xs
xsm
sm
md
lg

เบิกเนตร “อดีตประธานศาลอุทธรณ์” ความจริงเรื่องพันธมิตรฯ กับ “ทักษิณ” ก่อนชุมนุมหน้ารัฐสภา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ใช้หลัก “ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา” ไล่เรียงความเป็นมาเป็นไปของการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก่อนมีการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อปี 2551 จนถูกดำเนินคดีแล้วศาลยกฟ้อง หวัง “ชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์” อดีตประธานศาลอุทธรณ์จะตาสว่าง รู้ว่าความเห็นแย้งที่ให้ลงโทษแกนนำพันธมิตรฯ นั้น เป็นความเห็นที่ผิดพลาด



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ยืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องแกนนำและแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรวม 21 คน กรณีร่วมชุมนุมที่หน้ารัฐสภา เมื่อปี 2551 โดยอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ฟ้องในความผิดฐานร่วมกันใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

คดีนี้ ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2562 โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ นั้นเป็นการสัญลักษณ์ ปราศรัยที่สมเหตุสมผล ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 63 การชุมนุมไม่ปรากฏมีความรุนแรง หรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำทรัพย์สินเสียหาย พันธมิตรฯ เป็นฝ่ายถูกกระทำ ตำรวจเองทำเกินกว่าเหตุ จึงพิพากษายกฟ้อง


อัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษ องค์คณะทั้งสามของศาลอุทธรณ์ประกอบด้วย นางบุษยา รอดยินดี, นายประเสริฐศักดิ์ ณรงค์รักเดช และ นางกนกวรรณ ดลนิมิตสกุล พิเคราะห์พยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวหาของอัยการแล้วมีความเห็นพ้องกันให้ยกฟ้องตามที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้


แต่กลับปรากฏว่าประธานศาลอุทธรณ์ ในเวลานั้นชื่อนายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ (ปัจจุบันเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์)ได้ทำความเห็นแย้งต่อคำพิพากษาของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้ง 3 โดยระบุไว้ท้ายคำพิพากษาตั้งแต่หน้าที่ 60 จนถึง หน้าที่ 91 รวม 32 หน้า

“ความเห็นแย้ง ... ข้าพเจ้า นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ ประธานศาลอุทธรณ์ ได้ตรวจร่างคำพิพากษาและสำนวนคดีทั้งสามสำนวนนี้ซึ่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันแล้ว ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาที่องค์คณะผู้พิพากษาวินิจฉัยมา จึงมีความเห็นแย้ง ...”

โดยสรุปคือนายชูชัยไม่เห็นพ้องด้วยกับองค์คณะ โดยระบุว่าควรจะลงโทษจำเลย  อ้างว่าเป็นการแสดงความเห็นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1) ซึ่งให้อำนาจประธานศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้ว


นายสนธิ กล่าวว่า เมื่อนายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ ให้ความเห็นแย้งในคำพิพากษามาเช่นนี้ จึงอยากจะขอลำดับเหตุการณ์ ประกอบกับข้อเท็จจริง โดยเป็นทัศนะในเชิงวิชาการ เพื่อหักล้างความเห็นของนายชูชัยที่ว่าควรจะลงโทษกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งถือว่าเป็นความเห็นที่ผิดพลาด มีจุดบกพร่อง เป็นข้อ ๆ ดังนี้

หนึ่ง – ปรากฎการณ์ที่หน้ารัฐสภาเมื่อปี 2551 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว นั้นเป็นปรากฎการณ์ปลายทางของสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ตาม “หลักปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา”ไม่ทราบว่านายชูชัยจะเข้าใจหลักธรรมข้อนี้หรือไม่

“หลักปฏิจจสมุปบาท” คือ ทฤษฎีหรือหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการอิงอาศัยกัน หรือ ความเป็นเหตุ เป็นผลของสิ่งทั้งหลาย, เรื่องเหตุและปัจจัย, การเกิดของทุกข์ และการดับทุกข์

