xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปากรเผยสาเหตุพงศาวดารระบุพระเจ้าเสือเป็นคนโหดร้าย เพื่อความเหมาะสม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยสาเหตุที่พระราชพงศาวดารได้บันทึกเรื่องราวไว้ว่าพระเจ้าเสือทรงโหดร้าย กักขฬะ เพื่อให้เห็นความเหมาะสมที่อยุธยาอันยิ่งใหญ่จะล่มลง เพราะขนาดอยุธยาที่ได้ชื่อว่าเมืองที่ไม่มีใครชนะได้ยังล่มได้ แปลว่ากษัตริย์ทำกรรมหนัก

วันนี้ (1 พ.ย.) เพจ "ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร" ได้ออกมาระบุข้อความว่า ”จากละครเรื่อง “พรหมลิขิต” ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ ทำให้หลายคนสนใจตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในเรื่อง นั่นคือ พระเจ้าเสือ หรือ หลวงสรศักดิ์ ที่รับบทโดย จิรายุ ตันตระกูล มีการพูดถึงพระเจ้าเสือว่าด้วยเรื่องที่ทรงโหดร้าย กักขฬะ เสวยน้ำจัณฑ์เป็นนิจ โปรดเสพสังวาสกับนารีที่ยังไม่มีระดู แต่ถ้าใครดิ้นโคลงไปก็จะเอาศอกถองเสียจนตาย (โหด)

ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนี้เอง เพื่ออธิบายว่าเหตุใดอยุธยาจึงล่ม และกู้กลับมาอีกไม่ได้ สมควรที่กรุงใหม่อย่างรัตนโกสินทร์จะขึ้นมาและนำความปกติสุขมาให้แก่ไพร่ฟ้า อาณาประชาราษฎร์ สมณะชีพราหมณ์

ด้วยจุดประสงค์ในการเขียนพระราชพงศาวดารเป็นอย่างนั้น และโลกทัศน์ของคนในสมัยนั้นที่เป็นโลกทัศน์ที่ยังเชื่อในบาปบุญคุณโทษ มุ่งนิพพาน การเขียนพระราชพงศาวดารจึงออกมาเพื่อให้เห็นความเหมาะสม และสมควรแล้วที่อยุธยาอันยิ่งใหญ่ยาวนานจะล่มลง เพราะขนาดอยุธยาที่ได้ชื่อว่าเมืองที่ไม่มีใครชนะได้ยังล่มได้แปลว่ากษัตริย์ทำกรรมหนัก พระราชพงศาวดารจึงไล่เรียงให้เห็นเลยว่ากษัตริย์วงศ์สุดท้ายไม่ดีอย่างไรบ้าง ไปจนองค์สุดท้าย ที่ได้ชื่อว่าขุนหลวงขี้เรื้อน นั่นก็แหวกขนบการเขียนพระราชพงศาวดารไปหมด

แต่ถ้าดูหลักฐานอื่นๆ ก็จะพบว่ากษัตริย์วงศ์นี้ แม้แต่พระเจ้าเสือเองก็ทรงอยู่ในร่องในรอย ดำเนินการตามที่ควรจะเป็นในหลายๆ เรื่อง เช่น ทรงปฏิสังขรณ์มณฑปสวมรอยพระพุทธบาทสระบุรี ที่สร้างมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งทำเป็นยอดเดียวและเกิดชำรุด จึงโปรดฯ ให้สร้างใหม่เป็น 5 ยอด รวมทั้งปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งอาราม

พ.ศ. 2249 เกิดอัสนีบาตต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตร เครื่องบนมณฑปทรุดพังลงมาต้องพระศอพระมงคลบพิตรหัก จึงโปรดฯ ให้รื้อเครื่องบนออก ก่อสร้างใหม่แปลงเป็นมหาวิหาร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินไปมนัสการพระพุทธฉายและสันนิษฐานว่าค้นพบในสมัยพระองค์

เพื่อเป็นการรำลึกถึงชาติภูมิของพระองค์จึงโปรดให้สร้างวัดโพธิ์ประทับช้างขึ้นที่เมืองพิจิตร ยังมีเรื่องการขุดคลองโคกขามที่แสนจะคดเคี้ยวให้ตรง โดยใช้เทคโนโลยีตะวันตก เพื่อประโยชน์ทางคมนาคมและเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก

สิ่งที่น่าสังเกต หากเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระองค์เป็นจริงคือเรื่องการโปรดเสด็จออกนอกวัง ซึ่งธรรมดาสมัยนั้นกษัตริย์ต้องประทับในวังเพราะเกรงจะถูกยึดอำนาจ การที่เสด็จไปไหนต่อไหนได้ แสดงว่าพระราชอำนาจเข้มแข็ง บารมีมาก และในรัชกาลของพระองค์นั้นบ้านเมืองสงบสุข ซึ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ในยุคจารีตพึงทำ

ส่วนที่จะโปรดเสวยน้ำจัณฑ์ โปรดนางเล็กๆ ที่ยังไม่มีประจำเดือน ถองเสียจนตายอะไรนั้น เป็นเรื่องราวที่ผู้ชำระพระราชพงศาวดารต้องการ “ด้อยค่า” ราชวงศ์สุดท้าย และต้องการอธิบายว่าเหตุใดอยุธยาจึงล่มและสมควรต้องมีกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งสมควรที่พระมหากษัตริย์ในกรุงเทพฯ จะปกครองด้วยธรรม จรรโลงธรรมให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อประโยชน์ของประชาชน

ผู้เขียน : รองศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา นิพัทธ์สุขกิจ

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น