นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ผู้ได้รับรางวัลนักเรียนทุน สวก.ที่มีผลงานวิจัยด้านการเกษตรดีเด่น ประจำปี 2566 กล่าวว่า ผลงานวิจัยคือพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกต่างก็ใช้งานวิจัยเป็นหลักในการวางแผนสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมทุกอย่าง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนภารกิจด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ หรือการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ล้วนเกิดจากงานวิจัยที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาในเรื่องนั้นๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการพัฒนาภาคเกษตรไทย โดยการเป็นนักเรียนทุนของ สวก. ได้มากกว่าความรู้จากการได้ทุนไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ แต่ สวก.ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนหนึ่งมีโอกาสสร้างผลงานวิจัยที่นำมาขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเกษตรดิจิทัลของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เนื่องจากปัจจุบันเวทีประชุมนานาชาติต่างให้ความสนใจเรื่อง Digital Agriculture และ Smart Farming การปรับเปลี่ยนการใช้ดิจิทัลภาคเกษตร จะเป็นเครื่องมือช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องกับสถานการณ์โลกในยุคดิจิทัล
ฉะนั้นผลงานวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นงานวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อการสนับสนุนวางแผนการพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะเพื่อการพัฒนาด้านเกษตรดิจิทัล ขับเคลื่อนงาน big data ด้านการเกษตร ตามนโยบายการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย ตัวอย่างผลงานวิจัย การศึกษาระดับความรู้ความเข้าใจของเกษตรกรเกี่ยวกับดิจิทัลกับการขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตร มุ่งเน้นศึกษาพฤติกรรมของเกษตรกรว่ามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกษตรดิจิทัลอย่างไรบ้าง โดยประยุกต์ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ นำมาวิเคราะห์เจาะลึกในภาคเกษตร พบว่า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเกษตรกร มีการใช้งานคอมพิวเตอร์แค่ 2% ใช้โทรศัพท์มือถือ 96.8% แต่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเพียง 64.4% เนื่องจากข้อจำกัดของเกษตรกรบางส่วนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือไม่มีแหล่งสัญญาณอินเตอร์เน็ต ส่วนด้านทักษะดิจิทัล เกษตรกรคิดเป็น 35.6% ไม่มีทักษะด้านดิจิทัลเลย อีก 62.9% มีทักษะพื้นฐานในการใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปแต่ไม่ได้ใช้เกี่ยวกับการทำการเกษตร ที่เหลือเพียง 1.5% มีทักษะขั้นสูง คือกลุ่ม Smart Farmer, Young Smart Farmer และเกษตรกรอาสา สามารถใช้แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนให้เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรม
งานวิจัยทำให้ทราบถึงจุดบอดจุดแข็ง สามารถนำมาต่อยอดเป็นแผนพัฒนาดิจิทัลภาคเกษตรได้ โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเตอร์เน็ตในหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายๆ ที่บ้านผ่านโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาแอปพลิเคชั่นส่งเสริมความรู้เกษตรดิจิทัลผ่านเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นจุดศูนย์กลางถ่ายทอดความรู้ขยายผลให้เกษตรกรเครือข่ายในวงกว้างต่อไป ช่วยยกระดับทักษะความรู้ความเข้าใจเรื่องเกษตรดิจิทัล สามารถนำไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการขยายผลศึกษาวิจัยเรื่องเกษตรดิจิทัลในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญเหมือนกับเรา สำหรับนำมาปรับปรุงพัฒนาภาคเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น
“การผลักดันเรื่องเกษตรดิจิทัลต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่ใช่ว่าเกษตรกรทุกคนจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้เทคโนโลยี แต่ถ้าทำได้จะยกระดับภาคเกษตรไทยอย่างก้าวกระโดดและเท่าทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ต้องขอบคุณ สวก.ที่มอบทุนให้ไปศึกษาเล่าเรียนและมีความเชื่อมั่นในตัวเรา ทำให้มีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศ จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากเวทีนานาชาติเชิญให้ไปบรรยายเกี่ยวกับดิจิทัลภาคการเกษตรอยู่บ่อยครั้ง ได้แสดงศักยภาพด้านเกษตรดิจิทัลของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลกมากขึ้น ท้ายนี้อยากฝากถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้มีความมุ่งมั่นอดทนแม้ว่าจะมีคนวิจารณ์ผลงานของเราก็ต้องยอมรับให้ได้และเดินหน้าต่อไป เพราะผลงานวิจัยมันคุ้มค่ากับผลตอบรับที่เกิดขึ้น” รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย