xs
xsm
sm
md
lg

จงใจเสี้ยมหรืออ่อนหัด!? ThaiPBS สุมไฟขัดแย้ง “จีน-ไต้หวัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จวกไทยพีบีเอสอ่อนหัด ส่ง ผช.บก.ข่าวไปสัมภาษณ์ รมต.ต่างประเทศไต้หวัน หยิบประเด็นจากสื่อตะวันตก ถามชง สุมไฟขัดแย้งกับจีน ไม่รู้เบสิกเรื่องต่างประเทศ ประเด็นที่ควรถามกลับไม่ถาม ซัดทำตัวเป็นพีอาร์ให้พรรค ปชต.ใหม่ของไช่อิงเหวิน ไม่ใช่ความคิดของคนไต้หวันทั้งหมด ที่ผ่านมาเสนอข่าวผิดพลาดหลายครั้ง แนะสภาตัดงบที่ได้จากภาษีบาปปีละ 2,000 ล้าน



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายอู๋ เจาเซี่ย รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน ซึ่งทำให้สถานทูตจีนประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจ ว่า เท่ากับไทยพีบีเอสที่เป็นสื่อสาธารณะกำลังตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของไต้หวัน ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนถึงกระบวนการทำงานของสื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่ที่สมาทานแนวทางของสื่อตะวันตกทำมาหากินกับความขัดแย้ง


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีสื่อไทยสื่อหนึ่งได้ออกอากาศรายการสัมภาษณ์ นายอู๋ เจาเซี่ย คนที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน ซึ่งนายอู๋ ได้ปลุกปั่นคำพูดที่เหลวไหลเกี่ยวกับ “การแยกตัวเป็นอิสระของไต้หวันในการให้สัมภาษณ์ และโจมตีข้อเสนอที่รวมประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างสันติของประเทศจีนอย่างร้ายแรง คำพูดที่ไร้สาระอย่างนี้ไม่คุ้มค่าที่จะหักล้าง
ส่วนสื่อนี้ได้เสนอเวทีที่เผยแพร่คำพูดที่เหลวไหลให้แก่คนที่คิดจะแบ่งแยกไต้หวันออกจากประเทศจีน ซึ่งทำลายผลประโยชน์ของประเทศจีน และทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีน ฝ่ายจีนต้องแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำอย่างนี้อย่างรุนแรง


การออกแถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดย นายพงศธัช สุขพงษ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ได้เดินทางไปสัมภาษณ์นายอู๋ เจาเซี่ย รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน เมื่อ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 และนำรายงานข่าวดังกล่าวเผยแพร่ในช่วงค่ำของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 และยังนำไปเผยแพร่ต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียคือ เฟซบุ๊ก, ยูทูป ของไทยพีบีเอส ด้วย


หลังจากสถานทูตจีนออกแถลงการณ์พียงชั่วข้ามคืน นายอู๋ เจาเซี่ย รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ก็ได้ตอบโต้ผ่านทวิตเตอร์ทางการของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า นายอู๋ได้ติดแฮชแท็ก #MilkTeaAlliance #พันธมิตรชานมซึ่งเป็นแฮชแท็กเดียวที่กลุ่มม็อบสามนิ้วในไทย กับกลุ่มม็อบในฮ่องกงใช้เป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาด้วย


ภายหลังจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ได้ไม่นานคน ThaiPBS ก็วิ่งพล่านเลยทีเดียว เพราะรู้ตัวว่าทำพลาดครั้งใหญ่หลวง โดยสุดท้ายก็ยอมลบคลิปการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไป

แต่จนถึงขณะนี้ไทยพีบีเอสได้แสดงความรับผิดชอบเพียงแค่ ปิดการเข้าถึงคลิป และลบบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเท่านั้น

ขณะที่คนไทยบางกลุ่มได้พาทัวร์ไปลงที่เพจของสถานทูตจีน โดย อ้างเรื่องเสรีภาพสื่อ, อ้างว่าจีนไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต, เหน็บแนมว่าเมืองไทยเป็น “มณฑลไท่กั๋ว”.... แต่คนเหล่านี้เป็นสื่อมวลชนหรือเป็นแค่เกรียนคีย์บอร์ด, รู้เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ดีแค่ไหน? และที่สำคัญคือ มีกี่คนที่ได้ดูคลิปการสัมภาษณ์ของไทยพีบีเอสแบบเต็ม ๆ

