ดวงหน้าของแม่พระธรณีราวกับมีชีวิต ดวงเนตรอันอ่อนโยน เรือนผมอันงามสวย และเปี่ยมจิตวิญญาณในทุกๆ องค์ประกอบ
‘ท้าวเวสสุวรรณ เหนือสยาม’ มิเพียงน่าเกรงขาม หากยังผ่องผายพร่างพราวด้วยประกายรัศมีก็มิปาน
‘ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น บรมทรัพย์’ นั้นเล่า ให้ความรู้สึกทรงพลัง ทรงพลานุภาพ หนักแน่น และเปี่ยมความศักดิ์สิทธิ์ในแรงศรัทธา
แม้แต่ผลงานชิ้นแรก ‘ศิลป์ชัยขี่สังข์’ ก็ราวกับเคลื่อนไหวไปบนพริ้วน้ำอันเลื่อมพราย
ทุกเนื้องานของเขา เมื่อผู้ใดได้พบเห็น ล้วนเอ่ยปาก หรือสะท้อนความเห็นไม่ต่างกัน…
’ราวเทพสรรค์สร้างฤๅมิใช่’
…ไม่น่าแปลกใจ ที่วันนี้ ชื่อของเขา ‘จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล’ จะได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปินพุทธศิลป์ไทยประยุกต์ที่ได้รับเสียงชื่นชมในระดับโลก
สมคุณค่ากับที่เขาพร้อมทุ่มเทสร้างผลงาน…ด้วยชีวิต
ลาออกจากงานอาจารย์มหาวิทยาลัย เพื่อทุ่มเทเวลานานนับปี สร้างพระพุทธชัยมงคลพัฒน์บารมีเจริญลาภชนะมาร
หรือ ‘พระชัยมงคล’ ให้งามวิจิตรตระการตา
“เราแค่อยากจะสร้างงานที่ดีที่สุดในชีวิต…ผมใส่ทั้งชีวิตของผมเข้าไปในงานนั้นหมดแล้ว”
….อาจเพราะเหตุนั้น ทุกเนื้องานของเขา จึงเปี่ยมชีวิต จิตวิญญาณเฉพาะตัว
จึงไม่เหนือความคาดหมาย เมื่อผลงาน "Chaimongkol" หรือ “พระพุทธชัยมงคลพัฒน์บารมีเจริญลาภชนะมาร” ที่ศิลปินผู้นี้สร้างสรรค์เมื่อปี 2022 ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร 3d world magazine ฉบับที่ 291
ปีเดียวกัน ได้รับรางวัล Staff pick for 2nd August 2022 จากเว็บ 3dtotal
และ ปีนี้ 2023 ล่าสุดได้รับรางวัล “Excellent works” จากASIAGRAPH 2023 ที่จะจัดแสดงผลงานที่ประเทศใต้หวัน
สมค่าแห่งความทุ่มเท
ผลงาน "หนุมานชาญสมร" ได้รางวัล Top Row จาก zbrushcentral เว็บไซต์ CG อันดับ 1ของ โลก
เช่นเดียวกับผลงาน "ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น บรมทรัพย์" ได้รางวัล Top Row จาก zbrushcentral เว็บไซต์ CG อันดับ 1ของ โลกไม่ต่างกัน
ยังมีผลงานออกแบบถ้วยรางวัล DOTA2 รายการ Bali Major 2023 จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้รับการยอมรับว่าสวยงามเปี่ยมเอกลักษณ์และสวยงามอย่างยิ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีผลงานสร้างชื่ออื่นๆ ไม่ว่ากุเวรน้อย ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เอาชนะโควิด19
เป็นท้าวเวสสุวรรณ เหยียบยักษ์ร้ายและโรคภัย
หลวงพ่อโสธร รุ่น "เจ้าสัวแปดริ้ว"
"พระอุปคุตอุดมทรัพย์"
"พุทธโพธิญาณ"
ผลงาน "ชุดพุทธประวัติ" ที่งดงามในทุกมุมมอง
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล’ ศิลปินพุทธศิลป์ไทยประยุกต์ ที่ผลงานของเขา สร้างชื่อเสียงอย่างน่าชื่นชมในระดับสากล
เอกลักษณ์ อัตลักษณ์อันวิจิตรในผลงาน กระบวนการสร้างงาน แรงบันดาลใจ การฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค
การตัดสินใจทุ่มทั้งชีวิตเพื่อการเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว
หลากหลายประสบการณ์แห่งแรงบันดาลใจและแง่คิดอันคมคาย
ล้วนควรค่าแก่การรับฟัง
ความรักในศิลปะนับแต่เยาว์วัย
เริ่มต้นบทสนทนา ขอให้อาจารย์จีรวุฒิเล่าย้อนให้ฟังถึงแรงบันดาลใจนับแต่แรกเริ่ม ว่าอะไรทำให้คุณสนใจศิลปะ งานปั้น งานประติมากรรมแนวพุทธศิลป์ และก้าวสู่หนทางของการเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว
อาจารย์จีรวุฒิตอบว่า “อย่างแรกเลย ตัวผมเองตั้งแต่เด็กๆ เลยนั้น ผมชอบและสนใจศิลปะมาก จำความได้ก็เริ่มวาดรูปแล้ว ชอบเกี่ยวกับศิลปะตั้งแต่เด็ก วิชาศิลปะจะเป็นวิชาที่ผมชอบตั้งแต่เด็กเลย และอีกนิสัยที่ผมเป็นมาตั้งแต่เด็กเลยคือผมชอบการประกวด
“การประกวดทุกรายการที่จัดขึ้นที่โรงเรียน ผมจะส่งประกวดเสมอ ชอบศิลปะและการแข่งขันอยู่เสมอ แล้วก็มีความชื่นชอบศิลปะไทย ในช่วง ม.ต้น และ ม.ปลาย จะมีวิชาศิลปะไทย
แล้วในช่วง ม.ต้น จะได้ไปแข่งในภาคอิสาน เพราะผมอยู่ที่โคราชหรือจังหวัดนครราชสีมา เวลาไปแข่ง ผมจะได้แข่งศิลปะไทยอยู่แล้วครับ ไม่แข่งภาพไทยก็ลายไทยครับ
“ดังนั้น ผมจะมีความชื่นชอบในศิลปะไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะว่าบ้านผมอยู่ใกล้วัด แล้วก็วัฒนธรรมไทยเรา เวลาที่เราจะไปไหนมาไหน เราจะไปวัดใช่ไหมครับ แล้วก็มีวัดเป็นที่พึ่งทางใจอยู่แล้ว อีกทั้งผมเป็นคนที่ชื่นชอบเรื่องราวของพุทธประวัติมาก แล้วก็ชื่นชอบเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังตามผนังวัด ผมก็ซึมซับมา แล้วก็นำมาใช้ เมื่อโตขึ้นมาก็ชอบลายไทย ในขณะนั้น ก็ชอบงานศิลปะอื่นๆ ด้วยครับ เป็นคนที่ชื่นชอบศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ์ตูนด้วย ก็เลยนำมาใช้กับผลงานครับผม” อาจารย์จีรวุฒิบอกเล่ารายละเอียดได้อย่างเห็นภาพความเป็นมาของจุดเริ่มต้น แรงบันดาลใจ ชื่นชอบงานศิลปะที่เริ่มขึ้นนับแต่วัยเด็ก และกล่าวเพิ่มเติมถึงศิลปะงานปั้นพุทธศิลป์ และการก้าวเป็นศิลปินเต็มตัวว่า เริ่มมาจากเมื่อเรียน ม.ปลาย แม้ไม่ได้ส่งประกวดงานศิลปะไทยแล้ว เพราะไม่มีรายการแข่งขัน แต่ยังมีวิชาที่เรียนอยู่ ก็เรียนเรื่อยมา
เปิดกว้างสู่โลกดิจิตอล
จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัย แต่การเรียนในมหาวิทยาลัย ก็ทำให้ห่างหายจากการวาดรูป
เนื่องจาก อาจารย์จีรวุฒิในวัยนั้น เลือกเรียนคณะศิลปกรรม สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ส่งผลให้ความสนใจของอาจารย์เริ่มเบนไปทางดิจิตอลมากขึ้น คือชอบการวาดในคอมพิวเตอร์ โดยช่วงนั้นได้รับอิทธิพลจากเรื่อง Toy Story ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ จึงเริ่มมีความสนใจ รวมถึงความสนใจในเกม และ Anime ของญี่ปุ่น ที่มีภาพ CG (computer graphics) ที่สวยงาม
กระนั้น อาจารย์ก็ยังคงชอบศิลปะดังเดิม โดยนำมาประยุกต์ใช้กับงานของนิเทศศิลป์ และพัฒนาเรื่อยมา จนกระทั่งเรียนจบ ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ทาบทามให้เป็นอาจารย์พิเศษ จึงเป็นอาจารย์สอนเรื่อยมา
มีบางโอกาสก็ได้ย้ายจากการสอนในมหาวิทยาลัยโดยย้ายไปสอนโรงเรียนแบบปกติ เช่น ไป สอนอยู่อาชีวะศึกษาประมาณ 1 ปี โดยสอนคอมพิวเตอร์กราฟฟิก (computer graphics) แล้วก็ถูกทาบทามให้มาสอนที่มหาลัยขอนแก่นอีกครั้งหนึ่ง ในสาขาที่จบมา ก็คือนิเทศศิลป์นั่นเอง
อาจารย์รับหน้าที่สอน ให้ความรู้แก่ศิษย์เรื่อยมา กระทั่ง…
“มีอยู่วันนึงที่รู้สึกว่าเราย่ำอยู่กับที่ Skill หรือฝีมือเราเองก็ไม่ได้ต่างไปจากเมื่อสิบปีที่แล้วที่เพิ่งจบมา ก็อยากพัฒนาฝีมือตัวเอง อยากจะสร้างฝันของตัวเองให้เกิดขึ้นมา นั่นก็คือ ‘การปั้น’
“ผมก็อยากรู้ว่า คำว่าศิลปะไทยจะมาเข้ากับงานปั้นได้ยังไง
แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองอยากพัฒนาก่อนในช่วงแรกเริ่ม จนกระทั่งหาข้อมูลว่าทำอย่างนี้แล้ว มันสามารถที่จะเป็นประติมากรรมได้นะ เป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝันมาตลอด ก็คือ งานปั้น ที่ผมอยากจะทำงานปั้นให้ออกมาสู่ความเป็นจริงได้ เมื่อมีเทคโนโลยีตรงนี้มาซัพพอร์ตเราอย่างพอเหมาะพอดี ก็เลยตัดสินใจที่จะลาออกจากการเป็นอาจารย์เพื่อมาทำตามความฝันตัวเองให้เต็มที่ครับผม” อาจารย์จีรวุฒิระบุ
ถามว่า คำที่คุณบอกว่า ‘ปั้นในคอมพิวเตอร์’ หมายความว่าอย่างไรช่วยอธิบายให้ฟังได้ไหม
อาจารย์ผู้เป็นทั้งศิลปินประติมากรรมพุทธศิลป์ตอบว่า
“คือ โปรแกรมในคอมพิวเตอร์ จะมีที่เรียกว่าโปรแกรม 3D หรือว่า ‘สามมิติ’ ภาษาอังกฤษก็คือ ‘3 Dimension’ โดยปกติแล้ว การวาดรูปของเรา มันจะเป็นสองมิติ คือกว้างกับยาว แต่ว่าถ้าปั้นในคอมพิวเตอร์ มันจะมีความลึกด้วย เป็น ‘3 Dimension’
“เมื่อเราปั้นในคอมพิวเตอร์ มันก็จะมี เทคโนโลยี 3D Printing (เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ) เราก็สามารถที่จะ Print ออกมา เพราะเมื่อมันมีด้านกว้าง ด้านยาว ด้านลึกแล้ว มันก็สามารถที่จะ Print ออกมาได้ครับ
โดยสิ่งที่ Print ออกมาก็นับเป็นต้นแบบเลยครับ” ศิลปินพุทธศิลป์ไทยประยุกต์รายนี้ระบุ
‘ศิลป์ชัยขี่สังข์’
ถามว่า ผลงานชิ้นแรกๆ หรือคอลเลกชั่นแรกๆ ของคุณที่ประสบความสำเร็จทำให้คนจดจำ คืองานชิ้นใด
อาจารย์และศิลปินผู้นี้ตอบว่า “ขอเล่าย้อนไปอีกนิดนึง ตอนที่ยังเป็นอาจารย์ก็แล้วกันนะครับ
ตอนที่เป็นอาจารย์ ในระหว่างนั้น ผมก็พยายามพัฒนาฝีมือตัวเอง พัฒนาผลงานปั้นขึ้นมา เป็นผลงานปั้นชิ้นนึง ชื่อผลงาน ‘พระรามขี่สังข์’ ผมได้ศึกษา ตอนเรียนปริญญาโทนะครับ ตอนที่เรียนปริญญาโทในระหว่างที่เป็นอาจารย์อยู่นั้น ก็ได้ศึกษาวัฒนธรรมของสองฝั่งโขง
“ผมก็ได้ศึกษาวรรณกรรม ชื่อ ‘ศิลป์ชัย’ ถ้าเรียกแบบประยุกต์ พูดง่ายๆ ก็คือ ‘พระราม’ ที่ได้รับการแปลเป็นวรรณกรรมฝั่งลาว คือเขาจะมีจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ผมก็นำแนวคิดนี้มาพัฒนาเป็นงานพุทธศิลป์ เรียกว่าเป็น ‘ศิลป์ชัยขี่สังข์’ แต่ว่าจริงๆ ก็คือพระรามขี่สังค์นั่นแหละ
แต่ว่าเรื่องราวที่ผมศึกษามาก็จะเป็นศิลป์ชัยอีกแบบนึง ศิลป์ชัยก็จะเป็นอวตารของพระรามครับ นั่นก็คือ ผลงานแรกๆ ที่ผมสร้างเป็น Portfolio ที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้มีคนมาสนใจครับในช่วงแรกเริ่ม”
ผลงานสร้างชื่อ ‘พระชัยมงคล’ หรือ “พระพุทธชัยมงคลพัฒน์บารมีเจริญลาภชนะมาร”
อาจารย์จีรวุฒิกล่าวว่า “แต่ผลงานชิ้นแรกๆ ที่ประทับใจ ประสบความสำเร็จ และทำให้คนจดจำก็จะเป็น พระชัยมงคล หรือ “พระพุทธชัยมงคลพัฒน์บารมีเจริญลาภชนะมาร” ที่ได้รับรางวัล ต่างๆ มา ก็จะเป็นชิ้นนี้ครับ เหตุผลที่ประทับใจ ไม่ใช่เพราะความสวยงาม แต่เป็นชิ้นแรกเลยก็ได้ ที่ผมเปิดตัวในฐานะศิลปินจริงๆ
“เป็นศิลปินพุทธศิลป์จริงๆ จากตอนแรกเป็นผลงานที่เป็น Portfolio ใช่ไหมครับ แต่มีงานนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นศิลปินจริงๆ และได้ผลิตเป็นโลหะจริง ก็คิดว่าน่าจะเป็นผลงานที่เปิดตัวแล้วประสบความสำเร็จเลย แล้วก็ที่เรียกว่าคนจดจำ เพราะงานนี้ยากที่สุดเลย เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ผมต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเลยครับ เพราะว่าด้วยความยากของงาน เราประเมินแล้วว่า ถ้าเรายังเดินไม่ชัดเจน หมายถึงว่าถ้าเราจะทำสองอย่างพร้อมกัน มันไม่มีทางที่มันจะดีได้แน่เลย ในความคิดผมตอนนั้นนะครับ ก็เลยต้องเลือกทางใดทางนึง ซึ่งผมก็เลือกที่จะลาออกมา เพื่อสร้างผลงานนี้ให้ออกมาดีที่สุด