ส่วน “อิทัปปัจจยตา” เป็นกฎธรรมชาติ มีความหมายที่สำคัญ ก็คือว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี หมายความว่า เมื่อสิ่งนี้มี แล้วสิ่งนี้มันต้องมี เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้น


เช่นเดียวกัน “ปรากฎการณ์ที่หน้ารัฐสภา” เมื่อปี 2551 รวมถึงการชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ต้องมีที่มาที่ไป มิใช่เรื่องนี้เกิดขึ้นแบบโดด ๆ แต่มีลำดับเหตุการณ์ มีเหตุและผล


สอง – การก่อตัวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั้นก่อตัวมาก่อนหน้าปี 2551 ราว 3 ปี คือในปี 2548 คือ การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน และประพฤติมิชอบของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2549 จนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จนต่อมามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อตรวจสอบการทุจริตต่างๆ ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และมีคดีทุจริตต่าง ๆ ขึ้นสู่ศาลหลายต่อหลายคดี ซึ่งคำพิพากษาของศาลก็เป็นที่ประจักษ์ และยุติแล้วถึง 12 คดี ประกอบไปด้วย

คดีที่ 1) คดีซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2550


คดีที่ 2) คดีการออกสลากพิเศษโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 คดีหมายเลขแดงที่ อม 10/2552

คดีที่ 3) คดียึดทรัพย์ครอบครัวชินวัตรกว่า 46,000 ล้านบาท เพราะการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 คดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553


คดีที่ 4) คดีทุจริตการซื้อยานพาหนะดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2556 มี คดีหมายเลขแดงที่ อม 7/2556

คดีที่ 5) คดีการทุจริตธนาคารกรุงไทยที่ปล่อยกู้โดยไม่ชอบมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558

คดีที่ 6) คดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แก้ไขสัญญาเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัวนายทักษิณ ชินวัตร ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม.107/2547


คดีที่ 7) คดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งในธนาคารแห่งประเทศไทย ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 คดีหมายเลขแดงที่ อม.91/2559

คดีที่ 8) คดีที่ นายทักษิณ ชินวัตรให้ธนาคารเพื่อส่งออกและนำเข้าประเทศไทยปล่อยกู้ให้กับสหภาพพม่าเพื่อเอื้อประโยชน์ธุรกิจดาวเทียมของครอบครัว ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 คดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551

คดีที่ 9) คดีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือให้ครอบครัวชินวัตรเลี่ยงภาษีอากร ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562


คดีที่ 10) คดีการแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจของครอบครัวนายทักษิณ ชินวัตร ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 คดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551

คดีที่ 11) คดีการทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามคำพิพากษายืนของคณะวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 4 มีนาคม

คดีที่ 12) คดีการใช้อำนาจโดยทุจริตของผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโทรศัพท์มือถือของครอบครัวนายทักษิณ ชินวัตร ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562


การที่คดีทั้งหลายได้ดำเนินการมาจนมีคำพิพากษาในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และพวก มาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ได้ตรวจสอบ ชุมนุมต่อต้านพรรคพลังประชาชนมิให้ แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 309 เพื่อมิให้ล้มล้างผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) รวมถึงการคัดค้านการออกกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองด้วยกันเองทุกรูปแบบ

จากคดี 12 คดีข้างต้น ใช้เวลา 15 ปี จึงพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ จึงย่อมเป็นการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

สาม – การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จึงไม่ใช่การใช้ “สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม”เท่านั้น แต่คือ การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในหมวดที่ 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทยในมาตรา 71 ซึ่งระบุชัดเจน “บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ และปฏิบัติตามกฎหมาย”


สี่ - นอกจากพันธมิตรฯ จะเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ประพฤติมิชอบแล้ว ยังเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการโกงการเลือกตั้งด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ในห้วงเวลานั้น เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุชัดเจนไว้ว่า กรรมการบริหารพรรคคนใดที่โกงการเลือกตั้ง ให้ถือว่าทั้งพรรคโกง ต้องยุบพรรคด้วย

