เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยม MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง โดยมี นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน MEA ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมตอบรับนโยบายและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยนำมาขับเคลื่อนบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้า สนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง สู่เมืองมหานครแห่งอนาคตที่ทันสมัย ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย
MEA พร้อมขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ลดภาระและบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาท/เดือน สามารถค้างค่าไฟได้ในจำนวนเดือนที่มากขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระประชาชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่มียอดค่าไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน
- ขยายระยะเวลางดจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นไม่เกิน 3 เดือน
- เริ่มโครงการตั้งแต่พฤศจิกายน 2566-พฤศจิกายน 2567
นอกจากนี้ MEA ได้ดำเนินโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการ Smart Metro Grid ที่ดำเนินการติดตั้ง Smart Meter ที่เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ Online ช่วยในด้านการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า โดยภายในปี 2570 จะติดตั้งครอบคลุมพื้นที่ดูแลทั้ง 18 การไฟฟ้านครหลวงเขต รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 441,400 ชุด รวมถึงการประยุกต์ใช้กับหม้อแปลงจำหน่ายภายใต้โครงการ TLM (Transformer Load Monitoring) ช่วยในการวางแผนขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า ครอบคลุมระบบจำหน่ายไฟฟ้าในระดับแรงดันกลาง เป็นการพัฒนาไปสู่ระบบ Fully Smart Metro Grid อย่างเต็มตัว
MEA ได้มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล เร่งดำเนินโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน มีระยะทางดำเนินโครงการทั้งสิ้น 313.5 กิโลเมตร มีเป้าหมายก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2572 โดยขณะนี้สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จรวม 62 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ขณะเดียวกันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 251.5 กิโลเมตร เช่น โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก และโครงการก่อสร้างตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ โดย MEA คาดว่าภายในสิ้นปี 2566 จะมีระยะทางที่ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 29.2 กิโลเมตร ทำให้มีระยะทางสายใต้ดินสะสมรวมทั้งสิ้น 91.2 กิโลเมตร รวมถึงการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้าตามข้อกำหนดเพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า ทัศนียภาพที่สวยงาม ความปลอดภัยของประชาชน และการพัฒนาบริการดิจิทัล โดยยึดหลัก Triple Go for Goal 3 ด้าน ได้แก่ Go Smart คือการดำเนินโครงการที่ส่งเสริมศักยภาพด้านระบบไฟฟ้า ให้การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงเพียงพอ Go Digital คือ การยกระดับงานบริการขององค์กรให้ตอบโจทย์ Anywhere Service ซึ่งเป็นรูปแบบชีวิตของคนเมืองมหานคร มีการพัฒนาบริการ e-Service ต่างๆ เพื่อยกระดับไปสู่การเป็น Fully Digital Service และ Go Green คือ การส่งเสริมไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) โดยจะต้องสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) รองรับการใช้งาน EV ในพื้นที่ของ MEA ออกแบบระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย และบริหารจัดการระบบจำหน่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้วิสัยทัศน์ Energy for city life, Energize smart living ในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานครอย่างยั่งยืน ยกระดับคุณภาพบริการ รองรับความต้องการผู้ใช้ไฟฟ้าในทุกมิติ