“ผมก็ตัดสินใจเด็ดขาดเลยที่จะเดินในทางเดียว และเดินในทางที่เราฝันมาโดยตลอด คือ อยากจะสร้างงานๆ นี้ อีกเหตุผลนึงคือ ความยากของงานนี้และระยะเวลา ความเพียรที่ใช้ในงานน่ะครับ เพราะว่าทุกวันที่สร้างงานนี้ จะตื่นตั้งแต่หกโมงเช้าจนเลิกงานประมาณห้าทุ่มถึงเที่ยงคืน เป็นแบบนี้ทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 1 ปี กว่าๆ ครับ จนกระทั่งงานนี้เสร็จครับ และเป็นผลงานที่เรียกว่าประทับใจ เพราะมันไม่น่าจะมี Moment แบบนั้นอีกแล้ว ที่ผมยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่องานนี้
“Moment ที่เรียกได้ว่าเราสามารถตายเพราะงานนี้ได้เลยครับ ในช่วงเวลานั้น” จีรวุฒิในวันที่ตัดสินใจลาพ้นสถานะอาจารย์ บอกเล่าได้อย่างสมศักดิ์ศรี สมคุณค่าความหมายของ ‘ศิลปิน’
เอกลักษณ์ สไตล์เฉพาะตัว
อดถามไม่ได้ว่า คุณคิดว่าอะไรคือเอกลักษณ์ สไตล์เฉพาะตัวที่พบได้ในผลงานของคุณ
ศิลปินพุทธศิลป์ไทยประยุกต์ผู้นี้กล่าวว่า
“ถ้าเป็นมุมมองผมตอนนี้ก็คิดว่า เป็น ‘อารมณ์ของงาน’ ครับ ชาวต่างชาติจะเรียกผมว่าเป็นผู้สร้างประยุกต์ศิลป์ หรือว่าลายไทยประยุกต์ อันนี้เป็นชาวต่างชาติที่ให้นิยามงานของผมว่าเป็นลายไทย เป็นประยุกต์ศิลป์ของไทยแลนด์ครับผม ตอนที่ได้รางวัลมานะครับ เขาประกาศงานผมแบบนี้ครับ
“ส่วนตัวผม ผมทำงานนี้ นักเขียนหรือนักปั้นแต่ละคน เขาจะมีเอกลักษณ์ของตัวเองใช่ไหมครับ อันนี้ผมก็พูดได้ไม่ค่อยเต็มปาก เพราะต้องเป็นผู้เสพงานที่เขาเป็นคนพูดกับผมว่างานของผมเป็นอย่างนี้ๆ แต่ถ้าจะให้พูดก็คือว่า ผมก็ไม่แน่ใจว่าสไตล์เป็นยังไง แต่ในทุกๆ งาน ผมก็คิดว่า ทำให้มันสุดฝีมือ สุดพลังในการสร้างงานๆ นึงขึ้นมาครับ คือว่าผมก็ตอบได้ไม่ค่อยมั่นใจสักเท่าไหร่ ว่างานที่ผมทำเป็นสไตล์ไหน แต่พูดได้เต็มปาก ว่าในทุกๆ งานคือทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับผม ในการสร้างแต่ละผลงานครับ พูดได้เต็มปากว่าผมทุ่มเทกับทุกๆ ผลงานที่สร้างออกมาครับ” ศิลปินผู้นี้ระบุอย่างหนักแน่นชัดเจน
ราว ‘เทพสรรค์สร้าง’
ถามว่า เคยมีใครบอกคุณไหมว่างานของคุณ เหมือน ‘เทพสร้าง’ ก็มิปาน ด้วยแต่ละผลงานล้วนราวกับมีชีวิต
อาจารย์จีรวุฒิศิลปินพุทธศิลป์ตอบว่า “หลายๆ คอมเมนต์ ก็พูดแบบนี้ครับ ผมก็ขอบคุณทุกคนที่คอมเมนต์แบบนั้นนะครับ”
ประเด็นต่อไป ขอให้ช่วยเล่าถึงกระบวนการทำงานนับแต่แรกเริ่มกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ว่ามีขั้นตอนใดบ้าง ยากเพียงใด
ศิลปินพุทธศิลป์ไทยประยุกต์ผู้นี้อธิบายว่า
“ครับผม ในตอนแรกเริ่มเลย ในกระบวนการที่ 1 เราต้องมีข้อมูลก่อน ข้อมูลก็คือความรู้นี่แหละ ที่เราจะสร้างขึ้นมา ว่าคืออะไร
เช่น ‘พระชัยมงคลฯ’ ของผม ที่ผมเกริ่นไว้ตั้งแต่แรก ที่ผมเลือกแบบนี้ เพราะว่าผมชอบเรื่องราวพุทธประวัติ ‘พระชัยมงคลฯ’ ก็จะมีเรื่องราวคือ เป็นช่วงนาทีก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ แล้วก็จะมีพระแม่ธรณีออกมา มีพญามารมาผจญ มากวนพระพุทธเจ้า มีสิงสาราสัตว์ มีพญานาค มีนาคปรก ออกมาอย่างนี้ครับ แล้วก็มีเสริมด้วยราหู และด้านหลังเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ ก็จะมีสิ่งมงคลต่างๆ ในผลงานที่เห็นครบ เพราะเราก็อยากจะสร้างผลงานที่เป็นที่จดจำ และสร้างให้ผู้ที่บูชาไป หรือว่าผู้ศรัทธา ได้สิ่งที่ดีที่สุดไป ทั้งเรื่องของการทำงานและเรื่องของความมงคลที่ได้ผลงานชิ้นนี้ไป”
