xs
xsm
sm
md
lg

จากเด็กกำพร้าลูกชาวนายากจน สู่ผู้นำ BYD เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเส้นทาง BYD จากความฝันของ “หวัง ชวนฝู” เด็กชาวนากำพร้ายากจน ต้องยืมเงินเพื่อนบ้านเรียนหนังสือ สู่อาณาจักรผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเริ่มต้นจากธุรกิจแบตเตอรี่ แล้วก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ต่อสู้กับอุปสรรคปัญหา ทุ่มเทให้การวิจัยพัฒนา จน BYD เป็นรถไฟฟ้าที่ส่งออกได้มากที่สุดในโลก ลบคำปรามาสดูถูกรถยนต์จีน แต่เขายังไม่หยุดฝันและพัฒนาต่อไป



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงเบื้องหลังความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าจีนยี่ห้อ BYD หรือ Build Your Dream ซึ่งถือว่ากำลังเขียนประวัติศาสตร์รถไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ โดยผู้ก่อตั้งวัย 57 ปี ชื่อ หวัง ชวนฝู ได้ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า “เราคือรถยนต์จีน” ที่หลุดพ้นจากกระบวนทัศน์เก่า ๆ และคำปรามาสดูถูก ก้าวสู่แบรนด์ชั้นนำระดับโลกได้สำเร็จ ด้วยโนว์ฮาวที่ล้ำหน้าของแบตเตอรี่, มอเตอร์ และระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยชิปที่ผลิตโดย BYD Semiconductor ที่เชี่ยวชาญผลิตชิปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาด Made in China 2025 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติจีน

หวัง ชวนฝู
อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เมื่อปี 2565 รถยนต์ของจีนส่งออกชนะเยอรมนีเป็นครั้งแรก โดยส่งออกมากถึง 3.11 ล้านคัน(เปรียบเทียบกับเยอรมนีที่ส่งออกรถยนต์ 2.61 ล้านคัน)ทำให้จีนเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก

มาถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จีนส่งออกรถยนต์ได้ 2.3 ล้านคันแซงหน้าญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก(โดยช่วงครึ่งแรก คือ มกราคม-มิถุนายน ของปี 2566 ญี่ปุ่นส่งออกรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน หรือ น้อยกว่าจีนอยู่ 3 แสนคัน)ทำให้จีนขึ้นแท่นกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกไปโดยปริยาย


BYD แซง Tesla กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก

เมื่อพิจารณาจากแบรนด์รถยนต์ ในปีที่แล้ว ปี 2565 อ้างอิงตัวเลขจาก EV-Volumes บริษัท BYD กลายบริษัท EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแซง Tesla โดยปีที่แล้ว BYD ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 1.9 ล้านคัน แบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ราวครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV)

ในขณะที่ปีที่แล้ว Tesla ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ 1.3 ล้านคัน มากเป็นอันดับสองของโลก แต่ Tesla ยังถือเป็นบริษัทที่ผลิตและจำหน่าย สร้างรถยนต์ไฟฟ้าจากพลังงานแบตเตอรี่ล้วนๆ หรือ BEV จำนวนมากที่สุด

ส่วน Volkswagen, GM และ Stellantis ครองรายชื่อผู้ผลิต รถยนต์ไฟฟ้ามากเป็นอันดับที่ 3-5 ตามลำดับ

ในรายชื่อ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลก 10 อันดับแรก มีบริษัทจีนสองบริษัท คือ  BYD ครองอันดับที่ 1 และ Geely Auto ครองอันดับที่ 8
บนเวทีฉลองครบรอบ 20 ปีเมื่อ วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่ BYD บรรลุความสำเร็จผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BYD คันที่ 5 ล้าน ทำให้แบรนด์ BYD เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า EV แห่งแรกของโลกที่บรรลุเป้าหมายสำคัญนี้ ท่ามกลางผู้ร่วมงาน 800 คน ระหว่างพิธีมอบรางวัล นายหวัง ชวนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD ในฐานประธานและซีอีโอ ได้กล่าวสุนทรพจน์ด้วยอารมณ์ร่วมที่ท่วมท้น โดยเขาเล่าถึงความเป็นมาของการสร้างแบรนด์จีน BYD ที่กว่าจะมีวันนี้ได้ และช่วงท้าย หน้าจอใหญ่แสดงความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิโดดเด่นว่า “เราเป็นรถยนต์จีน”