คนที่ได้ดูคลิปการสัมภาษณ์ และพินิจพิเคราะห์ จะเห็นได้ว่าการสัมภาษณ์ของ นายพงศธัช สุขพงษ์ จากไทยพีบีเอส เหมือนกับเปิดนิตยสาร The Economist หรือหยิบประเด็นจากสำนักข่าวตะวันตกอย่าง CNN BBC มาถามกับรัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน เช่น ถามว่า
  • ประเมินว่าจีนใช้กำลังผนวกไต้หวันไหม ?
  • ไต้หวันรับมืออย่างไรต่อการรุกรานของจีน?
  • ไต้หวันจะกลายเป็น ยูเครน 2 ไหม?
  • การประท้วงในฮ่องกงจะเป็นตัวอย่างให้ไต้หวันไม่ยอมรับแนวทางหนึ่งประเทศ สองระบบไหม?
  • หากเกิดสงครามขึ้น จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและประเทศอื่น ๆ อย่างไร?


ปกนิตยสาร The Economist วันที่ 1-7 พฤษภาคม 2564
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สื่อตะวันตกสร้างวาระขึ้นมาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกคนก็รู้กันดี“การชงคำถาม”เช่นนี้มีแต่จะยุยงให้เกิดความขัดแย้ง เป็นวิธีการของชาติตะวันตกที่ชอบ“กวนน้ำให้ขุ่นแล้วทอดแหจับปลา”

แต่ ผู้สื่อข่าวอ่อนหัดของไทยพีบีเอส กลับถามเหมือนกับ “พกธงไปจากเมืองไทย” ว่า ต้องเกิดสงครามแน่ ๆ จีนจะบุกไต้หวันในปี 2568 แถมยังใช้คำว่า “รุกราน (invade)” อยู่หลายครั้ง โดยยังตกเป็นเครื่องมือของ นายอู๋ เจาเซี่ย รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ที่ใช้ลูกเล่นของนักการทูต-นักการเมือง โดยใช้คำว่า “โจมตี (attack)”,“ใช้กำลัง (use force)” แทนคำว่า“รุกราน”


นายอู๋ ยังยอมรับว่า จีนจะไม่บุกไต้หวัน เพราะจีนใช้คัมภีร์พิชัยสงคราม “ซุนวู” โดยจีนจะข่มขู่ด้วยกำลังทหาร การสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และการลิดรอนพื้นที่ในเวทีนานาชาติของไต้หวัน เพื่อการพิชิตเป้าหมายตามกลยุทธ์ “บีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม”

ไทยพีบีเอสที่บอกว่าตัวเองเป็น “สื่อสาธารณะ” แต่ความจริงแล้ว งบประมาณในการดำเนินงานของไทยพีบีเอสมาจาก “ภาษีบาป” คือภาษีจากสุราและบุหรี่ ปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ไทยพีบีเอสจึงมีสถานะเหมือนเป็น สื่อของรัฐเพราะใช้เงินจากภาษีของประชาชน

คนไทยจะคิดอย่างไร ถ้าสื่อของทางการจีนอย่างเช่น ซินหัว หรือ CCTV หรือว่า สื่อของทางการมาเลเซีย ไปสัมภาษณ์กลุ่มผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนชายแดนภาคใต้บ้าง ว่าคิดเห็นอย่างต่อการปราบปรามของทหารไทย หรือ รัฐบาลไทย หรือเห็นอย่างไรกับการลงประชามติแยกรัฐปาตานี โดยอ้างว่าเป็นส่งเสริมสิทธิในการกำหนดใจตัวเอง (self determination) ของกลุ่มนักวิชาการ และนักการเมืองจากพรรคก้าวไกล?


ผู้บริหารของไทยพีบีเอส ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอส วิลาสินี พิพิธกุลหรือ คณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสที่มีประธานชื่อ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง จะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าหากกระทรวงการต่างประเทศจีนทำหนังสือประท้วงมายังรัฐบาลไทยและระบุแบบเฉพาะเจาะจงว่า สื่อที่ได้รับงบประมาณจากทางการไทย ใช้ภาษีจากประชาชนชาวไทย เปิดพื้นที่กับ “ผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับทางการจีน” เพื่อพูดถึงเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ???