กระบวนการสร้างงาน
ศิลปินผู้นี้กล่าวว่า “ในเรื่องของกระบวนการ ข้อมูลในที่นี้ก็คือ ผมจะศึกษาก่อน ว่าข้อมูลของงานนี้เป็นยังไง อารมณ์ที่จะใช้ในผลงานชิ้นนี้จะเป็นอารมณ์แบบไหน หรือลายไทยที่จะใช้ในผลงานชิ้นนี้ ที่จะออกมาจริงจะใช้ในผลงานแบบไหน
“แรกเริ่มผมก็จะทำการทัศนศึกษาก่อน ก็คือ เหมือนเราเรียนแล้วก็ไปศึกษา Case study ของผมก็คือ จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ เป็นจิตรกรรมบ้าง หรือเป็นลวดลายที่มีการแกะสลักในวัดบ้าง
ผมอยู่ที่ จ.ขอนแก่นใช่ไหมครับตอนนี้ ผมก็จะไปที่วัดหนองแวงเก้าชั้น ( หมายเหตุ : พระมหาธาตุแก่นนคร วัดพระธาตุ 9 ชั้น ) ซึ่งจะมีพวกลวดลายแกะสลัก ผมก็ศึกษาลวดลายเหล่านั้น ถ่ายรูปมา ส่วนนึงผมก็เป็นนักวิจัย ก็จะวิจัยเรื่องของลวดลาย แล้วก็นำมาใช้กับผลงานชิ้นนี้ครับ
“จากนั้น ก็เป็นการปั้น ผมจะใช้โปรแกรม ZBrush ( โปรแกรมออกแบบงานโมเดลปั้น 3D ) ในการปั้น เพราะว่าจะให้อารมณ์งานคล้ายๆ กับการปั้นมือ เพราะว่ามันเป็นการปั้นรูปแบบสามมิติเหมือนการปั้นมือเลยครับ
“แล้วเมื่อทำการปั้นเสร็จ มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ปั้นไป แล้วก็ใช้เวลากว่า 1 ปี ก็จะใช้เวลาพูดคุยกับโรงหล่อเรื่อยๆ ครับ
“สิ่งนึงที่ยากคือ การที่เราปั้นในคอมพิวเตอร์ เราไม่ได้สัมผัสเนื้อจริงๆ ใช่ไหมครับ สิ่งที่เราต้องคำนึงก็คือว่า เราจะสามารถหล่อออกมาจริง เป็นของจริงได้ยังไง นี่คือความยากในตอนนั้น ก็เลยต้องศึกษากับโรงหล่อไปในตัว ว่ามันต้องมีความหนาเท่าไหร่ จากนั้น พอเสร็จจากแบบ เราก็ตัดชิ้นส่วนออกเป็นส่วนต่างๆ
“อย่าง ‘พระชัยมงคลฯ’ มีส่วนประกอบ 42 ชิ้น ก็เป็นอีก 1 ข้อ ที่ทำให้ผลงานนี้ใช้เวลาถึง 1 ปี เลย กว่าจะออกสู่ผู้จับจอง ใช้เวลานานมาก เพราะเป็นชิ้นที่ยาก ก็จะนำแบบ 3D ที่เราทำเสร็จ ไป PRINT ด้วยเทคโนโลยี 3D Printing ก็จะ PRINT ด้วยเนื้อเรซิ่นครับ
“PRINT ออกมาแล้ว ก็เอาไปทำแม่พิมพ์ เพื่อที่จะหล่อเป็นโลหะขึ้นมาครับ
หล่อเป็นโลหะขึ้นมาแล้วก็จะทำกระบวนการเพื่อเก็บผิวให้เรียบร้อย
แล้วก็เอาไปประกอบเชื่อมให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะทำการลงสีตามเนื้อต่างๆ
โลหะที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อบรอนซ์ สำริด
เหล่านี้ ก็คือกระบวนการต่างๆ ครับ”
“ผมอยู่ขอนแก่น แต่ข้อดีคือ ทุกวันนี้ทำงานออนไลน์ได้ เวลาที่จะพูดคุยงานอะไรแบบนี้ เราก็โทรคุยกัน ส่งผลงานออนไลน์ แล้วโรงหล่อก็ PRINT แล้วผมก็จะเดินทางไปที่โรงหล่อที่โคราชครับ
ชื่อ ‘โรงหล่อระลึก’ ก็ต้องขอบคุณโรงหล่อมากๆ ครับ ที่ร่วมเคียงข้างกันมาด้วยกัน
เป็นโรงหล่อที่เชื่อใจกันมาก ร่วมฝ่าฟันด้วยกันมา เป็นโรงหล่อที่ทำผลงานให้ผมเกือบทุกชิ้นครับ”
อาจารย์จีรวุฒิ ศิลปินพุทธศิลป์ไทยประยุกต์บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ
ถามว่า ช่วงที่คุณสร้างพระชัยมงคลฯ กับรอยต่อที่ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงปี อะไร อาจารย์จีรวุฒิตอบว่าเป็นช่วงปี 2564 ทั้งให้แง่คิดที่น่าสนใจแก่ผู้ที่อยากลาออกจากงานเพื่อทำตามความฝัน
