เปิดมุมมองนักวิเคราะห์สงครามยิว-ปาเลสไตน์ หลังอิสราเอลบุกถล่มฉนวนกาซ่าอย่าหงนัก แต่ก็ยากที่จะเอาชนะนักรบฮามาส ที่เตรียมฝึกรับมือมาอย่างดี ขณะที่อิสราเอลพ่านแพ้ทางการเมืองถูกต่อต้านจากสังคมดลกมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผู้บริสุทธิ์ถูกสังหารจำนวนมาก ส่วนอเมริกายังไม่กล้าเข้าไปช่วยแบบเต็มตัว เพราะเสี่ยงเผชิญหน้าอิหร่าน ไปจนถึงตุรกีและรัสเซีย ทางออกเดียวคือต้องหยุดยิง ยอมเจรจา เปิดทางให้ตั้งรัฐปาเลสไตน์แล้วต่างคนต่างอยู่
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้นำเสนอบทวิเคราะห์สงครามระหว่างอิสราเอลกัลนักรบปาเลสไตน์ โดย นายสก็อต ริตเตอร์ส นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองนาวิกโยธินสหรัฐ และอดีตผู้ตรวจสอบอาวุธของคณะกรรมการพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UNSCOM) ซึ่งได้เผยแพร่ทางคลิปวิดีโอการให้สัมภาษณ์เรื่อง Monumental Oversight : Unveiling a Colossal Miscalculation
ริตเตอร์ เปรียบเทียบ ยุทธการในทำสงครามของ “กองทัพยูเครน” กับ “กองทัพของอิสราเอล” ว่าจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
ประการแรก ที่เห็นคือยูเครนซึ่งเป็นประเทศเล็กต้องพึ่งพาเงินและอาวุธจากอเมริกาและชาติตะวันตกที่หนุนหลังสู้กับรัสเซีย ที่กองทัพเพียบพร้อมไปด้วยอาวุธทันสมัย ทั้งเครื่องบิน ขีปนาวุธ รถถังต่อต้านอากาศยาน ทหารราบจำนวนมาก โดยการทำสงครามยูเครนเป็นการสู้รบกันตามแบบฉบับของการทำสงครามตามแบบแผนขนาดใหญ่อย่างแท้จริง (Conventional Warfare)
อย่างที่สอง เมื่อหันมาดูสงครามฉนวนกาซา ระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล นั้นเป็นสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare)โดยฮามาสใช้ยุทธวิธีและกลยุทธ์แบบสงครามกองโจรที่ติดอาวุธเบา โจมตีด้วยจรวด ระเบิดฆ่าตัวตาย และมีเครือข่ายกลุ่มฮามาสซ่อนอยู่ในอุโมงค์ลับที่ต้านทานแรงระเบิดได้ ทำให้การทิ้งระเบิดของอิสราเอลไม่ได้มีผลกระทบต่อกลุ่มฮามาสในสงครามฉนวนกาซา
นอกจากนี้ กลุ่มฮามาสยังท้าทายให้อิสราเอลอย่าช้ารีบเข้ามาปฏิบัติการพิเศษภาคพื้นดิน เพื่อล่อลวงให้กำลังพลของอิสราเอลมาติดกับดักของเครือข่ายนักรบกลุ่มฮามาสที่เตรียมรับศัตรูด้วยอาวุธครบมืออยู่ในอุโมงค์ลับใต้ดิน ดังนั้นทุกอย่างที่อิสราเอลทำตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนของฮามาส
ขณะที่กองทัพอิสราเอลที่มีแสนยานุภาพทางทหารที่เหนือชั้น (Qualitative Military Edge)กว่าบุกโจมตีปาเลสไตน์แบบสุดโต่ง โดยใช้แนวทางทหารการรบแบบแตกหักชนิดทนได้ทนไป
ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ ถล่มด้วยปืนใหญ่ และจ่อปฎิบัติการทหารบุกภาคพื้นดินทำลายล้างปาเลสไตน์แบบเหมารวม สังหารผู้บริสุทธิ์เด็กและผู้หญิงปาเลสไตน์จำนวนมากมายนับพัน ๆ คน ปิดล้อมฉนวนกาซาและขับไล่ชาวปาเลสไตน์นับล้านอพยพออกไป และยิงระเบิดใส่โรงพยาบาล ถล่มตึกรามบ้านช่องในฉนวนกาซาที่มีคนอยู่จำนวนมาก