ท่ามกลางความสงสัยและดูถูกซ้ำเติมภาพลักษณ์รถยนต์จีน หวัง ชวนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD ได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่ารถยนต์จีนสามารถใช้พลังงานใหม่ที่เป็นพลังงานไฟฟ้าได้อย่างดีและสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หลังจากผ่านปัญหาอุปสรรคใหญ่ก้าวกระโดดสู่รถยนต์ชั้นนำระดับโลก

ณ สิ้นปี 2562 เมื่อสี่ปีที่แล้ว BYD ได้เปิดตัวซีรีย์รถยนต์ทั้งหมด 20 ซีรีย์และตั้งแต่ปี 2553 ถึง 2562 เป็นระยะเวลาถึงสิบปี BYD ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าไปแล้ว 176 รุ่น และตั้งชื่อรุ่นให้เหมือนกับราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีน เช่นฮั่น, ชิง, ซ่ง, ถังและหยวน เป็นต้น


“ปี 2562 เป็นปีที่ยากที่สุดสำหรับ BYD ในเวลานั้น เป้าหมายเดียวของเราคือการเอาชีวิตรอดจากความขมขื่นและความท้าทาย แม้ว่าเส้นทางนี้จะยากลำบาก แต่เรายืนหยัดมา 20 ปี นี่ไม่ใช่แค่เรื่องราวการผลิตของรถยนต์ของ BYD แต่สะท้อนให้เห็นถึงการเดินทางของแบรนด์จีนในอุตสาหกรรมยานยนต์ แบรนด์จีนจำนวนมากเช่น BYD ที่ต้องเผชิญกับช่วงของการโดนดูถูก และถูกประเมินค่าต่ำเกินไป”

หวัง ชวนฝู ยังจำได้แม่นว่า ในปี 2557 เมื่อส่วนแบ่งการตลาดของแบรนด์รถยนต์จีนต้องเผชิญกับการตลาดที่ลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เป็นความตกต่ำที่สุดติดต่อกันในประวัติศาสตร์ ทั้งผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและบริการของจีนไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้รถแบรนด์จีนจำนวนมากจวนจะล่มสลาย


BYD ผงาดขึ้นได้เพราะการทุ่มทุนด้านการวิจัยและพัฒนา

ท่ามกลางความมืดมนที่สุดของการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่มีใครยอมรับ หวัง ชวนฝู ยังไม่ยอมแพ้ เพราะเขาได้เตรียมอาวุธทางปัญญาที่เกิดจากการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา

ตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อ 20 ปีที่แล้วด้วยคนทำวิจัยเพียงสิบคน และได้เติบโตขึ้นมากกว่า 2,000 เท่า

ในปี 2566 นี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า 30,000 คนเข้าร่วมทำงานกับ BYD โดย 81% ร่วมงานด้าน R&D

ปัจจุบันทีมงาน R&D ทางเทคนิคของ BYD ประกอบด้วยบุคลากรมากกว่า90,000 คนและดำเนินงานในสถาบันวิจัยหลัก 11 แห่ง

ปัจจุบัน BYD ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรโดยเฉลี่ย 19 คำขอต่อวันทำงาน และได้รับการอนุญาตสิทธิบัตร 15 ฉบับ


การทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ หวัง ชวนฝู และ BYD ก็ไม่ต่างจากแนวคิดของ เหริน เจิ้งเฟย ของ Huawei ที่ทุ่มงบประมาณมหาศาลให้กับเรื่องนี้เช่นกัน ตัวเลขเหล่านี้ ทำให้จีน และ BYD เป็นมหาอำนาจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างปฏิเสธไม่ได้


“ผมเชื่อว่าแกนกลางความสำเร็จอยู่ที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เราได้ลงทุนหลายพันล้านในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา” ผู้ก่อตั้ง BYD ระบุ

งบการลงทุนด้าน R&D ของ BYD แซงหน้ากำไรสุทธิของปีเป็นจำนวนมากสามถึงสี่เท่าของกำไรสุทธิ กล่าวคือ ในปี 2560 ถึง 2562 กำไรของ BYD ลดลง เป็นเวลาสามปีติดต่อกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2562

(ซ้าย) เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง Huawei และ (ขวา) หวัง ชวนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD
แต่ในปี 2565 กำไรสุทธิของ BYD อยู่ที่ 16,300 ล้านหยวน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 80,500 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ประมาณ 1,200 %