“ผมมองว่าเป็นเรื่องของการวางแผนมากกว่าครับ หากมีใครมาถามว่า ไม่ชอบงานประจำ ทำอย่างผม ได้ไหม ผมก็ไม่แนะนำ คือสิ่งที่ผมทำ เพราะผมวางแผนมาก่อนหน้า ว่าถ้าผมทำตามแผนที่ผมวางไว้ก็คือสร้างงานขึ้นมา มีการซัพพอร์ต มีการวางแผนการเงิน ไม่ใช่ว่าถ้ามีปัญหาทางการเงิน แล้วออกมา มันก็จะทำให้เราเครียด พูดง่ายๆ ว่า วางแผนทางการเงินก่อน แล้วก็เด็ดขาดได้เลย ลาออกมาทำเต็มตัว วางแผนให้ดีก่อนแล้วกันครับ ผมวางแผนมาดีแล้ว ผมถึงกล้าลาออก เท่านั้นเองครับ”
ถามว่า มีเสียงเล่าขานกันว่า ศิลปินไทยหรือสกุลช่างในอดีตในครั้งโบราณกาลเมื่อสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ มักถือศีล ทำสมาธิ คุณต้องทำถึงขั้นนั้นหรือไม่
ศิลปินผู้นี้ตอบว่า “อืม… ก็มีคนบอกว่าผมเป็นอย่างนั้นนะครับ แต่ผมเองไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างนั้นไหม แต่ตอนที่สร้าง ถ้าไม่มีสมาธิก็ทำไม่ได้ ถ้าถามว่าถือศีลไหม มันเป็นโดยอัตโนมัติในการทำงานอยู่แล้วนะครับ ในความคิดผม ว่าการที่จะสร้างงานขนาดนี้ หรือการสร้างงานที่ยาก เราก็จะต้องมีความอดทน ผมไม่รู้ว่าถือศีลไหม แต่เราต้องมีความอดทนกับงานนี้มากๆ แล้วก็ต้องมีวินัยในการทำงานอย่างสูง
“อย่างที่ผมเล่าว่า ผมทำงานตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเที่ยงคืน วนลูปอยู่อย่างนี้ตลอดปี ในระหว่างทำ เราจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ ก็จะเกิดสมาธิในการทำงานขึ้นมา”
เมื่อพระชัยมงคลฯ ได้รับการยอมรับระดับสากล
ขอให้ช่วยเล่าถึงผลงาน "Chaimongkol" ของอาจารย์ที่ได้รับรางวัล “Excellent works” จากงาน ASIAGRAPH 2023 ที่จะจัดแสดงผลงานที่ประเทศใต้หวัน ว่าที่มาที่ไปเป็นอย่างไร
อาจารย์จีรวุฒิตอบว่า “อย่างแรกเลย พระชัยมงคลฯ ไม่ได้คว้าแค่รางวัลของ ASIAGRAPH แรกเริ่มเลยนั้น พอทำเสร็จแล้วผมก็โพสต์กระบวนการทำ โรงหล่อก็โพสต์ด้วย ในสื่อโซเชียลต่างๆ ในเพจ Jeerawut 3D art ก็มีการกดไลค์กว่า 2-3 หมื่น รวมแล้ว น่าจะมีการกดไลค์ผลงานนี้ในโซเชียล เป็นแสน”
ผลงาน "Chaimongkol" หรือ “พระพุทธชัยมงคลพัฒน์บารมีเจริญลาภชนะมาร” ได้รับรางวัลดังนี้
ปี 2022 ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร 3d world magazine ฉบับที่ 291
ปี 2022 ได้รับรางวัล Staff pick for 2nd August 2022 จากเว็บ 3dtotal
อาจารย์ผู้เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน กล่าวว่า “ผมดีใจที่เป็นศิลปะไทย ที่ได้รับการตีพิมพ์ในระดับสากล อันนี้เป็นเรื่องที่ผมดีใจมากๆ ครับ
“ที่ส่งประกวดที่ ASIAGRAPH ผมส่งไปสามผลงาน ที่ได้รับรางวัลระดับโลกทั้งนั้น ที่ส่งไป เพราะคิดว่าน่าจะมีโอกาสมากกว่างานอื่น ตอนนี้ผมมีอยู่ประมาณ 8 งาน ที่ผ่านมา 2 ปี ก็เลยคัดเลือกผลงานที่ได้รับการยอมรับจากสากล
ก็มี ‘หนุมานชาญสมร’ ที่ได้รางวัล Top Row จาก zbrushcentral เว็บไซต์ CG อันดับ 1ของ โลกครับ
และผลงาน "ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น บรมทรัพย์" ผลงานที่ได้รางวัล Top Row จาก zbrushcentral เว็บไซต์ CG อันดับ 1ของโลกเช่นเดียวกันครับ
มีสามผลงานนี้ครับ รวมพระชัยมงคลฯที่ส่งไป ผลงานที่โดนคัดเลือกและได้ Excellent works ก็คือ พระชัยมงคลฯ ครับ ก็ดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ครับ จุดเริ่มต้น ก็ตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนที่ชอบแข่งขัน มีรายการอะไรผมก็ชอบแข่งขันหมดและไม่ได้กลัวความพ่ายแพ้ครับ
ที่ใช้คำนี้เพราะก่อนหน้านี้ ผมแพ้มาตลอดเลยครับ ผมเพิ่งมาได้รับรางวัล ปี 2 ปีนี้