จากฝ่ายบริหาร ไล่เรียงลงมาจนถึง ฝ่ายปฏิบัติการ โดยเฉพาะฝ่ายข่าว ฝ่ายข่าวต่างประเทศของไทยพีบีเอสไม่มีความรู้ หรือ ไม่เคยรับทราบเรื่องเบสิก พื้นฐานด้านการต่างประเทศ เลยหรือว่า
  • ประเทศไทยยอมรับนโยบายจีนเดียว (One China Policy) การติดต่อกับไต้หวันจะมีเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเท่านั้น
  • ประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ล้วนหลีกเลี่ยงที่จะพบปะอย่างเป็นทางการกับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีของไต้หวัน บุคคลสำคัญทางการเมืองของไต้หวันจะไปเยือนสหรัฐก็ยังต้องใช้ข้ออ้างว่า “เปลี่ยนเครื่องบิน” หรือ “แวะพักเติมน้ำมัน”



  • เรื่องไต้หวัน คือ “เส้นแดง (Redline)” ของทางการจีน ฝ่ายจีนย้ำมาตลอดว่า เรื่องไต้หวันคือ “ศูนย์กลางของศูนย์กลาง” ในการมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และจีนจะไม่มีวันประนีประนอมเรื่องไต้หวัน
  • มีคนไต้หวันจำนวนมาก ไม่อยากให้มีความขัดแย้ง ต้องการคงสถานะปัจจุบันของไต้หวัน และยังมีคนไต้หวันจำนวนไม่น้อยที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับจีน เพื่อประโยชน์ทางการค้าและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
  • นายอู๋เจาเซี่ย เป็นบุคคลต้องห้าม ถูกขึ้นบัญชีดำจากทางการจีนว่าเป็น“ผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวันตัวพ่อ” ลำดับที่ 1



จีนขึ้นบัญชีดำ “อู๋ เจาเซี่ย” เบอร์ 1 ผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวัน

ผู้บริหาร หรือ ฝ่ายข่าวไทยพีบีเอส อาจจะไม่ทราบว่า นายอู๋ เจาเซี่ย ถูกสำนักงานกิจการไต้หวัน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะรัฐมนตรีจีน ขึ้นบัญชีดำเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 หรือ สองปีกว่าที่แล้วว่าเป็น“ผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวัน” โดยชื่อของเขาอยู่ในลำดับที่ 1 จากทั้งหมด 10 คน ได้แก่
  1. นายอู๋ เจาเซี่ย รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน
  2. นายซู เจินชัง อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
  3. นายโหยว สีคุน อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
  4. นางเซียว เหม่ยฉิน ผู้แทนไต้หวันประจำสหรัฐอเมริกา
  5. นายกู้ ลี่ฉง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไต้หวัน
  6. นายไช่ ฉีชัง รองประธานรัฐสภาไต้หวัน
  7. นายเคอ เจี้ยนหมิง สมาชิกรัฐสภาไต้หวัน
  8. นายหลิน เฟยฝาน อดีตแกนนำนักศึกษา, รองเลขาธิการพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า
  9. นายหวัง ติ้งอวี่ สมาชิกรัฐสภาไต้หวัน
  10. นางเฉิน เจียวหัว สมาชิกรัฐสภาไต้หวัน

ทั้งนี้ นางไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน และ นายไล่ ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี และว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ไม่อยู่ในบัญชีดำของทางการจีน


ทางการจีนระบุว่า บุคคลเหล่านี้กระทำผิดกฎหมายอาญา, กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน และกฎหมายความมั่นตงแห่งชาติจีน มีความผิดโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และจะติดตามตัวมาดำเนินคดีตลอดชั่วชีวิต

บุคคลในบัญชีดำทั้ง 10 คนนี้ถูกทางการจีนใช้มาตรการคว่ำบาตร ห้ามเดินทางมาจีน ฮ่องกง มาเก๊า และห้ามหน่วยงานต่าง ๆ ของจีนติดต่อด้วย