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การทำสงครามสองแบบจึงไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ระหว่าง “สงครามยูเครน” กับ “สงครามฉนวนกาซา” ต้องดูที่ปฏิกริยาของนายกฯ อิสราเอล นายเบนจามิน เนทันยาฮูที่แสดงชัดเจนว่าต้องการทำลายกระบวนทัศน์เกี่ยวกับรัฐปาเลสไตน์ ในข้อตกลงตาม สนธิสัญญาอับราฮัม 2020 (Abraham Accord 2020) ที่ลงนามในปี 2563 ที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์เป็นตัวตั้งตัวตี ได้สร้างความแตกแยกขัดแย้งกันเองระหว่างชาติอาหรับที่เป็นพันธมิตรอิสราเอล กับรัฐที่ไม่ใช่อาหรับแต่เป็นประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางทั้งอิหร่านและตุรกี
โดยเฉพาะผู้นำตุรกี ประธานาธิบดีเออร์โดกัน ที่สนับสนุนรัฐปาเลสไตน์ และไม่ยอมรับข้อกล่าวหาของยิวและอเมริกาว่า“กลุ่มฮามาส”เป็นองค์กรก่อการร้าย
ในอดีตการต่อต้านนโยบายของอิสราเอลในตะวันออกกลาง เห็นได้จากปฏิกิริยาชาวอาหรับโกรธแค้นอิสราเอลเข้ามาทำสงครามกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนเมื่อปี 2549 และการที่อิสราเอลโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา ทั้งในปี 2551-2552, ปี 2555 และ ปี 2557 แต่ นายเนทันยาฮู ก็ยังแสดงท่าทีชัดเจนว่า แผนการผนวกดินแดนเวสต์แบงก์และกวาดล้างเข่นฆ่าชาวปาเลสสไตน์ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป
ข้อตกลง Abraham Accords 2020 นี้ได้ทำลาย แผนสันติภาพอาหรับ (Arab Peace Initiative) ที่เคยเสนอโดยรัฐอาหรับเมื่อปี 2545 ที่ระบุเงื่อนไขเอาไว้ชัดเจนว่ารัฐอาหรับจะยอมรับและสถาปนาความสัมพันธ์กับอิสราเอลก็ต่อเมื่ออิสราเอลคืนดินแดนที่ได้ยึดครองของอาหรับในสงคราม 6 วัน (ในปี 2510) พร้อมทั้งมีการสร้างรัฐปาเลสไตน์เสียก่อน
นี่เป็นการทำลายแนวทางแก้ปัญหาที่เรียกว่า“แนวทางสองรัฐ (Two States Solution)”แต่ความจริงอิสราเอลไม่มีวันให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ ตราบใดที่มีพวกไซออนนิสต์ทางเศรษฐกิจการเมือง และสื่อมวลชนควบคุมอยู่
“อิสราเอล” คิดและทึกทักเอาเองว่า จะสามารถเอาชนะ “กลุ่มฮามาส” ได้ แต่โลกกำลังเห็นความจริงของการกระทำเกินขอบเขตอันโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมของผู้นำอิสราเอลที่กระทำโจมตีทิ้งระเบิดทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ชาวปาเลสไตน์ และมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านการกระทำของอิสราเอลที่มุ่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
สก็อตต์ ริตเตอร์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ต้องทำความเข้าใจว่า “กลุ่มฮามาส” รู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรให้เกิดขึ้น หาก“กองทัพอิสราเอล” เริ่มเปิดฉาก“ยุทธการภาคพื้นดิน” เคลื่อนกำลังพลทางบกเข้าไปในเขตฉนวนกาซาแล้ว
ขณะที่กลุ่มฮามาสได้เตรียมพร้อมในสมรภูมิรบที่ที่พวกเขาชำนาญฝึกซ้อมมานานเพื่อเอาชนะสงครามในฉนวนกาซา และเตือนสหรัฐฯ อย่าก้าวเข้ามาร่วมในสงคราม โดยชี้ “ตัวต้นเหตุก่อสงคราม” ก็คือบรรดานักการเมืองไซออนิสต์ที่ทรงอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญ คนพวกนี้คือคนที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดเหตุร้ายแรงวันที่ 7 ตุลาคม แต่ไร้ความสามารถที่จะดับไฟสงครามวันที่ 7 ตุลาคมได้ ตอนนี้ชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจพวกนักการเมืองเหล่านี้อีกต่อไป
เพราะตราบใดที่อิสราเอลและอเมริกายังมีนักการเมืองไซออนิสต์จะไม่มีสันติภาพในตะวันออกกลางอีกต่อไป พวกนักการเมืองไซออนิสต์เป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพียงอย่างเดียวต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