กลุ่มพันธมิตรฯ ออก แถลงการณ์มาต่อเนื่องตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึง ฉบับที่ 28 ต้องถามกลับนายชูชัย เป็นผู้พิพากษา เป็นถึงประธานศาลอุทธรณ์ ที่ให้ความเห็นในคดีนี้ ว่า ได้อ่านครบถ้วนทุกฉบับหรือไม่จึงมาให้ความเห็นแย้งเช่นนี้?

การโกงการเลือกตั้งในตอนนั้นของพรรคพลังประชาชน ซึ่งแปลงร่างมาจากพรรคไทยรักไทย ลงลึกไปจนถึงการโกงถึงในระดับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งปลอมแปลงเอกสาร พยานปากสำคัญด้วย


ต่อมา รัฐบาลพรรคพลังประชาชน มิได้ฟังเสียงคัดค้านของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏในเวลานั้นว่า รัฐบาลพรรคพลังประชาชนประกาศอย่างชัดเจนว่า จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเวลานั้น จึงออก แถลงการณ์ฉบับที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ในหัวข้อเรื่อง “คัดค้านและประนามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลบล้างความผิดของตนเองและพวกพ้อง” ว่า
  • การที่รัฐบาลประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพื่อหลบเลี่ยงการกระทำความผิดในการทุจริตการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน
  • และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 เพื่อยกเลิกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อันจะนำไปสู่การตัดตอนคดีความที่กำลังดําเนินต่อนายทักษิณ ชินวัตร และพวกพ้องไม่ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลในทุกวิถีทาง



แถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 4/2551 นี้ ยังได้ยืนยันถึงการได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคําร้องว่าต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ วันที่ 18 มีนาคม 2551 ปรากฏข้อความในแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “เมื่อพรรคการเมืองในรัฐบาลนอมินี กรรมการบริหารพรรคที่เข้าข่ายการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง แล้วจะใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 237 เพื่อลบล้างความผิดที่ได้ทำสำเร็จไปแล้วนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องให้พ้นความผิดอย่างไร้ยางอายเป็นอย่างยิ่ง”

แถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 4/2551 นี้ จึงได้นัดหมายประชาชนร่วมแสดงพลังการชุมนุมและร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดสัมมนา ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 28 มีนาคม 2551

ต่อมาเมื่อ วันที่ 3 เมษายน 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5/2551 เรื่อง “พร้อมต่อต้านอาชญากรประชาธิปไตยเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฟอกความผิดให้ตนเอง” โดยปรากฏข้อความในแถลงการณ์ที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลต้องการลบล้างความผิดในคดีทุจริตการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชน และยกเลิกการตรวจสอบทั้งหลายในคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นของนายทักษิณ ชินวัตร ครอบครัว และพวกพ้อง ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 และมาตรา 309 โดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าการกระทำของรัฐบาลพรรคพลังประชาชนมีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้งของตัวเองและพวกพ้อง ตลอดจนทำลายและตัดตอนกระบวนการยุติธรรมเพื่อล้มล้างคดีความของนายทักษิณ ชินวัตร ครอบครัวและพวกพ้องในชั้นศาล จึงได้ย้ำในจุดยืนข้อที่ 2 ของแถลงการณ์ฉบับนี้ว่า

“ปวงชนชาวไทยมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ ในมาตรา 70 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงขอใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ ตามมาตรา 69”

การดำเนินการของพันธมิตรฯ นั้นเป็นไปตาม “สิทธิพิทักษ์ รัฐธรรมนูญ” ที่ได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 68 และ มาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