และปีนี้ 2023 ล่าสุดได้รับรางวัล “Excellent works” จากASIAGRAPH 2023 ที่จะจัดแสดงผลงานที่ประเทศใต้หวันช่วงปีหน้า"
ยังมีอีกหนึ่งผลงานที่น่าชื่นชม นั่นคือการออกแบบถ้วยรางวัล eSport ระดับโลก อาจารย์จีรวุฒิเล่าถึงกรณีดังกล่าวด้วยความอิ่มเอมใจว่า
“ถ้วยรางวัล eSport นี่เป็นของผลงานถ้วยรางวัล DOTA2 รายการ Bali Major 2023 จัดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย ครับ
คือต้องเล่าก่อนว่า แรกเริ่มเลยนั้น ผมเป็นแฟนเกมนี้เลย ติดตามตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว ชื่นชอบมาก คือ DOTA2นั้น ผมชื่นชอบ เป็นที่นิยมมาก ในวัยของพวกผมในช่วงเวลานั้น แล้วเราทำงานด้านนี้ เราก็มีความใฝ่ฝันว่าเราอยากที่จะร่วมงานกับเขาในสักวันนึง เพราะเขาเป็นทีมงานระดับโลก
“อยู่มาวันนึง คือ อาจเกี่ยวข้องกับพระชัยมคลอยู่ด้วยเหมือนกันครับ จากการที่งานของผมชนะรางวัลต่างๆ แล้วก็ได้รับการชื่นชมจากโลกโซเชียล แล้วเมื่อผมโพสต์ผลงานผ่านเพจผม ก็มีทีมงานของ DOTA2 มาติดต่อผ่านเพจผม อาจเป็นสาเหตุจากการกระจายชื่อเสียงของพระชัยมงคล การติดต่อนั้น ก็ดำเนินเรื่อยมา
“แต่ในการร่วมงานตอนนั้นก็ดีใจมากๆ เพราะเราใฝ่ฝันอยู่แล้วที่อยากร่วมงานกับเขา เป็นมงคลกับชีวิตมาก
ในกระบวนการทำ ผมก็ใช้เวลาศึกษานานมากเลย เพราะเป็นการแข่งขันที่บาหลี เป็น Bali Major Cup ที่อินโดนีเซีย สิ่งที่เขาเขียนมาก็คือ มีศาสนสถานอยู่ด้านบน ที่สื่อถึงอินโดนีเซียหรือบาหลี สิ่งที่ต้องมีก็คือลวดลายต่างๆ ที่เกี่ยวกับอินโดนีเซียหรือบาหลี มองปุ๊บต้องรู้ว่าบาหลี อย่างที่สามคือ ต้องมีโลโก้เขา อันนี้ง่ายที่สุด
“คำถาม หรือความยากคือ จะเป็น Elements หรือลวดลาย ส่วนศาสนสถาน เขากำหนดมาอยู่แล้วว่าเป็นเจดีย์เก้าชั้นของเค้า ที่จะอยู่ในโลโก้เค้า
แต่ความยากคือ Elements เมื่อมีศาสนสถาน ก็มีเรื่องความเชื่อเข้ามา ก็ต้องศึกษาลวดลายว่า เราจะสามารถใช้ลวดลายไหนได้บ้างที่เมื่อเป็นสากลแล้ว เราจะโดนว่า โดนติน้อยที่สุด
“ผมก็เลยใช้เวลารีเสิร์ชข้อมูลประมาณ 3 เดือน เพราะว่าถ้ามันพลาดขึ้นมา มันแก้ไขอะไรไม่ได้ เช่น ตำแหน่งของครุฑ ถ้าผมไม่รู้ ผมนำไปไว้ด้านล่าง แบบนี้ก็มีปัญหา
“เราก็ต้องเชิดชูเขา ก็เลยเอาไว้อยู่ตรงกลางระหว่างศาสนสถาน เป็นจุดเด่น ประมาณนั้น ก็เลยศึกษาลวดลายเหล่านี้มาใช้ ตามจริงจะมีหัวพญานาคที่ถ้วยรางวัล ที่หูจับ แต่ก็ต้องตัดออก เพราะดูเยอะไปหน่อย ก็เลยเหลือแค่ลำตัว แล้วก็แอบใส่ความเป็นไทยนะครับ ตรงเกล็ดของพญานาคครับ บางคนก็บอกว่า เห็นถ้วยนี้แล้วนึกถึงผม ก็ใช่ครับ เพราะผมออกแบบ ( หัวเราะ )” อาจารย์จีรวุฒิบอกเล่าถึงขั้นตอนการออกแบบผลงานถ้วยรางวัล DOTA2 รายการ Bali Major 2023 ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
ความสุขและการก้าวข้ามอุปสรรคในการสร้างสรรค์งาน
ถามว่าสิ่งที่คุณรักและชื่นชอบที่สุดในการสร้างสรรค์งานแต่ละชิ้นคืออะไร หากในการสร้างงานมีอุปสรรคใดเกิดขึ้น คุณข้ามผ่านมาได้อย่างไร
ศิลปินพุทธศิลป์ไทยประยุกต์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลผู้นี้ ตอบว่า
“ตามจริงแล้ว มันก็มีอุปสรรคทุกช่วงเวลาเลยครับ ช่วงเวลาที่ชอบที่สุด คือช่วงที่เราสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ครับ ในช่วงโมเมนต์ที่ชอบที่สุด คือการที่เรากำลังแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ อาจไม่ใช่ชื่นชอบ แต่คือภูมิใจที่แก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ครับ เช่น ปัญหาของพระชัยมงคลก็คือ เราจะทำยังไงให้เกิดเอกลักษณ์ เพราะเราต้องการสร้างยอดแหลม แต่ยอดแหลมนั้นสร้างยากมากในการหล่อโลหะ แต่ก็คือโมเมนต์ที่เราก้าวผ่านปัญหาได้ การก้าวผ่านปัญหาของผมในงานแต่ละชิ้น ก็คือการรีเสิร์ชให้เยอะ ทำความเข้าใจของแต่ละชิ้นให้มาก