สก็อตต์ ริตเตอร์ ถึงกับตั้งจิตอธิษฐานขอให้อิสราเอลพ่ายแพ้ ไม่ใช่พ่ายแพ้เชิงยุทธศาสตร์ที่ทุกคนถูกฆ่าตายหมด แต่เป็นความพ่ายแพ้ที่ทำให้เกิดสันติภาพร่วมกัน ชาวยิวต้องอยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้านอย่างสงบสุขปลอดภัย เขากล่าวว่า
“ผมต้องการให้อิสราเอลรับรู้ว่า พวกเขาไม่ใช่ยอดมนุษย์ superman แต่ไม่ได้วิเศษวิโสกว่าคนอื่น ก็เป็นคนเหมือนกัน มีเลือดเนื้อและเจ็บปวดเช่นกัน”
แต่ความบ้าหลงตัวเองของยิวที่คิดว่า ตนเองเก่งกว่าฉลาดกว่านั้นไม่จริง โดย ริตเตอร์ ชี้ให้เห็นจากกรณีหน่วยข่าวกรอง MOSSAD ล้มเหลวด้านข่าวกรองก่อนเกิดเหตุวันที่ 7 ตุลาคม ความอวดดีที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าและรู้ทุกเรื่องโดยไม่ได้ผ่านการใส่ใจทำงานหาข่าวกรองอย่างหนัก
แต่“มายด์เซต (Mind Set)”ของหน่วยข่าวกรองอิสราเอลยุคนี้กลับหันไปพึ่งพา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เนื่องจากในอดีตความสำเร็จของ AI ระหว่างปฏิบัติการต่อต้านฉนวนกาซาในปี 2564 ทำให้ MOSSAD ของอิสราเอลพึ่งพาอัลกอริธึมที่ใช้คอมพิวเตอร์มากเกินไปในการปฏิบัติงานและการวิเคราะห์ทำงานเพียงการกดปุ่มควบคุมปืนใหญ่จากห้องทำงาน และสังหารผู้บริสุทธิ์ชาวปาเลสไตน์
ริตเตอร์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำไมไม่มีใครในวอชิงตันสักคนตะโกนหยุดยิง?
เพราะถ้าใครทำอย่างนั้นก็จะโดนไล่ออก และจะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก“โปรฮามาส”และ“ภารกิจของอิสราเอล”ต้องไม่หยุด ฆ่ากลุ่มฮามาสที่นายเนทันยาฮูชี้ว่าเป็นคนที่ตายไปแล้ว
อิสราเอลจะเอาชนะได้อย่างไร?
ริตเตอร์ชี้ช่องด้วยว่า อิสราเอลสามารถชนะสงครามนี้ได้ด้วยการหยุดยิง และปล่อยให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ด้านมนุษยธรรมจากทั่วโลกเข้าไปในฉนวนกาซาได้รวมถึงอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และเวชภัณฑ์ แล้วเปิดเจรจาโดยตรงกับกลุ่มฮามาสเกี่ยวกับการปล่อยตัวนักโทษ มันก็จบ
นี่คือคำร้องขอของ นายเบอร์นี แซนเดอร์ส สมาชิกวุฒิสภา ที่กล่าวในสภาเมื่อ 25 ตุลาคมนี้ แต่อิสราเอลไม่สามารถทำตามคำร้องขอข้างต้นได้ แถมยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือทำสงครามนี้จาก นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ด้วย แต่ถ้าอิสราเอลปฏิบัติการรุกภาคพื้นดินและล้มเหลวในภารกิจนี้ อิสราเอลอาจจะไม่มีแผ่นดินอยู่จากมหกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทำกับชาวปาเลสไตน์
ส่วน พันเอก ดักลาส แมคเกรเกอร์ อดีตที่ปรึกษาอาวุโส รมว.กลาโหมสหรัฐฯ ยุครัฐบาลทรัมป์ ได้กล่าวกับ นายเคลตัน มอร์รัส อดีตผู้สื่อข่าวของ Fox News ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ Redacted ใน YouTube ว่า สหรัฐไม่เข้าใจสถานการณ์ตะวันออกกลางเปลี่ยนไปอย่างมาก รัฐอาหรับเข็มแข็งขึ้นและเป็นเอกภาพมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐจะนำอิสราเอลไปสู่ทุ่งสังหารทำลายล้าง และสงครามตะวันออกกลางจะลุกลามบานปลาย ต้องปะทะโดยตรงกับอิหร่านและตุรกี