เมื่อ วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ตัดสินมาแล้วว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช กรรมการบริหารพรคพลังประชาชน โกงการเลือกตั้งโดย ใช้เงินซื้อเสียงผ่านกำนันอำเภอแม่จัน จ.เชียงราย เพื่อสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าคำตัดสินดังกล่าว ต้องนำไปสู่ “การยุบพรรคพลังประชาชน” ต่อไปแน่นอน

แล้วทำไมกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อเป็นประชาชนจะไม่มีความชอบธรรมในการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยการขัดขวางมิให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคพลังประชาชน เข้าไปแถลงนโยบายต่อสภา ใน วันที่ 7 ตุลาคม 2551


ด้วยเหตุนี้ “คำพิพากษาศาลอุทธรณ์” ฉบับเดียวกับที่นายชูชัยเห็นแย้งจึง ได้ชี้ชัดเอาไว้ใน หน้าที่ 35 ถึง หน้าที่ 36 ความว่า
“...กลุ่มพันธมิตรร่วมกันชุมนุมเพื่อโต้แย้งคัดค้านการทำงานของรัฐบาลและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 21 เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลกระทำเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องที่มี พฤติการณ์ทุจริตหลายประการ โดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถึงที่ 21 กระทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพันธมิตรเอง หากแต่จำเลยเชื่อว่ารัฐบาลในขณะเกิดเหตุขณะนั้นมีพฤติการณ์ทุจริตและไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศ อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต...”




ห้า - จากการโกงการเลือกตั้งดังกล่าวของนายยงยุทธ ซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรคพลังประชาชน ก็ได้รับการยืนยันจากศาลฎีกาด้วยคำตัดสินยุบพรรคพลังประชาชนเมื่อ วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้เห็นชัดว่า “พรรคพลังประชาชน” นั้นได้อำนาจรัฐมาโดยมิชอบจากการโกงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550

ด้วยเหตุนี้ วันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคําวินิจฉัยที่ 20/2551 ให้ยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคและประธานสภาผู้แทนราษฎรกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นการกระทําเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


​คําวินิจฉัยซึ่งเป็นมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2551 ฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ในการยุบพรรคพลังประชาชนนั้น ได้วินิจฉัยเอาไว้ถึงความร้ายแรงของคดีดังกล่าวว่า เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรมโดยกรรมการบริหารพรรคเสียเองจึงเป็นคดีร้ายแรง เป็นการเลือกตั้งที่ได้มาเพราะอามิสสินจ้างหรือผลประโยชน์ เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ พรรคพลังประชาชนกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกกรองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

​“...ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์ จึงวินิจฉัยว่า ให้ยุบพรรคพลังประชาชน ผู้ถูกร้อง เนื่องจากนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2550 ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันเป็นกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบ มาตรา 237 วรรคสอง และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะที่กระทำความผิด เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนุญ มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง ประกอบมาตรา 68 วรรคสี่”

​คําวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวอ้างบทบัญญัติ มาตรา 68 ประกอบ มาตรา 237 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นเหตุให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนขณะที่กระทําความผิดและยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 68 วรรคสี่ ฉะนั้นการได้อํานาจมาในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชาชนจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น และมีความหมายว่าการได้อำนาจมานี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะได้ออกแถลงการณ์ฉบับแรกก่อนการชุมนุมเสียด้วยซ้ำ !


หก – ทั้งหมดนี้ ได้รับการยืนยันอีกครั้ง ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องอภัยลดโทษให้นักโทษชายเด็ดขาดทักษิณ ชินวัตร จาก 8 ปี เหลือ 1 ปี โดยนายทักษิณ ชินวัตร ได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว และได้ยอมรับการกระทำความผิดทั้งหมดดังความปรากฎในประกาศราชกิจจานุเบกษาในเนื้อความที่ได้ยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมความว่า “เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำสั่งพิพาษากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าว ด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา”