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพลังงานใหม่ อุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนกำลังก้าวจากการเป็นลุกไล่ของบริษัท และชาติตะวันตก ไปสู่การเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่แข็งแกร่งในปัจจุบัน

จีนยืนหยัดในฐานะมหาอำนาจที่ไม่มีปัญหาในด้านยานยนต์พลังงานใหม่ โดยมีตลาดพลังงานใหม่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของระดับอุตสาหกรรม

จีนเป็นผู้นำในการส่งออกรถยนต์พลังงานใหม่ทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของการผลิตและการขายทั่วโลกในแนวหน้า ของเทคโนโลยีหลักและห่วงโซ่อุตสาหกรรม

จีนมีส่วนสนับสนุน 70% ของสิทธิบัตรที่เผยแพร่ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์พลังงานใหม่

จีนมีส่วนจัดหาแบตเตอรี่พลังงานใหม่เกือบ 2 ใน 3 หรือราว 63% ทั่วโลก

ด้วยความสำเร็จเหล่านี้ จีนจึงประกาศอย่างภาคภูมิใจว่ารถยนต์จีน เป็นยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์พลังงานรายใหม่ ถึงเวลายุคของรถยนต์จีนมาถึงแล้ว ขณะที่แบรนด์จีนอย่าง BYD, SAIC (Shanghai Automotive Industry Corporation) ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์รถยนต์ MG, Chery, Great Wall Motor (GWM), Geely รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ต่างประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 หวัง ชวนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD ก้าวขึ้นบนเวที เขาได้เล่าถึงเส้นทางชีวิตอันเจ็บปวดของเขาที่ต้องเผชิญความยากลำบากล้มเหลวและมืดมนที่สุดชนิดที่หายใจไม่ออก แต่รอดได้เพราะพี่ชายและญาติ ช่วยให้เขาพ้นจากหลุมดำและสู้ต่อจนสามารถทำฝันให้เป็นจริงได้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ BYD ที่ย่อมาจาก “Build Your Dream” และเรื่องราวชีวิตของ “หวัง ชวนฝู” จากลูกชาวนากำพร้าที่ยากจน กลายเป็นมหาเศรษฐี ได้สร้างแรงบันดาลใจสู้ชีวิตจากลูกชาวนาที่มีชีวิตดุจผ้าขี้ริ้วที่ไร้ค่า ไปสู่ความมั่งคั่งร่ำรวยเกินหมื่นล้านดอลลาร์ที่ติดอันดับนิตยสาร FORBES โดยความสำเร็จของ BYD ทำให้ชื่อของหวัง ชวนฝู อยู่อันดับที่ 11 ใน 100 คนที่ร่ำรวยที่สุดในจีนด้วยทรัพย์สินมูลค่า 17.7 พันล้านดอลลาร์ โดยยึดคติพจน์ว่า “ทำมากขึ้นและพูดให้น้อยลง” (Do more and talk less)


“หวัง ชวนฝู” ลูกชาวนา กำพร้า ยากจน

นายหวัง ชวนฝู เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2509 ปัจจุบันอายุ 57 ปี เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจนในชนบทของมณฑลอันฮุย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในมณฑลที่ยากไร้ที่สุดในจีน โดยเขาเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เล็ก คนที่เลี้ยงดูเขาแทนพ่อแม่คือ พี่ชายและพี่สะใภ้ของเขานั่นเอง ที่กัดฟันทำทุกอย่างเพื่อประทังชีวิตให้รอดในแต่ละวัน ถึงกับต้องขอข้าวปลาอาหารจากเพื่อนบ้านกินบางมื้อในวันที่ต้องขอดน้ำตากิน

ยิ่งชีวิตยากลำบาก หวัง ชวนฝู ยิ่งมุ่งมั่นตั้งใจเรียน ขยันและมีมานะความเพียร บางครั้งเขาจำเป็นต้องขอยืมเงินเพื่อนบ้านที่ใจดีมาเป็นทุนเล่าเรียนหนังสือ

เมื่อปี 2530 ขณะอายุ 22 ปี เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านเคมีฟิสิกส์แผนกโลหะวิทยามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีจงหนาน (Central South Industrial University) เมืองฉางซา มณฑลหูหนาน

ต่อมา ในปี 2533 ก็จบปริญญาโทสาขาวัสดุจาก China General Research Institute for Nonferrous Metals ที่กรุงปักกิ่ง

หลังจากเรียนจบ เขาได้เริ่มต้นทำงานกับหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลจีน ที่ General Research Institute for Nonferrous Metals

ด้วยประสบการณ์ทำงาน 5 ปีจากสถาบันวิจัยด้านโลหะวิทยาแห่งนี้ ที่มุ่งเน้นไปที่โลหะหายากที่จำเป็นต่อแบตเตอรี่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค ทำให้ หวัง ชวนฝู เห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงลาออกมาตั้ง บริษัท BYD Co.Ltd.


