไม่ได้ ผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม คำชี้แจงนี้พร้อมหลักฐานประกอบ เพื่อยืนยันคำชี้แจงที่ผมชี้แจงมานี้ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ถูกต้องตามข้อกฎหมาย
“เราทำตามข้อกฎหมาย ถ้าคำพิพากษาเป็นอันอื่นใด หลักฐานนี้ก็ยังคงอยู่ในสำนวน และสามารถจะรื้อฟื้นขึ้นมา ถึงแม้คำพิพากษาจะสิ้นสุดแล้วถึงขั้นศาลฎีกา คำพิพากษานี้ ด้วยหลักฐานนี้ ก็ยังคงอยู่ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเราทำทุกอย่างอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย และไม่ได้ละเมิดกฎหมาย ทำตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดมอบให้เราทำ” นายสนธิกล่าว