ข้อความดังที่ปราฏในการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษย่อมแสดงให้เห็นว่าในที่สุดแล้ว นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เคารพต่อกระบวนการยุติธรรมแล้ว ยอมรับผิดในการกระทำว่าเป็นความจริงแล้ว และสำนึกในความผิดแล้ว จึงกลับมารับโทษตามคำพิพากษา หาได้มีการกลั่นแกล้ง หรือมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมตามที่นายทักษิณกล่าวหายให้ร้ายไม่ ในทางตรงกันข้ามฝ่ายพฤติการณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนอกจากจะได้โจมตีให้ร้ายศาลและกระบวนการยุติธรรมด้วยความเท็จแล้ว และยังมีพฤติการณ์ของคณะทนายที่ละเมิดอำนาจศาลด้วยเงินอีกด้วย


หลักฐานดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าการต่อต้านรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพราะทักษิณ ชินวัตร และพวกมีพฤติการณ์ในการทุจริตคอรัปชั่นนั้น หาใช่ความเชื่อโดยเลื่อนลอย หากแต่เป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ในภายหลังว่าเป็นความจริงทั้งสิ้น !

นายสนธิ กล่าวต่อว่า อยากจะเตือนนายชูชัยให้ทราบว่า นายทักษิณ เป็นฝ่ายโจมตีศาล และกระบวนการยุติธรรม มาอย่างต่อเนื่องถึง 15 ปี กว่าจะมาสำนึกผิด และสารภาพผิด ทำลายศาลสถิตย์ยุติธรรมมาโดยตลอด ยังไม่นับถึงกรณีถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านบาทไปละเมิดอำนาจศาลด้วย

ในขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล คนธรรมดา ไม่มีตำแหน่ง หรือเครื่องราชย์ใด ๆ กลับเป็นฝ่ายปกป้องศาลมาโดยตลอด 15 ปี กว่าจะถึงวันที่นายทักษิณ ยอมสำนักผิดและสารภาพ


แม้แต่วันนี้ นายทักษิณก็ไม่ได้ติดคุกครบแม้แต่ 1 วัน นายชูชัยคิดว่ากระบวนการยุติธรรม สามารถให้ความยุติธรรมให้กับประชาชนได้จริงหรือไม่ และใครเป็นฝ่ายทำลายความยุติธรรม และก่อให้เกิดความไม่เสมอภาค ในกระบวนการยุติธรรมกันแน่


เจ็ด – นอกจากนี้ ภายหลังจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ผ่านไปเป็นระยะเวลานานถึง 9 ปีกว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงได้รับความเป็นธรรม ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําวินิจฉัย เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 อันเป็นที่ยุติต่อพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมว่า เป็นกลุ่มประชาชนผู้ใช้สิทธิ เสรีภาพ และทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ เป็นสุจริตชนและพลเมืองที่ดีที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ อีกทั้งยังระบุถึงพฤติการณ์ของพรรคพลังประชาชนที่อาจมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ล้วนเป็นไปตามแถลงการณ์และวิธีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทั้งสิ้น ดังความตอนหนึ่งในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า

“เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงต่อสื่อมวลชนหลายแขนงว่า บรรดารัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคพลังประชาชน มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยแสดงเจตนาที่จะทำการแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 วรรคสอง มาตรา 309 และบทเฉพาะกาล ซึ่งนำไปสู่การถกเถียงของประชาชนและอาจมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานและองค์กรที่กำลังตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยเฉพาะของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ การบริหารกิจการบ้านเมืองของรัฐบาลในขณะนั้นยังเป็นที่น่าสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อปกป้องพิทักษ์ไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การป้องกันประเทศ รักษาผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีและประชาชนชาวไทยที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางปกครอง ในการสั่งการและปฏิบัติการเข้าสลายการชุมนุมนั้น ควรกระทำด้วยความละมุนละม่อม” ปรากฏตามคําพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.280/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1442/2560 หน้าที่ 20 ของศาลปกครองสูงสุด