บริษัท BYD เกิดจากแรงบันดาลใจของวลีที่ว่า “Build Your Dream” หวัง ชวนฝู ก่อตั้ง BYD เมื่อปี 2538 ที่เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเวลานั้นเซินเจิ้นเวลานั้นเป็นเมืองตื่นทองของเหล่าสตาร์ทอัพจีน ปัจจุบัน บริษัทมีบริษัทย่อยหลัก 2 แห่ง ได้แก่ BYD Auto และ BYD Electronic

แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ช่วงแรกเริ่ม หวัง ชวนฝู ต้องดิ้นรนหาแหล่งเงินทุน ซึ่งก็ต้องผิดหวังที่ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีนขณะนั้น เขาจึงชักชวนลูกพี่ลูกน้องชื่อ หลู่ เซี่ยงหยาง (吕向阳) มาร่วมลงทุนด้วยเงินเริ่มต้น 5 ล้านหยวน ปัจจุบัน นายหลู่ เซี่ยงหยาง ติดอันดับ มหาเศรษฐี ของ Forbes ประจำปี 2565 ด้วยความมั่งคั่งประมาณ 15,700 ล้านดอลลาร์ (หรือคิดเป็นเงินไทย ราว 567,000 ล้านบาท) โดยถือเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 114 ของโลก

หลู่ เซี่ยงหยาง
ปัจจุบัน BYD มีอาณาจักรธุรกิจใหญ่ ๆ 3 ธุรกิจด้วยกัน คือ

1.ธุรกิจผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ คิดเป็นสัดส่วน 41%

2.ธุรกิจแบตเตอรี่และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ คิดเป็นสัดส่วน 8%

3.ธุรกิจรถยนต์ที่มีทั้ง รถที่ใช้น้ำมัน รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) คิดเป็นสัดส่วน 51% ซึ่งมี eBus และ Skyrail ด้วย


สำหรับธุรกิจ BYD Battery เริ่มจากการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีแบตเตอรี่ซึ่งเป็นโนว์ฮาวดั้งเดิมของเขา ที่ทำให้ธุรกิจของเขาพัฒนาเติบโตไปอย่างรวดเร็วที่เซินเจิ้น ซึ่งเป็นเมืองที่ร้อนแรงไปด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากมายเช่น หัวเว่ย, Tencent ฯลฯ โดยสินค้าในยุคแรกของเขาคือแบตเตอรี่ประเภท NiCd (นิกเกิล-แคดเมียม) แบบชาร์จไฟได้ ช่วงแรกบริษัทของเขาอาศัยวิธีวิเคราะห์ส่วนประกอบแบตเตอรี่ Sony กับ Sanyo แล้วก็ก๊อปปี้ทำสิ่งที่คล้ายคลึงกันออกมา จนถูกฟ้องร้องโดย Sony และ Sanyo ในข้อหาขโมยทรัพย์สินทางปัญญา แต่ศาลญี่ปุ่นปฏิเสธคำร้องในคดีของ Sony ส่วนคดีของ Sanyo ในสหรัฐอเมริกา ก็สามารถยอมความกันนอกศาลได้

อย่างไรก็ตาม หวัง ชวนฝู ยังคงให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานใหม่ โดยทุ่มเม็ดเงินมหาศาล จนกระทั่งบริษัทสามารถพัฒนาสินค้าออกมาได้เองหลายรูปแบบ ทั้งแบตเตอรี่แบบ NiMH หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์รวมถึงแบตเตอรี่ที่สำคัญอย่าง Li-ion ลิเธียมไอออนให้กับ NOKIA บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากฟินแลนด์เป็นเจ้าแรกในจีนด้วย และเป็นซัพพลายเออร์ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ MOTOROLA มือถือแบบพับรายแรก ๆ ของโลกสัญชาติอเมริกัน และยังมีอีกหลายแบรนด์ในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น Apple, Dell, Toshiba, Microsoft, Samsung