“หรือตัวอย่างเช่น "ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น เหนือสยาม" เป็นตัวอย่างที่ผมชอบที่สุด เพราะเราได้แก้ไขปัญหาหลายๆ อย่าง ปีที่แล้ว ท้าวเวสสุวรรณจะบูมมาก แต่งานของผมสร้างขึ้นในช่วงปลายของความนิยมแล้ว ตอนทำมีความเสี่ยงที่จะเจ๊ง ( หัวเราะ ) อาจจะไม่ได้รับความนิยม แต่สิ่งที่ผมทำก็คือ ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร ผมแค่จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าผมก่อน ก็คือ ผลงานที่ดีที่สุด สวย และคุ้มค่าที่สุดสำหรับผู้จอง ผมจะคิดแบบนี้ ว่าผู้จองจะได้อะไรจากเรา มากกว่าที่จะไปสนใจว่าเราจะทำกำไรขนาดนั้น ทำให้งานแต่ละชิ้นก็มีแรงบันดาลใจจากตรงนี้แล้วก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างๆ ไป
“ท้าวเวสสุวรรณ รุ่น เหนือสยาม โจทย์ที่ผมได้คือ ผมต้องมา Study ว่า อะไรที่สื่อถึงภาคเหนือได้ แล้วทำยังไง ผลงานเราถึงจะแตกต่างจากที่มีมา เราจะสร้างผลงานยังไงให้ไปได้ และไม่ขัดต่อหลักประเพณีเดิม นี่คือหลักในทุกงานของผมนะครับ ผมจะไม่ทำในสิ่งเดิม ทำสิ่งใหม่ เช่น หลวงพ่อโสธร ผมสามารถที่จะปั้นให้เป็นหลวงพ่อโสธรเดิมได้ แต่ผมเลือกที่จะไม่ทำ เพราะว่าอยากที่จะใช้ลักษณะของหลวงพ่อโสธร แต่ไม่ใช่หลวงพ่อโสธรที่เคยมีมา มีการหล่อที่ดีขึ้น เป็นหล่วงพ่อโสธรที่มีความสมัยใหม่ พร้อมที่จะไปสู่อนาคต นี่คือหลักที่ผมวางไว้ในแต่ละผลงานครับ”
คือชีวิต…ด้วยชีวิต
บทสนทนาเดินทางมาถึงปลายทาง อดถามไม่ได้ว่า งานของคุณ อย่างพระชัยมงคลฯ พระแม่ธรณีและทุกๆ องค์ประกอบในทุกๆ ผลงาน เหมือนมีชีวิต คุณสร้างออกมาราวกับท่านมีชีวิตได้อย่างไร
ศิลปินพุทธศิลป์ผู้นี้ตอบว่า “เคล็ดลับอย่างแรกคือ ทำอย่างไร เราจะปั้นออกมาให้มีความเป็นธรรมชาติได้ อันนี้ต้องศึกษาเยอะๆ พอเราศึกษาเยอะ อย่างที่เล่าไว้ ว่าผมประกวดมาตลอด พยายามหาช่องทางที่จะคิดว่าทำยังไงนะ ให้งานเราดูต่างจากคนอื่น สิ่งที่ทำคือ ผมตั้งใจสร้างงานนี้มาก ผมยอมทิ้งชีวิตเพื่องานนี้ได้ แล้วก็ตั้งใจที่จะทำงานนี้ให้ดีที่สุด แล้วก็มีศรัทธาว่าอยากให้คนที่ได้รับผลงานของผมไป ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเลย
“ผมบอกกับพี่ที่ร่วมงานและโรงหล่อ ว่าผมไม่รู้หรอกว่างานนี้จะเสร็จปีไหน แต่ผมจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่ชีวิตนี้จะสร้างขึ้นมาได้
“เราแค่อยากจะสร้างงานที่ดีที่สุดในชีวิต ก็อาจจะทำให้งานนั้นดูมีชีวิตขึ้นมา เพราะผมใส่ทั้งชีวิตของผมเข้าไปในงานนั้นหมดแล้ว”
นับเป็นคำตอบที่สะท้อนทั้งความคิด จิตวิญญาณได้อย่างท่วมท้นและแจ่มชัดต่อเนื้องานอันสร้างขึ้นด้วยความรัก ศรัทธา และพร้อมอุทิศทั้งชีวิตให้ได้อย่างแท้จริง
…จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ผลงานของศิลปินผู้นี้ล้วนจับใจทุกผู้ที่แลเห็น แม้ในสายตาของชาวต่างชาติ ก็ยังยอมรับในความงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
………..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : จีรวุฒิ บุญช่วยนำผล
Jeerawut Boonchuaynampon
เพจ Jeerawut 3D art