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ยังได้อธิบายถึงความชอบธรรม ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขัดขวางรัฐบาลซึ่งได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญความอีกตอนหนึ่งว่า “จากพยานหลักฐานที่ได้วินิจฉัยมาโดยลำดับเห็นได้ว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเพื่อขัดขวางมิให้นายกรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” ปรากฏตามคําพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.280/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1442/2560 หน้าที่ 111 ของศาลปกครองสูงสุด


เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ได้ปรากฏการเผยแพร่ข่าวของหลายสำนักข่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าผู้ชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นพลเมืองดี แต่เป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยความรุนแรงเกินสมควรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 8 ตุลาคม 2551 พาดหัวข่าวว่า “ทรราชฆ่าประชาชน พระราชินีพระราชทานเงิน - รับผู้ป่วยพันธมิตร”โดยข่าวโปรยระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บเกือบ 400 ราย สมเด็จพระราชินีพระราชทานเงินสองแสนบาท พร้อมทั้งรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย คือนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี และรายชื่อผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ณ เวลา 20.30 น. จำนวน 231 ราย




คดีหมิ่นประมาทที่ใช้เวลาพิสูจน์นานถึง 7 ปี !

นอกจากนั้นนายทักษิณ ชินวัตร ยังได้ฟ้องแกนนําพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ร่วมกันโฆษณาและอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 4/2551 และฉบับที่ 5/2551 รวมทั้งคําสัมภาษณ์หลังแถลงการณ์เป็นคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 7 ปี ในวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ศาลฎีกามีคําพิพากษาที่ 15927/2557 ยกฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ด้วยเหตุว่า “เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่เกินเลยไปจากความจริง”


การที่ศาลฎีกาพิพากษาว่า แถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 4/2551 และฉบับที่ 5/2551 “เป็นการแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่เกินเลยไปจากความจริง” จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วว่า แถลงการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีความชอบธรรมเป็นไปโดยสุจริตและเนื้อหาในแถลงการณ์ก็เป็นความจริงทั้งสิ้น

สิ่งที่นายชูชัย ใช้สถานะของประธานศาลอุทธรณ์เห็นแย้งมาในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรเมื่อปี 2551 จึงไม่สอดคล้องกับ “หลักปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา” เพราะเป็นการพูดถึงแต่เรื่องปลายเหตุ ไม่พูดถึงต้นเหตุ หรือผลที่ตามมาหลังจากนั้นแต่อย่างใด


แล้วถ้าประชาชนที่เสียสละ บาดเจ็บ ล้มตาย ไม่ว่าจะใน วันที่ 7 ตุลาคม 2551 หรือก่อนหน้านั้น หรือ หลังจากนั้นก็ตาม เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่ให้คนโกงรอดพ้นจากการทุจริตคอร์รัปชัน ป้องกันไม่ให้คนโกงการเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจ หากประชาชนที่ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และความถูกต้องในสังคม เหล่านี้ถูกลงโทษ อยากถามว่า
  • แล้วต่อไปใครจะทำความดี?
  • ต่อไปใครจะยอมเสียสละตัวเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม?
  • นอกจากนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ต่อไปใครจะออกมาปกป้องกระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรที่นายชูชัยเติบโต อาศัยหาเลี้ยงชีพมาชั่วชีวิต ประชาชนทั่วไปเขาออกมาเคลื่อนไหวปกป้องศาล หรือเรียกร้องให้มีการรักษากระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรนี่ แถมยังมีโอกาสถูกลงโทษอีก อย่างนี้เขาก็อยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ?
  • ทุกคนก็เห็นแก่ตัว หรือไม่หากเกิดอะไรไม่ถูกต้องก็อยู่เฉย ๆ เอาหูเอานาเอาตาไปไร่ หรือไม่ เอาตัวรอดแล้ววิ่งเข้าหาการเมือง ไม่ดีกว่าหรือ?



กำลังโหลดความคิดเห็น