หวัง ชวนฝู เป็นคนที่เชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ของเขาในฐานะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่เพียงรายเดียวที่ไม่เคยมีการเรียกคืน

เหล่านี้ทำให้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ในปี 2543 BYD กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ชาร์จไฟได้รายใหญ่ที่สุดของโลก สามารถครองส่วนแบ่งตลาดแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือได้กว่า 50% และเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้รายใหญ่ที่สุดของจีน และ บริษัท Shenzhen BYD Battery เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2545

ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์

ความฝันแท้จริงของ หวัง ชวนฝู ไม่หยุดแค่เป็นเจ้าแห่งแบตเตอรี่ เขาบอกว่า ถ้าเขายังทำแค่แบตเตอรี่อย่างเดียว สักวันหนึ่งคู่แข่งหน้าใหม่ก็จะเข้ามาช่วงชิงมาร์เกตแชร์


ดังนั้น ในปี 2546 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หวัง ชวนฝู ผู้มีวิสัยทัศน์ไกลทางธุรกิจ ได้ตัดสินใจเดินตามฝัน โดยทุ่มทุนสร้างธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใต้ชื่อบริษัท BYD Motor ต่อมา BYD เทคโอเวอร์ซื้อกิจการบริษัทฉินชวนชี่เชอ (秦川汽车) Tsinchuan Automobile ผู้ผลิตรถยนต์จีนที่ฐานการผลิตตั้งอยู่ในเมืองซีอาน มณฑลส่วนซี ที่กำลังเจอวิกฤต เข้ามาเป็นบริษัทลูกในเครือ และ เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น BYD Auto ในปี 2549

โดยระยะแรก BYD Auto ยังผลิตรถยนต์สันดาปที่เลียนแบบแบรนด์ยุโรปและญี่ปุ่น แต่ต่อมาเขาได้เปลี่ยนกระบวนทัศน์ธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าผลิตยานยนต์พลังงานสะอาด ทั้งรถยนต์ รถบัสโดยสาร รถตู้ รถบรรทุก ฯลฯ

ทว่า ช่วงแรกนักลงทุนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของหวัง ชวนฝู อย่างยิ่งจนทำให้ราคาหุ้น BYD ราคาดิ่งลดลงทันที 1 ใน 5 หรือ 20%


แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นใน ปี 2551 เมื่อบริษัท BYD Auto สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) เป็นคันแรกของโลกได้สำเร็จ โดยตั้งชื่อว่า BYD F3 DM ที่ปฏิวัติวงการรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นรุ่นที่ขายดีมากในจีน นับว่าการเปิดตัวรถยนต์ไฮบริดครั้งนี้ทำให้หลายประเทศเริ่มรู้จักกับ BYD มากขึ้น BYD ได้คิดค้นเทคโนโลยี Quick Charge ที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้รวดเร็วถึงระดับ 50% ภายในระยะเวลาเพียง 10 นาที

BYD F3 นั้นมีรูปร่างหน้าตาคล้ายๆ กับรถยนต์โตโยต้า โคโรลลา นั่นเอง เพราะช่วงแรก ๆ ของบันไดในการก้าวไปสู่ความสำเร็จ หวัง ชวนฝู ได้ใช้กลยุทธ์ C&D Copy and Development โดยตัดสินใจใช้วิธีการที่ง่ายที่สุด ซึ่งก็คือการจำลองรุ่นเก๋งราคาย่อมเยาที่ขายดีที่สุดในตลาดจีนในเวลานั้นคือ โตโยต้า โคโรลลา มาเป็นต้นแบบ และผลิตรถไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริดรุ่น BYD F3 ทำให้ BYD F3 ที่มีลักษณะคล้ายโคโรลลาจึงได้รับความนิยมอย่างมากหลังจากเปิดตัวในเดือนกันยายน 2548

ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ยอดขาย BYD F3 ทะลุ 100,000 คัน สร้างสถิติเป็นแบรนด์รถยนต์อิสระที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในเวลานั้น

ทั้งนี้ BYD F3 DM กลายเป็น“รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด”คันแรกของโลก ที่ผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ไปทั่วโลก


ความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าคันแรกของ BYD เป็นข่าวดังไปทั่วโลก และในเดือนกันยายน ปีนั้นเอง Berkshire Hathaway ของมหาเศรษฐีนักลงทุน นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ทุ่มเงินเดิมพันบริษัทใหม่นี้มากถึง 232 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเข้าซื้อหุ้น 10% ของ BYD ยิ่งทำให้โลกรู้จักศักยภาพของรถยนต์จีน BYD ที่มีศักยภาพสูง