นอกจากนี้ เมื่อ วันที่ 26 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ในรายการของ นายทัคเกอร์ คาร์ลสัน อดีตพิธีกรชื่อดังของฟ็อกซ์นิวส์ได้สัมภาษณ์ พันเอกแมคเกรเกอร์ด้วย เป็นประเด็นวิเคราะห์จุดเสียเปรียบและได้เปรียบในกรณีกองทัพสหรัฐฯ ต้องปะทะกับอิหร่านโดยตรงในสงครามฉนวนกาซา
ประการแรก สหรัฐอเมริกาจะเสียเปรียบเรื่องการวางตำแหน่งกำลังพล ที่ปัจจุบันทหารสหรัฐมีประมาณ 450,000 นาย แต่ส่วนใหญ่อยู่ในสมรภูมิสงครามยูเครน-รัสเซีย หากจะโยกย้ายกำลังพลจากยุโรปมายังตะวันออกกลาง จำเป็นต้องพึ่งกำลังนาวิกโยธินในพื้นที่ราว 2,000 นาย รวมถึงหน่วยรบพิเศษ ซึ่งไม่นานมานี้มีข่าวถูกระดมยิงจนต้องถอนตัวจากการเข้าไปปฏิบัติการกับกลุ่มฮามาส ในพื้นที่ฉนวนกาซา
ประการที่สอง อิหร่านมีความแข็งแกร่งแม้ว่าจะโดนสหรัฐคว่ำบาตรยาวนาน แต่อิหร่านสามารถฝ่าวิกฤตมาได้ด้วยการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่พึ่งตนเอง และเทคโนโลยีทางการทหาร พัฒนาขีปนาวุธของตัวเอง โดรนพิฆาตรุ่นใหม่ รวมถึง โดรนกามิกาเซ่รุ่นต่าง ๆ
ประการที่สาม สหรัฐอเมริกาส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯถึง 2 กองเรือคือ เรือบรรทุกเครื่องบินUSS Gerald R. Fordเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก และUSS Dwight D. Eisenhowerไปประจำการในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
แต่ในยุทธภูมิตะวันออกกลาง อิหร่านมีระบบขีปนาวุธที่แม่นยำที่ติดตั้งไปกับโดรนพิฆาตรุ่นใหม่ ล่าสุดเมื่อ เดือนสิงหาคม 2566 นี้ รัฐบาลอิหร่านเปิดตัวโดรนพิฆาตชื่อ Mohajer 10 สามารถบินได้โดยไม่หยุดพักที่ระดับความสูง 7,000 เมตร และพิสัยทำการไกลถึง 2,000 กิโลเมตร
ทำให้โดรนดังกล่าวสามารถบินถึง “อิสราเอล” ที่อยู่ห่างจาก “อิหร่าน” ประมาณ 1,720 กิโลเมตร และสามารถยิงโจมตีใส่กองเรือสหรัฐฯ ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะทำให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาตกอยู่ในอันตรายมากกว่า
ดังนั้นแมคเกรเกอร์มีความเห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ควรเข้าไปร่วมในสงครามฉนวนกาซา เพราะเสี่ยงที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับอิหร่าน และยังรวมถึง ตุรกีและรัสเซียด้วย
“เรากำลังยกระดับสถานการณ์ในทุกทิศทาง ดูเหมือนว่าสหรัฐคิดว่าการเพิ่มอัตรากำลังพลและอาวุธได้ผล สหรัฐเคยลองวิธีนี้ในยูเครน ยิ่งสหรัฐสนับสนุนยิ่งทวีความรุนแรง และทำให้สถานการณ์บานปลาย เหมือนกับวันนี้ยูเครนที่ประเทศตกอยู่ภายใต้ซากปรักหักพัง
“ผมกลัวมากว่าหากสงครามในภูมิภาคนี้เกิดขึ้นอย่างที่ผมจินตนาการไว้ สุดท้ายแล้วอาจไม่เหลือประเทศอิสราเอลเลย” นี่คือคำเตือนสุดท้ายของพันเอกดักลาส แมคเกรเกอร์ อดีตที่ปรึกษาอาวุโสด้านความมั่นคงของสหรัฐที่ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด
อิสราเอลไม่ได้พ่ายแพ้สงครามในสนามรบ แต่อิสราเอลกำลังพ่ายแพ้ทางการเมือง เพราะเป็นครั้งแรกที่ผู้คนเริ่มเข้าข้างกลุ่มฮามาส มีคนกล่าวว่าอิสราเอลจะไม่มีวันเอาชนะฮามาสได้แม้จะพยายามฆ่าเขา
เพราะฮามาสเป็นอุดมการณ์ ยิ่งฆ่ายิ่งโต วิธีที่จะเอาชนะกลุ่มฮามาสคือ การนั่งลงเจรจาหยุดยิงและเปิดให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไหลเข้าไปในฉนวนกาซา
และยอมรับข้อเท็จจริงว่ารัฐปาเลสไตน์จำเป็นต้องเกิดขึ้นและคงอยู่แล้วต่างคนต่างอยู่