xs
xsm
sm
md
lg

เผยภาพ “เสือโคร่งมลายู” ครั้งแรกจากกล้องดักถ่าย พร้อมชื่อสุดเท่ ‘บางลาง 01’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยภาพเสือโคร่งมลายู ที่สามารถบันทึกภาพได้ครั้งแรกจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ ทางเจ้าหน้าที่ตั้งชื่อเสือว่า เจ้า “บางลาง 01” พร้อมระบุเป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศของผืนป่าฮาลา-บาลา

วันนี้ (2 พ.ย.) เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” การสำรวจพบเสือโคร่ง "บางลาง 01" สัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนยอดสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศของผืนป่าฮาลา-บาลา

เมื่อพูดถึงเสือโคร่งในสมัยก่อนเราสามารถพบได้ในพื้นที่ป่าทางเหนือสุดของโลก บริเวณไซบีเรีย (รัสเซีย) จีน อินเดีย ลาว พม่า เวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละพื้นที่ชนิดย่อยของเสือโคร่งก็แตกต่างกัน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางลาง เราพบเสือโคร่งชนิดย่อยที่มีชื่อว่า “เสือโคร่งมลายู” เสือโคร่งชนิดย่อยนี้พบในพื้นที่ป่าจังหวัดชายแดนใต้ของไทยต่อเนื่องไปในผืนป่าของประเทศมาเลเซีย

ในประเทศไทยจึงพบเพียงแค่ในอุทยานแห่งชาติบางลาง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาเท่านั้น ส่วนที่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทางภาคกลางและภาคตะวันตก เป็นอีกชนิดย่อยหนึ่งคือ เสือโคร่งอินโดจีน

การสำรวจและค้นพบร่องรอยในอุทยานแห่งชาติบางลาง ต้องเล่าไปถึงระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเข้ามาให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติใช้เป็นระบบลาดตระเวน สำรวจ และป้องกันภัยคุกคามที่เกิดและอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์

เมื่อเจ้าหน้าที่นำมาใช้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ การสำรวจและบันทึกสิ่งต่างๆ ที่พบในธรรมชาติได้อย่างมากมาย ทั้งพืชพรรณเฉพาะถิ่น สัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทิง นกเงือก ฯลฯ และเราได้พบ “เสือโคร่งมลายู” ตัวเป็นๆ ครั้งแรก ซึ่งได้รับการยืนยันโดยภาพจากกล้องดักถ่ายอัตโนมัติ (camera trap) เราจึงตั้งชื่อเสือตัวแรกที่เราเจอว่า เจ้า “บางลาง 01” หลังจากนั้นข้อมูลเกี่ยวกับเสือก็หลั่งไหลเข้ามามากมายจากเจ้าหน้าที่ที่เดินสำรวจในพื้นที่ป่า








กำลังโหลดความคิดเห็น