ไทยพีบีเอสคิดอย่างไร จึงให้พื้นที่แบบ Exclusive กับบุคคลที่ถูกทางการจีนคว่ำบาตร และนำเสนอประหนึ่งว่า สงครามจีน-ไต้หวันจะเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่นายอู๋ เจาเซี่ยพูดนั้นเป็นเพียงแนวทางของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ความคิดของนักการเมืองไต้หวัน หรือ ชาวไต้หวันในภาพรวม

หากไทยพีบีเอสคิดว่า นายอู๋ เจาเซี่ย เป็นบุคคลในข่าวที่ควรค่าแก่การสัมภาษณ์ แต่ทำไมผู้สื่อข่าวถึงไม่ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวันในเรื่องอื่น ๆ เช่น

  • คิดอย่างไรกับกรณีที่ นายหม่า อิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ที่เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนมีนาคม ปีนี้ ?
  • นายอู๋ เจาเซี่ย คิดอย่างไรกับแนวทางของพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ต้องการปรับความสัมพันธ์กับจีน ?
  • ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีน-ไต้หวัน หรือ เอ็กฟ่า ที่ไต้หวันได้ประโยชน์อย่างมาก จนรัฐบาลของนางไช่ อิงเหวินก็ไม่ยอมยกเลิก ?



ที่สำคัญที่สุดคือ ทำไมผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส จึงตั้งธงว่า “จีนใช้กำลังผนวกไต้หวัน” และทำได้แค่เพียงนั่งฟัง นายอู๋ เจาเซี่ย พูดในสิ่งที่ตัวเขาและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าต้องการเพียงฝ่ายเดียว และไม่ใช่ความคิดเห็นของคนไต้หวันทั้งหมด

หรือว่า ไทยพีบีเอส กำลังใช้เงินภาษีจากประชาชนชาวไทย ไปเป็นเครื่องมือ และ เอื้อให้นักการเมืองไต้หวัน และพรรคการเมืองไต้หวัน เพื่อในการโปรโมตตัวเองในการเลือกตั้ง ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2567 หรืออีก 2-3 เดือนที่จะถึงนี้นี่เอง !?!

นายสนธิกล่าวเพิ่มเติมฝากไปถึงนายพงศธัช สุขพงษ์ ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ ที่เดินทางไปสัมภาษณ์ อู๋ เจาเซี่ย กับ กองบก.ข่าวต่างประเทศ ไทยพีบีเอส ว่า คุณภาพของการเป็นนักข่าวถือว่าต่ำมาก คำถามไม่ควรถามดันถาม คำถามที่ควรถามกลับไม่ถาม


“คุณถามรัฐมนตรีต่างประเทศสิว่า ตั้งแต่เกิดเรื่องเกิดราวมาเนี่ย ไต้หวันซื้ออาวุธอเมริกาไปเท่าไหร่แล้ว?


“ถ้าคุณไม่รู้ผมบอกให้ก็ได้ คุณรู้ไหมว่า นับตั้งแต่ นางไช่ อิงเหวิน แกนนำพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (หมินจิ้นตั่ง) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7 ปีกว่าแล้ว


“ทุกปีไต้หวันนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ตีเป็นเงินหลายแสนล้านบาท โดยจากรายงานที่แจ้งสภาคองเกรสปี 2562 นั้นไต้หวันนำเข้าอาวุธจากสหรัฐฯ มากเป็นประวัติการณ์เกือบ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 3 แสน เกือบ 4 แสนล้านบาท” นายสนธิกล่าว


ล่าสุดคือ ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งอนุมัติแผนสนับสนุนทางการทหารเพื่อช่วยไต้หวันรับมือภัยคุกคามจากจีน คิดเป็นงบประมาณมูลค่า 345 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 11,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณก้อนใหญ่ขนาดนี้เป็นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ตั้งแต่นายโจ ไบเดน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

โดยแพคเกจดังกล่าวของสหรัฐฯ ที่อนุมัติให้ไต้หวัน จะรวมถึงการป้องกัน การศึกษา และการฝึกอบรมสำหรับชาวไต้หวัน โดยสหรัฐฯ จะส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบพกพา (MANPADS) หน่วยข่าวกรองและหน่วยสอดแนม อาวุธปืนและมิสไซล์ ให้กับไต้หวันด้วย ทั้งนี้ สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ กดดันกระทรวงกลาโหมและทำเนียบขาวให้เร่งส่งอาวุธไปยังไต้หวัน เป้าหมายคือเพื่อช่วยต่อต้านจีนและยับยั้งจีนไม่ให้คิดโจมตี

ข้อมูลเหล่านี้ หาไม่ยากเลย แต่กลับไม่ถามเลย มีแต่คำถาม “ชง” ให้เข้าทางเขาหมด นี่คุณคือ สื่อสาธารณะของไทย หรือ พีอาร์ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของไต้หวัน ?