โดย วอร์เรน บัฟเฟต์ ชื่นชมหวัง ชวนฝู เป็นนักธุรกิจที่เก่งและซื่อสัตย์ว่า “BYD เป็นบริษัทที่โดดเด่น บริหารงานโดยคนเก่งที่เริ่มต้นด้วยเงิน 300,000 ดอลลาร์ในปี 2538 และปัจจุบันเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือรายใหญ่อันดับสองของโลก BYD ยังมีรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในประเทศจีนเป็นประจำทุกเดือน ผมไม่เคยเห็นการดำเนินการด้านการผลิตที่ดีไปกว่า BYD มาก่อน BYD ทำทุกอย่างยกเว้นยางและกระจกเพื่อรักษาการควบคุมคุณภาพ”

วอร์เรน บัฟเฟต์กับ หวัง ชวนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD
นอกจากนี้ นายวอร์เรน บัฟเฟต์ยังเล่าถึงความซื่อสัตย์ของ หวัง ชวนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD ว่าระหว่างที่ดีลธุรกิจซื้อ หุ้น BYD ต้องรอเวลาอนุมัติธุรกรรมจากรัฐบาลจีนนานถึง 11 เดือน ราคาหุ้น BYD พุ่งทะยานจากราคาหุ้นละ 8 ดอลลาร์ฮ่องกงเป็น 40 ดอลลาร์ฮ่องกง ทาง BYD อาจจะถอนเงื่อนไขข้อตกลงก็ได้


“แต่หวัง ชวนฝู ไม่ได้ทำ เขารักษาสัญญา ดังนั้นผมจึงกล้าเดิมพันกับผู้ชายคนนี้” วอร์เรน บัฟเฟต์กล่าว

ส่วน ชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานและหุ้นส่วนบริษัท Berkshire Hathaway เพื่อนเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้พูดถึง หวัง ชวนฝู ผู้ก่อตั้ง BYD ไว้ในบทความในนิตยสาร Fortune ปี 2551 ว่า

“ผู้ชายคนนี้เป็นการผสมผสานระหว่าง โทมัส เอดิสัน (นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน) และ แจ็ก เวลช์ (อดีต CEO ของ GE) สำหรับ หวัง ชวนฝู เขามีลักษณะนิสัยทั้ง 2 อย่างในคนเดียว มีทั้งวิธีการแก้ปัญหาบางอย่างด้วยเทคนิคที่น่าสนใจ และเมื่อเขาต้องการทำอะไรสักอย่าง ไม่มีวันที่มันจะไม่สำเร็จ มันน่าชื่นชมมากหากทุกคนรู้ว่า เบื้องหลังชีวิตเขามันน่าขมขื่นแค่ไหน”

ภายในระยะเวลาสิบปีที่ Berkshire ของวอร์เรน บัฟเฟต์ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2551-2561 ราคาหุ้น BYD พุ่งขึ้นกว่า 600% และทยอยขายทำกำไรงดงาม หลังจากหุ้นปรับราคาสูงขึ้น โดยปัจจุบัน Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟต์ถือหุ้นประมาณ 8%


“ปัจจุบันราคาของหุ้น BYD ก็มีมูลค่ามากกว่าหุ้นบริษัท Mercedes ทั้งหมดแล้ว มันไม่ใช่หุ้นราคาถูกแต่เป็นหุ้นของบริษัทที่น่าทึ่งมาก” มังเกอร์ระบุ

ขณะที่ชีวิตต้องสู้ของหวัง ชวนฝู ทำให้ในปีถัดมา BYD ก็เริ่มผลิตรถบัสไฟฟ้าจำนวนมากเพราะมีคำสั่งซื้อจากมณฑลหูหนาน และเริ่มส่งออกไปยัง ต่างประเทศ