นอกจากนี้ ถามต่อว่า ถ้าในอนาคต ความสัมพันธ์อเมริกา - จีน ดีขึ้น “ไต้หวัน” จะอยู่ตรงไหน ของสมการนี้?

พรรรครัฐบาลไต้หวันเชิญนักข่าว,นักการเมืองต่างชาติไปเยือนเพียบก่อนเลือกตั้ง

ตั้งแต่นายอู๋ เจาเซี่ย รับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ไต้หวันถูกประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยตัดสัมพันธ์มากถึง 7 ประเทศ จนเหลือประเทศที่รับรองไต้หวันเพียงแค่ 13 ประเทศในโลกเท่านั้น

แม้แต่ชาวไต้หวันยังตั้งฉายาให้นายอู๋ ว่าเป็น “รัฐมนตรีกระทรวงตัดความสัมพันธ์” สถานะที่ยากลำบากเช่นนี้ ทำให้ไต้หวันจำเป็นต้อง“หาแสง”จากพื้นที่บนสื่อและประชาคมนานาชาติมากให้

ยิ่งเมื่อไต้หวันจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนมกราคมปีหน้า นายอู๋ เจาเซี่ย และนางไช่ อิงเหวิน ยิ่งต้องชูธงเอกราช เพื่อหวังผลทางการเมือง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ นางแนนซี เพโลซี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวัน เมื่อ เดือนสิงหาคม 2565 หลังจากนั้น ทางการไต้หวันได้เชิญบุคคลต่าง ๆ เช่น สมาชิกสภาและนักการเมืองของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนไต้หวัน คนเหล่านั้นได้รับการรับรองแบบ VVIP และไม่แน่ว่าไปเยือนไต้หวันเพราะว่าเป็น พันธมิตร จริง ๆ หรือว่าเพราะผลประโยชน์อื่นใด


ส่วน นายอู๋ เจาเซี่ย ก็ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติอย่างถี่ยิบ โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของทีมงาน Sondhi Talk พบว่า ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา นายอู๋ เจาเซี่ย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างชาติเกือบจะรายวัน วันเว้นวัน ยกตัวอย่างเช่น

วันที่ 1 พฤศจิกายน นายอู๋ เจาเซี่ย ให้สัมภาษณ์แก่ไทยพีบีเอส

วันที่ 31 ตุลาคม ให้สัมภาษณ์แก่รายการ Newshour ของ BBC World Service


วันที่ 24 ตุลาคม ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ Australian Financial Review

วันที่ 23 ตุลาคม ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ Hankook Ilbo และ The Korea Timesของเกาหลีใต้

วันที่ 19 ตุลาคม ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ของเยอรมนี

วันที่ 4 ตุลาคม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Agencia EFE ของสเปน

นี่เพียงแค่ระยะเวลา 2 เดือน คือ ตุลาคมและพฤศจิกายนเท่านั้น นายอู๋ เจาเซี่ย ได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างชาติมากมายถึงเพียงนี้ โดยเมื่อย้อนดูข้อมูลจะพบว่า ตลอดทั้งปีนี้ นายอู๋ เจาเซี่ย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติหลายสิบราย จนน่าสงสัยว่าผู้สื่อข่าวเหล่านี้“ได้รับเชิญ”หรือว่า“ขอไปเอง”


“สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป หรือก็คือ สถานทูตไต้หวันในหลายประเทศ ได้เคยทาบทามสื่อมวลชนหลายแห่งว่า อยากจะสัมภาษณ์รัฐมนตรีต่างประเทศ คือ นายอู๋ ไหม ทางหนังสือพิมพ์ และเว็บไซต์ผู้จัดการก็เคยได้รับการทาบทามหลายครั้ง?

แต่นักข่าว บก.ข่าวของผม รวมถึง สื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ตอบรับ เพราะตระหนักดีว่ามีความอ่อนไหวอย่างยิ่ง ต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
นายสนธิกล่าว

ที่จริงแล้ว การได้รับเชิญไปทำข่าวในต่างประเทศนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ เพราะว่าผู้สื่อข่าวมีสิทธิ์ที่จะรายงานจากมุมมองของตัวเอง แต่ว่าสถานะของไทยบีเอสมีความพิเศษเพราะว่าไทยพีบีเอสไม่ใช่สื่อเอกชน แต่ใช้เงินภาษีของประชาชนในการทำงาน เพื่อรับประกันว่าจะไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ไทยพีบีเอส จำเป็นต้องตอบคำถามกับประชาชนว่า การไปสัมภาษณ์นายอู๋ เจาเซี่ยครั้งนี้“ได้รับคำเชิญให้ไป”หรือว่า“ขอไปเอง” และใครเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและทำข่าว ?

จากยูเครนถึงไต้หวัน ข่าว ThaiPBS ไม่ใช่ข่าวมุมมองของคนไทย แต่ เดินตามก้นสื่อตะวันตก

ทีมงานรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ ได้ทำการตรวจย้อนหลังกับผลงานของไทยพีบีเอสทั้งข่าวภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่ทำในชื่อ Thaipbs World พบว่า กองบรรณาธิการของไทยพีบีเอสให้ความสนใจกับไต้หวันอย่างมากเป็นพิเศษ และทิศทางของข่าวก็เป็นไปในแนวทางว่า จะเกิดสงคราม, จีนจะบุกไต้หวันเพื่อรวมชาติ, ไต้หวันถูกกดดันในเวทีระหว่างประเทศ เป็นแนวทางที่สะท้อนภูมิรัฐศาสตร์ และเดินตามสื่อตะวันตก อย่างชัดเจนที่สุด


เหมือนกับรายงานข่าวเรื่องสงครามยูเครน ของไทยพีบีเอส ที่ตอกย้ำซ้ำทวนว่า “รัสเซียแพ้แน่ๆ” , “พันธมิตรนาโต้หนุนยูเครนให้จบสงครามในปีนี้”... จนถึงตอนนี้ผ่านมาปีกว่าแล้ว รัสเซียก็ยังไม่แพ้ ขณะที่ฝ่ายยูเครนสูญเสียย่อยยับ แต่สื่อตะวันตกไม่เคยรายงาน และไทยพีบีเอสก็ไม่รายงานเช่นเดียวกัน


ย้อนดูการรายงานข่าวผิดพลาดของ “ไทยพีบีเอส”

กองบรรณาธิการของไทยพีบีเอสมีแผนกที่เรียกว่า “ข่าวนโยบาย” คือ เปิดพื้นที่ให้กับข่าวที่สื่อมวลชนกระแสหลักไม่สนใจ เพราะว่าขายไม่ได้ ไม่มีเรตติ้ง เช่น ข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ชนกลุ่มน้อย และคนที่ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งนโยบายสาธารณะของภาครัฐ

แต่ว่าในช่วงที่การเมืองมีการแบ่งสี-แบ่งขั้ว ไทยพีบีเอสได้กลายเป็น “หนังหน้าไฟ” เผชิญการกล่าวหาจากทุกฝ่าย โดยในช่วงการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” ก็เคยยกพวกไปไปปิดล้อมสถานีไทยพีบีเอสมาแล้ว

นอกจากนี้ ไทยพีบีเอสยังมีประวัติเคยรายงานข่าวที่ผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง เช่น
  • เรื่อง เศรษฐีอินเดียหนีโควิดเข้าไทย
  • เรื่องประสิทธิภาพและผลกระทบวัคซีนโควิด-19
  • เรื่อง ปลากุเลาเค็มตากใบในการประชุมเอเปคเมื่อปลายปี 2565



ความผิดพลาดในเรื่องเหล่านี้ ทำให้ไทยพีบีเอสต้องออกแถลงการณ์ขอโทษ แต่ในกรณีการสัมภาษณ์รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ไทยพีบีเอสยังทำแค่ลบคลิป+ปิดข่าวเท่านั้น

หากไทยพีบีเอสมั่นใจในแนวทางของกองบรรณาธิการ ก็ควรจะชี้แจงเหตุผลว่า ลบเพราะอะไร เพราะมีข้อมูลผิดพลาด? เพราะถูก "ผู้ใหญ่" กดดัน? หรือเพราะโดนทัวร์ลง

ไทยพีบีเอสเป็นสื่อสาธารณะ เป็นสื่อที่รับเงินภาษีจากประชาชน ต้องยิ่งโปร่งใสและมีความเป็นวิชาชีพมากกว่าสื่อเอกชนด้วยซ้ำ “การลบข่าวเงียบๆ”แบบนี้ จะให้ประชาชนจะวางใจในความกล้าหาญในการรายงานข่าวที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ ได้อย่างไร?