ระหว่างปี 2548-2558 BYD ส่งมอบรถบัสไฟฟ้าไปมากกว่า 50,000 คัน รถบรรทุกไฟฟ้ามากกว่า 12,000 คัน รถบัสของ BYD ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากกว่ารถยนต์ ตลาดต่างประเทศเช่น สหรัฐ, เม็กซิโก, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฮอลแลนด์, บราซิล, ออสเตรเลีย หรือแม้แต่ไทยเองก็ตาม และตอนนี้ทาง BYD กำลังพยายามขยายตลาดในตะวันออกกลางและแอฟริกาด้วย และเมื่อปลายปีที่แล้ว BYD ก็เพิ่งเปิดตัวรถบรรทุกขยะพลังงานไฟฟ้าคันแรกของโลกใน Palo Alto แคลิฟอร์เนีย (หลังบ้านของ Tesla) แทนที่จะเป็นในจีน

ปี 2563 BYD ประกาศเปิดตัวแบตเตอรี่รถยนต์ชนิดใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Blade Battery ซึ่งกำลังเป็นที่ฮือฮากันอย่างกว้างขวางว่า แบตเตอรี่ชนิดนี้ได้เปลี่ยนมาตรฐานวงการรถยนต์ไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดด หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า Game Changer ที่ทำลายอุปสรรคด้านระยะทางกับการชาร์จแล้ววิ่งได้ไกลและปลอดภัย


โดยรูปทรงของเซลล์แบตเตอรี่ของทาง BYD นั้นจะถูกออกแบบมาในลักษณะที่คล้ายกับใบมีดจึงถูกเรียกว่า Blade คือมีความบางและรูปทรงที่ยาวกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปที่มีการซ้อนทับและมีลักษณะเป็นก้อน ๆ โดยการออกแบบในลักษณะนี้ทำให้เซลล์แบตเตอรี่ของทาง BYD มีพื้นที่ผิวในการระบายความร้อนที่สูงมากจึงสามารถระบายความร้อนออกไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเซลล์แบตเตอรี่แบบก้อนสี่เหลี่ยม และไม่ทำให้เกิดความร้อนสะสม

การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและความสำเร็จเชิงกลยุทธ์ของ BYD คือการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Blade Battery ซึ่งเป็นทางเลือกที่ปราศจากโคบอลต์ เมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบชาร์จไฟได้อื่น ๆ ที่กล่าวกันว่าปลอดภัยกว่าและมีเสถียรภาพมากกว่า บีวายดีไม่เพียงแต่ติดตั้งแบตเตอรี่ในรถยนต์ของตัวเองเท่านั้น ขายให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น รวมถึง Tesla ด้วย


อีกส่วนหนึ่งของกลยุทธ์คือการสร้างโมเดลราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่แพงกว่าคู่แข่งอย่าง “นีโอ (Nio)” และ “เอ็กซ์เผิง (XPeng)” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนตั้งเป้าไปที่ตลาดหรูหราด้วยรถยนต์ที่มีราคาสูงกว่า สินค้าส่วนใหญ่ของ BYD ขายได้ในราคาระหว่าง 13,200 ถึง 46,700 เหรียญสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกันรถคู่แข่งอย่าง Tesla เริ่มต้นที่ประมาณ 50,000 ดอลลาร์ก่อนที่จะมีการลดราคาล่าสุด BYD ยังมีประสบการณ์เชิงลึกในตลาดจีนที่มีการแข่งขันสูง และขยายตลาดไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อเกือบหนึ่งทศวรรษที่แล้ว ด้วยโรงงานรถบัสไฟฟ้าในแคลิฟอร์เนีย

หวัง ชวนฝู ได้ให้แง่คิดว่า “หากโมเดลรถยนต์ล้มเหลว อาจมีราคาที่จะต้องจ่ายหลายร้อยล้านหยวน แต่ถ้าทิศทางเชิงกลยุทธ์ผิดพลาด อาจใช้เวลาสามถึงห้าปี และเวลาไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน”

ปัจจุบัน BYD มีฐานการผลิตมากกว่า 30 แห่งทั่วโลก รวมถึงในไทยเอง BYD ก็มาลงทุนสร้างโรงงานผลิตเช่นกัน โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปีหน้านี้ คือปี 2567 และมีเป้าหมายส่งออกรถยนต์จากไทยไปยังประเทศอาเซียนและยุโรป


ล่าสุด BYD กำลังเจรจากับ Ford เพื่อซื้อโรงงานผลิตในเยอรมนี แหล่งข่าวบอกกับ Wall Street Journal เมื่อเดือนที่แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในต่างประเทศสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน

บุกธุรกิจโมโนเรลไฟฟ้า

นอกจากนี้ BYD ยังมีโครงการ SkyRail ที่ใช้เวลาพัฒนามา 5 ปี ใช้เงินค่า R&D ไปราว 5 พันล้านหยวนหรือ 25,000 ล้านบาท ธุรกิจทำ SkyRail รถรางโมโนเรลไฟฟ้า BYD เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2559 และเริ่มให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2560 ในเมืองหยินชวน มณฑลหนิงเซี่ย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นระยะทาง 5.67 กิโลเมตร

และปีนี้ BYD ก็มีแผนจะสร้าง SkyRail อีกกว่า 20 เมืองทั่วจีน นักวิเคราะห์คาดว่า BYD น่าจะทำเงินจากโครงการ SkyRail ได้ราว 3 หมื่นล้านหยวน (1.5 แสนล้านบาท) ในปีนี้


แม้ว่า BYD จะทำธุรกิจหลายประเภททั้งแบตเตอรี่, โซลาร์เซลล์, ชิ้นส่วนอุปกรณ์มือถือ, การขนส่งทางรถไฟ แต่รถยนต์ไฟฟ้ากลายมาเป็นแหล่งรายได้หลักสำคัญของ BYD เป็นที่เรียบร้อย โดยมีสัดส่วนรายได้สูงที่สุด 51% เทียบจากธุรกิจอื่นของ BYD

อย่างที่กล่าวไปว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา BYD สามารถขายรถไฟฟ้าแซงหน้า Tesla กลายเป็นแบรนด์ที่ทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก


นอกจากนี้ BYD ยังขึ้นมาเป็น ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 2 ของโลก แซงหน้า LG Energy บริษัทสัญชาติเกาหลีใต้ จึงทำให้ทั้งอันดับ 1 และ 2 ของผู้ผลิตแบตเตอรี่กลายเป็นบริษัทสัญชาติจีนแล้วในเวลานี้

หวัง ชวนฝู มักจะพูดเสมอว่า “BYD ก็ยังเป็นการสร้างความฝันของผมอยู่ ซึ่งความพยายามและการพัฒนาอยู่เสมอของเราทำให้ฝันกลายเป็นจริง แต่ผมจะยังพัฒนาต่อไปไม่หยุด เพราะสิ่งที่ทำมันสามารถต่อยอด และเชื่อมโยงเข้าหากันได้ทั้งหมด”


“ฟังเรื่อง BYD และชีวิตของนายหวัง ชวนฝู ประธานของ BYD แล้ว ที่เกิดจากครอบครัวที่ยากจน พ่อกับแม่ก็ไม่มี พี่ชายกับพี่สะใภ้เลี้ยง ตัวเองจะเรียนหนังสือยังต้องขอยืมเงินเพื่อนบ้านมาเรียน แต่ว่าตัวเองมีวิสัยทัศน์ เลือกเรียนคณะฟิสิกส์เคมีทางด้านวัสดุศาสตร์ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้


“ผมมาดูเมืองไทยเราในวันนี้ คนรุ่นใหม่ที่ร่ำรวยขึ้นมาก็มีไม่น้อย แต่เมื่อพิจารณาถึงฐานรากของครอบครัวคนรุ่นใหม่บ้านเรา ถ้าไม่ใช่ลูกเศรษฐีที่ใช้เงินพ่อเงินแม่มาทำ อย่างน้อยที่สุดครอบครัวก็ยังมีฐานะอยู่ และสิ่งที่เราทำนั้น เทียบกับหวัง ชวนฝู ไม่ได้เลย เราทำอย่างมากก็แค่อาหารการกินแค่นั้น หรือทำเบียร์ขึ้นมา เอามาแข่ง หรือตระกูลของคุณเจริญ ก็มาทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา โดยมีพื้นฐานแห่งเงินทองที่สนับสนุนหนุนหลังให้


“ไม่ว่าตระกูลอะไรก็ตามที่เป็นตระกูลที่ร่ำรวยแล้ว ลูกหลานก็จะทำงานสำเร็จ เพราะว่ามีเงินมีทอง แต่หาประเภทลูกชาวนาที่จนจริงๆ ที่สำคัญ สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา ฮึดสู้ และที่สำคัญคือมีความฝันแล้วไม่ยอมแพ้กับโชคชะตา เดินหน้าต่อไป และในที่สุดแล้วทำสิ่งของที่ตัวเองทำแล้วประสบผลสำเร็จ แล้วออกไปสู้ในต่างประเทศ เมืองไทยเรายังไม่มีเลยแม้แต่คนเดียว” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น