งบประมาณและโครงสร้างการบริหารงานของไทยพีบีเอส

ไทยพีบีเอส หรือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานของรัฐ มีสถานะเป็นนิติบุคคลมหาชน จัดตั้งขึ้นในปี 2551 หลังจากการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยึดสัมปทานคืนจากไอทีวี และรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นำช่องสัญญาณมาจัดตั้งเป็น สถานีโทรทัศน์สาธารณะ


ไทยพีบีเอสต้องการมีสถานะเป็นเหมือนกับBBC ของอังกฤษหรือทางNHK ของญี่ปุ่นคือเป็นสื่อสาธารณะที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แต่มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน ไม่ต้องเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลเหมือนกับกรมประชาสัมพันธ์ หรือ ช่อง NBT

แต่ความแตกต่างก็คือ BBC และ NHK มีรายได้จากการบังคับเก็บค่ารับสัญญาณจากประชาชนที่มีโทรทัศน์ แต่ว่าไทยพีบีเอสมีรายได้หลัก มาจาก เงินจากภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุราและกฎหมายว่าด้วยยาสูบ ในอัตรา 1.5% สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 2,000 ล้านบาท โดยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีอำนาจปรับเพดานสูงสุดของเงินได้ทุก ๆ 3 ปี

นอกจากนี้ รายได้หรือการหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การ รวมทั้งดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์การ ยังไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ อีกด้วย
ในแผนบริหารกิจการประจำปี 2566 ของไทยพีบีเอส ระบุว่า มีรายได้รวม 2,839.72 ล้านบาท


ไทยพีบีเอสจึงเป็นเหมือน “เสือนอนกิน” เพราะมีการันตีรายได้แน่นอน อย่างน้อยปีละ 2,000 ล้านบาท และยังไม่รวมดอกผลจากทรัพย์สินที่สั่งสมมานานถึง 15 ปี

ในด้านการบริหารงาน ไทยพีบีเอส มี คณะกรรมการนโยบาย และคณะกรรมการบริหาร นอกจากนี้ยังมี คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนฯ และสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ด้วย

ถึงแม้ไทยพีบีเอสจะมีโครงสร้างที่ถูกออกแบบมาเพื่อรับประกันความเป็นอิสระในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมา ผู้บริหารของไทยพีบีเอส ล้วนมาจากคนใน “ตระกูล ส” โดยเฉพาะสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จนถูกเรียกว่าเป็น “สื่อกระบอกเสียงของ NGO”

ผู้บริหารขององค์กรตระกูล ส. รวมทั้งไทยพีบีเอส ถูกวิจารณ์ว่าผูกขาดอำนาจ เป็นคนกลุ่มเดียวเวียนไปมาระหว่างองค์กร


ผู้อำนวยการและประธานคณะกรรมการบริหารไทยบีพีเอสคนปัจจุบัน คือ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตอาจารย์ประจําคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ส่วน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ สามีของ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ดร.วิลาสินี พิพิธกุลเคยดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ในยุคของทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอส แต่ต่อมา ทันตแพทย์กฤษดา ต้องลาออกไป เพราะถูกวิจารณ์ว่านำเงินรายได้ของไทยพีบีเอสไปลงทุนให้หุ้น ซึ่งความจริงแล้วจากกรณีอื้อฉาวดังกล่าวดร.วิลาสินี ที่เป็นกรรมการอยู่ด้วย ก็ควรจะต้องแสดงความรับผิดชอบเช่นเดียวกัน

แต่ว่าในที่สุด “ตระกูล ส” ก็สามารถผลักดันให้ ดร.วิลาสินี เป็นทายาทบริหารไทยพีบีเอส ต่อไปได้

กรณีล่าสุดเรื่องสุมไฟความขัดแย้งระหว่างไต้หวัน-จีน ไม่ทราบว่า ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ในฐานะผู้อำนวยการไทยพีบีเอส มีความเห็นอย่างไร ? และในฐานะอาจารย์สอนวิชานิเทศศาสตร์ จะสอนเรื่องนี้กับนิสิตนักศึกษาอย่างไร ?


ขณะเดียวกัน รัฐสภาก็น่าจะมีการทบทวนว่า เงิน 2,000 ล้านบาทที่ให้กับไทยพีบีเอสเป็นประจำทุกปีมีความคุ้มค่าแค่ไหน ? เรตติ้งของสถานีเป็นอย่างไร ? และยังจำเป็นต้องมีไทยพีบีเอสอยู่หรือไม่?

ปัญหาทุกวันนี้คือ“ไทยพีบีเอส”บอกว่าตัวเองเป็นสื่อสารธารณะ แต่กลับไม่สามารถแยกตัวเองได้ชัดเจนจากความเป็น “สื่อของรัฐ”

คนไทยพีบีเอสซึ่งส่วนใหญ่ก็กระโดดมาจาก ITV เก่า หรือ เครือเนชั่นในยุคสุทธิชัย หยุ่น ซึ่งล่มสลายไปแล้วเพราะถูกเทคโอเวอร์ไปแล้ว ก็จะ จะอวดอ้างว่าตัวเองเป็นอิสระ มีเสรีภาพ

แต่ข่าวอย่างเช่น เรื่องการเมือง เรื่องคอรัปชั่น หลายเรื่องในประเทศไทย Thai PBS กลับไม่กล้าทำให้สุด ไม่กล้าเจาะลึก หรือเกาะติดให้สุดซอย เรียกได้ว่ายังห่างชั้นจากสื่ออย่าง “สถาบันอิศรา” มาก ทั้ง ๆ ที่มีงบประมาณแตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาล


“คน Thai PBS ทำได้อย่างมากก็เพียงแค่แอ๊กอาร์ต ขี่ม้าเลียบค่ายไปมา เพราะพวกคุณก็เพลย์เซฟ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพ แถมยังเล่นการเมืองภายในองค์กรกันอย่างรุนแรง อย่าคิดว่าผมไม่รู้

“โครงสร้างไทยพีบีเอส จะเป็นอิสระได้จริงก็ต่อเมื่อคุณไม่รับเงินรัฐบาล เพราะถ้าตราบใดยังรับเงินสนับสนุน ก็เปรียบเสมือนเป็นสื่อของรัฐบาลไทย เรื่องยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เรื่องข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ ไทยพีบีเอสก็ล่วงละเมิดไม่ได้ กรณีที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นบอร์ด หรือหัวหน้าข่าว คิดอะไรอยู่

“แล้วในโลกความเป็นจริงบีบีซี ต้นแบบที่คุณอ้างว่าเป็นต้นแบบสื่อสาธารณะของพวกคุณ BBC World Service ก็ยังตกอยู่ภายใต้อาณัติของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ เดินตามก้นนโยบายการต่างประเทศของอังกฤษ”


นายสนธิ กล่าวต่อว่า อยากให้ สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา ทบทวนการหักภาษีสรรพสามิตเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่นไปส่งเสริมพัฒนาความรู้เด็กรุ่นใหม่ดีกว่า ที่จะเอาไปปรนเปรอให้องค์กรอย่างไทยพีบีเอส ที่คนข้างในใช้เส้นใช้สาย ต่างได้เงินเดือนสูง อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ทันสมัย หลายอย่างราคาแพงหูฉี่ แล้วก็มาทำข่าว ทำเรื่องที่มากระทบกระเทือนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างนี้


"คนไทยพีบีเอสครับ ถ้าคุณแน่จริง ถ้าอยากมีอิสระจริง ๆ มีจุดยืนจริง ๆ อยากทำข่าวเชียร์ไต้หวัน เชียร์ยูเครน เชียร์พรรคก้าวไกล ก็ออกไปทำสื่อด้วยเงินของตัวเองครับ อยากทำอย่าใช้เงินหลวง อย่าใช้เงินภาษี มาสำเร็จความใคร่ตัวเอง" นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น